Macro Morning Focus ประจำวันที่ 22 พฤษภาคม 2556
1. สภาพัฒน์เผยจีดีพีไตรมาส 1 ปี 2556 โตร้อยละ 5.3 ลดลงจากไตรมาส 4 ปี 2555 ที่โตร้อยละ 19.1
2. ก.พาณิชย์ยังไม่ปรับเป้าส่งออก ประชุมทูต 62 ประเทศ หาทางเจาะตลาด
3. เฟดชิคาโกเผยดัชนีการผลิตทั่วประเทศอ่อนแรงลงในเดือน เม.ย.
Highlight:
- เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดเผยว่า เศรษฐกิจไทย ไตรมาสแรกของปี 2556 ขยายตัวร้อยละ 5.3 ชะลอตัวจากไตรมาสที่ 4 ปี 2555 ที่ขยายตัวร้อยละ 19.1 เนื่องจากในช่วงไตรมาส 4/55 เศรษฐกิจขยายตัวจากฐานที่ต่ำทั้งนี้ มีปัจจัยสนับสนุนจากการขยายตัวของการใช้จ่ายภาคครัวเรือนและการลงทุนภาคเอกชน ในขณะที่การส่งออกขยายตัวช้ากว่าคาดการณ์ มส่วนการขยายตัวของเศรษฐกิจเมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาส 4 ปี 2555 และปรับผลของฤดูกาลออก พบว่าหดตัวร้อยละ 2.2 พร้อมปรับลดประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2556 ลงเหลือขยายตัวร้อยละ 4.2 - 5.2 จากเดิมคาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 4.5 - 5.5
- สศค. วิเคราะห์ว่า เศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 1/56 ขยายตัวได้ต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้เนื่องจากอุปสงค์ภายนอกประเทศที่ชะลอตัวส่งผลต่อภาคการส่งออก โดยปริมาณการส่งออกสินค้าขยายตัวชะลอลงเหลือเพียงร้อยละ 3.8 จากไตรมาสก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 13.5 อย่างไรก็ดีอุปสงค์ภายในประเทศยังเป็นเครื่องยนต์สำคัญในการสนับสนุนเศรษฐกิจไทยในไตรมาสนี้ โดยการบริโภคภาคเอกชนขยายตัวได้ร้อยละ 4.2 และการลงทุนสินทรัพย์ถาวรขยายตัวร้อยละ 6.0 หากพิจารณาเศรษฐกิจไทยในด้านการผลิตจะพบว่าภาคบริการเป็นภาคที่ขยายตัวดีที่สุดในไตรมาสนี้โดยขยายตัวร้อยละ 6.3 ตามมาด้วยภาคอุตสาหกรรมที่ขยายตัวร้อยละ 4.8 ทั้งนี้ สศค.จะมีการปรับสมมุติฐานและประมาณการเศรษฐกิจไทยอีกครั้งในเดือน มิ.ย. 56
- อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า ในการประชุมผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (ทูตพาณิชย์) 62 ประเทศทั่วโลกได้มีการทบทวนและประเมินสถานการณ์ภาคการส่งออกสินค้าไทยไปต่างประเทศ เพื่อผลักดันการค้าไทยทั่วโลกให้ดีขึ้น ในภาวะเศรษฐกิจโลกยังไม่ฟื้นตัว ทั้งนี้ การประชุมดังกล่าว มุ่งหาแนวทางการเจาะตลาดประเทศที่เห็นว่ามีปัญหาเศรษฐกิจ แต่มีช่องทางที่จะเปิดตลาดสินค้าไทยได้ โดยให้ความสนใจตลาดส่งออกหลักอย่างสหรัฐ ยุโรป และญี่ปุ่น สำหรับเป้าหมายการส่งออกที่ตั้งไว้ร้อยละ 8-9 หากไม่ปรับประมาณการ ทูตพาณิชย์จะต้องทำงานนเข้มข้นมากขึ้น เชื่อว่าทุกฝ่ายพร้อมที่จะดำเนินการให้เป็นไปตามเป้าหมายที่ตั้งไว้
- สศค. วิเคราะห์ว่า มูลค่าการส่งออกสินค้าในปี 56 จะได้รับปัจจัยบวกจากจากเศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มฟื้นตัวจากปี 55 (แม้จะขยายตัวได้ในกรอบที่จำกัดจากปัจจัยปัญหาเสถียรภาพของเศรษฐกิจในยุโรป) ประกอบกับปัจจัยราคาสินค้าส่งออกบางรายการมีแนวโน้มได้รับอานิสงส์จากการฟื้นตัวของทิศทางราคาโภคภัณฑ์ในตลาดโลก และเมื่อผนวกกับผลของฐานการส่งออกที่ขยายตัวค่อนข้างต่ำในปี 2555 ส่งผลให้สศค. คาดว่าในปี 56 มูลค่าส่งออกสินค้าในรูปดอลลาร์สหรัฐจะขยายตัวร้อยละ 9.0 โดยมีช่วงคาดการณ์ร้อยละ 8.0 - 10.0 (คาดการณ์ ณ มี.ค. 56 ทั้งนี้ สศค. อาจจะมีการปรับประมาณการอีกครั้งในเดือน มิ.ย.56)
- ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) สาขาชิคาโก เปิดเผยว่า ดัชนีกิจกรรมการผลิตทั่วประเทศในเดือน เม.ย. ร่วงลงแตะ - 0.53 ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับแต่เดือน ม.ค. เมื่อเทียบกับระดับ - 0.23 ในเดือน มี.ค.โดยดัชนีย่อยส่วนใหญ่อ่อนแรงลงต่อเนื่อง นำโดยดัชนีที่เกี่ยวข้องกับการผลิตที่หดตัวลงแตะ - 0.34 ในเดือน เม.ย. จาก - 0.04 ในเดือน มี.ค. ซึ่งเป็นปัจจัยหลักที่ถ่วงดัชนีกิจกรรมการผลิตโดยรวม ดัชนียอดขาย คำสั่งซื้อและสต็อกสินค้ายังอยู่ในแดนลบ แม้ว่าปรับตัวดีขึ้นเล็กน้อย โดยดัชนีแตะ - 0.01 ในเดือนที่แล้ว จาก - 0.04 ในเดือน มี.ค. ส่วนดัชนีที่เกี่ยวข้องกับการจ้างงานลดลงมาอยู่ที่ 0 จาก 0.01 ในเดือน มี.ค.
- สศค. วิเคราะห์ว่า ดัชนีการผลิตที่ต่ำกว่า 0 บ่งชี้ว่าการขยายตัวของกิจกรรมการผลิตต่ำกว่าค่าเฉลี่ย และสะท้อนว่าการผลิตในภาคอุตสาหกรรม (ซึ่งเป็นเครื่องชี้วัดการผลิตของภาคเหมืองแร่ โรงงาน และสาธารณูปโภคของสหรัฐ) ยังคงประสบปัญหาในการฟื้นตัว และเมื่อผนวกกับการควบคุมรายจ่ายทางการคลังในสหรัฐที่มีผลบังคับใช้ตั้งแต่เดือน มี.ค. 56 ที่จะส่งผลกระทบต่อการบริโภคภายในประเทศ ปัจจัยเหล่านี้อาจมีผลให้ไปดึง GDP ของไตรมาสที่สองให้ชะลอลง (โดย GDP สหรัฐฯ ไตรมาส 1 ปี56 (ตัวเลขเบื้องต้น) ขยายตัวร้อยละ 1.8 จากช่วงเดียวกันปีก่อน)
ที่มา: Bureau of Macroeconomic Policy,Fiscal Policy Office, Ministry of Finance
Tel: 02-273-9020 Ext. 3257