รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2556

ข่าวเศรษฐกิจ Monday February 4, 2013 10:59 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2556

Summary:

1. "อาหาร" ดันเงินเฟ้อเดือน ม.ค. 56 พุ่ง 3.39% ราคาหมูขยับรับตรุษจีน

2. ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาด เศรษฐกิจไทยปี 56 ขยายตัวร้อยละ 4.5-5.5

3. ดัชนี PMI เดือน ม.ค. 56 บ่งชี้ เศรษฐกิจจีนและสหรัฐฯขยายตัว ส่งผลดีต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก

Highlight:

1. "อาหาร" ดันเงินเฟ้อเดือน ม.ค. 56 พุ่ง 3.39% ราคาหมูขยับรับตรุษจีน
  • กระทรวงพาณิชย์แถลงตัวเลขเงินเฟ้อในเดือน ม.ค. 56 พบว่าอยู่ที่ร้อยละ 3.39 โดยถือว่าต่ำกว่าเป้าหมายที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ โดยในปีนี้ทางกระทรวงพาณิชย์ได้มีการตั้งเป้าหมายอัตราเงินเฟ้ออยู่ในกรอบ ร้อยละ 2.8-3.4 ซึ่งอัตราเงินเฟ้อในเดือน ม.ค. เป็นผลมาจากดัชนีราคาสินค้าในหมวดอาหารและเครื่องดื่มมีการปรับตัวสูงขึ้น ขณะที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยยังคงมองว่า แรงกดดันเงินเฟ้อของไทยยังคงมีโอกาสปรับสูงขึ้นในช่วงหลายเดือนข้างหน้า ตามแรงผลักดันด้านต้นทุนของผู้ประกอบการ โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อทั่วไปและอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานในปี 56 ที่ร้อยละ 3.3 (ช่วงคาดการณ์ร้อยละ 3.0-3.6) และร้อยละ 2.4 (ช่วงคาดการณ์ร้อยละ 2.2-2.8)
  • สศค.วิเคราะห์ว่า อัตราเงินเฟ้อในเดือน ม.ค. 56 อยู่ที่ร้อยละ 3.4 เป็นการปรับตัวลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ร้อยละ 3.6 โดยเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า ราคาสินค้าที่มีการปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ เนื้อหมู ไข่ไก่ และค่าไฟฟ้า เนื่องจากมีการปรับค่า ft เพิ่มขึ้น ขณะที่สินค้าประเภทผักสดมีการปรับตัวลดลง โดยในปี 56 ปัจจัยหลักที่จะเป็นแรงกดดันต่อภาวะเงินเฟ้อคือ การปรับโครงสร้างราคาก๊าซ LPG ในภาคขนส่งและภาคครัวเรือนที่คาดว่าจะเริ่มในเดือน เม.ย. 56 นอกจากนี้ ความเป็นไปได้ในการปรับโครงสร้างราคาพลังงานประเภทอื่นๆ ยังอาจเป็นแรงกดดันเพิ่มเติมต่ออัตราเงินเฟ้อในปี 56 อย่างไรก็ตาม สศค.คาดว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยทั้งปี 56 จะอยู่ในระดับปานกลางที่ร้อยละ 3.0 (ช่วงคาดการณ์ร้อยละ 2.5-3.5)
2. ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดเศรษฐกิจไทยปี 56 ขยายตัวร้อยละ 4.5 - 5.5
  • ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินภาวะเศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 4 / ปี 55 ว่ามีความแข็งแกร่งมากจากอานิสงส์ของฐานเปรียบเทียบที่ต่ำในช่วงอุทกภัยปี 54 รวมถึงการเพิ่มขึ้นของระดับการสะสมสต็อกในภาคอุตสาหกรรม ทำให้คาดว่าเศรษฐกิจไทยทั้งปี 55 จะขยายตัวที่ร้อยละ 5.3 สูงขึ้นจากประมาณการเดิมร้อยละ 5.0 ขณะที่ในปี 56 ยังคงกรอบประมาณการเดิมไว้ที่ร้อยละ 4.5 - 5.5 แต่ต้องจับตาผลกระทบจากการเพิ่มขึ้นของต้นทุนการผลิต และการแข็งค่าของค่าเงินบาทที่เริ่มขึ้นตั้งแต่ต้นปี ซึ่งจะเป็นแรงกดดันต่อการฟื้นตัวของแนวโน้มภาคธุรกิจและการส่งออกของไทย
  • สศค. วิเคราะห์ว่า แนวโน้มเศรษฐกิจไทยปี 56 นี้มีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่องที่ร้อยละ 5.0 (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 4.5 - 5.5) โดยมีปัจจัยสนับสนุนหลักจากการขยายตัวของการลงทุนภาครัฐที่คาดว่าจะขยายตัวได้ในระดับสูง ตามแผนบริหารจัดการน้ำในระยะยาวของภาครัฐวงเงินลงทุนรวม 3.5 แสนล้านบาทที่คาดว่าจะเริ่มทยอยลงทุนได้มากขึ้นในปี 56 ขณะที่การบริโภคภาคเอกชน คาดว่าจะขยายตัวในเกณฑ์ดี แม้ว่าชะลอลงจากปี 55 เนื่องจากปัจจัยฐานสูง นอกจากนี้ การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก จะเป็นปัจจัยหลักที่มีส่วนสนับสนุนการขยายตัวของการส่งออกมากขึ้น โดยคาดว่าการส่งออกสินค้าและบริการจะขยายตัวร้อยละ 6.6 (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 5.6 -7.6) คาดการณ์ ณ ธ.ค. 55
3. ดัชนี PMI เดือน ม.ค. 56 บ่งชี้ เศรษฐกิจจีนและสหรัฐฯ ขยายตัว ส่งผลดีต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก
  • จากข้อมูลโดยสำนักงานสถิติประเทศจีน ดัชนีผู้จัดการแผนกจัดซื้อ (Purchasing Manager Index: PMI) ภาคอุตสาหกรรมของจีนอยู่ที่ระดับ 50.6 ซึ่งเป็นการบ่งชี้ถึงการขยายตัว และถือเป็นการขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 ติดต่อกัน ขณะที่ดัชนี PMI ภาคบริการของจีนในเดือน ม.ค. อยู่ที่ระดับ 56.2 บ่งชี้ถึงการเติบโตของกิจกรรมทางเศรษฐกิจในภาคดังกล่าวเช่นกัน การเพิ่มขึ้นของดัชนีภาคบริการมีสาเหตุมาจากการที่ภาคการค้าปลีกและการก่อสร้างที่ดำเนินการโดยรัฐบาลสามารถขยายตัวได้ดีในเดือนที่ผ่านมา ขณะเดียวกันเศรษฐกิจสหรัฐฯ ก็มีความเป็นไปได้ที่จะขยายตัวในเดือน ม.ค. เช่นกัน จากดัชนี PMI ที่จัดทำโดย the Institute for Supply Management (ISM) ได้บ่งชี้การขยายตัวทั้งภาคอุตสากรรมและภาคบริการ โดยดัชนี PMI ในภาคอุตสาหกรรมอยู่ที่ระดับ 53.1 ด้านดัชนีภาคบริการอยู่ที่ระดับ 55.0 โดยการเพิ่มขึ้นของดัชนีในเดือน ม.ค. มีสาเหตุมาจากการบริโภคและการส่งออกที่มีการเติบโตได้ดี รวมไปถึงภาคอสังหาริมทรัพย์ที่เริ่มกลับมาคึกคักเช่นเดียวกัน
  • สศค.วิเคราะห์ว่า สัญญาณที่บ่งชี้การขยายตัวทั้งทางด้านภาคอุตสาหกรรมและภาคบริการในช่วงเดือนที่ผ่านมาสำหรับทั้งสหรัฐฯ และจีนซึ่งมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 1 และ 2 ของโลกตามลำดับนั้น แสดงให้เห็นถึงการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก การขยายตัวดังกล่าวนี้จะนำไปสู่การจ้างงานที่เพิ่มขึ้นและกระตุ้นการบริโภคในวงกว้าง ซึ่งจะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจโลกโดยรวม รวมไปถึงประเทศไทยที่เชื่อมโยงกับ 2 ประเทศนี้โดยตรงผ่านการค้าระหว่างประเทศ โดยจีนและสหรัฐฯ เป็นคู่ค้าหลักอันดับ 2 และ 3 ของไทยตามลำดับ อย่างไรก็ดี สถานการณ์ทางเศรษฐกิจของทั้ง 2 ประเทศยังคงมีความเสี่ยงที่ต้องเผชิญในอนาคตอันใกล้ ได้แก่ จีนกับความเสี่ยงของภาวะเงินเฟ้อ หรือ สหรัฐฯ กับความไม่แน่นอนของภาวะหน้าผาทางการคลัง (Fiscal Cliff)

ที่มา: Bureau of Macroeconomic Policy,Fiscal Policy Office, Ministry of Finance

Tel: 02-273-9020 Ext. 3257


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ