รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2556

ข่าวเศรษฐกิจ Monday February 18, 2013 12:09 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2556

Summary:

1. กรมการค้าภายในตรวจสอบหมูแพง

2. ธปท.ยันไม่พบทุนนอกเข้าเก็งกำไรในตลาดอสังหาริมทรัพย์

3. กลุ่มประเทศ G-20 กำหนดจุดยืน ไม่แทรกแซงค่าเงินเพื่อแข่งขันทางการค้า

Highlight:

1. กรมการค้าภายในตรวจสอบหมูแพง
  • อธิบดีกรมการค้าภายใน กล่าวว่า ได้สั่งให้การค้าภายในจังหวัดออกตรวจสอบตามตลาดสดต่างๆ หลังจากมีประชาชนจำนวนมากร้องเรียนผ่าน 1569 และพาณิชย์จังหวัดทั่วประเทศ กรณีผู้ประกอบการเขียงหมูยังไม่ปรับลดราคาเนื้อสุกร โดยจำหน่ายในราคาประมาณ 125-130 บาท/กก. หลังหมดช่วงเทศกาลตรุษจีนไปแล้ว ที่สำคัญจากภาวะต้นทุนของสุกรหน้าฟาร์มเฉลี่ยอยู่ที่ 65-69 บาท/กก. น่าจะทำให้เนื้อสุกรปลายทางอยู่ที่ 123 บาท/กก. ประเภทไม่ตัดแต่ง แต่หากเป็นเนื้อสุกรตัดแต่ง น่าจะบวกเพิ่มอีก 10 บาท/กก. ดังนั้น จึงเห็นว่า ราคาสุกรยังมีปัญหาไม่ลดลง
  • สศค. วิเคราะห์ว่า ในช่วงเดือนมกราคมที่ผ่านมา ราคาหมูมีการปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเทศกาลตรุษจีน รวมถึงราคาเนื้อสัตว์ชนิดอื่นๆ เช่น เป็ดและไก่ โดยเมื่อเทียบกับเดือน ธ.ค. 55 ราคาหมูเพิ่มขึ้น ร้อยละ 1.14 ขณะที่เมื่อเทียบช่วงเดียวกันของปีก่อนพบว่า ราคาหมูในเดือน ม.ค. 55 หดตัวที่ร้อยละ -2.34 ซึ่งราคาหมูนับเป็นหมวดอาหารที่สำคัญในตะกร้าสินค้าเงินเฟ้อ โดยมีสัดส่วนที่ร้อยละ 2.70 นอกจากนี้ หากราคาหมูมีการปรับตัวสูงขึ้น ยังอาจส่งผลต่อการปรับเพิ่มขึ้นของราคาอาหารสำเร็จรูปได้ อย่างไรก็ตาม คาดว่าปัญหาราคาสูงของสินค้าเนื้อหมูจะเป็นเพียงปัญหาระยะสั้นและไม่ส่งผลต่อแรงกดดันของภาวะเงินเฟ้อมากนัก โดยทั้งปี 56 สศค. คาดว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะอยู่ที่ร้อยละ 3.0 (คาดการณ์ ณ ธ.ค. 55)
2. ธปท. ยันไม่พบทุนนอกเข้าเก็งกำไรในตลาดอสังหาริมทรัพย์
  • ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า กรณีที่ผู้ประกอบการภาคอสังหาริมทรัพย์เริ่มแสดงความเป็นห่วงถึงเรื่องเงินทุนจากต่างประเทศไหลเข้าประเทศไทยจำนวนมากในช่วงนี้ จะเป็นการไหลเข้ามาเพื่อเก็งกำไรในราคาที่ดินและอสังหาริมทรัพย์นั้น ทาง ธปท. ได้ติดตามอย่างใกล้ชิด แต่ยังไม่พบสัญญาณการเก็งกำไรในตลาดอสังหาริมทรัพย์ ส่วนเรื่องเงินทุนไหลเข้านั้นเป็นเรื่องปกติ หากเปรียบเทียบกับปี 53 ที่เงินทุนไหลเข้ามากกว่า
  • สศค. วิเคราะห์ว่า สาเหตุที่ทำให้มีเงินทุนไหลเข้าประเทศไทยมาก ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจของไทยยังอยู่ในระดับที่แข็งแกร่งทั้งในส่วนของอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจและทั้งด้านเสถียรภาพ ในขณะที่อัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ในระดับต่ำที่ร้อยละ 3.0 ในปี 55 นอกจากนี้ การลงทุนในภาคอสังหาริมทรัพย์ ที่ขยายตัวในระดับสูง ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการฟื้นตัวต่อเนื่องของเศรษฐกิจในประเทศและการขยายตัวอย่างรวดเร็วของเศรษฐกิจในภูมิภาค โดยเฉพาะหัวเมืองเศรษฐกิจหลักและเมืองเศรษฐกิจเกิดใหม่ ทั้งนี้ เศรษฐกิจไทยในปี 55 ขยายตัวที่ร้อยละ 6.4 และคาดว่าในปี 56 จะขยายตัวร้อยละ 5.0 (คาดการณ์ ณ ธันวาคม 55)
3. กลุ่มประเทศ G-20 กำหนดจุดยืน ไม่แทรกแซงค่าเงินเพื่อแข่งขันทางการค้า
  • ท่ามกลางความกังวลในปัจจุบันถึงกรณีการแทรกแซงค่าเงินเพื่อยกระดับความสามารถในการแข่งขันทางการค้าระหว่างประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกรณีประเทศญี่ปุ่นที่อัตราแลกเปลี่ยนเป็นส่วนหนึ่งของนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ การประชุม G-20 เมื่อวันที่ 15-16 ก.พ. 56 ณ กรุงมอสโคว์ ได้มีการกำหนดจุดยืนร่วมกันต่อเรื่องดังกล่าว โดยตกลงไม่ให้มีการแทรกแซงอัตราแลกเปลี่ยนของสกุลเงินแต่ละประเทศโดยธนาคารกลางและรัฐบาลประเทศต่างๆ เพื่อให้เป็นไปในทิศทางที่จะทำให้ค่าเงินอ่อนค่าเพื่อกระตุ้นการส่งออก โดย G-20 ให้เหตุผลว่าการกระทำดังกล่าว นอกจากจะไม่ก่อให้เกิดความสามารถในการแข่งขันที่แท้จริงอย่างยั่งยืนแล้ว ยังเสี่ยงที่จะเป็นชนวนของสงครามค่าเงินอีกด้วย
  • สศค. วิเคราะห์ว่า การกำหนดจุดยืนดังกล่าวของประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจคาดว่าจะผ่อนคลายความกังวลต่อความเสี่ยงที่จะเกิดสงครามค่าเงินที่เกิดจากนโยบายผ่อนคลายเชิงปริมาณ (Quantitative Easing) ของมหาอำนาจเศรษฐกิจ ซึ่งนโยบายดังกล่าวเป็นปัจจัยกดดันการแข็งค่าของสกุลเงินฝั่งประเทศเกิดใหม่เรื่อยมา และยังคงมีแนวโน้มว่าหลายประเทศที่ประสบปัญหาจะนำมาใช้ต่อไปอย่างน้อย 1-2 ปี เห็นได้จากตัวอย่าง อาทิ ญี่ปุ่นที่ประกาศเป้าหมายเพิ่มเงินเฟ้อและคาดว่าผู้ว่าการธนาคารกลางคนใหม่จะดำเนินนโยบายที่สอดรับกับเป้าหมายดังกล่าว ธนาคารกลางยุโรป (ECB) ประกาศรักษาค่าเงินยูโรอย่างเต็มกำลัง และสหรัฐฯ ที่จะใช้นโยบายการเงินเพื่อบรรลุเป้าหมายทางเศรษฐกิจจริง (การลดการว่างงาน) นอกจากนี้ เมื่อประกอบกับความไม่สมดุลของเศรษฐกิจโลก (Global Imbalances) หลังวิกฤติทำให้เงินทุนไหลเข้ากลุ่มประเทศเกิดใหม่อยู่เสมอ ความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนจึงจะยังคงเป็นสิ่งที่รัฐบาลและธนาคารกลางต้องหานโยบายที่เหมาะสมในการรับมือต่อไปได้ในระดับหนึ่ง

ที่มา: Bureau of Macroeconomic Policy,Fiscal Policy Office, Ministry of Finance

Tel: 02-273-9020 Ext. 3257


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ