รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 29 มกราคม 2556

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday January 29, 2013 11:53 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 29 มกราคม 2556

Summary:

1. สศอ.เผย MPI ปี 55 ขยายตัวร้อยละ 2.5 และคาดปี 56 จะขยายตัวร้อยละ 3.5 - 4.5

2. สมาคมตราสารหนี้ค้านใช้ capital control แก้บาทแข็งแนะขึ้นทะเบียนนักลงทุนต่างชาติ

3. สิงคโปร์เผยการลงทุนในสินทรัพย์คงที่เพิ่มขึ้น 17% ในปี 2555

Highlight:

1. สศอ.เผย MPI ปี 55 ขยายตัวร้อยละ 2.5 และคาดปี 56 จะขยายตัวร้อยละ 3.5 - 4.5
  • ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) กระทรวงอุตสาหกรรม เผยดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) ในเดือน ธ.ค. 55 อยู่ที่ระดับ 116.2 จากระดับ 188.1 ในเดือน พ.ย.55 ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 23.4 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากได้รับอานิสงน์จากตัวเลขฐานที่ต่ำในเดือน ธ.ค.54 ซึ่งภาคอุตสาหกรรมประสบเหตุอุทกภัย ส่งผลให้ภาพรวมทั้งปี 55 ขยายตัวที่ร้อยละ 2.5 ขณะที่ปี 56 คาดว่า MPI จะขยายตัวร้อยละ 3.5 - 4.5
  • สศค. วิเคราะห์ว่า การผลิตภาคอุตสาหกรรมในปี 55 ที่ขยายตัวเป็นบวก สะท้อนถึงภาคการผลิตสามารถกลับมาผลิตได้ตามปกติ หลังประสบปัญหาน้ำท่วมในช่วงปลายปี 54 โดยเฉพาะอุตสาหกรรมหลัก อาทิ อุตสาหกรรมยานยนต์ อุตสาหกรรมอาหาร และเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ขยายตัวร้อยละ 73.1 ร้อยละ 6.9 และร้อยละ 11.7 ตามลำดับ ตามการฟื้นตัวของอุปสงค์ในประเทศ โดยเฉพาะการบริโภคภาคเอกชน ในขณะที่แนวโน้มการผลิตอุตสาหกรรมในปี 56 คาดว่าจะยังคงขยายตัวต่อเนื่อง ตามการปรับตัวดีขึ้นของเศรษฐกิจโลก โดยเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าคาดว่าจะขยายตัวที่ร้อยละ 3.9 และการขยายตัวต่อเนื่องของเศรษฐกิจในประเทศ
2. สมาคมตราสารหนี้ค้านใช้ capital control แก้บาทแข็งแนะขึ้นทะเบียนนักลงทุนต่างชาติ
  • กรรมการผู้จัดการสมาคมตลาดตราสารหนี้ไทยเปิดเผยถึงกรณีที่ผู้ประกอบการส่งออกเตรียมเสนอให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ออกมาตรการควบคุมการไหลเข้าของเงินทุนหรือCapital Control เพื่อลดการแข็งค่าของเงินบาทว่า หากธปท.ออกมาตรการดังกล่าวจริงจะส่งผลกระทบต่อการลงทุนในระยะยาว เพราะการออกมาตรการชั่วคราวเพื่อสกัดกั้นการไหลเข้าของเงินต่างชาติจะทำให้นักลงทุนไม่กล้าเข้ามาลงทุน เนื่องจากไม่สามารถคาดการณ์ได้ว่าภาครัฐจะออกมาตรการมาควบคุมเมื่อใด ทั้งนี้เห็นว่าธปท.ควรออกนโยบายป้องกันเงินไหลเข้าแบบเดียวกับประเทศมาเลเซียที่ดำเนินการอยู่คือ การให้นักลงทุนต่างชาติลงทะเบียนก่อนเข้ามาลงทุน และหากพบว่านักลงทุนรายใดมีแนวโน้มที่จะลงทุนเพื่อโจมตีค่าเงิน หรือลงทุนผิดปกติ ก็ให้ระงับการลงทุนในประเทศไป
  • สศค.วิเคราะห์ว่า ค่าเงินบาทในปี 56 แข็งค่าขึ้นอย่างรวดเร็วจากระดับ 30.6 บาท/ดอลลาร์สหรัฐในช่วงต้นปีมาอยู่ที่ 29.9 บาท/ดอลล่าร์สหรัฐ คิดเป็นการแข็งค่าขึ้นร้อยละ 2.9 ภายในระยะเวลาหนึ่งเดือน เนื่องจากมีเม็ดเงินไหลเข้าสู่ประเทศไทยทั้งในตลาดตราสารหนี้และตลาดสารทุน โดยในตลาดตราสารหนี้พบว่ามีเม็ดเงินไหลเข้ามากกว่า1 แสนล้านบาทซึ่งส่วนใหญ่มากกว่าร้อยละ 90 มาลงทุนในตราสารหนี้ระยะสั้น ขณะที่มีเม็ดเงินไหลเข้าตลาดตราสารทุน 15,000 ล้านบาท ทั้งนี้ในปี 56 ประเทศไทยจะมีการลงทุนก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ของประเทศ ซึ่งต้องใช้เงินดอลล่าร์สหรัฐจำนวนมากเพื่อการนำเข้าสินค้าที่ใช้ในการก่อสร้าง ประเทศไทยจึงสามารถใช้โอกาสที่ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นนี้ในการสนับสนุนการลงทุนดังกล่าวได้
3. สิงคโปร์เผยการลงทุนในสินทรัพย์คงที่เพิ่มขึ้น 17% ในปี 2555
  • คณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจ (EDB) ของสิงคโปร์เปิดเผยว่า การลงทุนในสินทรัพย์คงที่ในสิงคโปร์เพิ่มขึ้น 17% แตะ 1.6 หมื่นล้านดอลลาร์สิงคโปร์ (1.29 ดอลลาร์สหรัฐ) ในปีที่แล้ว จาก 1.37 หมื่นล้านดอลลาร์สิงคโปร์ในปี 54 ทั้งนี้ การลงทุนในสินทรัพย์คงที่ในสิงคโปร์ปีที่แล้วมีมูลค่าสูงที่สุดเป็นประวัติการณ์ หากไม่นับตัวเลข 1.8 หมื่นล้านดอลลาร์สิงคโปร์ในปี 51 ซึ่งถือเป็นปรากฏการณ์ชั่วคราวที่เกิดจากการลงทุนในภาคปิโตรเคมีที่พุ่งขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยส่วนใหญ่การลงทุนในปีที่แล้ว อยู่ที่ภาคอิเล็กทรอนิกส์ และเคมีภัณฑ์ ซึ่งรวมกันได้ประมาณ 80% ของมูลค่าการลงทุนทั้งหมดของปีที่แล้ว
  • สศค.วิเคราะห์ว่า ใน 185 ประเทศทั่วโลก สิงคโปร์เป็นประเทศที่มีความสะดวกในการเข้าไปประกอบธุรกิจมากที่สุด (อ้างอิงจาก Doing Business 2013) เหนือกว่าฮ่องกง และไทย ที่อยู่ในลำดับที่ 2 และ 18 ตามลำดับ ทั้งนี้ หลายๆ ประเทศในภูมิภาคเอเชียเป็นแหล่งดึงดูดการลงทุนในลำดับต้นๆ เนื่องจากมีปัจจัยพื้นฐานที่เอื้อต่อการลงทุน ประกอบกับหลายๆ ประเทศในยุโรป และสหรัฐ มีภาวะเศรษฐกิจที่เปราะบาง ส่งผลให้เม็ดเงินลงทุนไหลออกจากภูมิภาคดังกล่าวมาเอเชียเพิ่มขึ้น (โดยในปี 55 นั้น FDI จากสหรัฐ และยุโรป ไหลเข้าสู่สิงคโปร์ประมาณ 5.7 พันล้าน และ 3.1 พันล้านดอลลาร์สิงคโปร์ ตามลำดับ เพิ่มขึ้นจาก 5 พันล้าน และ 2.1 พันล้านดอลลาร์สิงคโปร์ ตามลำดับ ในปี 54)

ที่มา: Bureau of Macroeconomic Policy,Fiscal Policy Office, Ministry of Finance

Tel: 02-273-9020 Ext. 3257


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ