รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 17 พฤษภาคม 2556

ข่าวเศรษฐกิจ Friday May 17, 2013 14:10 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 17 พฤษภาคม 2556

Summary:

1. คลังเผย หนี้สาธารณะคงค้างเดือน มี.ค. 56 อยู่ที่ร้อยละ 44.16 ของ GDP

2. การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศของจีนในเดือน เม.ย. 56 ชะลอลงเกินคาดการณ์

3. GDP ญี่ปุ่นไตรมาส 1 ปี 56 ขยายตัวร้อยละ 0.2 จากช่วงเดียวกันปีก่อน

Highlight:

1. คลังเผย หนี้สาธารณะคงค้างเดือน มี.ค. 56 อยู่ที่ ร้อยละ 44.16 ของGDP
  • ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) กระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า สิ้นเดือน มี.ค. 56 มีหนี้สาธารณะคงค้างจำนวน 5,121,300.73 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 44.16 ของ GDP โดยแบ่งเป็นหนี้ของรัฐบาล 3,556,460.62 ล้านบาท หนี้รัฐวิสาหกิจที่ไม่เป็นสถาบันการเงิน 1,064,746.17 ล้านบาท หนี้รัฐวิสาหกิจที่เป็นสถาบันการเงิน 494,532.03 ล้านบาท และหนี้หน่วยงานอื่นของรัฐ 5,561.91 ล้านบาท เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนก่อนหน้า หนี้สาธารณะเพิ่มขึ้นสุทธิ 47,324.17 ล้านบาทโดยหนี้ของรัฐวิสาหกิจที่เป็นสถาบันการเงินและหนี้ของรัฐบาลเพิ่มขึ้น 56,657.66 ล้านบาท และ 826.01 ล้านบาท ตามลำดับ ขณะที่หนี้รัฐวิสาหกิจที่ไม่เป็นสถาบันการเงินและหนี้หน่วยงานอื่นของรัฐ ลดลง 7,667.88 ล้านบาท และ 2,491.62 ล้านบาท ตามลำดับ ส่วนหนี้กองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ ไม่มีหนี้คงค้าง
  • สศค. วิเคราะห์ว่า หนี้สาธารณะของไทยยังคงอยู่ในระดับต่ำ และยังคงอยู่ในกรอบความยั่งยืนทางการคลัง ที่กำหนดให้หนี้สาธารณะอยู่ในระดับไม่เกินร้อยละ 60 ของ GDP ซึ่งหนี้สาธารณะในระดับต่ำนี้ เป็นเครื่องชี้ว่าภาคการคลังของไทยยังคงมีเสถียรภาพดี และบ่งชี้ว่าภาครัฐยังคงมีพื้นที่ในการใช้นโยบายการคลังเพิ่มเติม (Policy space) เพื่อสนับสนุนเศรษฐกิจ หากเศรษฐกิจไทยได้รับผลกระทบจากความผันผวนจากเศรษฐกิจโลก
2. การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศของจีนในเดือน เม.ย. 56 ชะลอลงเกินคาดการณ์
  • กระทรวงพาณิชย์จีนประกาศยอดการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (Foreign Direct Investment: FDI) ในเดือน เม.ย. 56 คิดเป็นมูลค่า 8.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือขยายตัวร้อยละ 0.4 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ซึ่งชะลออย่างมากจากเดือนมี.ค. ที่ขยายตัวที่ร้อยละ 5.7 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน
  • สศค. วิเคราะห์ว่า การที่ FDI ของจีนในเดือน เม.ย. 56 ขยายตัวชะลอลง อาจเป็นผลจากค่าแรงของจีนที่มีแนวโน้มสูงขึ้น กล่าวคือ สถิติอัตราค่าแรงเฉลี่ยต่อปีในปี 54 อยู่ที่ 41,799 หยวนต่อปี เพิ่มขึ้นจากปี 53 ถึงร้อยละ 14.4 และเพิ่มขึ้นจากปี 44 ถึงร้อยละ 285.81 ประกอบกับกฎหมาย การจ้างงานที่เข้มงวดยิ่งขึ้น ทั้งนี้ จีนเป็นประเทศที่ขับเคลื่อนด้วยการลงทุนเป็นหลัก (การลงทุนรวมคิดเป็นร้อยละ 48.3 ของ GDP) การชะลอตัวของการลงทุนจากต่างประเทศอาจส่งผลต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจได้ ทั้งนี้ สศค. คาดการณ์ ณ เดือน พ.ค. 56 ว่า GDP ของจีนในปี 56 จะขยายตัวร้อยละ 8.0 (ช่วงคาดการณ์ 7.5-8.5) และจะมีการปรับประมาณการใหม่ในเดือน มิ.ย. 56 ที่จะถึงนี้
3. GDP ญี่ปุ่นไตรมาส 1 ปี 56 ขยายตัวร้อยละ 0.2 จากช่วงเดียวกันปีก่อน
  • ทางการญี่ปุ่น ประกาศตัวเลขการขยายตัวทางเศรษฐกิจญี่ปุ่น โดในไตรมาสแรก ปี 56 เศรษฐกิจญี่ปุ่นขยายตัวร้อยละ 0.2 จากช่วงเดียวกันปีก่อน หรือ ขยายตัวร้อยละ 0.9 จากไตรมาสก่อน (ขจัดผลทางฤดูกาลแล้ว) ผลจากการบริโภคภาคเอกชนและการส่งออกที่แท้จริงกลับมาขยายตัวอีกครั้งเป็นสำคัญที่ร้อยละ 0.9 และ 3.8 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน (ขจัดผลทางฤดูกาลแล้ว) ตามลำดับ
  • สศค. วิเคราะห์ว่า เศรษฐกิจญี่ปุ่นที่ขยายตัวเร่งขึ้นจากไตรมาสก่อน ส่วนหนึ่งมาจากการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคซึ่งปัจจัยสำคัญต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจญี่ปุ่นด้วยสัดส่วนร้อยละ 59.4 ของGDP (สัดส่วนปี 55) ที่ปรับตัวดีขึ้นตามลำดับ บ่งชี้ว่า มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลภายใต้การนำของนายชินโสะ อาเบะนั้น เป็นปัจจัยสนับสนุนที่ทำให้เศรษฐกิจญี่ปุ่นมีแนวโน้มฟื้นตัว ผนวกกับภาคการค้าระหว่างประเทศที่กลับมาขยายตัวได้อีกครั้งจากเศรษฐกิจโลกที่ปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง โดยมูลค่าการส่งออก ไตรมาส 1 ปี 56 ขยายตัวร้อยละ 1.2 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ขณะเดียวกัน ภาคการผลิตในญี่ปุ่นมีทิศทางการฟื้นตัวอย่างชัดเจน สะท้อนจากดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคอุตสาหกรรมที่อยู่เหนือกว่าระดับ 50 จุด เป็นเวลา 2 เดือนติดต่อกัน อย่างไรก็ตาม ปัจจัยเสี่ยงสำคัญทางเศรษฐกิจของญี่ปุ่นคือ ปัญหาเงินฝืดที่ยาวนานกว่า 2 ทศวรรษ (อัตราเงินเฟ้อ ณ เดือน เม.ย. 56 อยู่ที่ร้อยละ -0.9 จากช่วงเดียวกันปีก่อน) เป็นอุปสรรคสำคัญต่อการขยายตัวของอุปสงค์ภายในประเทศ โดยรัฐบาลปัจจุบันมีความพยายามอย่างยิ่งเพื่อจะแก้ไขปัญหาดังกล่าวภายในระยะเวลา 2 ปี ซึ่งเป็นประเด็นที่ควรติดตามต่อไปอย่างใกล้ชิด

ที่มา: Bureau of Macroeconomic Policy,Fiscal Policy Office, Ministry of Finance

Tel: 02-273-9020 Ext. 3257


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ