Macro Morning Focus ประจำวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2556
1. สศช. เปิดเผยไตรมาสที่ 4/55 ยอดคงค้างสินเชื่ออุปโภคบริโภคและการผิดนัดชำระหนี้เพิ่มขึ้น
2. โตโยต้ารายงานยอดขายรถยนต์ในเดือน ม.ค. 56 อยู่ที่ 125,817 คัน เติบโตร้อยละ 63.4
3. เศรษฐกิจสิงคโปร์ขยายตัวกว่าที่คาดการณ์
Highlight:
- สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) แถลงภาวะสังคมไทยไตรมาส 4 และภาพรวมปี 2555 โดยในส่วนของหนี้สินครัวเรือนไตรมาส 4/ 5 พบว่า ยอดคงค้างสินค้าเพื่อการอุปโภคบริโภคส่วนบุคคลเพิ่มขึ้นร้อยละ 21.6 คิดเป็นมูลค่า 2.9 ล้านล้านบาท โดยเฉพาะ สินเชื่อเพื่อการซื้อรถยนต์และจักรยานยนต์เพิ่มขึ้นร้อยละ 33.9 และสินเชื่ออุปโภคบริโภคส่วนบุคคลอื่นๆ เพิ่มขึ้นร้อยละ 29.4 โดยเฉพาะสินเชื่อที่ไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกันรวมทั้งลิสซิ่ง มียอดคงค้างรวม 2.51 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 18.0 ทั้งนี้ การผิดนัดชำระหนี้มีแนวโน้มสูงขึ้นเช่นกัน โดยในไตรมาส 4 ปี 2555 มูลค่าสินเชื่อภายใต้การกำกับที่ผิดนัดชำระเกิน 3 เดือนขึ้นไป เพิ่มขึ้นร้อยละ 28.1 และหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) จากสินเชื่อเพื่อการอุปโภคบริโภคส่วนบุคคลเพิ่มขึ้นร้อยละ 20.5 หรือคิดเป็นร้อยละ 23.3 ของ NPL ซึ่งทำให้จะต้องระวังและติดตามความสามารถในการชำระหนี้ของประชาชนอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะครัวเรือนที่มีรายได้น้อย
- สศค. วิเคราะห์ว่า ยอดคงค้างสินเขื่อเพื่อการอุปโภคและบริโภคของบุคคลในไตรมาสที่ 4/55 มีมูลค่า 2.9 พันล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 25.7 ของยอดคงค้างของสินเชื่อรวมทั้งระบบ โดยปัจจัยสำคัญที่ทำให้สินเชื่อรวมขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญส่วนหนึ่งเกิดจากการเพิ่มขึ้นของสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์และรถจักรยานยนต์และการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ โดยสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) เท่ากับ 56.6 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 20.5 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ตามการขยายตัวของสินเชื่อรวม หรือคิดเป็นร้อยละ 1.9 ของสินเชื่อรวม อย่างไรก็ตาม หากเปรียบเทียบอัตราส่วนดังกล่าวกับข้อมูลในอดีตพบว่า ต่ำสุดในรอบ 5 ปี นอกจากนี้ หากพิจารณาถึงคุณภาพของสินเชื่อทั้งระบบพบว่าอยูในเกณฑ์ดีตามภาวะเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง โดยอัตราส่วน Gross NPL และ Net NPL ลดลงเหลือร้อยละ 2.3 และ 1.1 ตามลำดับ และระบบธนาคารพาณิชย์ มีเงินกองทุนเพิ่มขึ้นเพียงพอที่จะรองรับการขยายสินเชื่อในอนาคต สะท้อนได้จากอัตราส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (BIS Ratio) เท่ากับร้อยละ 16.3 มากกว่าเกณฑ์ที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนดที่ร้อยละ 8.5
- บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด รายงานปริมาณการขายรถยนต์ในเดือน ม.ค. 56 อยู่ที่ 125,817 คัน สูงสุดเป็นสถิติใหม่ของยอดขายโดยขยายตัวร้อยละ 63.4 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ประกอบด้วยรถยนต์นั่งจำนวน 59,872 คัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 108.6 รถเพื่อการพาณิชย์จำนวน 65,945 คัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 36.5 และรถกระบะขนาด 1 ตัน จำนวน 55,618 คัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 29.9 ทั้งนี้ ยอดขายที่เพิ่มขึ้นส่วนหนึ่งเป็นผลจากการทยอยส่งมอบรถยนต์จากโครงการรถยนต์คันแรกที่มียอดค้างส่งมอบอยู่เป็นจำนวนหนึ่ง และกิจกรรมส่งเสริมการขายของค่ายรถยนต์ต่างๆ ตั้งแต่ในช่วงต้นปี
- สศค. วิเคราะห์ว่า การขยายตัวที่สูงขึ้นมากของปริมาณจำหน่ายรถยนต์นั่งสะท้อนถึงการบริโภคภาคเอกชนที่เติบโตได้ดี แม้ว่าส่วนหนึ่งจะเป็นผลมาจากฐานต่ำของช่วงเดียวกันของ ปีก่อนซึ่งการผลิตของอุตสาหกรรมยานยนต์ได้รับผลกระทบจากปัญหาอุทกภัยในช่วงปลายปี 54 และผลจากโครงการรถคันแรกของภาครัฐที่ส่งผลโดยตรงต่อการตัดสินใจซื้อของผู้บริโภค อย่างไรก็ดี เมื่อพิจารณาเครื่องชี้การบริโภคภาคเอกชนที่สะท้อนจากยอดจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ พบว่าขยายตัวได้ดีอย่างต่อเนื่อง โดยล่าสุด ยอดจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ ในเดือน ม.ค. 56 ขยายตัวร้อยละ 16.1 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 6.8 และเมื่อขจัดผลทางฤดูกาลออก (m-o-m SA) พบว่า ขยายตัวร้อยละ 8.6 ต่อเดือน นอกจากนี้ การบริโภคสินค้าคงทนที่สะท้อนจากปริมาณการจำหน่ายรถจักรยานยนต์ก็ขยายตัวเช่นกัน โดยล่าสุด ปริมาณการจำหน่ายรถจักรยานยนต์ ในเดือน ม.ค. 56 ขยายตัวร้อยละ 19.7 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ต่อเนื่องจากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 22.4 และเมื่อขจัดผลทางฤดูกาล (m-o-m SA) พบว่าขยายตัว ร้อยละ 8.0 ต่อเดือน ทั้งนี้ สศค. คาดว่า การบริโภคที่แท้จริงในปี 56 จะขยายตัวร้อยละ 3.9 โดยมีช่วงคาดการณ์ร้อยละ 3.4-4.4 (คาดการณ์ ณ เดือน ธ.ค. 55)
- สำนักข่าวบีบีซีรายงานว่า เศรษฐกิจสิงคโปร์ในไตรมาส 4 ของปี 55 ขยายตัวถึงร้อยละ 1.5 ซึ่งมากกว่าที่คาดการณ์ไว้ว่าจะขยายตัวเพียงร้อยละ 1.1 โดยหากเปรียบเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า พบว่า ขยายตัวถึงร้อยละ 3.1 มาจากภาคการผลิตที่ขยายตัวถึงร้อยละ 3.3 โดยเฉพาะสินค้าประเภทเวชภัณฑ์และวิศวกรรมการคมนาคม
- สศค. วิเคราะห์ว่า เครื่องชี้เศรษฐกิจสิงคโปร์ล่าสุดสามารถเติบโตได้ต่อเนื่องจากปี 55 สะท้อนได้จากมูลค่าการส่งออกในเดือน ม.ค. 56 ที่กลับมาขยายตัวเป็นบวกครั้งแรกในรอบ 2 เดือนนับจาก พ.ย.55 คิดเป็นร้อยละ 2.2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อนเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันในปีก่อน อย่างไรก็ดี สิงคโปร์ถือเป็นประเทศคู่ค้าอันดับ 7 ของไทย คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 5.1 ประกอบกับในปี 58 ที่จะเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนซึ่งจะมีส่วนช่วยในการสนับสนุนการค้าขายระหว่างกันมากขึ้น ทั้งนี้ สศค. คาดว่า เศรษฐกิจสิงคโปร์ในปี 56 จะขยายตัวร้อยละ 3.2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน(คาดการณ์ ณ เดือน ธ.ค. 55) และจะมีการปรับประมาณการอีกครั้งในเดือน มี.ค. 56
ที่มา: Bureau of Macroeconomic Policy,Fiscal Policy Office, Ministry of Finance
Tel: 02-273-9020 Ext. 3257