รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 23 พฤษภาคม 2556

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday May 23, 2013 11:30 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 23 พฤษภาคม 2556

Summary:

1. นายกฯ เชิญชวนนักลงทุนญี่ปุ่นเข้าร่วม 3 โครงการใหญ่รัฐบาล

2. กระทรวงพาณิชย์ลดเป้าส่งออกลงเหลือร้อยละ 7-7.5

3. ว่าที่ผู้ว่า ธ.กลางผู้ดีเตือนยุโรปปฏิรูปจัดระเบียบภาคการเงินอย่างจริงจัง

Highlight:

1. นายกฯ เชิญชวนนักลงทุนญี่ปุ่นเข้าร่วม 3โครงการใหญ่รัฐบาล
  • นายกรัฐมนตรี กล่าวในงาน "Tokyo Roadshow 2013" ว่า ความตั้งใจของรัฐบาลไทยในการจัดงานครั้งนี้ เพื่อทำความเข้าใจเกี่ยวกับแผนการลงทุนขนาดใหญ่ของไทยที่ประเทศไทยต้องการเห็นความร่วมมือในการลงทุนของประเทศญี่ปุ่น และมั่นใจว่าแผนงานโครงการทั้งการบริหารจัดการน้ำ 3.5 แสนล้าน โครงสร้างพื้นฐาน 2 ล้านล้าน และท่าเรือน้ำลึกทวาย จะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาของทั้งสองประเทศ รวมถึงการเสริมสร้างความแข็งแกร่งของภูมิภาค ปกป้องการลงทุนของญี่ปุ่นในประเทศไทย และทำให้การลงทุนที่มีอยู่แล้วมีศักยภาพสูงขึ้น มีผลตอบแทนที่ชัดเจนและเพิ่มพูน
  • สศค. วิเคราะห์ว่า ญี่ปุ่นเป็นประเทศคู่ค้าลำดับที่ 2 ของประเทศไทย โดยมีมูลค่าการส่งออกคิดเป็นร้อยละ 10.2 ของการส่งออกรวม และเป็นประเทศที่มาท่องเที่ยวประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 3 โดยในปี 55 มีนักท่องเที่ยวญี่ปุ่นมาเที่ยวประเทศไทยคิดป็นร้อยละ 6.5 ของจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้ามาไทย นอกจากนี้ ประเทศญี่ปุ่นเป็นประเทศที่นำเงินมาลงทุนโดยตรง (FDI) ในประเทศไทยมากที่สุด โดยในปี 55 มีมูลค่า FDI ประมาณ 373,985 ล้านบาท ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 57.7 ของมูลค่า FDI รวม และญี่ปุ่นเป็นแหล่งเงินทุนที่สำคัญของประเทศไทย ดังนั้น การที่นายกฯ เชิญชวนนักลงทุนญึ่ปุ่นมาลงทุนในโครงการขนาดใหญ่ (Mega Project) ในระยะสั้นจะช่วยเพิ่มทางเลือกให้กับประเทศไทยให้สามารถคัดเลือกเทคโนโลยีที่ดีภายใต้ต้นทุนที่จำกัด และระยะยาวจะช่วยกระชับความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจของไทยและญี่ปุ่นให้มากขึ้น
2. กระทรวงพาณิชย์ลดเป้าส่งออกลงเหลือร้อยละ 7-7.5
  • รมว.พาณิชย์ เปิดเผยว่า จากการได้รับฟังรายงานสถานการณ์การค้าร่วมกับผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศหรือทูตพาณิชย์จาก 62 แห่งทั่วโลก พบว่า ผลกระทบจากค่าเงินบาทที่ผันผวนและแข็งค่ากว่าหลายประเทศในภูมิภาคทำให้ยอดคำสั่งซื้อลดลง และมีแนวโน้มส่งผลกระทบต่อการส่งออกในช่วงครึ่งปีหลังโดยเฉพาะกลุ่มอัญมณีและเครื่องประดับ สินค้าเกษตรแปรรูป แช่เยือกแข็ง และอุตสาหกรรมหนักบางชนิด ดังนั้น กระทรวงพาณิชย์จึงได้ปรับเป้าการส่งออกจากร้อยละ 8-9 ลงเหลือร้อยละ 7-7.5 โดยเป็นการประเมินภายใต้ค่าเงินบาทที่ 29 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ
  • สศค. วิเคราะห์ว่า สถานการณ์ค่าเงินบาทในปี 56 ที่ปรับตัวแข็งค่าขึ้นนับจากต้นปี 56 ร้อยละ 2.3 (ค่าเงินบาทล่าสุดณ วันที่ 23 เม.ย. 56 อยู่ที่ 29.90 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ) เริ่มส่งผลต่อการเติบโตของภาคการส่งออกของไทย โดยล่าสุด มูลค่าการส่งออกสินค้าในไตรมาสแรกของปี 56 อยู่ที่ 57.0 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 4.3 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ชะลอลงจากไตรมาสก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 18.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ขณะที่ราคาสินค้าส่งออกในไตรมาสแรกของปี 56 ขยายตัวร้อยละ 0.4 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ชะลอลงจากไตรมาสก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 1.0 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน นอกจากนี้ ภาคการส่งออกของไทยยังได้รับผลกระทบจากค่าเงินที่ปรับตัวอ่อนค่าลงของประเทศคู่ค้าของไทย โดยเฉพาะญี่ปุ่นซึ่งถือเป็นประเทศคู่ค้าที่สำคัญอันดับสองของไทย โดยมีสัดส่วนการส่งออกสินค้าร้อยละ 10.2 ของการส่งออกรวมในปี 55 โดยล่าสุด มูลค่าการส่งออกสินค้าของไทยไปยังญี่ปุ่นในเดือน มี.ค. 56 หดตัวเป็นเดือนที่ 2 ติดต่อกันที่ร้อยละ -0.9 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่หดตัวร้อยละ -1.1 อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ค่าเงินบาทที่มีความผันผวนจะส่งผลกระทบในระดับมากหรือน้อยต่อภาคการส่งออกของไทยนั้นเป็นประเด็นที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิดต่อไป ทั้งนี้ สศค. คาดว่ามูลค่าการส่งออกในปี 56 จะขยายตัวที่ร้อยละ 9.0 (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 8.0 - 10.0)(คาดการณ์ ณ เดือน มี.ค. 56) และจะมีการปรับประมาณการเศรษฐกิจครั้งต่อไปในเดือน มิ.ย. 56
3. ว่าที่ผู้ว่า ธ.กลางผู้ดีเตือนยุโรปปฏิรูปจัดระเบียบภาคการเงินอย่างจริงจัง
  • นายมาร์ค คาร์นีย์ ว่าที่ผู้ว่าการธนาคารกลางอังกฤษ กล่าวว่า ยุโรปยังอยู่ในภาวะเศรษฐกิจถดถอย เพราะกิจกรรมทางเศรษฐกิจถูกจำกัดจากมาตรการรัดเข็มขัดทางการคลัง ความเชื่อมั่นที่ต่ำ และสภาพสินเชื่อที่ตึงตัว ระบบการเงินของยุโรปเผชิญการท้าทาย ซึ่งหากไม่มีการปฏิรูปอย่างต่อเนื่องและมีนัยสำคัญ ยุโรปก็เสี่ยงที่จะเผชิญกับทศวรรษแห่งความชะงักงัน
  • สศค. วิเคราะห์ว่า เศรษฐกิจของกลุ่มประเทศยุโรปยังคงประสบกับกับภาวะเศรษฐกิจที่ซบเซาจากวิกฤติหนี้สาธารณะของกลุ่มยุโรปสะท้อนได้จาก GDP ไตรมาส 1 ปี 56 (ตัวเลขเบื้องต้น) หดตัวต่อเนื่องที่ร้อยละ -1.0 ต่อปี ซึ่งหดตัวต่อเนื่องติดต่อกันเป็นไตรมาสที่ 6 ที่ร้อยละ -0.2 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า (ขจัดปัจจัยทางฤดูกาลแล้ว) สะท้อนภาวะเศรษฐกิจที่ถดถอยต่อเนื่อง ส่งผลให้คาดว่า เศรษฐกิจยูโรโซนในปี 56 ยังคงซบเซาต่อเนื่อง ขณะที่ยอดค้าปลีก เดือน มี.ค.56 หดตัวร้อยละ 0.1 ต่อเดือน นับว่าหดตัวติดต่อกันเป็นเดือนที่ 2 จากสินค้าหมวดเสื้อผ้าและคอมพิวเตอร์ที่ลดลงเป็นสำคัญ แต่อย่างไรก็ดี แนวโน้มเศรษฐกิจของกลุ่มยุโรปเริ่มมีสัญญาณฟื้นตัวดีขึ้นสะท้อนจากผลผลิตภาคอุตสาหกรรม เดือน มี.ค. 56 ขยายตัวร้อยละ 1.0 จากเดือนก่อนหน้า (ขจัดผลทางฤดูกาลแล้ว) จากการผลิตในสินค้าหมวดพลังงานที่เพิ่มสูงขึ้นเป็นสำคัญ มูลค่าการส่งออก เดือน มี.ค. 56 ขยายตัวร้อยละ 0.1 ต่อปี ผลจากการส่งออกไปยังสหรัฐและตลาดอื่น ๆ ในเอเชียที่กลับมาขยายตัวอีกครั้ง ขณะที่ อัตราเงินเฟ้อ เดือน เม.ย. 56 ยังคงอยู่ในระดับต่ำต่อเนื่องที่ร้อยละ 1.2 ต่อปี ทั้งนี้ สศค.คาดว่า เศรษฐกิจของกลุ่มประเทศยุโรป ในปี 56 จะหดตัวร้อยละ -0.2 ต่อปี (คาดการณ์ ณ เดือนมี.ค. 56)และจะมีการปรับประมาณการเศรษฐกิจครั้งต่อไปในเดือน มิ.ย. 56

ที่มา: Bureau of Macroeconomic Policy,Fiscal Policy Office, Ministry of Finance

Tel: 02-273-9020 Ext. 3257


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ