Macro Morning Focus ประจำวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2556
Summary:
1. กนง.ประกาศคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายโดยมีมติ 6 ต่อ1เสียง
2. สศก.เผยดัชนีราคาสินค้าเกษตรปี 55 ลดลงร้อยละ10
3. มูดี้ส์ ระบุเศรษฐกิจจีนฟื้นตัวแล้ว โตกว่าร้อยละ 8
Highlight:
1. กนง.ประกาศคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายโดยมีมติ 6 ต่อ1เสียง
- นายไพบูลย์ กิตติศรีกังวาน เลขานุการคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) แถลงผลการประชุมกนง. ซึ่งที่ประชุมได้พิจารณาภาวะเศรษฐกิจและเงินเฟ้อ รวมทั้งแนวโน้มในระยะต่อไปเพื่อกำหนดแนวนโยบายการเงินที่เหมาะสม ได้มีมติ 6 ต่อ 1 เสียงให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ 2.75 ต่อปี โดยกรรมการ 1 ท่านเห็นสมควรให้ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงร้อยละ 0.25 เพื่อลดความเสี่ยงจากเงินทุนเคลื่อนย้ายและเห็นว่าเศรษฐกิจในภาพรวมยังมีความเปราะบางทั้งนี้ กนง. จะติดตามความเสี่ยงด้านเสถียรภาพการเงินและสถานการณ์เงินทุนเคลื่อนย้ายอย่างใกล้ชิด
- สศค. วิเคราะห์ว่า การที่ กนง. ตัดสินใจตรึงอัตราดอกเบี้ยนโยบายอยู่ที่ร้อยละ 2.75 เนื่องมาจากการขยายตัวอย่างต่อเนื่องของเศรษฐกิจไทยและเศรษฐกิจโลกที่มีเสถียรภาพมากขึ้น โดยเศรษฐกิจจีนและเศรษฐกิจเอเชียยังขยายตัวได้ดีจากอุปสงค์ในประเทศ ขณะที่แนวโน้มการบริโภคและการลงทุนของสหรัฐฯ ยังขยายตัว นอกจากนี้ เศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 4 ของปี 2555 ขยายตัวดีอยู่ที่ร้อยละ 18.9 เมื่อเทียบกับปีก่อน และร้อยละ 3.6 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหลังจากขจัดผลทางฤดูกาล โดยมีการใช้จ่ายในประเทศเป็นแรงส่งสำคัญของเศรษฐกิจจากปัจจัยพื้นฐานที่ดี รวมทั้งนโยบายการเงินและการคลังยังคงผ่อนคลายในระยะต่อไป ทำให้เศรษฐกิจมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่อง โดยอุปสงค์ภายในประเทศยังเป็นแรงขับเคลื่อนหลัก รวมทั้งการส่งออกที่คาดว่าจะฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป สำหรับแรงกดดันด้านเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นบ้างเนื่องจากราคาน้ำมันปรับเพิ่มขึ้น และนโยบายการเงินที่ผ่อนปรนในช่วงที่ผ่านมา มีส่วนเอื้อให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวในเกณฑ์ดี ในขณะที่เงินเฟ้อยังอยู่ในกรอบเป้าหมาย ทั้งนี้ สศค. คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวร้อยละ 5.0 ในปี 56 (คาดการณ์ ณ เดือน ธ.ค. 55)
2. สศก.เผยดัชนีราคาสินค้าเกษตรปี 55 ลดลงร้อยละ10
- สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงสถานการณ์ราคาสินค้าเกษตรปี 2555 ซึ่งวัดจากดัชนีราคาสินค้าเกษตรที่เกษตรกรขายได้ที่ไร่นาปี 2555 เปรียบเทียบกับปี 2554 พบว่า ลดลง ร้อยละ 10 โดยสินค้าสำคัญที่มีราคาลดลง ได้แก่ มะพร้าว ยางพารา สับปะรดโรงงาน มันสำปะหลัง ปาล์มน้ำมัน ไข่ไก่ สุกร และไก่เนื้อ และเมื่อจำแนกเป็นรายสินค้า พบว่า มะพร้าว ลดลงค่อนข้างมากที่ร้อยละ 53 เนื่องจากปี 2554 มีผลผลิตน้อยซึ่งเกิดจากการระบาดของแมลงดำหนาม ทำให้ราคาผลผลิตสูงมาก
- สศค. วิเคราะห์ว่า ดัชนีราคาสินค้าเกษตรทั้งปี 55 หดตัวอย่างต่อเนื่องตามราคาของยางพารา ปาล์มน้ำมันและราคาผลผลิตในหมวดปศุสัตว์ โดยพบว่า ยางพารา ลดลงร้อยละ 30 อันเป็นผลมาจากปัญหาเศรษฐกิจยุโรปและอเมริกา ทำให้การบริโภคผลิตภัณฑ์ยางลดลง การมีสต๊อกน้ำมันปาล์มดิบของโลกรวมทั้งประเทศไทยสูงมากเนื่องจากการบริโภคลดลงจากปัญหาเศรษฐกิจโลก และด้านสินค้ากลุ่มปศุสัตว์ ราคาลดลงอันเป็นผลมาจากผลผลิตที่มีมากกว่าปี 2554 ได้แก่ ไข่ไก่ ลดลงร้อยละ 15 สุกร ลดลงร้อยละ 13 และไก่เนื้อ ลดลงร้อยละ 11 ตามลำดับ ทั้งนี้ สศค. คาดว่า ในปี 56 แนวโน้มราคาสินค้าเกษตรจะสูงขึ้นเล็กน้อย จากความต่อเนื่องของนโยบายรับจำนำข้าวของรัฐบาลและการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกอย่างช้าๆ
3. มูดี้ส์ ระบุเศรษฐกิจจีนฟื้นตัวแล้ว โตกว่าร้อยละ 8
- สถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือระหว่างประเทศ มูดี้ส์ อินเวสเตอร์ เซอร์วิส ระบุว่าจากข้อมูลล่าสุดบ่งชี้ว่ากิจกรรมทางเศรษฐกิจของจีนฟื้นตัวขึ้นแล้ว และน่าจะขยายตัวเพิ่มสูงขึ้นสู่กรอบบนของช่วง 7.5 - 8.5% ที่มูดี้ส์คาดไว้ก่อนหน้านี้
- สศค. วิเคราะห์ว่า เศรษฐกิจจีนในปี 55 ขยายตัวที่ร้อยละ 7.8 จากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศของรัฐบาล ด้วยการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานและภาคอสังหาริมทรัพย์ที่กลับมาขยายตัว ทดแทนภาคการส่งออกที่ยังคงชะลอตัวแม้มีสัญญาณฟื้นตัวขึ้น ในขณะที่อัตราเงินเฟ้อ เดือน ม.ค. 56 อยู่ที่ร้อยละ 2.0 ลดลงจากร้อยละ 2.5 ในเดือนก่อน สำหรับมูลค่าการส่งออกในเดือน ม.ค. 56 ขยายตัวเร่งขึ้นมากติดต่อเป็นเดือนที่ 3 และอยู่ระดับสูงสุดตั้งแต่เดือน เม.ย. 54 ที่ร้อยละ 25.0 ขณะที่ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ ภาคอุตสาหกรรม (Mfg PMI) เดือน ม.ค. 56 ที่จัดทำโดย NBS อยู่ระดับ 50.4 จุด สอดคล้องกับดัชนีฯ ที่จัดทำโดย HSBC อยู่ระดับ 52.3 จุด เหนือระดับ 50.0 บ่งชี้การขยายตัวภาคอุตสาหกรรมต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 จากคำสั่งซื้อสินค้าใหม่ที่เพิ่มขึ้นอย่างมาก สะท้อนถึงแนวโน้มเศรษฐกิจจีนเริ่มมีสัญญาณการฟื้นตัว ทั้งนี้ สศค. คาดว่าเศรษฐกิจจีนในปี 56 จะขยายตัวได้ที่ร้อยละ 8.2 (ณ เดือนธ.ค. 55)
ที่มา: Bureau of Macroeconomic Policy,Fiscal Policy Office, Ministry of Finance
Tel: 02-273-9020 Ext. 3257