เอกสารแนบ: รายงานภาวะเศรษฐกิจการคลังประจำเดือนเมษายน 2556

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday May 30, 2013 11:58 —กระทรวงการคลัง

เอกสารแนบ

“เครื่องชี้เศรษฐกิจไทยในเดือนเมษายน 2556 บ่งชี้เศรษฐกิจไทยในด้านการผลิตมีสัญญาณแผ่วลงโดยเฉพาะจากภาคอุตสาหกรรมและภาคการเกษตร แต่ภาคการท่องเที่ยวยังคงขยายตัวได้ดี อย่างไรก็ตาม เครื่องชี้ด้านการใช้จ่ายทั้งภายในประเทศและการส่งออกปรับตัวดีขึ้นจากเดือนก่อนหน้า”

1. เครื่องชี้ภาวะเศรษฐกิจด้านการผลิตในเดือนเมษายน 2556 พบว่า มีสัญญาณแผ่วลงจากเดือนก่อนหน้า สะท้อนจากดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรมในเดือนเมษายน 2556 หดตัวร้อยละ -3.8 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 1.2 และเมื่อขจัดผลทางฤดูกาล (m-o-m SA) พบว่าหดตัวร้อยละ -3.3 ต่อเดือน ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาหมวดอุตสาหกรรมที่ปรับตัวลดลงในเดือนเมษายน 2556 ได้แก่ อุตสาหกรรมฮาร์ดดิสก์ไดร์ฟ อาหารทะเลกระป๋องและแช่แข็ง ปิโตรเลียม เสื้อผ้าสำเร็จรูป และชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ เป็นสำคัญ เนื่องจากส่วนหนึ่งได้มีการเร่งกำลังการผลิตไปแล้วในช่วงปลายปี 2555 และช่วงต้นปี 2556 สอดคล้องกับอัตราการใช้กำลังการผลิต (Cap U) ในเดือนเมษายน 2556 อยู่ที่ระดับ 60.3 ลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ระดับ 71.0 สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมในเดือนเมษายน 2556 อยู่ที่ระดับ 92.9 ปรับตัวลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ระดับ 93.5 และเป็นการลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 ติดต่อกัน เนื่องจากผู้ประกอบการมีความกังวลต่ออัตราแลกเปลี่ยนที่แข็งค่าขึ้น ซึ่งส่งผลกระทบโดยตรงต่อภาคการส่งออก นอกจากนี้ ยังส่งผลกระทบต่อเนื่องถึงห่วงโซ่การผลิต (Supply Chain) ที่เป็นอุตสาหกรรมต้นน้ำภายในประเทศ เนื่องจากผู้ประกอบการมีแนวโน้มที่จะนำเข้าวัตถุดิบจากต่างประเทศที่มีราคาถูกกว่าแทนการใช้วัตถุดิบภายในประเทศ ประกอบกับภาวะเศรษฐกิจโลกที่ยังคงมีความผันผวน ในขณะที่การผลิตภาคการเกษตรหดตัวลดลงต่อเนื่อง โดยดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรในเดือนเมษายน 2556 หดตัวร้อยละ -4.4 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่หดตัวร้อยละ -0.7 ตามการลดลงของผลผลิตในหมวดพืชผลสำคัญ โดยเฉพาะข้าว และมันสำปะหลัง จากการจำกัดการผลิตเนื่องจากความกังวลจากสถานการณ์ภัยแล้งในปีเพาะปลูก 2556 อย่างไรก็ดี ผลผลิตยางพารา และปาล์มน้ำมันยังคงขยายตัวได้ดีจากพื้นที่เพาะปลูกและเก็บเกี่ยวที่เพิ่มขึ้น ประกอบกับสภาพภูมิอากาศเอื้ออำนวยต่อการผลิตและเก็บเกี่ยว ขณะที่ผลผลิตหมวดปศุสัตว์ยังคงขยายตัวต่อเนื่องที่ร้อยละ 2.6 ตามการขยายตัวของไก่เนื้อเป็นสำคัญ สำหรับเครื่องชี้ภาคบริการที่สะท้อนจากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศพบว่ายังคงขยายตัวดีต่อเนื่อง โดยนักท่องเที่ยวต่างประเทศที่เดินทางเข้าประเทศไทยในเดือนเมษายน 2556 มีจำนวนทั้งสิ้น 2.0 ล้านคน ขยายตัวร้อยละ 19.4 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 19.2 และเมื่อขจัดผลทางฤดูกาล (m-o-m SA) พบว่าขยายตัวร้อยละ 2.9 ต่อเดือน โดยจำนวนนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้าไทย 3 อันดับแรก ได้แก่ นักท่องเที่ยวจีน รัสเซีย และมาเลเซีย ที่ขยายตัวร้อยละ 91.1 48.0 และ 20.7 ตามลำดับ

    เครื่องชี้เศรษฐกิจด้านอุปทาน           2555                  2556
                                             Q1    ก.พ.   มี.ค.  เม.ย.    YTD
ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (%yoy)             2.5    3.2   -1.2    1.2   -3.8     1.5
   %qoq_SA / %mom_SA                   -   -3.2   -1.0   -1.6   -3.3       -
ดัชนีผลผลิตเกษตรกรรม (%yoy)             5.1    1.8    0.2   -0.7   -4.4     0.3
   %qoq_SA / %mom_SA                   -   -2.1   -1.1    0.5   0.04       -
นักท่องเที่ยวต่างชาติ (%yoy)              16.2   18.9   25.6   19.2   19.4    19.0
   %qoq_SA / %mom_SA                   -    1.7    6.0    0.7    2.9       -

2. การบริโภคภาคเอกชนในเดือนเมษายน 2556 พบว่า สามารถขยายตัวได้จากช่วงก่อนหน้า สะท้อนได้จากยอดจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ในเดือนเมษายน 2556 ขยายตัวร้อยละ 3.7 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 0.9 และเมื่อขจัดผลทางฤดูกาล (m-o-m SA) พบว่าขยายตัวร้อยละ 1.5 ต่อเดือน ขณะที่ปริมาณการนำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภคในเดือนเมษายน 2556 ขยายตัวร้อยละ 12.9 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 1.2 และเมื่อขจัดผลทางฤดูกาล (m-o-m SA) พบว่าขยายตัวร้อยละ 7.9 ต่อเดือน สำหรับการบริโภคสินค้าคงทนสะท้อนได้จากปริมาณจำหน่ายรถยนต์นั่งในเดือนเมษายน 2556 ขยายตัวร้อยละ 22.9 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการทยอยส่งมอบรถยนต์ในโครงการรถยนต์คันแรก ประกอบกับความนิยมอย่างต่อเนื่องในรถยนต์รุ่นใหม่โดยเฉพาะอย่างยิ่งในตลาดรถยนต์นั่ง อย่างไรก็ตาม เป็นการขยายตัวชะลอลงจากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 93.4 และเมื่อขจัดผลทางฤดูกาล (m-o-m SA) พบว่าหดตัวร้อยละ -25.8 ต่อเดือน ขณะที่ปริมาณการจำหน่ายรถจักรยานยนต์ในเดือนเมษายน 2556 ขยายตัวร้อยละ 7.2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เร่งขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวเล็กน้อยที่ร้อยละ 0.04 และเมื่อขจัดผลทางฤดูกาล (m-o-m SA) พบว่าขยายตัวร้อยละ 7.6 ต่อเดือน ตามการเพิ่มขึ้นของยอดขายรถจักรยานยนต์ใน กทม. และในภูมิภาค ที่ขยายตัวร้อยละ 10.8 และร้อยละ 6.4 จากเดือนก่อนที่หดตัวร้อยละ -3.2 และร้อยละ -0.2 ตามลำดับ โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากรายได้ภาคครัวเรือนที่อยู่ในเกณฑ์ดี โดยเฉพาะในภาคกลาง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคเหนือ ที่ได้รับปัจจัยบวกจากนโยบายรับจำนำข้าวของรัฐบาล อย่างไรก็ตาม รายได้ภาคครัวเรือนในภาคใต้ยังคงหดตัวอย่างต่อเนื่องตามราคาสินค้าเกษตรสำคัญ อาทิ ยางพารา และปาล์มน้ำมันที่มีราคาลดลง ทำให้ยอดขายรถจักรยานยนต์ในภาคใต้ลดลง ทั้งนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจโดยรวมในเดือนเมษายน 2556 อยู่ที่ระดับ 73.9 ลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ระดับ 75.0 ซึ่งเป็นการลดลงครั้งแรกในรอบ 7 เดือน ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากความกังวลค่าเงินบาทที่แข็งค่าอย่างรวดเร็ว จนส่งผลกระทบต่อรายได้จากการส่งออกและการท่องเที่ยว รวมทั้งการขยายตัวทางเศรษฐกิจโดยรวม และราคาพืชผลเกษตรที่ทรงตัวในระดับต่ำ ทำให้รายได้ในภาคชนบทลดลง รวมถึงการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่ยังมีความเปราะบาง

    เครื่องชี้การบริโภคภาคเอกชน                  2555                   2556
                                                       Q1    ก.พ.   มี.ค.  เม.ย.   YTD
ภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ (%yoy)                 14.1      6.9    3.2    0.9    3.7    6.0
   %qoq_SA / %mom_SA                           -     -0.1   -0.7   -5.4    1.5      -
ปริมาณนำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภค (%yoy)             -0.4      5.1   -6.5    1.2   12.9    6.8
   %qoq_SA / %mom_SA                           -     -4.0  -16.3   -5.4    7.9      -
ปริมาณจำหน่ายรถยนต์นั่ง (%yoy)                   86.6    101.3   92.1   93.4   22.9   76.9
   %qoq_SA / %mom_SA                           -      1.1   -0.5    3.1  -25.8
ปริมาณการจำหน่ายรถจักรยานยนต์ (%yoy)             5.8      5.4   -0.9   0.04    7.2    5.8
   %qoq_SA / %mom_SA                           -     -0.4   -1.5   -5.3    7.6      -
ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค                          67.6     73.8   74.3   75.0   73.9   73.8

3. การลงทุนภาคเอกชนในเดือนเมษายน 2556 พบว่า ขยายตัวได้จากช่วงก่อนหน้าทั้งจากการลงทุนภาคเอกชนในหมวดเครื่องมือเครื่องจักรและหมวดการก่อสร้าง สะท้อนจากปริมาณการนำเข้าสินค้าทุนในเดือนเมษายน 2556 ขยายตัวร้อยละ 2.3 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่หดตัวร้อยละ -5.7 และเมื่อขจัดผลทางฤดูกาล (m-o-m SA) พบว่าขยายตัวร้อยละ 6.3 ต่อเดือน ขณะที่ปริมาณจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์ในเดือนเมษายน 2556 ขยายตัวร้อยละ 26.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 12.2 และเมื่อขจัดผลทางฤดูกาล (m-o-m SA) พบว่าขยายตัวร้อยละ 8.5 ต่อเดือน ตามการขยายตัวที่เร่งขึ้นของรถกระบะขนาด 1 ตัน ที่ขยายตัวร้อยละ 25.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 7.4 โดยมีผลมาจากการเร่งส่งมอบรถยนต์ค้างจองในโครงการรถยนต์คันแรก ประกอบกับกิจกรรมส่งเสริมการขายของบริษัทรถยนต์ที่เริ่มตั้งแต่ต้นปี 2556 สำหรับเครื่องชี้การลงทุนภาคเอกชนในหมวดการก่อสร้างขยายตัวจากเดือนก่อนหน้า สะท้อนจากยอดจำหน่ายปูนซีเมนต์ในเดือนเมษายน 2556 ขยายตัวร้อยละ 17.7 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และหลังปรับผลทางฤดูกาลแล้ว (m-o-m SA) ขยายตัวร้อยละ 1.2 จากเดือนก่อนหน้า สะท้อนถึงทิศทางการเติบโตของตลาดอสังหาริมทรัพย์ที่ดีอย่างต่อเนื่อง สำหรับภาษีจากการทำธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์ในเดือนเมษายน 2556 ขยายตัวร้อยละ 35.1 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 24.0 และเมื่อขจัดผลทางฤดูกาล (m-o-m SA) พบว่า ขยายตัวร้อยละ 5.4 ต่อเดือน จากแนวโน้มเศรษฐกิจที่ยังคงขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง ประกอบกับการปล่อยสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยจากธนาคารพาณิชย์ในกรุงเทพฯ และปริมณฑล ทั้งที่อยู่อาศัยแนวราบ และที่อยู่อาศัยประเภทอาคารชุดปรับเพิ่มขึ้น

    เครื่องชี้การลงทุนภาคเอกชน                     2555                   2556
                                                       Q1    ก.พ.   มี.ค.  เม.ย.   YTD
เครื่องชี้การลงทุนในเครื่องจักร
ปริมาณนำเข้าสินค้าทุน (%yoy)                       22.1    6.8   -2.7   -5.7    2.3    5.7
   %qoq_SA / %mom_SA                             -   10.1  -14.3   -1.9    6.3      -
ปริมาณนำเข้าสินค้าทุนหักเครื่องบิน เรือและรถไฟ (%yoy)   23.2    2.6   -5.9   -5.8   -8.5   -0.2
   %qoq_SA / %mom_SA                             -   -5.6   -5.5   -6.3   -9.7      -
ปริมาณจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์ (%yoy)               76.2   19.4   14.0   12.2   26.5   21.0
   %qoq_SA / %mom_SA                             -   -2.4   -8.9   -5.8    8.5      -
เครื่องชี้การลงทุนก่อสร้าง
ภาษีจากการทำธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์ (%yoy)           21.4   32.5   25.8   24.0   35.1   34.7
   %qoq_SA / %mom_SA                             -   -5.4   -6.4   -1.1    5.4      -
ปริมาณจำหน่ายปูนซีเมนต์ (%yoy)                     10.6   15.9   14.3   16.2   17.7   16.3
   %qoq_SA / %mom_SA                             -   -0.6   -1.9    2.1    1.2      -

4. เครื่องชี้ภาวะเศรษฐกิจไทยด้านการคลังในเดือนเมษายน 2556 พบว่า การใช้จ่ายงบประมาณของรัฐบาลยังคงขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง โดยพบว่าผลการเบิกจ่ายงบประมาณรวมในเดือนเมษายน 2556 มีจำนวน 180.4 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 14.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จากเดือนก่อนหน้าที่หดตัวร้อยละ -39.1 โดยรายจ่ายงบประมาณปีปัจจุบันเบิกจ่ายได้จำนวน 170.3 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 13.3 แบ่งออกเป็น (1) รายจ่ายประจำ 156.7 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 15.9 และ (2) รายจ่ายลงทุน 13.6 พันล้านบาท ลดลงร้อยละ -9.6 สำหรับรายจ่ายเหลื่อมปีเบิกจ่ายได้ 10.1 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 38.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน สำหรับผลการจัดเก็บรายได้สุทธิของรัฐบาล (หลังหักจัดสรรให้ อปท.) ในเดือนเมษายน 2556 มีจำนวนทั้งสิ้น 127.6 พันล้านบาท ลดลงร้อยละ -9.1 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากได้มีการจัดสรรภาษีมูลค่าเพิ่มให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ในเดือนเมษายน 2556 ที่สูงกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน สำหรับดุลเงินงบประมาณในเดือนเมษายน 2556 ขาดดุลจำนวน -48.8 พันล้านบาท สะท้อนบทบาทภาคการคลังในการสนับสนุนเศรษฐกิจในประเทศ

    เครื่องชี้ภาคการคลัง                         FY2555                      FY2556                FY2556
                                                     Q1/FY56   Q2/FY56    ก.พ.    มี.ค.  เม.ย.    YTD
รายได้สุทธิของรัฐบาล (หลังหักการจัดสรรให้ อปท.)    1,975.6     508.1     469.7   156.2  150.0  127.6  1,105.4
   (%y-o-y)                                    4.4      27.5      13.8    13.0    7.2   -9.1     16.2
รายจ่ายรัฐบาลรวม                             2,295.3     785.9     585.7   152.1  225.5  180.4  1,551.9
   (%y-o-y)                                    5.4      60.5     -24.9   -41.3  -39.1   14.5      8.8
ดุลเงินงบประมาณ                               -314.7    -282.6    -117.2    -9.4  -71.4  -48.8   -448.7

5. การส่งออกในเดือนเมษายน 2556 สามารถขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 โดยพบว่า การส่งออกสินค้าในรูปดอลลาร์สหรัฐในเดือนเมษายน 2556 มีมูลค่า 18.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 10.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ต่อเนื่องจากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 4.5 และเมื่อขจัดผลทางฤดูกาล (m-o-m SA) พบว่าขยายตัวร้อยละ 5.4 ต่อเดือน ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาสินค้าส่งออกที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นในเดือนเมษายน 2556 ได้แก่ สินค้าหมวดอิเล็กทรอนิกส์ ยานยนต์/อุปกรณ์และส่วนประกอบ และเม็ดและผลิตภัณฑ์พลาสติก ที่ขยายตัวร้อยละ 45.2 19.1 และ 8.5 ตามลำดับ ประกอบกับการส่งออกได้ดีในตลาดฮ่องกง ออสเตรเลีย และสหรัฐอเมริกา ที่ขยายตัวร้อยละ 176.6 23.7 และ 8.3 ตามลำดับ สำหรับมูลค่าการนำเข้าสินค้าในรูปดอลลาร์สหรัฐในเดือนเมษายน 2556 พบว่ามูลค่าการนำเข้าสินค้าในรูปดอลลาร์สหรัฐอยู่ที่ 21.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 8.9 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เร่งขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่หดตัวร้อยละ -11.5 ทั้งนี้ มูลค่าการส่งออกสินค้าในรูปดอลลาร์สหรัฐที่ต่ำกว่ามูลค่าการนำเข้าสินค้าในรูปดอลลาร์สหรัฐทำให้ดุลการค้าในเดือนเมษายน 2556 ขาดดุลอยู่ที่ -2.9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

    ประเทศคู่ค้าหลักของไทย                              2556
      (สัดส่วนการส่งออก)        2555      Q1    ก.พ.   มี.ค.  เม.ย.    YTD
ส่งออกไปทั้งโลก (%yoy)           3.1     4.3   -5.8    4.5   10.5     5.7
   %qoq_SA / %mom_SA                 -0.5   -6.7    1.4    5.4       -
1.จีน (11.7%)                  2.5     7.3    3.7    1.1   -6.6     3.7
2.ญี่ปุ่น (10.2%)                -1.6     1.5   -1.1   -0.9    3.2     1.9
3.สหรัฐฯ (9.9%)                4.6     2.6   -0.9   -4.7    8.3     3.9
4.สหภาพยุโรป (8.5%)           -9.2     8.7   -0.8    5.5    0.8     6.8
5.ฮ่องกง (5.7%)                9.6    11.2  -27.8   24.8  176.6    45.3
6.มาเลเซีย (5.4%)              0.2    -0.8  -16.3    2.8   -3.5    -1.5
7. ตะวันออกกลาง (5.0%)         6.6     4.4   -7.3   12.4    7.2     5.0
8.ทวีปออสเตรเลีย (4.9%)        22.1    30.4   10.9   39.1   23.7    28.9
PS.อาเซียน-9 (24.7%)           5.0     5.9   -7.2    8.9    3.1     5.2

6. เสถียรภาพเศรษฐกิจทั้งภายในและภายนอกประเทศอยู่ในเกณฑ์ดีมาก โดยอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือนเมษายน 2556 อยู่ที่ร้อยละ 2.4 ชะลอลงจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ร้อยละ 2.7 จากราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศที่มีการปรับตัวลดลงตามราคาน้ำมันดิบโลก ในขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ร้อยละ 1.2 เทียบเท่ากับเดือนก่อนหน้า ส่วนอัตราการว่างงานในเดือนมีนาคม 2556 อยู่ที่ร้อยละ 0.7 ของกำลังแรงงานรวม ซึ่งคิดเป็นจำนวนผู้ว่างงานเท่ากับ 2.7 แสนคน สำหรับสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2556 อยู่ที่ร้อยละ 44.2 ต่ำกว่ากรอบความยั่งยืนทางการคลังที่ตั้งไว้ไม่เกินร้อยละ 60.0 สำหรับเสถียรภาพภายนอกประเทศยังอยู่ในระดับมั่นคง และสามารถรองรับความเสี่ยงจากความผันผวนของเศรษฐกิจโลกได้ สะท้อนได้จากทุนสำรองระหว่างประเทศ ณ สิ้นเดือนเมษายน 2556 อยู่ในระดับสูงที่ 178.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งสูงกว่าหนี้ต่างประเทศระยะสั้นประมาณ 2.9 เท่า

     เครื่องชี้เสถียรภาพเศรษฐกิจ            2555                   2556
                                               Q1     ก.พ.   มี.ค.  เม.ย.    YTD
ภายในประเทศ
   เงินเฟ้อทั่วไป (%yoy)                   3.0    3.1      3.2   2.7    2.4     2.9
   เงินเฟ้อพื้นฐาน (%yoy)                  2.1    1.5      1.6   1.2    1.2     1.4
   อัตราการว่างงาน (yoy%)                0.7    0.7      0.6   0.7    n.a     0.7
   หนี้สาธารณะ/GDP                      44.0   44.2     44.1  44.2    n.a    44.2
ภายนอกประเทศ
   ดุลบัญชีเดินสะพัด (พันล้าน $)              2.7    1.3      1.6   1.9    n.a.    1.3
   ทุนสำรองทางการ (พันล้าน $)           181.6  177.8    179.3 177.8  178.4   178.4
   ฐานะสุทธิ Forward  (พันล้าน $)         24.1   23.7     23.1  23.7   23.6    23.6

ที่มา: สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ