รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2556

ข่าวเศรษฐกิจ Friday February 8, 2013 11:46 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2556

Summary:

1. ม. หอการค้าเผย ดัชนีเชื่อมั่นผู้บริโภคสูงสุดรอบ16 เดือน

2. ECB คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายร้อยละ 0.75 ต่อปี ติดต่อกันเป็นเดือนที่ 7

3. อัตราการว่างงานออสเตรเลีย เดือน ม.ค. 56 ยังคงทรงตัวอยู่ที่ร้อยละ 5.4 ของกำลังแรงงานรวม

Highlight:

1. ม. หอการค้าเผย ดัชนีเชื่อมั่นผู้บริโภคสูงสุดรอบ16 เดือน
  • ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเกี่ยวกับเศรษฐกิจไทยโดยรวม เดือน ม.ค. 56 อยู่ที่ระดับสูงสุดในรอบ16 เดือนที่ 72.1 จุด สูงขึ้นจากระดับ 70.6 ในเดือนก่อนหน้า และปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 ผลจากกสถานการณ์เศรษฐกิจในประเทศและเศรษฐกิจโลกปรับตัวดีขึ้น ส่งผลให้การบริโภค การลงทุน การส่งออก และการท่องเที่ยวอยู่ในทิศทางที่ดีขึ้น รวมทั้งการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำทั่วประเทศส่งผลให้กำลังซื้อโดยรวมเพิ่มขึ้น ทั้งนี้ แม้ว่าค่าดัชนีโดยรวมเริ่มมีสัญญาณที่ดีขึ้นแต่สิ่งที่ประชาชนยังมีความกังวลคือปัจจัยการเมือง และปัญหาค่าครองชีพที่ยังทรงตัวในระดับสูง
  • สศค. วิเคราะห์ว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค เดือน ม.ค. 56 ที่อยู่ระดับสูงสุดในรอบ 16 เดือนนั้น เป็นเครื่องสะท้อนการบริโภคภาคเอกชนที่ยังคงแข็งแกร่ง สอดคล้องกับยอดปริมาณการจำหน่ายรถจักรยานยนต์ในเดือน ม.ค. 56 ที่มีจำนวน 191,107 คัน หรือขยายตัวร้อยละ 19.7 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งการบริโภคภาคเอกชนที่ขยายตัวอย่างแข็งแกร่งนี้ ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากความต่อเนื่องของนโยบายของรัฐบาล อีกทั้งอัตราเงินเฟ้อยังคงอยู่ในระดับไม่สูงนัก โดยล่าสุด เดือน ม.ค. 56 อัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ที่ร้อยละ 3.4 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ในขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ร้อยละ 1.6 ซึ่งอัตราเงินเฟ้อที่ไม่สูงเกินไปจะเป็นอีกปัจจัยที่เอื้อให้การบริโภคภาคเอกชนในปี 56 นี้ขยายตัวได้ดี ทั้งนี้ สศค. คาดการณ์ว่า การบริโภคภาคเอกชนในปี 56 นี้จะขยายตัวร้อยละ 3.9 หรือในช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 3.4 - 4.4 (คาดการณ์ ณ เดือน ธ.ค. 55)
2. ECB คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายร้อยละ 0.75 ต่อปี ติดต่อกันเป็นเดือนที่ 7
  • ธนาคารกลางของยุโรป (ECB ) ตัดสินใจคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ร้อยละ 0.75 ต่อปี อยู่ในระดับต่ำเป็นประวัติการณ์ต่อเนื่องติดต่อกันเป็นเดือนที่ 7 ทั้งนี้ ECB ยังไม่มีประกาศใช้นโยบายผ่อนคลายทางการเงินเพิ่มเติมแต่อย่างใด นอกจากนี้ ประธาน ECB ให้ความเห็นเพิ่มเติมภายหลังจากการประชุมว่า อัตราดอกเบี้ยนโยบายที่อยู่ในระดับต่ำจะเป็นปัจจัยบวกต่อการกลับมาขยายตัวทางเศรษฐกิจของยูโรโซนได้อีกครั้ง อย่างไรก็ตาม ประธาน ECB กล่าวถึง สถานการณ์ค่าเงินยูโรที่แข็งค่าขึ้นในช่วงที่ผ่านมาว่า แม้จะบ่งชี้ถึงความเชื่อมั่นของนักลงทุนที่ปรับตัวดีขึ้นก็ตาม แต่อัตราแลกเปลี่ยนมีส่วนสำคัญต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจและเสถียรภาพทางด้านราคาของยูโรโซน ซึ่งหากไม่มีมาตรการออกมารองรับ อาจส่งผลกระทบต่อการแข่งขันของยูโรโซนในตลาดโลกได้
  • สศค. วิเคราะห์ว่าการคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายของ ECB เป็นปัจจัยสนับสนุนการขยายตัวทางเศรษฐกิจของยุโรป ท่ามกลางการชะลอลงของเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจภายในภูมิภาค ซึ่งปัจจุบันเศรษฐกิจยุโรปยังคงมีแนวโน้มชะลอลงอย่างต่อเนื่อง ทั้งภาคอุปสงค์ภายในประเทศและอุปสงค์ภายนอกประเทศที่ชะลอลง สะท้อนจากดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค เดือน ม.ค. 56 อยู่ระดับ -21.9 จุด บ่งชี้ความไม่เชื่อมั่นของผู้บริโภคต่อการใช้จ่ายในช่วงเวลานี้ ด้านภาคอุตสาหกรรมยังคงหดตัว สะท้อนจากดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคอุตสาหกรรมยูโรโซนเดือน ม.ค. 56 อยู่ที่ระดับ 47.9 จุด ซึ่งอยู่ระดับต่ำกว่า 50 จุดมากว่า 18 เดือน สะท้อนการหดตัวต่อเนื่องของภาคอุตสาหกรรม ในด้านการค้าระหว่างประเทศ มูลค่าการส่งออก เดือน พ.ย. 55 ขยายตัวชะลอลงอยู่ที่ร้อยละ 5.4 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน เนื่องจากการส่งออกไปยังประเทศในยุโรปด้วยกันเองชะลอลง ปัจจัยเหล่านี้ล้วนแล้วแต่เอื้อให้ ECB ยังคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับต่ำต่อไป จนกว่าสัญญาณการฟื้นตัวของเศรษฐกิจยูโรโซนจะชัดเจนขึ้น หรือมีแรงกดดันด้านราคาเพิ่มขึ้น
3. อัตราการว่างงานออสเตรเลีย เดือน ม.ค. 56 ยังคงทรงตัวอยู่ที่ร้อยละ 5.4 ของกำลังแรงงานรวม
  • สำนักงานสถิติแห่งชาติออสเตรเลีย เปิดเผย อัตราการว่างงานออสเตรเลีย เดือน ม.ค. 56 ยังคงทรงตัวอยู่ที่ร้อยละ 5.4 ของกำลังแรงงานรวม โดยมีผู้มีงานทำเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน จำนวน 10,400 คน ซึ่งเป็นผลจากตัวเลขการจ้างงาน part-time ที่ปรับเพิ่มขึ้น 20,200 คน ขณะที่การจ้างงานเต็มเวลาปรับตัวลดลง ส่งผลให้อัตราการว่างงานดังกล่าวยังคงทรงตัวต่อเนื่อง 2 เดือนติดต่อกัน
  • สศค. วิเคราะห์ว่า อัตราการว่างงานออสเตรเลียมีทิศทางลดลงอย่างต่อเนื่อง ผนวกกับเศรษฐกิจออสเตรเลียยังคงขยายตัวได้ดี โดย ในไตรมาส 3 ปี 55 ขยายตัวร้อยละ 3.1 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน จากโครงสร้างทางเศรษฐกิจที่พึ่งพาการเติบโตภายในประเทศเป็นหลัก บ่งชี้จากสัดส่วนการบริโภคภาคเอกชนและการลงทุนรวม ที่ร้อยละ 55.9 และ 29.0 ของGDP ตามลำดับ แม้ว่าจะมีความเสี่ยงจากเศรษฐกิจโลกที่ชะลอลงซึ่งส่งผลกระทบต่อช่องทางการค้า สะท้อนจาก ภาคการส่งออกที่หดตัวต่อเนื่องติดต่อกัน 6 เดือน อย่างไรก็ตาม จากการพึ่งพาอุปสงค์นอกประเทศของออสเตรเลียอยู่ในสัดส่วนที่น้อยจึงไม่อาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจออสเตรเลียมากนัก อีกทั้ง ธนาคารกลางออสเตรเลียได้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบาย เดือน ม.ค. 56 ร้อยละ 3.00 ต่อปี นับเป็นระดับต่ำสุดในรอบกว่า 3 ปีที่ผ่านมา เพื่อเป็นปัจจัยที่เอื้อต่อการลงทุนและการขยายตัวภายในประเทศเป็นสำคัญ

ที่มา: Bureau of Macroeconomic Policy,Fiscal Policy Office, Ministry of Finance

Tel: 02-273-9020 Ext. 3257


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ