Macro Morning Focus ประจำวันที่ 30 มกราคม 2556
1. เงินไหลเข้าล้นกดดัน ธปท. ลดดอกเบี้ย
2. ทีดีอาร์ไอชี้ผลกระทบต่อระบบศก.โดยรวมจากค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท
3. สถาบันด้านสังคมศาสตร์ของจีนคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจจีนในปี 56 จะขยายตัวร้อยละ 8.4
Highlight:
- บริษัทหลักทรัพย์ ฟินันซ่า จำกัด ประเมินว่า ขณะนี้เงินต่างประเทศยังคงมีแนวโน้มไหลเข้าประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง ซึ่งหากยังคงมีเงินไหลเข้าในปริมาณมากก็อาจจะมีความเป็นไปได้ที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะลดอัตราดอกเบี้ย อย่างไรก็ตาม คาดว่าโอกาสที่ ธปท. จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในปีนี้เป็นไปได้ยากขึ้นหากยังคงมีเงินจากต่างประเทศไหลเข้าไทยเนื่องจากอาจเป็นการส่งสัญญาณผิดให้เงินทุนนอกประเทศไหลแห่เข้ามากินส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยอีก
- สศค. วิเคราะห์ว่า ปริมาณเงินทุนจากต่างประเทศที่ไหลเข้าสู่ไทยของนักลงทุนต่างชาติตั้งแต่ช่วงปลายปี 2554 เป็นต้นมา แสดงถึงความเชื่อมั่นของปัจจัยพื้นฐานทางด้านเศรษฐกิจของประเทศกลุ่มภูมิภาคเอเชียรวมทั้งไทยที่เติบโตได้ดี สะท้อนจากข้อมูลมูลค่าการซื้อขายสุทธิสะสมของนักลงทุนต่างชาติของตลาดหุ้นไทยในปี 55 อยู่ที่ 76.4 พันล้านบาท และดัชนีตลาดหลักทรัพย์ของไทย (SET) ล่าสุดเมื่อวันที่ 29 ม.ค. 56 ปิดตลาดที่ระดับ 1,478.77 จุด ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.8 จากต้นปี 56 และร้อยละ 22.9 ในรอบ 6 เดือนล่าสุด อย่างไรก็ดี ปริมาณเงินทุนจากต่างประเทศที่ไหลเข้าไทยจำนวนมากได้ส่งผลให้ค่าเงินบาทปรับตัวแข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ต้นปี 56 เป็นต้นมา โดยล่าสุด ค่าเงินบาทไทย ณ วันที่ 29 ม.ค. 56 อยู่ที่ 29.85 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวแข็งค่าขึ้นจากต้นปี 56 ร้อยละ 2.4 สำหรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยในปัจจุบันที่อยู่ที่ร้อยละ 2.75 ถือว่าอยู่ในระดับที่เหมาะสมต่อการสนับสนุนการเติบโตของเศรษฐกิจไทย ทั้งนี้ สศค. คาดว่า อัตราดอกเบี้ยนโยบายในปี 56 อยู่ที่ร้อยละ 2.75 โดยมีช่วงคาดการณ์ร้อยละ 2.25-3.25 และค่าเงินบาทในปี 56 อยู่ที่ 30.7 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ โดยมีช่วงคาดการณ์ 29.7-31.7 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ (คาดการณ์ ณ เดือน ธ.ค. 55)
- สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) เปิดเผยผลการศึกษาว่า การขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็น 300 บาททั่วประเทศของรัฐบาลตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2556 ที่ผ่านมา จะช่วยเพิ่มรายได้ที่แท้จริงให้แก่แรงงานโดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มแรงงานทักษะต่ำได้ถึงร้อยละ 11.24 แต่หากผู้ประกอบการและแรงงานไม่มีการปรับตัวใดๆ เลย ต้นทุนในการผลิตสินค้าที่สูงขึ้น การหดตัวของการผลิต การลงทุน และการบริโภคจะส่งผลให้ผลผลิตมวลรวมในประเทศ (GDP) จะลดลงร้อยละ 2.55 และการส่งออกลดลงร้อยละ 2.35 โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมสิ่งทอ เครื่องนุ่งห่มและเครื่องหนัง ไม้และเฟอร์นิเจอร์จะได้รับผลกระทบค่อนข้างมาก
- สศค. วิเคราะห์ว่า นโยบายการปรับขึ้นอัตราค่าจ้างขั้นต่ำเป็น 300 บาท เป็นหนึ่งในนโยบายเพื่อแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคม โดยการปรับกำลังซื้อภายในประเทศให้สูงขึ้น ด้วยการเพิ่มกำลังซื้อให้กับแรงงานกลุ่มที่มีรายได้น้อย และรายได้ปานกลาง ประกอบกับการวางแผนการใช้จ่ายของรัฐบาลให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งจากการปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำเป็น 300 บาท เมื่อวันที่ 1 เม.ย. 55 ที่ผ่านมา พบว่ายังไม่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยโดยรวม พิจารณาจากอัตราการว่างงานเดือน พ.ย.55 อยู่ที่ร้อยละ 0.4 ของกำลังแรงงานรวม คิดเป็นจำนวนผู้ว่างงานเพียง 1.6 แสนคน
- สถาบันด้านสังคมศาสตร์ของจีน (The Chinese Academy of Social Sciences: CASS) คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจจีนในปี 56 จะขยายตัวร้อยละ 8.4 ซึ่งสูงกว่าที่คาดการณ์ก่อนหน้าที่ร้อยละ 8.2 จากการขยายตัวของเศรษฐกิจที่รวดเร็วในช่วงครึ่งปีแรก แต่จะชะลอตัวลงในไตรมาสที่ 3 ก่อนกลับมาเร่งตัวขึ้นอีกครั้งในไตรมาสสุดท้ายของปี นอกจากนี้ CASS ยังได้ปรับคาดการณ์เงินเฟ้อพื้นฐาน จากตัวเลขคาดการณ์เดิมในช่วงธันวาคมที่ผ่านมาจากร้อยละ 3.0 ขึ้นมาเป็นร้อยละ 3.5
- สศค.วิเคราะห์ว่า เศรษฐกิจจีนในปี 55 ขยายตัวร้อยละ 7.8 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งขยายตัวชะลอลงจากปีก่อนที่ขยายตัวร้อยละ 9.3 เนื่องจากอุปสงค์ภายจากต่างประเทศที่ชะลอลงจากประเทศคู่ค้าสำคัญ เช่น สหรัฐฯ และสหภาพยุโรป อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจจีนเริ่ม มีสัญญาณการฟื้นตัว เช่น ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคอุตสาหกรรม (Mfg. PMI) จัดทำโดย HSBC ในเดือน ธ.ค. 55 อยู่ที่ระดับ 51.5 ซึ่งเป็นการปรับขึ้นสูงสุดในรอบ 2 ปี เนื่องจากยอดคำสั่งซื้อที่เพิ่มขึ้นจากความต้องการทั้งภายในและต่างประเทศ และมูลค่าการส่งออกสินค้าและบริการในไตรมาสที่ 4 ของปี 55 ขยายตัวร้อยละ 9.4 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ขยายตัวเร่งขึ้นจากไตรมาสก่อนที่ขยายตัวร้อยละ 4.5 ทั้งนี้ สศค. คาดว่า ในปี 56 เศรษฐกิจของจีนขยายตัวที่ร้อยละ 8.2 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน (คาดการณ์ ณ ธ.ค. 2555)
ที่มา: Bureau of Macroeconomic Policy,Fiscal Policy Office, Ministry of Finance
Tel: 02-273-9020 Ext. 3257