รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 17 มกราคม 2556

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday January 17, 2013 11:24 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 17 มกราคม 2556

Summary:

1.กระทรวงพาณิชย์คาดครึ่งปีแรกส่งออกขยายตัวร้อยละ 9.3

2.ปัญหาจากค่าเงินบาทที่แข็งตัวและการปรับค่าจ้างขั้นต่ำส่งผลกระทบต่อ SMEs

3.ผู้นำใหม่ญี่ปุ่นเน้นกระชับสัมพันธ์ประเทศในอาเซียน

Highlight:

1 . กระทรวงพาณิชย์คาดครึ่งปีแรกส่งออกขยายตัวร้อยละ 9.3
  • สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์ ได้คาดการณ์การส่งออกของไทยในช่วงครึ่งปีแรกของปี 56 จะขยายตัวร้อยละ 9.38 โดยการส่งออกของไทยไปยังจีนขยายตัวร้อยละ 9.98 อินเดียขยายตัวร้อยละ 10.30 อาเซียน(9 ประเทศ) ขยายตัวร้อยละ 6.79 ญี่ปุ่นขยายตัวร้อยละ 3.31 สหรัฐฯ ขยายตัวร้อยละ 5.45 และยุโรป (15 ประเทศ) ขยายตัวร้อยละ 5.71
  • สศค. วิเคราะห์ว่า แม้ว่ามูลค่าการส่งออกสินค้าของไทยในช่วง 11 เดือนแรกของปี 55 ขยายตัวได้เพียงร้อยละ 2.3 ชะลอลงจากช่วงเดียวกันที่ขยายตัวได้ร้อยละ 19.3 จากผลของเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวลงและส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าของไทย กอปรกับในช่วงต้นปี 55 ภาคการผลิตของไทยที่เสียหายจากผลของปัญหาอุทกภัยในช่วงปลายปี 54 ยังอยู่ในช่วงของการฟื้นตัว อย่างไรก็ตาม การส่งออกสินค้าในช่วงปลายปี 55 มีทิศทางการเติบโตที่ดีขึ้น โดยล่าสุด มูลค่าการส่งออกสินค้าในรูปดอลลาร์สหรัฐในเดือน พ.ย. 55 มีมูลค่า 19.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 26.9 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เร่งขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 15.6 และเมื่อขจัดผลทางฤดูกาล (m-om SA) ขยายตัวร้อยละ 3.1 ซึ่งถือเป็นการขยายตัวเป็นบวกเป็นเดือนที่ 3 ติดต่อกัน จากปัจจัยฐานต่ำของช่วงเดียวกันของปีก่อนจากวิกฤติอุทกภัยที่เกิดขึ้นในช่วงปลายปี 54 และการฟื้นตัวของอุตสาหกรรมส่งออกที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง นอกจากนี้ เมื่อพิจารณาการส่งออกไปยังรายประเทศ พบว่า สามารถขยายตัวได้ในอัตราเร่งเกือบทุกประเทศ (ยกเว้นประเทศสิงคโปร์และไต้หวัน) ได้แก่ จีนขยายตัวร้อยละ 32.1 อาเซียน-9 ขยายตัวร้อยละ 18.6 และออสเตรเลียขยายตัวร้อยละ 73.0 ซึ่งจะส่งผลดีต่อเนื่องต่อการส่งออกของไทยในปี 56 ที่ทิศทางการเติบโตของเศรษฐกิจโลกมีการฟื้นตัวที่เร็วขึ้นกว่าที่คาดการณ์และแผนการการส่งออกเพื่อระบายข้าวของไทยจากโครงการรับจำนำข้าว ทั้งนี้ สศค. คาดว่า มูลค่าการส่งออกสินค้าในปี 56 จะขยายตัวร้อยละ 10.0 โดยมีช่วงคาดการณ์ร้อยละ 9.0-11.0 (คาดการณ์ ณ เดือน ธ.ค. 55)
2. ปัญหาจากค่าเงินบาทที่แข็งตัวและการปรับค่าจ้างขั้นต่ำส่งผลกระทบต่อ SMEs
  • นายอัทธ์ พิศาลวานิช แสดงความเห็นถึงแนวโน้มค่าเงินบาทที่แข็งค่าต่อเนื่อง ซึ่งส่งผลกระทบต่อความสามารถทางการแข่งขันในการส่งออกของ SMEs ซึ่งตอนนี้ได้รับทั้งจากปัญหาค่าเงินบาทแข็งค่า และปัญหาค่าแรง 300 บาท โดยกล่าวเพิ่มเติมว่าเงินบาทที่แข็งค่าในขณะนี้ถือเป็นโอกาสของ SMEs ในการนำเข้าเครื่องจักรเพื่อใช้แทนแรงงาน แต่สิ่งที่สำคัญคือ รัฐบาลต้องมีมาตรการจูงใจ หรือส่งเสริมให้มีการนำเข้า เพื่อช่วยเหลือเอสเอ็มอี
  • สศค. วิเคราะห์ว่า แนวโน้มค่าเงินบาทยังคงมีทิศทางแข็งค่าอย่างต่อเนื่อง ซึ่งส่วนหนึ่งมาจากปัญหาหนี้ยุโรป และความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ทำให้มีเงินทุนเคลื่อนย้ายเข้ามาในภูมิภาคเอเชียและไทยมากขึ้น ทั้งนี้ การที่ค่าเงินบาทแข็งตัวจะมีผลกระทบต่อการส่งออกของประเทศไทยได้ระยะต่อไป อย่างไรก็ตาม กระทรวงการคลังได้ขยายระยะเวลาหลายโครงการเพื่อบรรเทาผลกระทบจากการปรับค่าจ้างขั้นต่ำและเพิ่มขีดความสามารถของผู้ประกอบการ SMEs อย่างเช่น มาตรการภาษี การค้ำประกันสินเชื่อในลักษณะ Portfolio Guarantee Scheme (PSG) และ โครงการสิ้นเชื่อเพื่อพัฒนาผลิตภาพการผลิต Productivity Improvement Loan ซึ่งมีทั้งสิ้นเชื่อเพื่อพัฒนาเครื่องจักร และสิ้นเชื่อเพื่อพัฒนากระบวนการทำงาน วงเงิน 20,000 ล้านบาท ซึ่งจะเป็นแรงผลักดันให้ภาคเอกชนมีการนำเข้าเครื่องจักรมากขึ้น และลดแรงกดดันค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นได้บ้าง
3. ผู้นำใหม่ญี่ปุ่นเน้นกระชับสัมพันธ์ประเทศในอาเซียน
  • นายกรัฐมนตรีใหม่ของญี่ปุ่น มีแผนกระชับสัมพันธ์ประเทศในอาเซียน โดยให้สัมภาษณ์สถานีโทรทัศน์เอ็นเอชเค ว่า อินโดนีเซีย ไทย และเวียดนามมีศักยภาพด้านการเติบโต จึงอยากจะกระชับความสัมพันธ์กับประเทศเหล่านี้ พร้อมกับการจัดวางระบบเศรษฐกิจระหว่างประเทศที่ใหญ่ขึ้น สำหรับรัฐบาลใหม่ของญี่ปุ่นจะให้ความสำคัญอันดับแรกกับการฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศ โดยอาศัยความคึกคักของภูมิภาคอาเซียนในการฟื้นฟูเศรษฐกิจญี่ปุ่นเป็นสำคัญ เนื่องจากความตึงเครียดในกรณีข้อพิพาทหมู่เกาะหมู่เกาะเซนกากุ/เตียวหยู ทำให้บรรยากาศด้านการค้าและการลงทุนกับจีนแย่ลง ดังนั้นภาคธุรกิจญี่ปุ่นจึงคาดหวังอย่างมากที่จะกระชับความสัมพันธ์กับภูมิภาคอาเซียน
  • สศค. วิเคราะห์ว่า จากกรณีข้อพิพาทระหว่างจีนและญี่ปุ่นในเรื่องกรรมสิทธิ์เหนือหมู่เกาะเตียวหยูหรือหมู่เกาะเซนกากุนั้น ส่งผลกระทบต่อการระงับการค้า การลงทุน การท่องเที่ยวระหว่างกันทั้งสองประเทศ และสร้างความกังวลกับนานาประเทศต่อเศรษฐกิจโลก เนื่องจากประเทศทั้งสองเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจอยู่ในสามอันดับแรกของโลก อย่างไรก็ดี การที่รัฐบาลใหม่ญี่ปุ่นเน้นกระชับความสัมพันธ์กับภูมิภาคอาเซียนนั้น ก่อให้เกิดผลดีต่อเศรษฐกิจไทย เนื่องจากความเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจไทยกับเศรษฐกิจญี่ปุ่น ผ่านช่องทางการค้า การลงทุน และการท่องเที่ยว ในปัจจุบันที่อยู่ในระดับสูง สะท้อนได้จากสัดส่วนการส่งออกไทยไปญี่ปุ่นที่อยู่ในลำดับที่ 2 (สัดส่วนร้อยละ 10.8) ขณะที่สัดส่วนของนักท่องเที่ยวต่างชาติจากญี่ปุ่นที่อยู่ในลำดับที่ 3 (สัดส่วนร้อยละ 5.9) ซึ่งจะมีส่วนช่วยในการสนับสนุนเศรษฐกิจไทยทั้งนี้ สศค. คาดว่า อัตราการขยายตัวเศรษฐกิจญี่ปุ่นในปี 56 จะขยายตัวที่ร้อยละ 1.5 (ประมาณการ ณ เดือน ธ.ค.55)

ที่มา: Bureau of Macroeconomic Policy,Fiscal Policy Office, Ministry of Finance

Tel: 02-273-9020 Ext. 3257


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ