รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2556

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday February 28, 2013 11:06 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2556

Summary:

1. แบงก์ชาติย้ำเงินไหลเข้าเริ่มสมดุล ปรับพอร์ตโยกซื้อบอนด์ระยะยาว "อัมมาร" ห่วงเกาไม่ถูกที่คัน

2. พาณิชย์เผยส่งออกม.ค.เพิ่มขึ้น 16.09 % ขาดดุลการค้า 5.49 พันล้านเหรียญ

3. คณะกรรมการเพื่อการพัฒนาและปฏิรูปแห่งชาติ เตือนรัฐบาลจีนให้ดำเนินนโยบายการเงินที่รัดกุมขึ้น

Highlight:

1. แบงก์ชาติย้ำเงินไหลเข้าเริ่มสมดุล ปรับพอร์ตโยกซื้อบอนด์ระยะยาว "อัมมาร"ห่วงเกาไม่ถูก
  • ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เห็นว่าสถานการณ์เงินทุนไหลเข้าในไทยในขณะนี้เริ่มมีเสถียรภาพมากขึ้นโดยในเดือน ม.ค. 56 มีประมาณ 2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่ในเดือน ก.พ. 56 เริ่มลดลงและมีการโยกเงินทุนไปลงทุนในพันธบัตรระยะยาวมากขึ้น โดยล่าสุด นักลงทุนต่างชาติมีสัดส่วนการถือครองตราสารหนี้ไทยประมาณร้อยละ 11 และมียอดซื้อสุทธิในตลาดหลักทรัพย์ของไทย 8.3 หมื่นล้านบาท นอกจากนี้ นายอัมมาร สยามวาลา เห็นว่าเงินทุนที่ไหลเข้ามาในไทยในขณะนี้เป็นการหาผลตอบแทนของนักลงทุนต่างชาติ ซึ่งรัฐบาลต้องออกมาตรการควบคุมเงินทุนอย่างมีประสิทธิภาพ และยังเห็นว่าประเด็นการปรับขึ้นหรือลดดอกเบี้ย หรือการนำเงินออกไปชำระหนี้หรือลงทุนทางตรงในต่างประเทศที่หลายฝ่ายเสนอนั้นไม่ถูกประเด็น เนื่องจากจะทำให้การบริหารหนี้สาธารณะผิดเพี้ยนไป โดยเฉพาะเงินทุนที่กำลังไหลเข้ามาเป็นการเข้ามาเก็งกำไรระยะสั้น ซึ่งทำให้ประเทศกำลังมีความเสี่ยงและจะสร้างปัญหาในระยะยาว
  • สศค. วิเคราะห์ว่า ปริมาณเงินทุนจากต่างประเทศที่ไหลเข้ามาในไทยของนักลงทุนต่างชาติแสดงถึงความเชื่อมั่นของปัจจัยพื้นฐานทางด้านเศรษฐกิจของประเทศกลุ่มภูมิภาคเอเชียรวมทั้งไทยที่เติบโตได้ดี โดยเงินทุนจากต่างชาติได้ไหลเข้ามาในตลาดสำคัญของไทยคือ ตลาดตราสารทุน โดยล่าสุด ข้อมูลมูลค่าการซื้อขายสุทธิสะสมของนักลงทุนต่างชาติของตลาดหุ้นไทยในเดือน ม.ค. 56 อยู่ที่ 15.0 พันล้านบาท และดัชนีตลาดหลักทรัพย์ของไทย (SET) ล่าสุดเมื่อวันที่ 26 ก.พ. 56 ปิดตลาดที่ระดับ 1,530.3 จุด ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 9.9 จากต้นปี 56 และร้อยละ 23.9 ในรอบ 6 เดือนล่าสุด ขณะที่ในตลาดตราสารหนี้ นักลงทุนต่างชาติมีมูลค่าการซื้อขายสุทธิสะสมตั้งแต่ ม.ค. 56 - 22 ก.พ. 56 อยู่ที่ 25.1 พันล้านบาท อย่างไรก็ตาม เงินทุนไหลเข้าจากต่างชาติได้ส่งผลต่อค่าเงินบาทในปี 56 ที่มีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยล่าสุด ค่าเงินบาท ณ วันที่ 27 ก.พ. 56 อยู่ที่ 29.8 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเป็นการปรับตัวแข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่องนับจากต้นปี 55 ร้อยละ 2.6 ทั้งนี้ สศค. คาดว่า ค่าเงินบาทในปี 56 อยู่ที่ 30.7 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ โดยมีช่วงคาดการณ์ 29.7-31.7 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ (คาดการณ์ ณ เดือน ธ.ค. 55)
2. พาณิชย์เผยส่งออกม.ค.เพิ่มขึ้น 16.09 % ขาดดุลการค้า 5.49 พันล้านเหรียญ
  • กระทรวงพาณิชย์ เผยตัวเลขการส่งออกเดือน ม.ค. มีมูลค่า 18,269 ล้าน เหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 16.09 % จากช่วงเดียวกันปีก่อน โดยเพิ่มขึ้นมากกว่า ที่นักวิเคราะห์คาดไว้เพิ่มขึ้น 13.85 %การส่งออกที่ขยายตัวเป็นไปตามฤดูกาล และความต้องการจากจีนที่เพิ่มขึ้นมาก ขณะที่การนำเข้าในม.ค.มีมูลค่า 23,755 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 40.87 % จากช่วงเดียวกันปีก่อน ทำให้ไทยขาดดุลการค้าประมาณ 5.49 พันล้านเหรียญสหรัฐนอกจากนี้ กระทรวงพาณิชย์ระบุว่าการนำเข้าที่เพิ่มขึ้นมากใน ม.ค.เป็นผลจากการนำเข้า น้ำมัน, เครื่องจักร และวัตถุดิบ
  • สศค. วิเคราะห์ว่า ตัวเลขมูลค่าการส่งออกเมื่อขจัดผลทางฤดูกาล (m-o-m SA) พบว่าขยายตัวร้อยละ 5.3 ต่อเดือน และนับเป็นการขยายตัวติดต่อกันเป็นเดือนที่ 5 นับจากเดือนกันยายน 2555 ซึ่งการส่งออกที่กลับมาขยายตัวเพิ่มขึ้นเป็นไปตามฤดูกาล ทั้งภาคการผลิตและภาคอุปสงค์ที่ฟื้นตัวจากวิกฤตน้ำท่วมเมื่อปลายปี 2554 โดยเครื่องชี้ทางด้านการผลิตพบว่ามีการขยายตัวเช่นกัน โดยการผลิตภาคอุตสาหกรรม (เบื้องต้น)ขยายตัวร้อยละ 8.6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน การท่องเที่ยวต่างประเทศมีการเติบโตอย่างต่อเนื่องอยู่ที่ร้อยละ 12.5 การผลิตภาคการเกษตรขยายตัวร้อยละ 0.8 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนทั้งนี้ ภาวะเศรษฐกิจไทยในเดือนมกราคม 2556 บ่งชี้ถึงการขยายตัวได้อย่างสมดุลมากขึ้นจากฐานที่ต่ำในปีก่อน โดยได้รับแรงสนับสนุนหลักจากการใช้จ่ายภายในประเทศที่เติบโตอย่างแข็งแกร่งทั้งจากการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชน ประกอบกับการใช้จ่ายของรัฐบาลที่ขยายตัวในระดับสูง ทั้งนี้ สศค. คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวร้อยละ 5.0 ในปี 56 (คาดการณ์ ณ เดือน ธ.ค. 55)
3. คณะกรรมการเพื่อการพัฒนาและปฏิรูปแห่งชาติ เตือนรัฐบาลจีนให้ดำเนินนโยบายการเงินที่รัดกุมขึ้น
  • คณะกรรมการเพื่อการพัฒนาและปฏิรูปแห่งชาติจีน (National Development and Reform Commission) เตือนรัฐบาลจีนว่าควรดำเนินนโยบายการเงินที่รัดกุมขึ้น เนื่องจากจีนกำลังเผชิญกับความเสี่ยงจากสภาพคล่องและสินเชื่อที่มากเกินไป พร้อมทั้งควรเฝ้าระวังราคาอสังหาริมทรัพย์ที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น ทั้งนี้ ในสัปดาห์ก่อนธนาคารกลางจีนได้ดำเนินการดูดซับสภาพคล่องจากระบบการเงินเป็นมูลค่ากว่า 910 พันล้านหยวน หรือคิดเป็น 146 พันล้านดอลลาห์สหรัฐ
  • สศค. วิเคราะห์ว่า ธนาคารกลางจีนได้ดำเนินนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายเพื่อกระตุ้นการบริโภคและการลงทุนมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปลายปี 54 สะท้อนจากธนาคารกลางจีนปรับลดอัตราเงินสดสำรอง (Required Reserve Ratio) ถึง 3 ครั้งตั้งแต่เดือน ธ.ค. 54 ถึง พ.ค. 55 ที่ผ่านมา จากร้อยละ 20.5 เป็นร้อยละ19.5 และยังปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายในช่วงกลางปี 55 จากร้อยละ 6.1 เหลือร้อยละ 5.6 ซึ่งอาจเป็นเหตุให้ธนาคารพาณิชย์สามารถให้สินเชื่อได้มากขึ้น สภาพคล่องมากขึ้น สะท้อนจากปริมาณสินเชื่อที่อยู่อาศัยไตรมาสที่ 2 ปี 55 ที่ขยายตัวในอัตราเร่งต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่ 2 ร้อยละ 12.8 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน และราคาอสังหาริมทรัพย์เดือน ม.ค. 56 ขยายตัวเป็นบวกครั้งแรกในรอบ 11 เดือน ที่ร้อยละ 0.8 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนที่หดตัวร้อยละ -0.04 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน แม้ว่ารัฐบาลจีนจะมีมาตรการเพิ่มอัตราภาษีด้านอสังหาริมทรัพย์เพื่อป้องกันภาวะฟองสบู่ จึงอาจเป็นสาเหตุหนึ่งให้ธนาคารกลางจีนจำเป็นต้องดำเนินนโยบายการเงินแบบรัดกุมมากขึ้น

ที่มา: Bureau of Macroeconomic Policy,Fiscal Policy Office, Ministry of Finance

Tel: 02-273-9020 Ext. 3257


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ