Macro Morning Focus ประจำวันที่ 31 มกราคม 2556
1. BOI เผยผลสำรวจความต้องการแรงงานภาคอุตฯปี 55 กว่า 2.5 แสนคน
2. ผู้ส่งออกข้าว ประเมินว่า ปี 56 ไทยส่งออกข้าวได้ 6.5 ล้านตัน ลดลงจากปี 55
3. ดัชนีดาวโจนส์ปิดบวก รับราคาบ้านสหรัฐฯ ปรับเพิ่มขึ้น
Highlight:
- สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน(BOI) เปิดเผยผลสำรวจความต้องการแรงงานของบริษัทที่ได้รับส่งเสริมการลงทุนกว่า 2,000 โครงการในปี 55 มีความต้องการแรงงานจำนวนรวมกว่า 2.5 แสนคน โดยกลุ่มอุตสาหกรรมบริการและสาธารณูปโภคต้องการแรงงานมากที่สุด ตามด้วยกลุ่มยานยนต์ เครื่องจักร และโลหะ โดยเฉพาะแรงงานฝีมือ ช่างเทคนิค และวิศวกรระดับปริญญาตรี ซึ่ง BOI เตรียมจับมือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งพัฒนาบุคลากรป้อนภาคอุตสาหกรรมเป้าหมาย
- สศค. วิเคราะห์ว่า การจ้างงานในช่วง 11 เดือนแรกของปี 55 พบว่ามีผู้มีงานทำอยู่ที่ 38.9 ล้านคน ขยายตัวร้อยละ 1.4 จากการเพิ่มขึ้นของการจ้างงานภาคเกษตรกรรมที่อยู่ที่ 15.0 ล้านคน ขยายตัวร้อยละ 4.3 และการจ้างงานภาคอุตสาหกรรมอยู่ที่ 8.5 ล้านคน ขยายตัวร้อยละ 3.5 สะท้อนถึงการผลิตภาคอุตสาหกรรมมีแนวโน้มการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง ซึ่งสอดคล้องกับผลผลิตภาคอุตสาหกรรมที่ฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) ในเดือน ธ.ค. 55 ที่ขยายตัวต่อเนื่องที่ร้อยละ 23.4 โดยอุตสาหกรรมที่มีการขยายตัวเร่งขึ้น ได้แก่ ยานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ และเครื่องใช้ไฟฟ้า และสอดคล้องกับอัตราการใช้กำลังการผลิต (CAPU) ที่อยู่ที่ระดับร้อยละ 63.8 เป็นการสะท้อนถึงภาคอุตสาหกรรมยังคงมีความต้องการแรงงานเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
- นายกสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย เปิดเผยว่า ได้คาดการณ์การส่งออกข้าวในปี 56 ที่ 6.5 ล้านตัน ลดลงจากปี 55 ที่ส่งออกได้ถึง 6.94 ล้านตัน เนื่องจากเศรษฐกิจโลกชะลอทำให้การบริโภคลดลง ประกอบกับในตลาดมีการแข่งขันรุนแรงทั้งเวียดนาม และอินเดีย ขณะที่ราคาข้าวไทยสูงกว่าคู่แข่ง ทำให้หลายประเทศแย่งส่วนแบ่งตลาดข้าวจากไทย
- สศค.วิเคราะห์ว่า ในปี 55 ข้าวไทยการส่งออกได้ 6.94 ล้านตัน หดตัวร้อยละ -35 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ปัจจัยหลักที่ทำให้การส่งออกข้าวได้ลดลงมีทั้งปัจจัยภายในและภายนอก ได้แก่ (1) นโยบายรับจำนำข้าวของรัฐบาล ทำให้ราคาข้าวไทยโดยเฉลี่ยมีราคาสูง (2) ประเทศอินเดียมีสภาพภูมิอากาศที่เอื้ออำนวยต่อการเพาะปลูก เนื่องจากอินเดียเป็นประเทศส่งออกข้าวอันดับ 3 ของโลก และ(3) เวียดนามต้องการชดเชยการขาดดุลบัญชีเดินสะพัด โดยการส่งออกข้าวให้มากที่สุดเพื่อหาเงินตราต่างประเทศ นอกจากนี้ จากการคาดการณ์ของกระทรวงเกษตรสหรัฐ (USDA) ได้ประเมินว่าไทยจะเป็นผู้ส่งออกอันดับ 1 ที่ปริมาณ 8 ล้านตัน อันดับ 2 อินเดีย ที่ปริมาณ 7.5 ล้านตัน และอันดับ 3 เวียดนาม ที่ปริมาณ 7.4 ล้านตัน อย่างไรก็ดี เศรษฐกิจในปี 56 มีแนวโน้มการฟื้นตัวที่ดีขึ้นจากปี 55 ซึ่งจะส่งผลดีต่อการส่งออกของไทยในปี 56 และแผนการการส่งออกเพื่อระบายข้าวของไทยจากโครงการรับจำนำข้าว ทั้งนี้ สศค. คาดว่า มูลค่าการส่งออกสินค้าในปี 56 จะขยายตัวร้อยละ 10.0 โดยมีช่วงคาดการณ์ร้อยละ 9.0-11.0 (คาดการณ์ ณ เดือน ธ.ค. 55)
- ดัชนีดาวโจนส์ ตลาดหุ้นนิวยอร์ก ของสหรัฐฯ ปิดบวก ภายหลังจากสแตนดาร์ด แอนด์ พัวร์/เคส ชิลเลอร์ ได้รายงานถึงราคาบ้านในสหรัฐฯ ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดเมื่อคืน นี้ที่ 13,954.42 จุด ปรับตัวเพิ่มขึ้น 72.49 จุด หรือร้อยละ 0.52 อย่างไรก็ตาม ภาวะการซื้อขายยังคงผันผวนเนื่องจากนักลงทุนยังคงวิตกกังวลเกี่ยวกับแนวโน้มอุปสงค์ภายในประเทศหลังจากมีรายงานว่าดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคของสหรัฐฯ ร่วงลงอย่างหนัก
- สศค.วิเคราะห์ว่า ตลาดหุ้นของสหรัฐฯ ที่ผันผวนสะท้อนถึงเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ที่ยังคงฟื้นตัวอย่างเปราะบางโดยเฉพาะภาคอสังหาริมทรัพย์ที่ฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยล่าสุด ราคากลางของบ้านในเดือน ธ.ค. 55 อยู่ที่ 180,000 ดอลลาร์สหรัฐต่อหลัง ปรับสูงขึ้นจากเดือนก่อนหน้าเล็กน้อย ในขณะที่ยอดขายบ้านใหม่ในเดือน ธ.ค. 55 อยู่ที่ 954,000 หลัง (ขจัดผลทางฤดูกาลแล้ว) ขยายตัวร้อยละ 12.1 ต่อเดือน รวมทั้งใบอนุญาตก่อสร้างในเดือน ธ.ค. 55 อยู่ที่ 903,000 หลัง (ขจัดผลทางฤดูกาลแล้ว) โดยอยู่ในระดับใกล้เคียงกับเดือนก่อนหน้า นอกจากนี้ เมื่อพิจารณาการบริโภคภาคเอกชนฯ พบว่ายังมีความเสี่ยงโดยเฉพาะดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในช่วงปลายปี 55 ที่มีทิศทางลดลงจากความกังวลปัญหาหน้าผาทางการคลังและปัญหาวิกฤติหนี้สาธารณะในยุโรป โดยล่าสุด ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในเดือน ธ.ค. 55 อยู่ที่ระดับ 65.1 จุด ปรับตัวลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ระดับ 71.5 จุด โดยดัชนีภาวะเศรษฐกิจปัจจุบันปรับตัวดีขึ้นในขณะที่ดัชนีแนวโน้มเศรษฐกิจในอนาคตปรับลดลง อย่างไรก็ดี เมื่อพิจารณาดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภครายไตรมาส พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเฉลี่ยในไตรมาส 4 ปี 55 อยู่ที่ระดับ 69.9 จุด สูงขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้า และเฉลี่ยทั้งปี 55 อยู่ที่ระดับ 66.9 จุด สูงขึ้นจากระดับเฉลี่ยปี54 ที่อยู่ที่ระดับ 58.1 จุด บ่งชี้ว่าผู้บริโภคสหรัฐฯ มีความเชื่อมั่นในเศรษฐกิจมากขึ้น ทั้งนี้ สศค. คาดว่า อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ในปี 56 จะขยายตัวร้อยละ 2.2 (คาดการณ์ ณ เดือน ธ.ค. 55)
ที่มา: Bureau of Macroeconomic Policy,Fiscal Policy Office, Ministry of Finance
Tel: 02-273-9020 Ext. 3257