Macro Morning Focus ประจำวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2556
1. นายกรัฐมนตรีวางแผนเงินกู้ 2 ล้านล้านบาท เน้นแผนสร้างถนน "รถไฟฟ้า - รถไฟความเร็วสูง"
2. อัตราดอกเบี้ยในประเทศที่สูงกว่าดอกเบี้ยโลกมีอากาสเสี่ยงทำให้เกิดฟองสบู่ได้
3. สภาคองเกรสคาดยอดขาดดุลงบประมาณสหรัฐลดลงต่ำกว่า 1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปีงปม. 56
Highlight:
- นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุม ครม.ถึงกรณีเงินกู้ 2 ล้านล้านบาท ว่า อยู่ในขั้นตอนการทำแผนสำหรับยุทธศาสตร์ประเทศ เรื่องหลักการในการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน จะเน้นการกระจายความเจริญไปยังต่างจังหวัดในภูมิภาคต่างๆ ด้วย โดยงบประมาณเงินกู้ 2 ล้านล้านบาท จะใช้ไปในส่วนของการวางโครงสร้างพื้นฐาน เช่น รถไฟฟ้าความเร็วสูงตามจุดต่างๆก่อน การสร้างถนนสายหลัก เพราะเรามีความจำเป็นเรื่องรถไฟฟ้า รถไฟความเร็วสูง ซึ่งต้องใช้งบประมาณนี้ทั้งหมดก่อน
- สศค. วิเคราะห์ว่า การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐจะเป็นการปรับเปลี่ยนโครงสร้างและวางรากฐานการพัฒนาเศรษฐกิจไทยระยะยาวในอนาคตซึ่งจะทำให้ประเทศไทยมีศักยภาพสูงขึ้นในการแข่งขันกับระดับนานาชาติ ส่งผลดีต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (GDP) ทั้งยังช่วยทำให้คนทุกกลุ่มได้รับประโยชน์ นับเป็นการกระจายรายได้ที่ดีและ สร้างโอกาสให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ทีดีขึ้น นอกจากนี้ การก่อสร้างรถไฟฟ้าความเร็วสูงดังกล่าวจะเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพการเดินทางและการขนส่งให้เชื่อมโยงโครงข่ายภูมิภาคอาเซียน อีกทั้งยังเอื้อให้เกิดการพัฒนาเมือง นำไปสู่การจ้างงาน สร้างอาชีพ สร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับประชาชนในระยะยาว
- อดีต รมว.คลัง ย้ำภาวะดอกเบี้ยในประเทศสูงกว่าดอกเบี้ยโลก ก็เสี่ยงทำให้เกิดฟองสบู่ได้ เพราะคนจะแห่ไปกู้เงินจากต่างประเทศ มาซื้อทรัพย์สินและอสังหาริมทรัพย์แทน เนื่องจากมีภาระทางการเงินน้อยกว่าอดีตรมว.คลัง ยังกล่าวถึงกรณีที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ออกมาระบุว่า ในกรณีเคลื่อนย้ายทุนเสรี ดอกเบี้ยที่ต่ำเท่าเทียมกับดอกเบี้ยโลก จะส่งผลทำให้ ค่าเงินบาทอ่อนลง ส่งออกมากขึ้น แปลว่า GDP ด้านภาคการผลิตจะเพิ่มมากขึ้น ทันกับ GDP ด้านใช้จ่าย ขณะที่เงินไหลเข้าลดลง ปริมาณเงินบาทในประเทศก็ลดลงด้วย ทั้ง 2 ประการ จึงไม่ทำให้เกิดฟองสบู่แต่ในทางกลับกัน การปล่อยให้ดอกเบี้ยเราสูงกว่าดอกเบี้ยโลกมากๆ คนไทยที่ซื้อทรัพย์สินทั้งในตลาดหุ้น และตลาดอสังหาริมทรัพย์ ก็จะไปกู้เงินต่างประเทศมาซื้อ (ไม่ได้กู้เงินไทยที่ดอกเบี้ยสูง) ยิ่งทำให้ทรัพย์สินขึ้นราคา เป็นฟองสบู่ ดังที่เห็นได้ในตลาดหุ้น
- สศค. วิเคราะห์ว่าการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกยังคงมีความไม่แน่นอนจากวิกฤติเศรษฐกิจที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม เครื่องชี้ภาวะเศรษฐกิจล่าสุด บ่งชี้ว่าเศรษฐกิจไทยขยายตัวได้ดีอย่างต่อเนื่องจากการใช้จ่ายจากอุปสงค์ภายในประเทศทั้งการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนที่ขยายตัวได้ดีเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญ โดยมีปัจจัยสนับสนุน คือความเชื่อมั่นภาคเอกชน รายได้ภาคครัวเรือน และการจ้างงานสูง รวมทั้งภาวะการเงินที่ผ่อนปรน สินเชื่อขยายตัวในอัตราสูงอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้การส่งออกเริ่มมีสัญญาณการฟื้นตัวในวงกว้าง และภาคบริการและการท่องเที่ยวขยายตัวดี ส่วนแรงกดดันด้านเงินเฟ้อก็อยู่ในกรอบที่จำหนดไว้ โดยอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานในปี 2555 อยู่ที่ร้อยละ 2.1 อยู่ในเป้าหมายที่ธปท. ตั้งไว้ที่ระหว่างร้อยละ 0.5 ถึง 3.0 ทั้งนี้ ภายใต้ภาวะที่เศรษฐกิจโลกยังมีความไม่แน่นอนและแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อยังอยู่ในกรอบเป้าหมาย เศรษฐกิจไทยยังต้องเผชิญกับความเสี่ยงจากภาวะเงินทุนเคลื่อนย้ายซึ่งต้องติดตามต่อไป
- สำนักงบประมาณของสภาคองเกรส (CBO) คาดการณ์ว่า ยอดขาดดุลงบประมาณของสหรัฐในปีงบประมาณ 2556 ซึ่งสิ้นสุดในเดือนก.ย. 56 จะอยู่ที่ 8.45 แสนล้านดอลลาร์ ซึ่งเป็นการลดลงต่ำกว่า 1 ล้านล้านดอลลาร์เป็นครั้งแรกในรอบ 5 ปี สำหรับยอดขาดดุลงบประมาณดังกล่าวเทียบเท่ากับ 5.3% ของ GDP ที่ปรับตามอัตราเงินเฟ้อในปีงบประมาณ 56 ซึ่งลดลงจากระดับ 7%
- สศค. วิเคราะห์ว่า ในปีงบประมาณ 55 รัฐบาลสหรัฐมีการขาดดุลงบประมาณทั้งสิ้น 1.089 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ในขณะที่การขาดดุลงบประมาณในปีงบประมาณ 56 ที่คาดว่าจะขาดดุลลดลงจากปีงบประมาณ 55 นั้น ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการขึ้นภาษี Payroll ร้อยละ 2 ตามข้อตกลงการแก้ไขปัญหาหน้าผาทางการคลัง ที่มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 21 ม.ค. 56 ที่ผ่านมา ทั้งนี้ GDP ไตรมาส 4 ปี 55 (ตัวเลขเบื้องต้น) ขยายตัวร้อยละ 1.5 ต่อปี หรือหดตัวเล็กน้อยที่ร้อยละ -0.035 จากไตรมาสก่อนหน้า(ขจัดผลทางฤดูกาลแล้ว) สาเหตุจาก 1) สินค้าคงคลัง (Inventory) หดตัวถึงร้อยละ -71.6 ต่อปี ส่วนหนึ่งเป็นผลจากเฮอริเคนแซนดี้ที่ถล่มภาคตะวันออกเฉียงเหนือของสหรัฐฯในช่วงเดือน ต.ค. - พ.ย. 55 ทำให้การผลิตต้องหยุดการผลิตลงและทำให้ต้องมีการใช้สินค้าที่คงเหลือ (Inventory run down) และ 2) การลดการใช้จ่ายของภาครัฐ โดยเฉพาะงบประมาณด้านการทหารที่หดตัวถึงร้อยละ -5.0 ต่อปี ในขณะที่การบริโภคภาคเอกชน ตลอดจนการลงทุนภาคเอกชนยังขยายตัวดีที่ร้อยละ 1.9 และ 3.1 ต่อปี ส่งผลให้เศรษฐกิจสหรัฐฯ ทั้งปี 55 ขยายตัวร้อยละ 2.2 ทั้งนี้ สศค. คาดว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในปี 56 จะขยายตัวได้ที่ร้อยละ 2.2 (คาดการณ์ ณ เดือนธ.ค. 55)
ที่มา: Bureau of Macroeconomic Policy,Fiscal Policy Office, Ministry of Finance
Tel: 02-273-9020 Ext. 3257