รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2556

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday February 12, 2013 10:59 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2556

Summary:

1. จรัมพรคาดสัปดาห์นี้หุ้นไทยผันผวน หลังประเทศเพื่อนบ้านปิดทำการในวันตรุษจีน

2. ธปท.เผยเอกชนจ่อขึ้นราคาชดเชยค่าแรง 300

3. ราคาบ้านปรับตัวขึ้นในเกือบทุกเมืองใหญ่ทั่วสหรัฐ บ่งชี้ตลาดที่อยู่อาศัยฟื้นตัว

Highlight:

1. จรัมพรคาดสัปดาห์นี้หุ้นไทยผันผวน หลังประเทศเพื่อนบ้านปิดทำการในวันตรุษจีน
  • กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ในสัปดาห์นี้คาดว่าตลาดหุ้นไทยอาจเคลื่อนไหวในลักษณะผันผวน โดยมีโอกาสยืนสลับกันทั้งในแดนบวกและแดนลบ เนื่องจากตลาดหุ้นในภูมิภาคส่วนใหญ่ปิดทำการ ตลอดทั้งสัปดาห์นี้ เนื่องจากเทศกาลตรุษจีน ในขณะเดียวกันยังประเมินว่ากรณีที่นักลงทุนต่างชาติขายหุ้นไทยออกมาอย่างต่อเนื่องในช่วงนี้ ประเมินว่าเป็นเรื่องปกติที่จะมีการขายทำกำไร เนื่องจากตลาดหุ้นไทยปรับตัวเพิ่มมากขึ้นแล้ว และยังไม่สามารถระบุได้ว่าจะมีสัญญาณการซื้อกลับของนักลงทุนต่างชาติหรือไม่
  • สศค. วิเคราะห์ว่า การปิดทำการของตลาดหุ้นส่วนใหญ่ในภูมิภาคจะส่งผลให้มูลค่าการซื้อขายของตลาดหลักทรัพย์ไทยในสัปดาห์นี้ปรับตัวลดลง อย่างไรก็ดีดัชนีตลาดหลักทรัพย์ไทย (SET) ในปี 56 ยังสามารถปรับตัวเพิ่มขึ้นได้อย่างต่อเนื่องจากปีก่อนหน้า โดยในช่วงต้นปี 56 SET อยู่ที่ระดับ 1401.4 จุด และปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในเดือน ม.ค. จนสามารถทำสถิติสูงสุดในรอบ 19 ปี ได้ที่ระดับ 1511.9 จุด ในวันที่ 4 ก.พ.56 คิดเป็นการปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 7.9 ภายในระยะเวลาประมาณ 1 เดือน โดยได้รับแรงสนับสนุนหลักจากเม็ดเงินลงทุนทั้งจากสถาบันการเงินในประเทศ และเงินลงทุนจากต่างประเทศ ทั้งนี้พบว่าค่าพี/อี ของตลาดหลักทรัพย์ SET ปรับตัวขึ้นมาที่ระดับ 19.6 เท่า ซึ่งเป็นระดับที่สูงกว่าที่ผ่านมาในอดีต ดังนั้นนักลงทุนควรพิจารณาการลงทุนอย่างรอบคอบเพื่อป้องกันความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต
2. ธปท.เผยเอกชนจ่อขึ้นราคาชดเชยค่าแรง 300
  • ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) เปิดเผยว่า จากการสำรวจความเชื่อมั่นทางธุรกิจ (Business Sentiment Survey) พบว่า ราคาสินค้ามีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในไตรมาส 1 ปี 56 เนื่องจากผู้ประกอบการทั้งภาคการผลิตและไม่ใช่ภาคการผลิต คาดว่าจะมีการปรับราคาขายเพิ่มขึ้น ตามแนวโน้มต้นทุนที่สูงขึ้น โดยเฉพาะต้นทุนแรงงานที่เพิ่มขึ้นจากการขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำรอบ 2 ซึ่งสอดคล้องกับ การออกพบผู้ประกอบการซึ่งพบว่า หลายธุรกิจมีแผนปรับเพิ่มราคาเพื่อชดเชยต้นทุนที่สูงขึ้นบางส่วน
  • สศค. วิเคราะห์ว่า นโยบายการปรับขึ้นอัตราค่าจ้างขั้นต่ำเป็น 300 บาทต่อวัน มีผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย โดยสรุปได้ 3 ส่วนดังนี้ (1) ด้านต้นทุนการผลิต คาดว่าจะเพิ่มสูงขึ้นร้อยละ 3.6 และทำให้สัดส่วนต้นทุนแรงงานต่อต้นทุนการผลิตรวมอยู่ที่ร้อยละ 12.1 โดยเฉพาะสถานประกอบการขนาดเล็กและขนาดกลางที่ใช้แรงงานอย่างเข้มข้นจะได้รับผลกระทบมาก เช่น อุตสาหกรรมการผลิตเฟอร์นิเจอร์ เพชรพลอย เครื่องหนัง สิ่งทอ และเครื่องนุ่งห่ม (2) อัตราเงินเฟ้อคาดว่าจะขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.0 จากกรณีฐาน และ 3) อัตราการว่างงานและการจ้างงานจะได้รับผลกระทบ โดยเฉพาะภาคอุตสาหกรรมการผลิตทอถัก เครื่องประดับ และการป่าไม้ ผลิตภัณฑ์จากไม้ อย่างไรก็ตาม นโยบายการเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำเป็น 300 บาทนี้ ถือว่าเป็นนโยบายที่ช่วยยกระดับความเป็นอยู่ของประชาชน และยังเป็นแนวทางกระตุ้นอำนาจซื้อของประชาชน
3. ราคาบ้านปรับตัวขึ้นในเกือบทุกเมืองใหญ่ทั่วสหรัฐ บ่งชี้ตลาดที่อยู่อาศัยฟื้นตัว
  • สมาคมนายหน้าอสังหาริมทรัพย์แห่งชาติของสหรัฐ (NAR) เปิดเผยว่า ราคาบ้านเดี่ยวปรับตัวขึ้นใน 133 เมือง หรือคิดเป็น 88% จาก 152 เมืองใหญ่ของสหรัฐในไตรมาส 4 ปีที่แล้ว เทียบกับไตรมาส 3 ที่ราคาบ้านเพิ่มขึ้นใน 120 เมือง ณ สิ้นไตรมาส 4 ปี 2555 มีบ้านมือสองสำหรับขายจำนวน 1.82 ล้านหลัง ลดลง 22% จากปีก่อนหน้า
  • สศค. วิเคราะห์ว่า ดัชนีเศรษฐกิจฝั่งอุปทานของสหรัฐหลายตัวบ่งชี้ทิศทางที่ดีขึ้น ไม่ว่าจะเป็นราคาบ้านเดี่ยวที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นดังกล่าว ที่สะท้อนความมีเสถียรภาพของอุตสาหกรรมอสังหาริมทรัพย์ สอดคล้องกับตัวเลขอุตสาหกรรมการผลิตด้านอื่นๆ อาทิ ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคอุตสาหกรรม (ISM Mfg PMI) เดือน ม.ค. 56 ที่แตะระดับสูงสุดในรอบ 1 ปี ที่ 53.1 จุด ที่เป็นผลมาจากดัชนีคำสั่งซื้อสินค้าใหม่ ดัชนีการผลิต ดัชนีสินค้าคงคลัง และดัชนีการจ้างงานที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นมาก ในขณะที่ดัชนีภาคบริการ (ISM Non-Mfg PMI) เดือน ม.ค. 56 อยู่ที่ระดับ 55.2 จุด ซึ่งยังคงอยู่เหนือระดับ 50 ติดต่อกันกว่า 3 ปี สะท้อนการขยายตัวอย่างต่อเนื่องของภาคบริการสหรัฐฯ ทั้งนี้ เมื่อนำตัวเลขต่างๆ ดังกล่าวมาประมวลภาพรวมเศรษฐกิจมีแนวโน้มว่าจะขยายต่อเนื่องไปในช่วงต้นปี 56

ที่มา: Bureau of Macroeconomic Policy,Fiscal Policy Office, Ministry of Finance

Tel: 02-273-9020 Ext. 3257


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ