รายงานภาวะเศรษฐกิจรายสัปดาห์ระหว่างวันที่ 27 - 31 พฤษภาคม 2556

ข่าวเศรษฐกิจ Monday June 3, 2013 13:45 —กระทรวงการคลัง

Executive Summary
Indicators this week
  • ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) เดือนเม.ย.56 หดตัวร้อยละ -3.8 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
  • การส่งออกในเดือน เม.ย. 56 ขยายตัวที่ร้อยละ 2.9 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ขณะที่การนำเข้า ขยายตัวที่ร้อยละ 8.9
  • วันที่ 29 พ.ค. 56 คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ประกาศลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงร้อยละ 0.25

เหลือร้อยละ 2.50

  • ดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตร ในเดือนเม.ย. 56 หดตัวร้อยละ -4.4 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ขณะที่ดัชนีราคาสินค้าเกษตร

ที่เกษตรกรขายได้ หดตัวร้อยละ -3.4

  • GDP สหรัฐฯ ไตรมาสที่ 1 ปี 56 (ตัวเลขปรับปรุง) ขยายตัวร้อยละ 1.8 จากช่วงเดียวกันปีก่อน
  • GDP ฟิลิปินส์ ไตรมาสที่ 1 ปี 56 ขยายตัวร้อยละ 7.8 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน
  • ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคสหรัฐฯ เดือน พ.ค. 56 อยู่ที่ระดับสูงสุดในรอบกว่า 5 ปีที่ระดับ 76.2 จุด
  • ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคอุตสาหกรรมญี่ปุ่น เดือน พ.ค. 56 ปรับเพิ่มอยู่ที่ระดับ 51.5 จุด
  • ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อรวมสหภาพยุโรป เดือน พ.ค. 56 เพิ่มขึ้นเล็กน้อยที่ระดับ 47.7
Indicators next week
 Indicators                                    Forecast           Previous
 May : Headline Inflation (% YoY)                 2.2                2.4

โดยมีสาเหตุหลักมาจากราคาน้ำมันขายปลีกที่ลดลงตามราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก อย่างไรก็ดี จากสภาพอากาศที่แปรปรวนร้อนจัดสลับกับฝนตก ส่งผลให้ไก่ออกไข่น้อยลง ส่วนพืชผักก็ได้รับความเสียหาย ทำให้ราคาสินค้าประเภทไข่ และผักสดอาจมีการปรับตัวเพิ่มขึ้น ทั้งนี้ คาดว่าอัตราเงินเฟ้อจะเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนร้อยละ 0.21 (%mom)

Economic Indicators: This Week
  • ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) เดือนเม.ย.56 อยู่ระดับ 159.2 หรือคิดเป็นการหดตัวร้อยละ -3.8 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และเมื่อพิจารณาเทียบกับเดือนก่อนหน้า (mom_sa) พบว่าหดตัวเช่นดียวกันที่ร้อยละ -3.3 โดยอุตสาหกรรมที่ส่งผลให้ดัชนีฯ หดตัวมาจากอุตสาหกรรมการผลิต Hard Disk Drive น้ำมันปิโตรเลียม เสื้อผ้าสำเร็จรูปและอาหารทะเลแช่แข็ง เนื่องจากเดือนเม.ย. มีวันหยุดทำการเยอะ ประกอบกับผู้ประกอบการบางรายชะลอการผลิตตามโครงการรณรงค์ของภาครัฐในการประหยัดพลังงาน อันเนื่องมาจากข่าวการหยุดส่งพลังงานจากพม่าชั่วคราว ซึ่งสอดคล้องกับอัตรากำลังการผลิตในเดือนเม.ย. 56 ที่ปรับตัวลดลงเช่นกันมาอยู่ที่ระดับ 60.3 จากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ระดับ 71.0 อย่างไรก็ดี อุตสากรรมยานยนต์ยังมีการผลิตต่อเนื่องเพื่อตอบสนองอุปสงค์จากทั้งในและต่างประเทศ แม้ว่าจะแผ่วลงบ้างเมื่อเที่ยบกับปลายปี 55
  • การส่งออกในเดือน เม.ย. 56 มีมูลค่าที่ 17,409.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวที่ร้อยละ 2.9 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ชะลอตัวจากเดือนก่อนที่ขยายตัวร้อยละ 4.5 โดยมีสินค้าอุตสาหกรรมเป็นสินค้าส่งออกหลัก โดยขยายตัวถึงร้อยละ 6.0 ซึ่งสินค้าอุตสาหกรรมที่ขยายตัวได้ดีคือ สินค้ายานยนต์ และเครื่องใช้ไฟฟ้า ขณะที่สินค้าเกษตรกรรมและสินค้าเชื้อเพลิงมีการหดตัว โดยหดตัวที่ร้อยละ -8.3 และ -11.9 ตามลำดับ ทั้งนี้ราคาสินค้าส่งออกอยู่ในระดับเทียบเท่ากับปีก่อน ส่งผลให้ปริมาณส่งออกขยายตัวในระดับเดียวกับมูลค่าที่ร้อยละ 2.9
  • การนำเข้าในเดือน เม.ย. 56 มีมูลค่าที่ 21,550.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวที่ร้อยละ 8.9 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนที่หดตัวร้อยละ -11.5 จากการขยายตัวเร่งขึ้นทุกหมวดสินค้าหลัก โดยหมวดสินค้าวัตถุดิบขยายตัวเร่งขึ้นที่ร้อยละ 10.9 จากเดือนก่อนหน้าที่หดตัวร้อยละ -13.9 สินค้าอุปโภคบริโภคขยายตัวที่ร้อยละ 14.0 สินค้าเชื้อเพลิงขยายตัวเร่งขึ้นที่ร้อยละ 12.2 จากการหดตัวในเดือนก่อนหน้า และสินค้าทุนขยายตัวเร่งขึ้นเช่นกันที่ร้อยละ 2.3 ทั้งนี้ราคาสินค้านำเข้าหดตัวที่ร้อยละ -3.3 และปริมาณการนำเข้าขยายตัวที่ร้อยละ 12.6
  • วันที่ 29 พ.ค. 56 คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ประกาศลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงร้อยละ 0.25 เหลือร้อยละ 2.50 จากการที่ กนง. ประเมินว่า ภาพรวมเศรษฐกิจไทยในปี 56 ยังคงขยายตัว เนื่องจากมีปัจจัยพื้นฐานในเกณฑ์ดี อย่างไรก็ตาม มีความเสี่ยงมากขึ้น จากตัวเลขเศรษฐกิจในไตรมาสที่ 1 ซึ่งต่ำกว่าคาดมาก ขณะที่อัตราเงินเฟ้อยังอยู่ในกรอบเป้าหมาย นโยบายการเงินจึงสามารถผ่อนคลายเพิ่มเติมได้ เพื่อลดความเสี่ยงต่อการขยายตัวของอุปสงค์ในประเทศ โดย กนง. ระบุว่าจะติดตามพัฒนาการของเศรษฐกิจไทย และความเสี่ยงด้านเสถียรภาพการเงิน รวมทั้งเงินทุนเคลื่อนย้ายอย่างใกล้ชิด และพร้อมที่จะดำเนินนโยบายที่เหมาะสมตามสถานการณ์
  • ดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตร ในเดือนเม.ย. 56 หดตัวต่อเนื่องที่ร้อยละ -4.4 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ต่อเนื่องจากเดือนก่อนหน้าที่หดตัวร้อยละ -0.7 ตามการลดลงของผลผลิตในหมวดพืชผลสำคัญ โดยเฉพาะข้าว และมันสำปะหลัง ส่วนหนึ่งเป็นมาจากอยู่ในช่วงปลายฤดูกาลเก็บเกี่ยว และการจำกัดการผลิต เนื่องจากความกังวลจากสถานการณ์ภัยแล้ง ในปีเพาะปลูก 2556 อย่างไรก็ดี ผลผลิตยางพารา และปาล์มน้ำมัน ยังคงขยายตัวได้ดี จากพื้นที่เพาะปลูกและเก็บเกี่ยวที่เพิ่มขึ้น ประกอบกับสภาพภูมิอากาศเอื้ออำนวยต่อการผลิตและเก็บเกี่ยว ขณะที่ผลผลิตหมวดปศุสัตว์ยังคงขยายตัวต่อเนื่องที่ร้อยละ 2.6 ตามการขยายตัวของไก่เนื้อเป็นสำคัญ ทั้งนี้ ในช่วง 4 เดือนแรกปี 56 ดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรขยายตัวร้อยละ 0.3 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน
  • ดัชนีราคาสินค้าเกษตรที่เกษตรกรขายได้ ในเดือนเม.ย. 56 หดตัวร้อยละ -3.4 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ต่อเนื่องจากเดือนก่อนที่หดตัวร้อยละ -4.0 ตามการลดลงของราคายางพาราเป็นสำคัญ เนื่องจากอุปทานในตลาดโลกที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ในขณะที่อุปสงค์ค่อนข้างทรง จากการเพิ่มสต็อคของของประเทศจีนและญี่ปุ่นในช่วงต้นปีที่ผ่านมา อย่างไรก็ดี ราคาผลผลิตสินค้าสำคัญอื่นๆ อาทิ มันสำปะหลัง และหมวดประมง โดยเฉพาะกุ้ง ราคาปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่อง โดยราคามันสำปะหลังเร่งขึ้น ตามการเพิ่มขึ้นของอุปสงค์ทั้งจากในและต่างประเทศ โดยเฉพาะประเทศจีน ขณะที่ราคากุ้งปรับตัวสูงขึ้น เนื่องจากความตึงตัวของอุปทาน จากปัญหาโรคระบาด (EMS) ทั้งนี้ ในช่วง 4 เดือนแรกปี 56 ดัชนีราคาสินค้าเกษตรหดตัวร้อยละ -3.9 จากช่วงเดียวกันปีก่อน
  • ปริมาณจำหน่ายเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็กรวมภายในประเทศในเดือนเม.ย. 56 หดตัวร้อยละ -2.4 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ต่อเนื่องจากเดือนก่อนหน้าที่หดตัวร้อยละ -1.8 โดยปริมาณการจำหน่ายเหล็กที่ชะลอลงได้แก่ เหล็กเส้นข้ออ้อย (น้ำหนักร้อยละ 62.4 ของปริมาณการจำหน่ายเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็กรวม) หดตัวร้อยละ -1.3 ต่อปี เหล็กเส้นกลม (น้ำหนักร้อยละ 13.5) หดตัวร้อยละ -14.4 ต่อปี และเหล็กแผ่นเคลือบสังกะสี (น้ำหนักร้อยละ 14.5) หดตัวร้อยละ -7.1 ต่อปี สอดคล้องกับดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรมในหมวดผลิตโลหะขั้นมูลฐานที่หดตัวร้อยละ -1.2 จากเดือนก่อนที่หดตัวร้อยละ -0.1 และอัตราการใช้กำลังการผลิต (Cap U) ในหมวดการผลิตโลหะขั้นมูลฐานที่อยู่ที่ระดับ 45.7 ลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ระดับ 55.9
Economic Indicators: Next Week

อัตราเงินเฟ้อทั่วไป ในเดือนพ.ค. 56 คาดว่าจะอยู่ที่ร้อยละ 2.2 ชะลอลงจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ร้อยละ 2.4 โดยมีสาเหตุหลักมาจากราคาน้ำมันขายปลีกที่ลดลงตามราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก อย่างไรก็ดี จากสภาพอากาศที่แปรปรวนร้อนจัดสลับกับฝนตก ส่งผลให้ไก่ออกไข่น้อยลง ส่วนพืชผักก็ได้รับความเสียหาย ทำให้ราคาสินค้าประเภทไข่ และผักสดอาจมีการปรับตัวเพิ่มขึ้น ทั้งนี้ คาดว่าอัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนร้อยละ 0.21 (%mom)

Global Economic Indicators: This Week

US: improving economic trend
  • ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค เดือน พ.ค. 56 อยู่ที่ระดับสูงสุดในรอบกว่า 5 ปีที่ระดับ 76.2 จุด สูงขึ้นมากจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ระดับ 69.0 จุด (ตัวเลขปรับปรุง) ผลจากดัชนีสถานการณ์ปัจจุบันและดัชนีการคาดการณ์เศรษฐกิจที่ปรับตัวสูงขึ้น จากสถานการณ์ภาคการจ้างงานที่ปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง GDP ไตรมาสที่ 1 ปี 56 (ตัวเลขปรับปรุง) ขยายตัวร้อยละ 1.8 จากช่วงเดียวกันปีก่อน หรือหากขจัดผลทางฤดูกาลแล้ว จะขยายตัวร้อยละ 0.6 จากไตรมาสก่อนหน้า โดยการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนยังคงขยายตัวดีที่ร้อยละ 2.1 และ 4.3 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ตามลำดับ ในขณะที่การใช้จ่ายภาครัฐหดตัวต่อเนื่อง จากการตัดลดงบประมาณรายจ่ายตามกฎหมายควบคุมงบประมาณ
Japan: mixed signal
  • ยอดค้าปลีก เดือน เม.ย. 56 หดตัวชะลอลงต่อเนื่องมาอยู่ที่ร้อยละ -0.1 จากช่วงเดียวกันปีก่อน จากที่หดตัวร้อยละ -0.3 ในเดือนก่อนหน้า ผลจากยอดขายสินค้าอิเล็กทรอนิกส์และโทรทัศน์ที่หดตัวต่อเนื่อง อย่างไรก็ดี ตัวเลขดังกล่าวมีการปรับตัวในทิศทางที่ดีขึ้น จากอัตราการหดตัวที่น้อยลง สะท้อนว่ามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลญี่ปุ่นเริ่มส่งผลดีต่อภาคเศรษฐกิจจริงของญี่ปุ่น ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคอุตสาหกรรม เดือน พ.ค. 56 ปรับเพิ่มอยู่ที่ระดับ 51.5 จุด จากระดับ 51.1 จุดในเดือนก่อนหน้า สะท้อนภาคการผลิตในญี่ปุ่นที่มีทิศทางการฟื้นตัวชัดเจนมากขึ้นจากดัชนีดังกล่าวที่เพิ่มขึ้นอยู่เหนือระดับ 50 ติดต่อกัน3 เดือน อัตราเงินเฟ้อ เดือน เม.ย. 56 หดตัวลดลงมาอยู่ที่ร้อยละ -0.7 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน จากราคาสินค้าในหมวดอาหารและค่าขนส่งที่ลดลงเป็นสำคัญ อัตราว่างงาน เดือน เม.ย. 56 ยังคงทรงตัวจากเดือนก่อนหน้าที่ร้อยละ 4.1 ของกำลังแรงงานรวม
Eurozone: worsening economic trend
  • ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อรวม (ตัวเลขเบื้องต้น) เดือน พ.ค. 56 เพิ่มขึ้นเล็กน้อยมาอยู่ที่ระดับ 47.7 อย่างไรก็ตาม ตัวเลขดังกล่ายังคงอยู่ในระดับต่ำกว่า 50 ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 21 สะท้อนภาคการผลิตยูโซนที่หดตัวต่อเนื่อง ทั้งในภาคอุตสาหกรรม และภาคบริการโดยดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคอุตสาหกรรมอยู่ที่ระดับ 47.8 ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคบริการอยู่ที่ระดับ 47.5 นอกจากนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค เดือน พ.ค. 56 อยู่ที่ระดับ -22.3 เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ระดับ -23.5 โดยตัวเลขดังกล่าวยังคงบ่งชี้ความกังวลของผู้บริโภคต่อภาพรวมเศรษฐกิจ ซึ่งคาดว่าจะกระทบต่อการจับจ่ายใช้สอยในภูมิภาคต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม การที่คณะกรรมธิการยุโรป (European Commission) ได้ประกาศผ่อนคลายมาตรการรัดเข็มขัดทางการคลังของประเทศต่างๆ อาทิ สเปน ฝรั่งเศส สโลเวเนีย เนเธอร์แลนด์ และโปรตุเกส รวมถึงได้แสดงจุดยืนที่จะส่งเสริมการขยายตัวของเศรษฐกิจ และการสร้างงาน เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศในภูมิภาค และแก้ไขปัญหาการว่างงาน บ่งชี้ถึงความพยายามของทางการยุโรปในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจที่จริงจังมากขึ้น ซึ่งคาดว่าจะส่งผลดีต่อภาพรวมเศรษฐกิจยูโรโซนในระยะต่อไป
Singapore: mixed signal
  • อัตราเงินเฟ้อ เดือน เม.ย. 56 อยู่ที่ร้อยละ 1.5 ซึ่งเป็นอัตราต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนก.พ. 53 ผลจากราคาสินค้าในทุกหมวดสินค้าปรับตัวลดลง โดยเฉพาะอย่างยิ่งราคาอสังหาริมทรัพย์ที่ขยายตัวเพียงร้อยละ 1.1 ลดลงจากเดือนก่อนที่ร้อยละ 4.1 ผลผลิตภาคอุตสาหกรรม เดือน เม.ย. 56 ขยายตัวร้อยละ 4.7 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน เร่งขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่หดตัวร้อยละ -3.8 จากการผลิตสินค้าในกลุ่มเวชสำอางค์ที่ขยายตัวร้อยละ 48.0 เป็นสำคัญ
Philippines: mixed signal
  • GDP ไตรมาสที่ 1 ปี 56 ขยายตัวร้อยละ 7.8 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ซึ่งนับเป็นอัตราการขยายตัวสูงสุดนับตั้งแต่ไตรมาสที่ 2 ปี 53 จากการเร่งการดำเนินการโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานมูลค่ากว่า 17 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและเพิ่มการจ้างงาน ส่งผลให้การบริโภคภาครัฐที่ขยายตัวเร่งขึ้นที่ร้อยละ 13.2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน อย่างไรก็ตาม การบริโภคภาคเอกชนที่เป็นกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่สำคัญ ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 70.5 ของ GDP นั้นยังคงหดตัวต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่ 4 อยู่ที่ร้อยละ 5.1 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ลดลงจากไตรมาสที่ 4 ปี 55 ที่ร้อยละ 6.2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน
Hong Kong: mixed signal
  • ยอดค้าปลีก เดือน เม.ย. 56 ขยายตัวเร่งขึ้นอยู่ที่ร้อยละ 20.7 เมื่อเทียบช่วงเดียวกันปีก่อน จากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 9.8 จากยอดขายสินค้าหมวดเครื่องประดับ อัญมณี และสินค้าฟุ่มเฟือยที่ขยายตัวเร่งขึ้นในช่วงเดือนดังกล่าวเป็นสำคัญมูลค่าการส่งออก เดือน เม.ย. 56 ขยายตัวชะลอลงที่ร้อยละ 9.0 จากช่วงเดียวกันปีก่อน จากการส่งออกไปยังญี่ปุ่น สหรัฐฯ และยูโรโซน ที่หดตัวในเดือนดังกล่าว ขณะที่การส่งออกไปยังตลาดในภูมิภาคและจีนยังคงขยายตัวได้ดี และมูลค่าการนำเข้า เดือน เม.ย. 56 ขยายตัวร้อยละ 7.7 จากช่วงเดียวกันปีก่อน จากการนำเข้าสินค้าในหมวดเครื่องจักรและเครื่องใช้เบ็ดเตล็ดที่โตดีต่อเนื่องส่งผลให้ดุลการค้า เดือน เม.ย. 56 ขาดดุล -4.3 หมื่นล้านดอลลาร์ฮ่องกง
South Korea: mixed signal
  • ผลผลิตภาคอุตสาหกรรม เดือน เม.ย. 56 กลับมาขยายตัวร้อยละ 1.7 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน จากการหดตัวร้อยละ -2.7 ในเดือนก่อนหน้า ผลจากผลผลิตสินค้าหมวดสินค้าไม่คงทน สินค้าหมวดก่อสร้างและภาคอุตสาหกรรมที่ขยายตัวดี
Taiwan: mixed signal
  • ผลผลิตภาคอุตสาหกรรม เดือน เม.ย. 56 หดตัวร้อยละ -0.9 จากช่วงเดียวกันปีก่อน หดตัวชะลอลงจากร้อยละ -3.3 ในเดือนก่อน สะท้อนกิจกรรมภาคการผลิตไต้หวันที่ปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง
Weekly Financial Indicators
  • ดัชนี SET ปรับตัวลดลงต่อเนื่อง ต่ำกว่าระดับ 1,600 จุด โดยดัชนีฯ ณ วันที่ 30 พ.ค. 56 ปิดที่ 1,581.32 จุด ด้วยมูลค่าซื้อขายเฉลี่ยต่อวันที่ 54,609 ล้านบาท ด้วยแรงซื้อจากนักลงทุนสถาบันภายในประเทศและนักลงทุนทั่วไปในประเทศ โดยนักลงทุนเริ่มคลายกังวลประเด็นค่าเงินบาท เนื่องจากค่าเงินบาทเริ่มอ่อนค่าลง แต่ตลาดยังคงคาดการณ์ว่าทางการอาจออกมาตรการควบคุมเงินทุนไหลเข้า ทั้งนี้ ระหว่างวันที่ 27 - 30 พ.ค. 56 นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิ -14,679.24 ล้านบาท ขณะที่ผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลปรับตัวลดลงในตราสารระยะสั้น และปรับตัวสุงขึ้นในพันธบัตรระยะปานลาง-ยาว ประมาณ1-5 bps จากแรงขายของนักลงทุนต่างชาติ จากความกังวลว่า Fed อาจชะลอมาตรการ QE อีกทั้ง กนง. มีมติปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงร้อยละ 0.25 เมื่อวันที่ 29 พ.ค. 56 ที่ผ่านมาโดยระหว่างวันที่ 27 - 30 พ.ค. 56 นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิ-12,729.0 ล้านบาท (ไม่รวมพันธบัตร ธปท.)
  • ค่าเงินบาทอ่อนค่าลง โดย ณ วันที่ 30 พ.ค. 56 ค่าเงินบาทปิดที่ระดับ 30.16 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ โดยอ่อนค่าลงร้อยละ -0.73 จากสัปดาห์ก่อนหน้า ซึ่งเป็นไปในทิศทางเดียวกับค่าเงินภูมิภาค จากค่าเงินดอลลาร์สหรัฐที่แข็งค่าขึ้นเล็กน้อย หลังจากตัวเลขทางเศรษฐกิจสหรัฐฯ ออกมาดี อย่างไรก็ตาม ค่าเงินบาทที่อ่อนค่าลงในอัตราที่มากกว่าค่าเงินสกุลหลักอื่นๆ โดยเฉพาะค่าเงินเยนที่ในสัปดาห์นี้แข็งค่าขึ้น ทำให้ดัชนีค่าเงินบาท (NEER) ในสัปดาห์นี้อ่อนค่าลงร้อยละ -0.98 จากสัปดาห์ก่อนหน้า
  • ราคาทองคำปรับสูงขึ้นเล็กน้อย โดยราคาทองคำ ณ วันที่ 30 พ.ค. 56 ปิดที่ 1,413.25 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์ เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากต้นสัปดาห์ที่ปิดที่ 1,395.28 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์

ที่มา: Macroeconomic Analysis Group: Fiscal Policy Office

Tel 02-273-9020 Ext 3253 : www.fpo.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ