นายสมชัย สัจจพงษ์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ได้แถลงข่าวการเตรียมการเดินทาง
ของ นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เพื่อเข้าร่วมการประชุมประจำปีสภาผู้ว่าการธนาคารพัฒนาเอเชีย ครั้งที่ 46 [46th Asian Development Bank (ADB) Annual Meeting] และการประชุมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง และการประชุมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังและผู้ว่าการธนาคารกลางอาเซียน+๓ [ASEAN+3 Finance Ministers and Central Bank Governors Meeting (AFMGM+3)] ครั้งที่ ๑๖ ระหว่างวันที่ ๒ — ๕ พฤษภาคม 2556 ณ กรุงเดลี สาธารณรัฐอินเดีย โดยมีรายละเอียดสาระสำคัญ ดังนี้
๑. การประชุมประจำปีสภาผู้ว่าการธนาคารพัฒนาเอเชีย ครั้งที่ 46 มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ผู้ว่าการจากประเทศสมาชิก ADB ทั้งหมด 67 ประเทศ หารือแลกเปลี่ยนแนวทางและประสบการณ์การดำเนินงานของ ADB ในช่วง ๑ ปีที่ผ่านมาเพื่อให้การช่วยเหลือประเทศสมาชิกในภูมิภาคมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น โดยพิธีเปิดการประชุมฯ จะเริ่มขึ้นในวันที่ 4 พฤษภาคม 2556 และมีการกล่าวสุนทรพจน์ของประธานการประชุมฯ
(สาธารณรัฐอินเดียเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมฯ) และประธาน ADB (Mr. Takehiko Nakao) ทั้งนี้ ในระหว่างการประชุมฯ จะมีการสัมมนาในหัวข้อเรื่องการจัดสรรความช่วยเหลือทางการเงินในระยะยาวเพื่อพัฒนา
โครงสร้างพื้นฐาน (Mobilizing Long-Term Financing for Infrastructure) ในวันที่ 5 พฤษภาคม 2556
ซึ่งนายกิตติรัตน์ฯ ได้รับเชิญเข้าร่วมเป็นผู้เสวนาในการสัมมนาดังกล่าว นอกจากนี้ ในวันที่ 2 พฤษภาคม 2556 ผู้แทนสำนักงานเศรษฐกิจการคลังจะเข้าร่วมการประชุมประจำปีประเทศผู้บริจาคในกองทุนพัฒนาเอเชีย (Asian Development Fund Donors Consultation Meeting) และการประชุมระดับเจ้าหน้าที่อาวุโสของกลุ่มออกเสียงของไทยใน ADB
๒. การประชุมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังและผู้ว่าการธนาคารกลางอาเซียน+๓ [ASEAN+3 Finance Ministers and Central Bank Governors Meeting (AFMGM+3)] ครั้งที่ ๑๖ จะมีขึ้นในวันที่
3 พฤษภาคม 2556 โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังของบรูไนดารุสซาลามและสาธารณรัฐประชาชนจีนเป็นประธานร่วมของการประชุมฯ ทั้งนี้ จะหารือเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจของภูมิภาคอาเซียน+3
ความคืบหน้ามาตรการริเริ่มเชียงใหม่ไปสู่การเป็นพหุภาคี [Chiang Mai Initiative Multilateralisation (CMIM)] และมาตรการริเริ่มพัฒนาตลาดพันธบัตรเอเชีย [Asia Bond Markets Initiative (ABMI)]
การยกระดับสำนักงานวิจัยเศรษฐกิจมหภาคของภูมิภาคอาเซียน+3 [ASEAN+3 Macroeconomic Research Office (AMRO)] เป็นองค์การระหว่างประเทศ การจัดตั้งคณะทำงาน ASEAN+3 Research Group และความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการเงินของ ASEAN+3 ในอนาคต
๓. นอกจากนี้ นายกิตติรัตน์ฯ มีกำหนดหารือทวิภาคีกับรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังญี่ปุ่น องค์การระหว่างประเทศ อาทิ ADB, ธนาคารโลก, AFD (French Development Agency), Japan Bank for International Cooperation (JBIC) และสถาบันการเงินระหว่างประเทศชั้นนำต่างๆ อาทิ Daiwa Securities, Bank of Tokyo-Mitsubishi UFJ, Credit Suisse เป็นต้น
๔. ADB เป็นสถาบันการเงินเพื่อการพัฒนาระดับพหุภาคี เช่นเดียวกับธนาคารโลก ก่อตั้งขึ้นภายใต้การดำเนินการของกลุ่มประเทศสมาชิก Economic and Social Commission for Asia and Pacific (ESCAP) 31 ประเทศ เมื่อปี 2509 และเริ่มดำเนินการเมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2509 (ประเทศไทยเป็น
1 ใน 31 ประเทศผู้ร่วมก่อตั้ง) โดยมีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ที่กรุงมะนิลา ประเทศฟิลิปปินส์ ADB มีสมาชิกรวมทั้งสิ้น 67 ประเทศ ประกอบด้วย ประเทศที่อยู่ภายในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก 48 ประเทศ และประเทศที่อยู่นอกภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก 19 ประเทศ ทั้งนี้ วัตถุประสงค์หลักในการดำเนินงานของ ADB คือ มุ่งเน้นให้ความช่วยเหลือในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศสมาชิก บรรเทาปัญหาความยากจน พัฒนาภาคสังคมและส่งเสริมธรรมาภิบาล สำหรับกรอบการดำเนินการในระยะยาว (พ.ศ. 2551 - 2563) ADB ได้มีการกำหนดนโยบายหลักเกี่ยวกับการสนับสนุนความเจริญเติบโตอย่างเบ็ดเสร็จ (Inclusive Growth) การเจริญเติบโตอย่างยั่งยืนและคำนึงถึงสภาวะสิ่งแวดล้อม (Environmentally Sustainable Growth) และการรวมตัวในระดับภูมิภาค (Regional Integration) โดย ADB ได้มีการดำเนินการให้ความช่วยเหลือแก่ประเทศสมาชิกในรูปแบบต่างๆ อาทิ การให้ความช่วยเหลือด้านเงินกู้ การค้ำประกันเงินกู้ และการให้ความช่วยเหลือทางวิชาการ เป็นต้น
สำนักนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ
สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง
๐๒-๒๗๓-๙๐๒๐ ต่อ ๓๖๑๔
--ข่าวกระทรวงการคลัง กลุ่มการประชาสัมพันธ์ สนง.ปลัดกระทรวงการคลัง ฉบับที่ 44/2556 1 พฤษภาคม 2556--