กระทรวงการคลังเชิญหน่วยงานชี้แจงหลักเกณฑ์ผ่อนผันการก่อหนี้รายจ่ายลงทุน

ข่าวเศรษฐกิจ Friday May 17, 2013 09:45 —กระทรวงการคลัง

กระทรวงการคลังเชิญหน่วยงานและรัฐวิสาหกิจชี้แจงหลักเกณฑ์ผ่อนผันการก่อหนี้รายจ่ายลงทุนที่ต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในเดือนมิถุนายน 2556

นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยถึงผลการประชุมคณะกรรมการติดตามเร่งรัดการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐ ครั้งที่ 4/2556 วันที่ 15 พฤษภาคมที่ผ่านมา เพื่อติดตามผลการเบิกจ่ายเงินงบประมาณของส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจให้เป็นไปตามเป้าหมาย และกำหนดแนวทางในกรณีที่หน่วยงานไม่สามารถดำเนินการได้ตามมาตรการที่กำหนด โดยผลการเบิกจ่ายเงินปีงบประมาณ พ.ศ. 2556 ตั้งแต่ต้นปีจนถึงวันที่ 3 พฤษภาคม 2556 ในภาพรวมเบิกจ่ายแล้ว จำนวน 1,394,196.46 ล้านบาท หรือร้อยละ 58.09 สูงกว่าเป้าหมาย (เป้าหมาย 53.60) แบ่งเป็นรายจ่ายประจำ จำนวน 1,229,188.45 ล้านบาท รายจ่ายลงทุน จำนวน 165,008.01 ล้านบาท หรือร้อยละ 41.15 ซึ่งสูงกว่าเป้าหมาย (เป้าหมาย 34.60) สำหรับเงินงบประมาณที่กันไว้เบิกเหลื่อมปี ของปีงบประมาณ พ.ศ. 2548-2555 เบิกจ่ายจำนวน 170,257.48 ล้านบาท หรือร้อยละ 56.71 ของวงเงินงบประมาณที่ได้รับอนุมัติ ให้กันเงินไว้เบิกเหลื่อมปี เงินโครงการไทยเข้มแข็ง เบิกจ่ายจำนวน 323,564.01 ล้านบาท หรือร้อยละ 94.74 ของวงเงินที่ได้รับจัดสรร (341,542.81 ล้านบาท) เงินกู้เพื่อวางระบบบริหารจัดการน้ำและสร้างอนาคตประเทศ พ.ศ. 2555 (350,000 ล้านบาท) เบิกจ่ายแล้ว 10,176.18 ล้านบาท หรือร้อยละ 40.93 ของวงเงินที่จัดสรร (25,193.25 ล้านบาท) โดยคาดว่าการเบิกจ่ายทั้งปีจะเป็นไปตามเป้าหมายที่รัฐบาลกำหนด คือ ภาพรวมร้อยละ 94 และรายจ่ายลงทุนร้อยละ 80

นายกิตติรัตน์กล่าวว่า เดิมคณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2556 กำหนดให้ส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจต้องก่อหนี้ผูกพันให้ทันภายใน วันที่ 15 พฤษภาคม 2556 หากหน่วยงานใดไม่สามารถดำเนินการได้ภายในกำหนดระยะเวลาดังกล่าว ให้ชี้แจงปัญหาอุปสรรค พร้อมเหตุผลความจำเป็นในการขอผ่อนผันต่อคณะกรรมการติดตามเร่งรัดการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐ และจากการสำรวจของกรมบัญชีกลางพบว่า มีส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจที่ไม่สามารถดำเนินการได้เป็นเงินงบประมาณ จำนวน 93,123.13 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 23.22 คณะกรรมการติดตามเร่งรัดฯ จึงได้แต่งตั้งคณะทำงานขึ้นมา 2 คณะ โดยคณะที่ 1 ได้แต่งตั้งนายมนัส แจ่มเวหา อธิบดีกรมบัญชีกลาง เป็นประธานคณะทำงาน มีผู้แทนจากสำนักงบประมาณ และสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เป็นกรรมการ ร่วมกันพิจารณาในกรณีที่ส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจที่ได้ดำเนินการ ตามกรณีดังนี้

1. ประกวดราคาแล้วอย่างน้อยหนึ่งครั้ง แต่ไม่ได้ผู้รับจ้างทำให้ต้องดำเนินการประกวดราคาใหม่ หรหือบางส่วนอยู่ระหว่างขออนุมัติ กวพ.อ. เพื่อจัดซื้อจัดจ้างวิธีอื่น

2. โครงการผูกพันข้ามปีงบประมาณที่มีผลการจัดซื้อจัดจ้างแล้ว ต้องเสนอสำนักงบประมาณพิจารณาให้ความเห็นชอบ ก่อนลงนามในสัญญา

3. อยู่ระหว่างปรับปรุง TOR หรือแก้ไขรูปแบบรายการก่อสร้างตามมติคณะรัฐมนตรี

4. ได้ดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างแล้วแต่งบประมาณไม่เพียงพอ และอยู่ระหว่างการโอนเปลี่ยนแปลงงบประมาณ เปลี่ยนแปลงสถานที่ดำเนินการ และเปลี่ยนแปลงรายละเอียดโครงการ

5. ได้ผลการจัดซื้อจัดจ้างแล้ว แต่ต้องรอผลจากผู้มีอำนาจอนุมัติจัดซื้อจัดจ้างตามระเบียบพัสดุ อีกคณะหนึ่ง ให้รองผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ เป็นประธานคณะทำงาน มีผู้แทนจากกรมบัญชีกลาง และสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เป็นกรรมการ ร่วมกันพิจารณากรณีส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจที่ยังไม่ได้เริ่มดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างเลย

“และเพื่อให้เกิดความชัดเจนและความรวดเร็วในทางปฏิบัติ จึงจะได้เชิญส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจที่อาจเข้าข่ายจะต้องขอผ่อนผัน มาประชุมพร้อมทั้งชี้แจงหลักเกณฑ์การพิจารณา ในวันจันทร์ที่ 20 พฤษภาคม 2556 เวลา 13.30 น. ณ ห้องประชุมชั้น 2 อาคาร 52 ปี สำนักงบประมาณ” นายกิตติรัตน์กล่าว

ฝ่ายประชาสัมพันธ์ กรมบัญชีกลาง

โทร. 02 127 7143

--ข่าวกระทรวงการคลัง กลุ่มการประชาสัมพันธ์ สนง.ปลัดกระทรวงการคลัง ฉบับที่ 53/2556 16 พฤษภาคม 2556--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ