1. กรณีทั่วไป
เป็นการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีตลอดไป โดยผู้บริจาคสามารถนำเงินบริจาคให้แก่กรมศิลปากรเพื่อการบูรณะโบราณสถานฯ มาหักเป็นค่าลดหย่อนได้เท่าจำนวนที่บริจาค แต่เมื่อรวมกับเงินบริจาคตามมาตรา 47 (7) แห่งประมวลรัษฎากรแล้ว ต้องไม่เกินร้อยละ 10 ของเงินได้พึงประเมินหลังหักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อนอื่นๆ แล้ว ทั้งนี้ สำหรับเงินได้พึงประเมินประจำปี พ.ศ. 2556 ที่ต้องยื่นรายการในปี พ.ศ. 2557 เป็นต้นไป
2. กรณีพิเศษ
เพื่อการกระตุ้นและจูงใจให้มีการบริจาค ผู้บริจาคสามารถนำเงินที่บริจาคให้แก่กรมศิลปากรเพื่อการบูรณะโบราณสถานฯ มาหักเป็นค่าลดหย่อนได้ 2 เท่าของจำนวนที่บริจาค แต่เมื่อรวมกับเงินได้ที่ได้รับการยกเว้นสำหรับการจ่ายเป็นค่าใช้จ่ายเพื่อสนับสนุนการศึกษาตามโครงการที่กระทรวงศึกษาธิการให้ความเห็นชอบ และสำหรับการบริจาคให้แก่สถานศึกษาเพื่อสนับสนุนการศึกษา รวมทั้งสำหรับการบริจาคเพื่อสนับสนุนการกีฬาแล้ว ต้องไม่เกินร้อยละ 10 ของเงินได้พึงประเมินหลังจากหักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อนนั้น ทั้งนี้ สำหรับการบริจาคตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2556 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2558
นายทนุศักดิ์ เล็กอุทัย รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า “เนื่องจากประเทศไทยได้ประสบกับอุทกภัยครั้งใหญ่ ซึ่งส่งผลให้โบราณสถานหลายแห่งได้รับความเสียหาย กรมศิลปากรจึงมีความจำเป็นต้องใช้เงินทุนเพื่อการบูรณะซ่อมแซมให้คงสภาพเดิม การกำหนดสิทธิประโยชน์ทางภาษี โดยให้ประชาชนที่บริจาคเงินให้แก่กรมศิลปากรเพื่อการบูรณะโบราณสถานฯ สามารถนำเงินบริจาคมาหักเป็นค่าลดหย่อนในการคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาได้ทั้งในกรณีทั่วไปและกรณีพิเศษ จะเป็นการกระตุ้นและจูงใจให้ประชาชนมีการบริจาคเพิ่มขึ้น
ดร.สาธิต รังคสิริ อธิบดีกรมสรรพากร กล่าวเพิ่มเติมว่า “มาตรการภาษีดังกล่าวจะเป็นการสนับสนุนการซ่อมแซมและบูรณะโบราณสถานของกรมศิลปากร อันจะเป็นประโยชน์ในการอนุรักษ์เพื่อเป็นเอกลักษณ์ของชาติ และจะเป็นการส่งเสริมให้ประชาชนได้มีโอกาสศึกษาเรียนรู้สถานที่และสิ่งสำคัญที่เป็นมรดกของชาติสืบต่อไป”
สำนักวิชาการแผนภาษี กรมสรรพากร โทร. 0 2272 9479
--ข่าวกระทรวงการคลัง กลุ่มการประชาสัมพันธ์ สนง.ปลัดกระทรวงการคลัง ฉบับที่ 60/2556 4 มิถุนายน 2556--