รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 28 มกราคม 2556

ข่าวเศรษฐกิจ Monday January 28, 2013 11:04 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 28 มกราคม 2556

Summary:

1. TDRI คาดเศรษฐกิจไทยปี 56 ขยายตัวร้อยละ 5 แต่มีความเสี่ยงเรื่องหนี้สาธารณะ

2. สนพ.คาดทยอยปรับขึ้นราคา LPG เม.ย.นี้หลังผลสำรวจพบปชช.ส่วนใหญ่เข้าใจ

3. เงินเยนอ่อนค่าต่อเนื่อง รัฐบาลญี่ปุ่นปฏิเสธการแทรกแซง

Highlight:

1. TDRI คาดเศรษฐกิจไทยปี 56 ขยายตัวร้อยละ 5 แต่มีความเสี่ยงเรื่องหนี้สาธารณะ
  • สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ประเมินเศรษฐกิจไทยปี 56 จะมีการขยายตัวในเกณฑ์ดีที่ร้อยละ 5.0 เนื่องจากมีการฟื้นตัวของอุปสงค์ในประเทศรวมทั้งมีการลงทุนต่อเนื่องจากการซ่อมแซมสถานประกอบการที่ประสบปัญหาอุทกภัยที่ยังไม่แล้วเสร็จ อย่างไรก็ตาม ยังมีปัจจัยเสี่ยงที่ต้องติดตามไม่ว่าจะเป็นเรื่องการปรับค่าแรงขั้นต่ำวันละ 300 บาททั่วประเทศ การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต รวมทั้งการเพิ่มขึ้นของหนี้สาธารณะ เนื่องจากปัจจุบันรัฐบาลเพิ่มงบประมาณรายจ่ายประจำและงบพิเศษเพิ่มขณะเดียวกันรัฐยังดำเนินนโยบายลดการจัดเก็บภาษีหลายประเภทอีกด้วย
  • สศค. วิเคราะห์ว่า ปัจจุบันหนี้สาธารณะ ณ เดือน พ.ย. 55 อยู่ที่ร้อยละ 43.5 ของ GDP ต่ำกว่ากรอบความยั่งยืนทางกาคลังที่ตั้งไว้ไม่เกินร้อยละ 60 ของ GDP และหนี้สาธารณะส่วนใหญ่ประมาณ 96.3 ของยอดหนี้สาธารณะเป็นหนี้ระยะยาว แสดงให้เห็นถึงความสามารถในการใช้นโยบายการคลังเพื่อการกระตุ้นเศรษฐกิจหากประสบวิกฤติเศรษฐกิจ ทั้งนี้ สศค. คาดว่าเศรษฐกิจไทยในปี จะขยายตัวที่ร้อยละ 5.0 (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 4.5 - 5.5) โดยมีปัจจัยสนับสนุนหลักจากการขยายตัวของอุปสงค์ในประเทศ โดยเฉพาะการลงทุนจากภาครัฐที่คาดว่าจะขยายตัวได้ในระดับสูงทั้งจากรายจ่ายงบประมาณและรายจ่ายตามแผนบริหารจัดการน้ำในระยะยาวของภาครัฐวงเงินลงทุนรวม 3.5 แสนล้านบาทที่คาดว่าจะเริ่มทยอยลงทุนได้มากขึ้นในปี 56 ประกอบกับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก จะทำให้ภาคการส่งออกขยายตัวได้เร็วขึ้น
2. สนพ.คาดทยอยปรับขึ้นราคา LPG เม.ย.นี้หลังผลสำรวจพบปชช.ส่วนใหญ่เข้าใจ
  • ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) คาดว่าจะเริ่มทยอยปรับโครงสร้างราคาก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG) ได้ในเดือน เม.ย.นี้โดยจะทยอยปรับขึ้นเดือนละ 50 สตางค์หรือ 6 บาท/กิโลกรัมภายในระยะเวลา1ปีซึ่งราคาครัวเรือนและรถยนต์จะปรับเป็นราคาเดียวกันคือราคาเท่ากับต้นทุนการผลิตแอลพีจีในประเทศที่ 24.82 บาท/กิโลกรัมจากราคาปัจจุบัน 18.13 บาทต่อกิโลกรัม
  • สศค.วิเคราะห์ว่า ไทยมีการนำเข้าก๊าซ LPG จำนวนมากโดยจากข้อมูลล่าสุดในปี 2554 ไทยนำเข้า LPG สูงถึง 2,661 พันตัน คิดเป็นร้อยละ 38.6 ของการบริโภคทั้งหมด จึงทำให้ต้นทุนราคาก๊าซที่แท้จริงใกล้เคียงกับตลาดโลก ด้วยเหตุนี้การตรึงราคาก๊าซ LPG จึงเป็นการสร้างภาระต่อภาครัฐผ่านกองทุนน้ำมันฯ ซึ่งการปรับราคาก๊าซ LPG จะสามารถลดภาระของภาครัฐได้และยังสามารถเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมผู้บริโภคให้หันมาประหยัดพลังงานมากขึ้น อย่างไรก็ดีการปรับราคาดังกล่าวได้สร้างความกังวลเกี่ยวกับภาวะเงินเฟ้อที่อาจตามมาโดยเฉพาะสินค้าประเภทอาหารภาครัฐจึงได้มีมาตรการช่วยเหลือกลุ่มหาบเร่แผงลอยและผู้ที่ใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 90 หน่วยต่อเดือนให้มีการจ่ายค่าก๊าซในราคาเดิมเพื่อยับยั้งเงินเฟ้อหมวดอาหารที่อาจเร่งตัวขึ้นจากราคาก็ซ LPG
3. เงินเยนอ่อนค่าต่อเนื่อง รัฐบาลญี่ปุ่นปฏิเสธการแทรกแซง
  • รัฐมนตรีเศรษฐกิจของญี่ปุ่น นายอากิระ อามาริ ปฏิเสธคำวิจารณ์จากนานาประเทศต่อความพยายามในการแทรกแซงค่าเงินเยนให้อ่อนค่าเพื่อเอื้อประโยชน์ต่อผู้ส่งออกภายในประเทศเพื่อช่วยในการกระตุ้นเศรษฐกิจเพื่อบรรลุเป้าหมายเงินเฟ้อร้อยละ 2 ที่ได้ตั้งไว้เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยความกังวลของนานาประเทศมีต่อผลกระทบด้านความสามารถในการแข่งขันและความเสี่ยงต่อการเกิดสงครามค่าเงินในอนาคต ด้านนายอากิระได้ชี้แจงในงาน World Economic Forum 2013 ว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงของอัตราแลกเปลี่ยนสกุลเงินเยนในช่วงที่ผ่านมาเป็นการกำหนดโดยตลาดทั้งสิ้น รัฐบาลญี่ปุ่นไม่ได้มีนโยบายในการบิดเบือนกลไกในตลาดดังกล่าวแต่อย่างใด
  • สศค.วิเคราะห์ว่า อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินเยนต่อสกุลเงินหลักของโลกมีการอ่อนค่าลงอย่างเห็นได้ชัดในช่วงตั้งแต่ไตรมาสที่ 4 ของปีที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นเงินเยนเทียบกับสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐฯ (อ่อนค่าลงประมาณร้อยละ 15) เงินยูโร(อ่อนค่าลงประมาณร้อยละ 20)และเงินหยวน (อ่อนค่าลงประมาณร้อยละ 16) ทั้งนี้ คาดว่าค่าเงินเยนจะยังสามารถปรับตัวอ่อนค่าลงได้อีกหากมาตรการที่ใช้ในการบรรลุเป้าหมายเงินเฟ้อถูกนำมาใช้จริง ทิศทางขาลงนี้จะมีผลโดยตรงต่อด้านการค้าระหว่างประเทศทั้งด้านการนำเข้าและส่งออกโดยเฉพาะต่อประเทศคู่ค้าหลักอย่างจีน (คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 30 ของการส่งออกทั้งหมดจากญี่ปุ่น และร้อยละ 24 ของการนำเข้าทั้งหมด) และสหรัฐฯ(คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 15ของการส่งออกทั้งหมดจากญี่ปุ่น และร้อยละ 9ของการนำเข้าทั้งหมด) ทำให้เศรษฐกิจญี่ปุ่นจะได้รับประโยชน์จากดุลการค้าที่ดีขึ้นในอนาคต

ที่มา: Bureau of Macroeconomic Policy,Fiscal Policy Office, Ministry of Finance

Tel: 02-273-9020 Ext. 3257


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ