รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 10 พฤษภาคม 2556

ข่าวเศรษฐกิจ Friday May 10, 2013 15:25 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 10 พฤษภาคม 2556

Summary:

1. รมว. คลัง กล่าวว่า ยังไม่มีสัญญาณฟองสบู่ภาคอสังหาริมทรัพย์

2. ธนาคารกลางเกาหลีใต้ ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงอยู่ที่ร้อยละ 2.50 ต่อปี

3. อัตราเงินเฟ้อของจีน เดือน เม.ย. 56 กลับมาปรับตัวเพิ่มขึ้นอีกครั้งร้อยละ 2.4 จากช่วงเดียวกัน

Highlight:

1. รมว. คลัง กล่าวว่า ยังไม่มีสัญญาณฟองสบู่ภาคอสังหาริมทรัพย์
  • นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยภายหลังเปิดงานมหกรรมบ้านและคอนโด ครั้งที่ 28 ว่า ขณะนี้ยังไม่พบสัญญาณการเกิดฟองสบู่ในภาคอสังหาริมทรัพย์ เนื่องจากความต้องการซื้อและความต้องการขายของผู้ประกอบการมีความสอดคล้องกัน และยังคาดว่าตลาดอสังหาริมทรัพย์ ในปี 56 มีทิศทางการขยายตัวดีต่อเนื่อง
  • สศค. วิเคราะห์ว่าความเสี่ยงของการเกิดปัญหาฟองสบู่ในภาคอสังหาริมทรัพย์ของไทยในปัจจุบันยังคงอยู่ในระดับต่ำ เนื่องจากราคาที่อยู่อาศัยรวมในช่วง 3 เดือนแรกปี 56 ขยายตัวเฉลี่ยร้อยละ 4.2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ซึ่งเป็นการขยายตัวตามต้นทุนการผลิต โดยเฉพาะต้นทุนด้านที่ดินและค่าแรงที่สูงขึ้น และสอดคล้องกับการขยายตัวของเศรษฐกิจภายในประเทศ ซึ่งส่วนหนึ่งได้รับอานิสงค์จากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ ที่ได้ส่งผลให้การบริโภคสินค้าคงทน ซึ่งรวมถึงอสังหาริมทรัพย์ขยายตัวดีต่อเนื่อง สะท้อนจากสินเชื่อผู้บริโภคที่ยังขยายตัวได้ดี ในเดือน มี.ค. 56 ที่ยังคงขยายตัวได้ดีที่ร้อยละ 20.7 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ทั้งนี้ คาดว่าเศรษฐกิจที่ขยายตัวได้อย่างแข็งแกร่ง จะเป็นปัจจัยสนับสนุนให้ภาคอสังริมทรัพย์ขยายตัวต่อเนื่องในปี 56
2. ธนาคารกลางเกาหลีใต้ ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงอยู่ที่ร้อยละ 2.50 ต่อปี
  • ธนาคารกลางเกาหลีใต้ มีมติปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงร้อยละ 0.25 จากเดิมอยู่ที่ร้อยละ 2.75 ต่อปีมาอยู่ที่ร้อยละ 2.50 ต่อปี โดยเป็นการปรับลดครั้งแรกในรอบ 7 เดือนและถือเป็นระดับที่ต่ำที่สุดนับตั้งแต่ ธ.ค. 53 เป็นต้นมา ทั้งนี้ การปรับลดอัตราดอกเบี้ยดังกล่าวมีจุดประสงค์เพื่อเอื้อต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจของเกาหลีใต้ให้ฟื้นตัวอีกครั้ง ภายหลังจากที่ภาคการส่งออกหดตัวต่อเนื่องจากเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวในปีที่ผ่านมา
  • สศค. วิเคราะห์ว่า เศรษฐกิจเกาหลีใต้ชะลอตัวลงอย่างต่อเนื่อง โดย GDP ไตรมาส 1 ปี 56 ขยายตัวเพียงร้อยละ 1.5 จากช่วงเดียวกันปีก่อน หรือขยายตัวร้อยละ 0.9 จากไตรมาสก่อน (ขจัดผลทางฤดูกาลแล้ว) ซึ่งเป็นผลจากภาคการค้าระหว่างประเทศที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากเศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัวอย่างล่าช้าเป็นสำคัญ สะท้อนจากการส่งออกเกาหลีใต้ 4 เดือนแรก ปี 56 ขยายตัวเฉลี่ยเพียงร้อยละ 0.5 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ประกอบกับภาคการผลิตเกาหลีใต้ยังคงหดตัวต่อเนื่อง บ่งชี้จาก ดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรมไตรมาส 1 ปี 56 หดตัวเฉลี่ยร้อยละ -4.7 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ขณะที่แรงกดดันด้านราคาอยู่ในระดับต่ำ จากอัตราเงินเฟ้อ ในเดือน เม.ย. 56 อยู่ที่ร้อยละ 1.2 จากช่วงเดียวกันปีก่อน การปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางเกาหลีใต้จึงจะเป็นปัจจัยหนึ่งที่ช่วยสนับสนุนการจ้างงานและธุรกิจขนาดเล็กของรัฐบาลเกาหลีใต้ เพื่อกระตุ้นให้อุปสงค์ในประเทศกลับมาขยายตัวเร่งขึ้นอีกครั้ง อย่างไรก็ตาม ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อเดือน เม.ย. 56 อยู่ที่ระดับ 52.6 จุด บ่งชี้การฟื้นตัวของภาคการผลิต จึงจำเป็นต้องติดตามสถานการณ์ต่อไป ทั้งนี้ ประเด็นสำคัญอีกหนึ่งประเด็นที่ต้องติดตามคือ สงครามคาบสมุทรเกาหลีที่เรื้อรัง ตลอดจนท่าทีทางการทหารของเกาหลีเหนือ อาจส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนได้ในระยะต่อไป
3. อัตราเงินเฟ้อของจีน เดือน เม.ย. 56 กลับมาปรับตัวเพิ่มขึ้นอีกครั้งร้อยละ 2.4 จากช่วงเดียวกัน
  • สำนักงานสถิติแห่งชาติจีน ประกาศอัตราเงินเฟ้อจีน เดือน เม.ย. 56 ปรับตัวเพิ่มขึ้นมาที่ร้อยละ 2.4 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน เร่งขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ร้อยละ 2.1 แต่ยังถือเป็นแรงกดดันเงินเฟ้อในระดับอ่อน บ่งชี้อุปสงค์ในประเทศที่ส่งสัญญาณชะลอลงและไม่มีแรงกดดันด้านเงินเฟ้อจากต่างประเทศเข้ามาเกี่ยวข้อง ส่งผลให้ตลาดคาดการณ์ว่าธนาคารกลางของจีนจะดำเนินนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายเพิ่มเติมเร็วๆ นี้ ทั้งนี้ ผู้ว่าการธนาคารกลางของจีนกล่าวว่า จีนต้องได้รับการกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะสั้นเพื่อให้เศรษฐกิจฟื้นตัว อย่างไรก็ตาม ธนาคารกลางยังคงคาดว่าอัตราดอกเบี้ยเงินกู้อ้างอิงจะยังคงอยู่ที่ร้อยละ 6.0 ต่อปี ณ สิ้นปี 56
  • สศค. วิเคราะห์ว่า อัตราเงินเฟ้อจีนเดือน เม.ย. 56 ที่เร่งขึ้นจากเดือนก่อนหน้าเป็นผลมาจากราคาอาหารที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นมากร้อยละ 4.0 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน จากร้อยละ 2.7 ในเดือนก่อน โดยเฉพาะราคาผักสดที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.9 จากหดตัวร้อยละ -1.3 เป็นสำคัญ ผลจากภูมิอากาศแปรปรวนและภัยแล้ง ส่งผลต่ออุปทานผักสด อย่างไรก็ตาม โดยรวมแล้วอัตราเงินเฟ้อในระดับนี้ยังคงอยู่ต่ำกว่าอัตราเงินเฟ้อเป้าหมายปี 56 ซึ่งตั้งไว้ที่ร้อยละ 3.5 อีกทั้งราคาสินค้าและบริการอื่นๆ นอกเหนือจากอาหาร ยังคงที่อยู่ในระดับที่ใกล้เคียงกันกับเดือนก่อน อันเป็นการสนับสนุนสถานการณ์ทางเศรษฐกิจของจีนที่ชะลอตัวอยู่ในขณะนี้ จากสถานการณ์ดังกล่าวมีความเป็นไปได้ว่า ธนาคารกลางของจีนอาจดำเนินนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติมจากที่รัฐบาลใช้จ่ายในโครงการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน ทั้งนี้ สศค. คาดว่าเศรษฐกิจจีนในปี 56 นี้จะขยายตัวร้อยละ 8.2 (คาดการณ์ ณ เดือน มี.ค. 56)

ที่มา: Bureau of Macroeconomic Policy,Fiscal Policy Office, Ministry of Finance

Tel: 02-273-9020 Ext. 3257


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ