รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 30 พฤษภาคม 2556

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday May 30, 2013 11:18 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 30 พฤษภาคม 2556

Summary:

1. กนง.มีมติเอกฉันท์ลดดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% มาอยู่ที่ 2.50%

2. พาณิชย์สั่งระบายสต็อกไข่ไก่ช่วยผู้บริโภค

3. เกาหลีใต้เกินดุลบัญชี ณ เดือนเมษายน 56 ลดลงจากเดือนก่อนหน้า

Highlight:

1. กนง.มีมติเอกฉันท์ลดดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% มาอยู่ที่ 2.50%
  • ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติเอกฉันท์ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% หรือปรับจาก 2.75% มาอยู่ที่ 2.50% เนื่องจากเห็นว่าเศรษฐกิจมีความเสี่ยงต่อการขยายตัวมากขึ้น ประกอบกับเศรษฐกิจไทยในไตรมาสแรกปี 2556 โตต่ำกว่าคาดการณ์ อาจกระทบต่อแรงส่งในช่วงต่อไป
  • สศค. วิเคราะห์ว่า การปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25 เนื่องจากเศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 1 ปี 56 ที่ขยายตัวร้อยละ 5.3 ต่อปี และหดตัวร้อยละ -2.2 ต่อไตรมาส (qoq_sa) ซึ่งต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ ทั้งนี้ การปรับลดอัตราดอกเบี้ยดังกล่าวอาจจะส่งผลดีต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศ ในด้านการบริโภคและการลงทุนภายในประเทศ นอกจากนี้ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือนเม.ย. 56 อยู่ที่ร้อยละ 2.4 และอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ร้อยละ 1.2 ซึ่งยังอยู่ในกรอบนโยบายการเงินของธปท. ที่อยู่ที่ร้อยละ 0.5 - 3.0
2. พาณิชย์สั่งระบายสต็อกไข่ไก่ช่วยผู้บริโภค
  • รมต. พาณิชย์ เปิดเผยว่า ได้มอบหมายให้กรมการค้าภายในตรวจสอบสต็อกไข่ในห้องเย็นของผู้ประกอบการรายใหญ่ 4-5 ราย พบว่ามีสต็อกไข่ไก่เบอร์ 4 และเบอร์ 5 อยู่ประมาณ 100 ล้านฟอง ซึ่งเป็นไข่ขนาดเล็กที่ผู้บริโภคไม่นิยมซื้อไปบริโภค ดังนั้น จึงได้ประสานให้ผู้ประกอบการนำไข่ในสต็อกออกมากระจายสู่ตลาดทั่วประเทศเป็นการเร่งด่วน เพื่อลดผลกระทบให้กับผู้บริโภคที่ต้องการไข่ไก่ในช่วงไข่ไก่ราคาสูงขึ้น โดยคาดว่าจะจำหน่ายทั่วประเทศได้ภายในสัปดาห์นี้และมีราคาจำหน่ายอยู่ที่ฟองละ 3 บาทต้นๆ
  • สศค. วิเคราะห์ว่า สถานการณ์ไข่ไก่ที่ขาดตลาดในขณะนี้เกิดจากผลผลิตไข่ไก่ออกสู่ตลาดน้อยลง เนื่องจากอยู่ในช่วงฤดูร้อนซึ่งส่งผลให้ผลผลิตไข่ไก่ลดลง ประกอบกับเกษตรกรผู้เลี้ยงไก่ต้องประสบปัญหาต้นทุนที่ปรับตัวสูงขึ้นทั้งค่าแรงและอาหารสัตว์ จึงได้ส่งผลทำให้ราคาไข่ไก่ปรับตัวสูงขึ้น ซึ่งสอดคล้องกับอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือน เม.ย. 56 ที่ขยายตัวร้อยละ 2.4 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยเมื่อพิจารณาหมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ที่มีสัดส่วนน้ำหนักร้อยละ 33.5 ในตระกร้าเงินเฟ้อ พบว่า ขยายตัวร้อยละ 4.2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยไข่และผลิตภัณฑ์นมซึ่งอยู่ในหมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ (สัดส่วนน้ำหนักร้อยละ 1.8 ในหมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์) ขยายตัวร้อยละ 3.1 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ทำให้ในช่วง 4 เดือนแรกของปี 56 ขยายตัวร้อยละ 2.7 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน อย่างไรก็ตาม สมาคมผู้เลี้ยงไก่ไข่ได้ประเมินว่าสถานการณ์ไข่ไก่ที่ขาดตลาดในขณะนี้เป็นผลมาจากปัจจัยทางฤดูกาล และได้คาดการณ์ว่าสถานการณ์จะกลับเข้าสู่ภาวะปกติในเดือน มิ.ย. 56 ทั้งนี้ สศค. คาดว่า อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 56 จะขยายตัวร้อยละ 3.0 โดยมีช่วงคาดการณ์ร้อยละ 2.5-3.5 (คาดการณ์ ณ เดือน มี.ค. 56)
3. เกาหลีใต้เกินดุลบัญชี ณ เดือนเมษายน 56 ลดลงจากเดือนก่อนหน้า
  • ธนาคารกลางเกาหลีใต้รายงานว่า ในเดือนเมษายน 56 เกาหลีใต้เกินดุลรวม 3.97 พันล้านดอลลาร์ ลดลงจาก 4.93 พันล้านดอลลาร์ในเดือนมีนาคม โดยธนาคารกลางระบุว่าดุลบัญชีที่ลดลงในเดือนเมษายน เป็นผลจากการส่งออกเรือและผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีลดลง รวมถึงมูลค่าส่งออกไปญี่ปุ่น ส่วนดุลบัญชีบริการ ซึ่งครอบคลุมการค้าที่มิใช่สินค้า รวมถึงการท่องเที่ยว มียอดเกินดุล 1.45 พันล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นจาก 910 ล้านดอลลาร์ในเดือนมีนาคม
  • สศค. วิเคราะห์ว่า แม้ยอดเกินดุลบัญชีเดินสะพัดจะน้อยลงจากเดือนก่อนหน้า แต่ประเทศเกาหลีมียอดเกินดุลบัญชีเดินสะพัดนับเป็นเดือนที่ 15 ติดต่อกัน และส่งผลให้สี่เดือนแรกของปีนี้มียอดเกินดุลสะสม 13.94 พันล้านดอลลาร์ ทั้งนี้ ในอนาคตของเกาหลีใต้ซึ่งมีเศรษฐกิจใหญ่อันดับสี่ของเอเชียจะเผชิญปัญหาจากเศรษฐกิจจีนชะลอตัว และเงินเยนอ่อนค่าซึ่งจะมีกระทบโดยตรงต่อความสามารถในการแข่งขันด้านการส่งออกของเกาหลีใต้ ซึ่งจะทำให้ยอดดุลบัญชีเดินสะพัดลดลงได้อีก นอกจากนี้ ธนาคารกลางเกาหลีใต้ มีมติปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงร้อยละ 0.25 มาอยู่ที่ร้อยละ 2.50 ต่อปี จากเดิมอยู่ที่ร้อยละ 2.75 ต่อปี ในช่วงต้นเดือนที่ผ่านมา เพื่อเอื้อต่อเศรษฐกิจเกาหลีใต้ให้ฟื้นตัวอีกครั้ง ภายหลังจากที่ภาคการส่งออกหดตัวจากเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว ทั้งนี้ สศค. คาดว่าเศรษฐกิจเกาหลีใต้จะขยายตัวอยู่ที่ร้อยละ 3.8 ในปี 56 (คาดการณ์ ณ เดือน มี.ค. 56)

ที่มา: Bureau of Macroeconomic Policy,Fiscal Policy Office, Ministry of Finance

Tel: 02-273-9020 Ext. 3257


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ