รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2556

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday February 19, 2013 10:52 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2556

Summary:

1. สภาพัฒน์เผย GDP ไตรมาส 4/55 ขยายร้อยละ 18.9 ทั้งปี 55 ขยายตัวร้อยละ 6.4

2. ธปท. มองการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของรัฐบาลและการที่เศรษฐกิจดีเป็นตัวกระตุ้นภาคอสังหาริมทรัพย์

3. ยอดเกินดุลบัญชีเดินสะพัดยูโรโซนลดลงแตะ 1.39 หมื่นล้านยูโรในเดือน ธ.ค.55

Highlight:

1. สภาพัฒน์เผย GDP ไตรมาส 4/55 ขยายร้อยละ 18.9 ทั้งปี 55 ขยายตัวร้อยละ 6.4
  • เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ระบุว่า ในช่วงไตรมาส 4/55 เศรษฐกิจไทย (GDP) ขยายตัวร้อยละ 18.9 สูงสุดเป็นประวัติการณ์นับตั้งแต่มีการจัดทำ GDP ของไทยตั้งแต่ปี 2536 ทำให้ทั้งปี 55 เศรษฐกิจไทยขยายตัวสูงถึงร้อยละ 6.4 ส่วนเศรษฐกิจไทยในปี 2556 คาดว่าจะขยายตัวได้ในช่วงร้อยละ 4.5 - 5.5 โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากรายได้ภาคครัวเรือนที่เพิ่มขึ้น การปรับเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำ อัตราดอกเบี้ยอยู่ในระดับต่ำ ทำให้การบริโภคภายในประเทศสูงขึ้น บวกกับการลงทุนของภาคเอกชน การเบิกจ่ายเงินลงทุนของภาครัฐในงบประมาณประจำปี 56 และเม็ดเงินลงทุนเพิ่มเติมจาก พ.ร.ก. เงินกู้บริหารจัดการน้ำ 3.5 แสนล้านบาท รวมกับเงินลงทุนโครงสร้างพื้นฐานอีก 2 ล้านล้านบาท
  • สศค. วิเคราะห์ว่า เศรษฐกิจไทยในไตรมาส 4/55 ขยายตัวได้ดีต่อเนื่อง โดยเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้าขยายตัวได้ในอัตราเร่งที่ร้อยละ 3.6 (%qoqsa) สะท้อนให้เห็นถึงพื้นฐานที่เข้มแข็งของเศรษฐกิจไทยถึงแม้จะเผชิญกับการชะลอตัวลงของเศรษฐกิจโลก เมื่อพิจารณาถึงแหล่งที่มาของการขยายตัวทางเศรษฐกิจด้านอุปทาน (Contribution to GDP) ในไตรมาส4/55 จะพบว่าการผลิตในหมวดอุตสาหกรรมเป็นแรงขับเคลื่อนหลัก โดยเฉพาะในการผลิตในอุตสาหกรรมยานยนต์ ซึ่งได้รับอานิสงค์จากนโยบายรถยนต์คันแรก และยอดคำสั่งซื้อจากต่างประเทศที่เพิ่มขึ้น ส่วนในด้านอุปสงค์พบว่าแหล่งที่มาของการขยายตัวทางเศรษฐกิจหลักมาจากการบริโภคภาคเอกชน การส่งออกสินค้าและบริการสุทธิ และการลงทุนภาคเอกชน ตามลำดับ
2. ธปท. มองการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของรัฐบาลและการที่เศรษฐกิจดีเป็นตัวกระตุ้นภาคอสังหาริมทรัพย์
  • ผู้อำนวยการสำนักนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวถึงภาพรวมตลาดอสังหาริมทรัพย์ปี 56 ว่า ยังคงขยายตัวได้จากการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของรัฐบาล ประกอบกับเศรษฐกิจไทยขยายตัวต่อเนื่อง นอกจากนี้ จากค่าแรงที่ปรับเพิ่มขึ้นและการว่างงานที่อยู่ในระดับต่ำ ส่งผลให้ประชาชนเชื่อมั่นในการใช้จ่ายมากขึ้น
  • สศค. วิเคราะห์ว่า รัฐบาลมีแผนการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ 2 ล้านล้านบาทเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน โดยเน้นการลงทุนทางรางเป็นหลักเพื่อกระตุ้นการลงทุนภายในประเทศ ในขณะที่ภาคอสังหาริมทรัพย์ของไทยในช่วงที่ผ่านมามีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดยในไตรมาส 4 ปี 55 ภาคอสังหาริมทรัพย์ขยายตัวร้อยละ 8.0 โดยเป็นผลมาจากความต้องการที่อยู่อาศัยของภาคเอกชนที่เพิ่มขึ้น สะท้อนได้จากรายได้จากภาษีจากการทำธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์รวมในเดือน ม.ค. 56 พบว่า ขยายตัวในระดับสูงที่ร้อยละ 56.5 โดยสาเหตุหลักมาจากความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่กลับสู่สภาวะปกติจากสถานการณ์เศรษฐกิจในประเทศที่มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง สะท้อนจากการขยายตัวของ GDP ที่สูงถึงร้อยละ 6.4 ในปี 55 ในขณะที่อุปทานของภาคอสังหาริมทรัพย์คาดว่าจะยังคงขยายตัวต่อเนื่องเช่นเดียวกัน สะท้อนจากจำนวนที่อยู่อาศัยเปิดขายใหม่ที่เพิ่มขึ้น โดยในเดือน ธ.ค. 55 อยู่ที่ 9,846 หน่วย (ปรับฤดูกาลเฉลี่ยเคลื่อนที่ 3 เดือน) โดยเป็นการเพิ่มขึ้นจากที่อยู่อาศัยทุกประเภทโดยเฉพาะอาคารชุดที่เพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัว
3. ยอดเกินดุลบัญชีเดินสะพัดยูโรโซนลดลงแตะ 1.39 หมื่นล้านยูโรในเดือน ธ.ค.55
  • ธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) รายงานว่า ยูโรโซนมียอดเกินดุลบัญชีเดินสะพัดที่มีการปรับตามฤดูกาลอยู่ที่ 1.39 หมื่นล้านยูโรในเดือน ธ.ค. ลดลงจากยอดเกินดุล 1.59 หมื่นล้านยูโรในเดือน พ.ย. ซึ่งเป็นตัวเลขที่ถูกปรับทบทวนขึ้นจากยอดเกินดุล 1.48 หมื่นล้านยูโรในรายงานก่อนหน้านี้
  • สศค. วิเคราะห์ว่า แม้สถานการณ์ดุลบัญชีเดินสะพัดในเดือน ธ.ค.55 จะปรับลดลงเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าอย่างไรก็ดี หากพิจารณาเฉลี่ยตลอดทั้งปี พบว่ายูโรโซนมีสถานการณ์ดุลบัญชีเดินสะพัดที่ดีขึ้น โดยเพิ่มขึ้นจาก8.9 พันล้านยูโรในปี54 มาอยู่ที่ระดับ1.16 แสนล้านยูโรในปี55 ซึ่งอาจส่งผลในทางบวกต่อความเชื่อมั่นในระยะยาวของนักลงทุนและประเทศคู่ค้า เนื่องจากดุลบัญชีเดินสะพัดคำนวณจากข้อมูลตัวเลขการนำเข้าและส่งออก ทั้งสินค้าและบริการ ตลอดจนการถ่ายโอนต่างๆ ที่สะท้อนความสามารถในการชำระเงินของประเทศ อย่างไรก็ตาม แต่ละประเทศในยูโรโซนยังคงมีอัตราว่างงานที่ทรงตัวในระดับสูง และความต่อเนื่องในการแก้ไขปัญหาหนี้สาธารณะ ของทางการยุโรปยังคงเป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญต่อความเชื่อมั่นภาคเอกชน

ที่มา: Bureau of Macroeconomic Policy,Fiscal Policy Office, Ministry of Finance

Tel: 02-273-9020 Ext. 3257


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ