รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 27 พฤษภาคม 2556

ข่าวเศรษฐกิจ Monday May 27, 2013 13:24 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 27 พฤษภาคม 2556

Summary:

1. 'บาทแข็ง-เยนอ่อน'ฉุดส่งออกตลาดญี่ปุ่น

2. ส.อ.ท.แนะผู้ส่งออกขยายตลาดอาเซียนเพิ่ม รับมือลูกค้าตะวันตกสั่งออร์เดอร์สินค้าสั้นลง

3. คุโรดะสร้างความสับสนต่อนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ ตลาดพันธบัตรผันผวน

Highlight:

1. 'บาทแข็ง-เยนอ่อน'ฉุดส่งออกตลาดญี่ปุ่น
  • ที่ปรึกษาสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) เปิดเผยว่า ประเทศญี่ปุ่นเป็น 1 ใน 3 ของตลาดส่งออกหลักสำหรับประเทศไทย แต่สถานการณ์เงินเยนอ่อนค่าและเงินบาทแข็งค่าในช่วงต้นปี ได้ส่งผลผลต่อการรับคำสั่งซื้อที่ลดลงจากผู้นำเข้าญี่ปุ่น และอาจทำให้การส่งออกไปญี่ปุ่นไตรมาส 2 ปีนี้ติดลบ โดยหากอัตราแลกเปลี่ยนยังเป็นเช่นนี้ จะทำให้การส่งออกไปญี่ปุ่นขยายตัวเพียง 0% ทางด้านนายกสมาคมอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่มไทย กล่าวว่า การส่งออกเครื่องนุ่งห่มไปญี่ปุ่นจะชะลอตัวชัดเจนช่วงปลายไตรมาส 2 ถึงต้นไตรมาส 3 ปีนี้ เนื่องจากญี่ปุ่นจะเลือกสั่งซื้อสินค้าจากฐานการผลิตในประเทศที่อัตราแลกเปลี่ยนไม่ผันผวน เช่น เวียดนาม อินโดนีเซีย
  • สศค. วิเคราะห์ว่า ประเทศญี่ปุ่นนับเป็นตลาดส่งออกที่สำคัญของประเทศไทยมาเป็นระยะเวลานาน โดยเมื่อปี 55 พบว่ามูลค่าการส่งออกไปญี่ปุ่นมีสัดส่วนร้อยละ 10.23 ของการส่งออกทั้งหมด คิดเป็นอันดับที่ 2 รองจากจีน โดยสินค้าที่มีสัดส่วนการส่งออกไปยังญี่ปุ่นสูง คือ สินค้าประเภทรถยนต์และส่วนประกอบ ไก่แปรรูป คอมพิวเตอร์ ยางพารา และอาหารกระป๋อง อย่างไรก็ดี เมื่อช่วงต้นปี 56 ญี่ปุ่นได้มีมาตรการผ่อนคลายทางการเงิน เป็นผลให้เงินเยนอ่อนค่า ประกอบกับเงินบาทของไทยมีการแข็งค่ากว่าภูมิภาค ทำให้เกิดความกังวลต่อสินค้าส่งออกของไทยไปญี่ปุ่น เนื่องจากสินค้าไทยมีราคาสูงขึ้นโดยเปรียบเทียบกับประเทศคู่แข่ง โดยหากพิจารณาข้อมูลในช่วง 4 เดือนแรกของปี 56 พบว่า มูลค่าการส่งออกไปยังประเทศญี่ปุ่นมีการขยายตัวเพียงร้อยละ 1.92 โดยมีสินค้าไก่แปรรูป ยานยนต์ อาหารกระป๋อง และเครื่องจักรกล เป็นสินค้าหลัก ส่วนสินค้าที่มีการหดตัวคือ คอมพิวเตอร์ ยางพารา และเม็ดพลาสติก ทั้งนี้ หากเงินบาทยังคงแข็งค่ากว่าภูมิภาค อาจส่งผลต่อการขยายตัวของการส่งออกโดยรวมในปี 56 ได้
2. ส.อ.ท.แนะผู้ส่งออกขยายตลาดอาเซียนเพิ่ม รับมือลูกค้าตะวันตกสั่งออร์เดอร์สินค้าสั้นลง
  • รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่าขณะนี้ผู้นำเข้าในต่างประเทศโดยเฉพาะในยุโรป มีการบริหารสต๊อกสินค้าที่เปลี่ยนไปตามความต้องการสินค้าที่ลดลงโดยมีการสั่งสินค้าระยะเวลาที่สั้นลง เช่น จากเดิม 120 วันเหลือ 90 วัน และในกรณีสินค้าบริโภค เช่น กลุ่มอาหาร จะเหลือเพียง 60 วันหรือสั้นกว่า เพื่อลดความเสี่ยงมีสินค้าเหลือและที่สำคัญคือธนาคารยุโรปปล่อยสินเชื่อสั้นลง ดังนั้น ผู้ส่งออกไทยจะต้องบริหารการรับซื้อวัตถุดิบในประเทศเพื่อมาผลิตและส่งออกให้สอดคล้องกับพฤติกรรมการสั่งสินค้าที่เปลี่ยนไปของคู่ค้านอกจากนี้ควรมีการขยายฐานลูกค้าในอาเซียนที่ยังมีกำลังซื้ออยู่
  • สศค. วิเคราะห์ว่า ปัจจัยเสี่ยงสำคัญต่อการส่งออกไทยในปี 56 นอกจากจะมาจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้า โดยเฉพาะประเทศทางแถบยุโรปและอเมริกา และทำให้ผู้นำเข้าต่างประเทศมีการบริหารสต็อคที่เปลี่ยนไปแล้ว ผู้ส่งออกอาจต้องเผชิญการแข็งค่าของอัตราแลกเปลี่ยนที่มีแนวโน้มแข็งค่าขึ้น ดั้งนั้นผู้ประกอบการควรมีการปรับตัวรองรับสถานการณ์ ทั้งนี้ในช่วง 4 เดือนแรกปี 56 การส่งออกขยายตัวร้อยละ 5.7 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน และ สศค. คาดว่ามูลค่าการส่งออกในปี 56 จะขยายตัวที่ร้อยละ 9.0 (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 8.0 -10.0 คาดการณ์ ณ เดือน มี.ค. 56 และจะมีการปรับประมาณการเศรษฐกิจครั้งต่อไปในเดือน มิ.ย. 56)
3. คุโรดะสร้างความสับสนต่อนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ ตลาดพันธบัตรผันผวน
  • ถ้อยแถลงของนายคุโรดะ ผู้ว่าการธนาคารกลางของญี่ปุ่น ในวันที่ 22 พ.ค. สร้างความสับสนต่อตลาดพันธบัตรเกี่ยวกับนโยบายการกระตุ้นเศรษฐกิจของตนเอง โดยนายคุโรดะได้กล่าวว่าอัตราผลตอบแทนพันธบัตรอาจสูงขึ้นได้ตามเศรษฐกิจที่ปรับตัวดีขึ้น ซึ่งข้อความดังกล่าวขัดแย้งกับเป้าหมายของนโยบายของญี่ปุ่นที่ต้องการรักษาระดับ อัตราผลตอบแทนพันธบัตรให้อยู่ในระดับต่ำด้วยการเข้าซื้อพันธบัตรด้วยจำนวนเงินมหาศาล ความขัดแย้งดังกล่าวส่งผลให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลญี่ปุ่นอายุ 10 ปีเพิ่มสูงขึ้นในวันที่ 22 พ.ค. จาก 0.88 มาอยู่ที่ 0.89 โดยระหว่างวันได้มีความผันผวนสูงและอัตราผลตอบแทนได้ขึ้นไปสูงสุดที่ระดับร้อยละ 1 ซึ่งเป็นระดับที่สูงที่สุดในรอบปี ธนาคารกลางญี่ปุ่นจึงต้องเข้าซื้อพันธบัตรอีกเป็นจำนวน 2 ล้านล้านเยน ในวันที่ 24 พ.ค. เพื่อลดระดับอัตราผลตอบแทน ลดความผันผวนและเรียกความเชื่อมั่นจากตลาดกลับคืน ทำให้อัตราผลตอบแทนลดลงมาอยู่ที่ร้อยละ 0.83
  • สศค. วิเคราะห์ว่า ความไม่เชื่อมั่นต่อนโยบายจะส่งผลทางลบค่อนข้างมากต่อประสิทธิผลของแคมเปญกระตุ้นเศรษฐกิจของญี่ปุ่น โดยอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลญี่ปุ่นอายุ 10 ปี ปรับเพิ่มขึ้น 25 basis points ในช่วงเดือนที่ผ่านมา มาอยู่ในระดับใกล้เคียงกับผลตอบแทนปี 2555 ที่ร้อยละ 0.86 ทำให้ต้นทุนทางการเงินเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมาถือว่าไม่มีการเปลี่ยนแปลง นอกจากนี้ ตัวแปรที่สำคัญคือการคาดการณ์เงินเฟ้อก็มีความเป็นไปได้ที่จะถูกกระทบไปด้วยเช่นกันซึ่งจะนำไปสู่การบริโภคและการลงทุนในปัจจุบันที่ไม่สอดคล้องกับเป้าหมายเงินเฟ้อที่ร้อยละ 2 ด้วยเหตุนี้รัฐบาลและธนาคารกลางญี่ปุ่นจึงต้องให้ความสำคัญกับการสื่อสารด้านนโยบายมากยิ่งขึ้น เพื่อลดความผันผวนของตลาด

ที่มา: Bureau of Macroeconomic Policy,Fiscal Policy Office, Ministry of Finance

Tel: 02-273-9020 Ext. 3257


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ