Macro Morning Focus ประจำวันที่ 2 พฤษภาคม 2556
1. กระทรวงพาณิชย์เปิดเผยว่าค่าเงินบาที่แข็งค่าขึ้นส่งผลกระทบต่อการระบายข้าวของรัฐบาล
2. การส่งออกไก่ไทยแนวโน้มขยายตัวเพิ่มขึ้น แต่ยังต้องเฝ้าระวังสถานการณ์ไข้หวัดนก
3. ความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจยูโรโซนเดือน เม.ย. 56 ลดลงอยู่ที่ระดับ 88.6
Highlight:
- รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นส่งผลกระทบกับการส่งออกอย่างมาก และการแก้ปัญหาดังกล่าว ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ต้องออกมาตรการเข้ามาดูแล หากไม่มีมาตรการใดออกมาหยุดการแข็งค่าของเงินบาทในขณะนี้ อาจจะกระทบต่อส่งออกภาพรวม นอกจากนี้ ค่าเงินบาทแข็งยังกระทบต่อการระบายข้าวแบบจีทูจีลอตใหม่ของรัฐบาลด้วย เพราะไม่สามารถจะกำหนดราคาขายได้แน่นอน เนื่องจากค่าเงินผันผวน และอาจทำให้ต้องขายข้าวในราคาที่ลดลงจากแต่ก่อนแต่ในส่วนของสัญญาที่ได้มีการซื้อขายแล้วก็ยังขายในราคาเดิม และไม่ได้รับผลกระทบ
- สศค. วิเคราะห์ว่า ปริมาณการส่งออกข้าวของไทยในช่วงไตรมาสที่ 1 ของปี 56 ประมาณ 1.5 ล้านตัน หรือคิดเป็นเงิน 33,165 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.6 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยราคาส่งออกข้าวเฉลี่ยประมาณ 21,537 บาทต่อตัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนเล็กน้อยประมาณร้อยละ 0.9 ท่ามกลางค่าเงินบาทต่อดอลลาร์สหรัฐทีแข็งค่าขึ้นตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมาประมาณร้อยละ 6.6 ซึ่งส่งผลให้ราคาสินค้าส่งออกของประเทศไทยโดยเปรียบเทียบแพงกว่าประเทศคู่แข่ง ทั้งนี้ สศค. ประมาณการว่า ค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นทุกๆ ร้อยละ 1.0 ต่อดอลลาร์สหรัฐ จะทำให้มูลค่าการส่งออกรวมของไทยลดลงร้อยละ 0.2 และ สศค. คาดว่า การส่งออกรวมจะขยายตัว ร้อยละ 9.0 (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 8.0 - 11.0)
- เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร เปิดเผยว่า การผลิตไก่เนื้อของไทยยังคงปรับตัวเพิ่มขึ้นตามจำนวนประชากรและการส่งออกที่ขยายตัวภายหลังจากเริ่มส่งออกไก่สดแช่แข็งไปในหลายประเทศโดยเฉพาะตลาดญี่ปุ่น เนื่องจากไก่ไทยมีคุณภาพดีและฝีมือการตัดแต่งชิ้นส่วนที่ถูกใจผู้นำเข้า อย่างไรก็ตาม สถานการณ์การเกิดโรคไข้หวัดนกในประเทศเพื่อนบ้านใกล้เคียงในขณะนี้ ทุกฝ่ายควรต้องเฝ้าระวังแม้ว่าการเลี้ยงไก่และการผลิตของไทยในปัจจุบันจะเป็นระบบปิดก็ตาม ทั้งนี้ สถานการณ์การผลิตไก่ในปี 56 คาดว่าไทยจะผลิตไก่เนื้อเพิ่มขึ้นเป็น 1.08 พันล้านตัว ขณะที่ราคาที่เกษตรกรขายได้เฉลี่ยกิโลกรัมละ 44 บาท ปรับตัวสูงขึ้นจากปีก่อนตามต้นทุนการผลิตที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นทั้งจากราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์และค่าแรงงาน
- สศค. วิเคราะห์ว่า ในปี 55 สถานการณ์การส่งออกสินค้าเกษตรกรรมในหมวดไก่แปรรูป (มีสัดส่วน ร้อยละ 8.5 ของมูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตรกรรมในปี 55) และไก่สดแช่แข็ง (มีสัดส่วนร้อยละ 0.8 ของมูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตรกรรมในปี 55) สามารถขยายตัวได้ดีที่ร้อยละ 8.6 และ 83.2 ตามลำดับ โดยในหมวดไก่แปรรูป ประเทศคู่ค้าสำคัญของไทย คือ ญี่ปุ่น สามารถขยายตัวร้อยละ 17.7 ขณะที่ในหมวดไก่สดแช่แข็ง ประเทศคู่ค้าสำคัญของไทย คือ ลาว สามารถขยายตัวร้อยละ 15.9 สำหรับสถานการณ์การส่งออกในช่วง 3 เดือนแรกของปี 56 พบว่า การส่งออกไก่แปรรูปหดตัวร้อยละ -3.5 โดยเป็นผลจากการส่งออกไปญี่ปุ่นซึ่งถือเป็นประเทศคู่ค้าอันดับหนึ่งของไทยหดตัวร้อยละ -2.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จากผลของฐานสูงในปีก่อนที่เติบโตสูงถึงร้อยละ 32.4 ขณะที่การส่งออกไก่สดแช่แข็งสามารถขยายตัวร้อยละ 10.3 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยการส่งออกไปลาว ซึ่งถือเป็นประเทศคู่ค้าอันดับหนึ่งของไทยขยายตัวร้อยละ 17.6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน สำหรับสถานการณ์การเกิดโรคไข้หวัดนกในขณะนี้ยังไม่ส่งผลกระทบต่อภาคการผลิตไก่ของไทย และคาดว่าทิศทางการส่งออกไก่ของไทยยังคงมีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มขึ้น เนื่องจากผลิตภัณฑ์ไก่ของไทยมีคุณภาพดี อีกทั้งผู้ประกอบการไก่ของไทยก็มีความรู้ความเชี่ยวชาญในธุรกิจ และได้ปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตและการดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบไก่ของไทยก็ควรให้ความสำคัญกับการพัฒนาคุณภาพสินค้าเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มของสินค้าให้สามารถสนองตอบความต้องการของผู้นำเข้าได้อย่างตรงจุดและหลากหลายมากขึ้นเพื่อลดการแข่งขันทางด้านราคาจากประเทศคู่แข่ง รวมถึงการแสวงหาตลาดใหม่ที่มีศักยภาพ
- คณะกรรมาธิการยุโรป (EC) เปิดเผย ผลสำรวจความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจของยูโรโซนในเดือน เม.ย. 56 ลดลงอย่างต่อเนื่อง อยู่ที่ระดับ 88.6 จาก 90.1 ในเดือน มี.ค. 56 ซึ่งแสดงให้เห็นว่าเศรษฐกิจภูมิภาคยังคงเผชิญกับสถานการณ์ที่ยากลำบากในการฟื้นตัวจากภาวะถดถอย
- สศค. วิเคราะห์ว่า ความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจของยุโรโซนที่ลดลงอย่างต่อ ส่วนหนึ่งเป็นผลจากภาวะเศรษฐกิจของยูโรโซนที่ชะลอลง โดย GDP ของยูโรโซนในปี 55 หดตัวที่ร้อยละ -0.5 ต่อปี ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในเดือน เม.ย. 56 อยู่ในระดับต่ำกว่า 0 ต่อเนื่อง ที่ระดับ -23.5 สะท้อนภาคการบริโภคที่ยังคงซบเซา ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อรวมเดือน เม.ย. 56 อยู่ระดับต่ำกว่า 50 ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 21 ที่ระดับ 46.5 โดยดัชนีฯ ภาคอุตสาหกรรมและภาคบริการอยู่ที่ระดับ 46.7 และ 46.8 จุด ตามลำดับ สำหรับ อัตราเงินเฟ้อ (เบื้องต้น) เดือน มี.ค. 56 ลดลงต่อเนื่องมาอยู่ที่ระดับต่ำสุดในรอบ 31 เดือนที่ร้อยละ 1.7 ต่อปี ทั้งนี้ สศค. คาดว่าเศรษฐกิจยูโรโซนในปี 56 จะหดตัวที่ร้อยละ -0.2 ต่อปี (คาดการณ์ ณ มี.ค. 56)
ที่มา: Bureau of Macroeconomic Policy,Fiscal Policy Office, Ministry of Finance
Tel: 02-273-9020 Ext. 3257