รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 5 มิถุนายน 2556

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday June 5, 2013 11:45 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 5 มิถุนายน 2556

Summary:

1. ยอดนำเข้าน้ำมันเชื้อเพลิงในเดือน เม.ย. 56 หดตัวร้อยละ -2 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า

2. ทิสโก้ คาด กนง. คงอัตราดอกเบี้ยในการประชุมครั้งถัดไป

3. ยอดขายรถปิกอัพ และเอสยูวีของสหรัฐฯ ในเดือน พ.ค. 56 ปรับตัวเพิ่มขึ้น

Highlight:

1. ยอดนำเข้าน้ำมันเชื้อเพลิงในเดือน เม.ย. 56 หดตัวร้อยละ -2 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า
  • อธิบดีกรมธุรกิจพลังงาน เปิดเผยว่า มูลค่าการนำเข้าน้ำมันเชื้อเพลิงในเดือน เม.ย. 56 อยู่ที่ 980,000 บาร์เรลต่อวัน หดตัวร้อยละ -0.8 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน หรือร้อยละ -2.0 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า ทำให้ในช่วง 4 เดือนแรกของปี 56 มูลค่าการนำเข้าน้ำมันเชื้อเพลิงหดตัวร้อยละ -2.7 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน สำหรับภาพรวมการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงในช่วง 4 เดือนแรกของปี 56 พบว่า กลุ่มน้ำมันเบนซินเพิ่มขึ้นร้อยละ 9 น้ำมันดีเซลเพิ่มขึ้นร้อยละ 5 NGV เพิ่มขึ้นร้อยละ 11 และ LPG เพิ่มขึ้นร้อยละ 8 จากภาคขนส่งและปิโตรเคมีภายหลังจากที่รัฐบาลมีมาตรการดูแลการใช้ LPG ข้ามประเภท
  • สศค. วิเคราะห์ว่า มูลค่าการนำเข้าน้ำมันเชื้อเพลิงที่หดตัวลงมีสาเหตุสำคัญจากราคาน้ำมันดิบดูไบในตลาดโลกที่ปรับตัวลดลงนับจากต้นปี 56 ถึงร้อยละ -8.3 และผลของค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นนับจากต้นปี 56 ร้อยละ 0.7 โดยเฉพาะในช่วง 4 เดือนแรกของปี 56 ที่แข็งค่าขึ้นถึงร้อยละ 4.1 ทำให้ในช่วง 4 เดือนแรกของปี 56 มูลค่าการนำเข้าสินค้าขยายตัว 4.6 ขณะที่มูลค่าการส่งออกสินค้าขยายตัว 4.0 ส่งผลให้ดุลการค้าของไทยขาดดุลรวม 12.1 พันล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐ นอกจากนี้ ผลของราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่ปรับตัวลดลงยังมีส่วนสำคัญทำให้อัตราเงินเฟ้อของไทยไม่ปรับตัวสูงขึ้นมาก เนื่องจากราคาน้ำมันถือเป็นต้นทุนสำคัญในการขนส่งสินค้า ขณะที่หมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ซึ่งมีสัดส่วนน้ำหนักร้อยละ 33.5 ในตระกร้าเงินเฟ้อ ปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่อง โดยล่าสุด อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือน พ.ค. 56 ขยายตัวร้อยละ 2.3 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ชะลอลงจากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 2.4 ทำให้ในช่วง 5 เดือนแรกของปี 56 ขยายตัวร้อยละ 2.8 โดยในหมวดพาหนะ การขนส่ง และการสื่อสาร ซึ่งมีสัดส่วนน้ำหนักร้อยละ 25.5 ในตระกร้าเงินเฟ้อ ขยายตัวร้อยละ 1.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ทั้งนี้ สศค. คาดว่า อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 56 จะขยายตัวร้อยละ 3.0 โดยมีช่วงคาดการณ์ร้อยละ 2.5-3.5 (คาดการณ์ ณ เดือน มี.ค. 56)
2. ทิสโก้ คาด กนง. คงอัตราดอกเบี้ยในการประชุมครั้งถัดไป
  • สำนักวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ทิสโก้ ระบุว่า อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเดือน พ.ค. อยู่ที่ระดับร้อยละ 2.27 จาก ลดลง จากร้อยละ 2.42 ในเดือนก่อนหน้า ต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ ในขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้เช่นกัน โดยอยู่ที่ร้อยละ 0.94 จากที่คาดไว้ที่ร้อยละ1.1 ทั้งนี้ อัตราเงินเฟ้อที่ลดลงเกิดจากการใช้มาตรการควบคุมราคาของรัฐบาล ที่ประสบผลสำเร็จเกินคาด อย่างไรก็ตาม เชื่อว่า คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ร้อยละ 2.5 ในการประชุมวันที่ 10 ก.ค. นี้ โดยคาดว่า กนง. จะพิจารณาข้อมูลเศรษฐกิจรายเดือนประกอบการตัดสินใจเรื่องทิศทางอัตราดอกเบี้ยนโยบายในระยะต่อไป
  • สศค. วิเคราะห์ว่า กนง.ปรับลดอัตราดอกเบี้ยในการประชุมครั้งล่าสุด (วันที่ 29 พ.ค. ) จากร้อยละ 2.75 มาอยู่ที่ร้อยละ 2.50 หลังจากที่ตัวเลขเศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 1 ปี 56 ต่ำกว่าที่หลายฝ่ายคาดการณ์ไว้ โดยขยายตัวยร้อยละ 5.3 ต่อปี (%yoy) หรือหดตัวร้อยละ -2.2 qoq_sa เพื่อการกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศ นอกจากนี้ ครม.มีมติเห็นชอบกรอบเสถียรภาพทางเศรษฐกิจเพื่อเป็นมาตรการที่บูรณาการทำงานด้านเศรษฐกิจในภาพใหญ่ เพื่อทำให้เศรษฐกิจปี 56 ขยายตัวอย่างมีเสถียรภาพ เช่น มาตรการการเงิน ได้แก่ 1.การซื้อขายเงินตราต่างประเทศในอัตราแลกเปลี่ยน 2.การดำเนินนโยบายอัตราดอกเบี้ยที่เหมาะสมกับพื้นฐานทางเศรษฐกิจ 3.มาตรการกำกับดูแลสถาบันการเงินเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาฟองสบู่ในภาคส่วนต่างๆ มาตรการการคลัง ได้แก่ 1.การกำกับดูแลการเบิกจ่ายงบประมาณ 2.ดำเนินโครงการลงทุนขนาดใหญ่ เช่น การลงทุนระบบน้ำ 3.5 แสนล้านบาท และลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านขนส่ง 2 ล้านล้านบาท 3.กำหนดให้รัฐวิสาหกิจชำระหนี้ หรือปรับโครงโครงสร้างหนี้เงินตราต่างประเทศ
3. ยอดขายรถปิกอัพ และเอสยูวีของสหรัฐฯ ในเดือน พ.ค. 56 ปรับตัวเพิ่มขึ้น
  • ข้อมูลยอดขายรถยนต์ของสหรัฐฯ ในเดือน พ.ค. 56 เท่ากับ 1.4 ล้านคัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 8 จากช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว โดยค่ายรถยนต์ 2 รายใหญ่ของสหรัฐฯ เช่น ฟอร์ด และไครสเลอร์ รายงานยอดขาย ที่เพิ่มขึ้นมากกว่าร้อยละ 10 ขณะที่เจนเนอรัล มอเตอร์l (จีเอ็ม) ผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่สุดของประเทศ ปรับขึ้นเล็กน้อยที่ร้อยละ 3.1 ขณะที่ผู้ผลิตรถยนต์สัญชาติญี่ปุ่น เช่น โตโยต้า มียอดขายเพิ่มขึ้o ร้อยละ 2.5 และนิสสันมียอดขายเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 25.0 ซึ่งผู้ผลิตรถส่วนใหญ่แสดงความมั่นใจ ว่ายอดขายจะเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่องตลอดทั้งปี
  • สศค. วิเคราะห์ว่า ยอดขายรถยนต์สหรัฐฯ ในเดือน พ.ค. 56 ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ส่วนหนึ่งเกิดจากเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ปรับตัวดีขึ้น สะท้อนได้จากในไตรมาสที่ 1 ของปี 56 ขยายตัวร้อยละ 1.8 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน หากปรับผลทางฤดูกาลขยายตัวจากไตรมาสก่อนร้อยละ 0.6 โดยการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนยังคงขยายตัวดีที่ร้อยละ 2.1 และ 4.3 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ตามลำดับ นอกจากนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค เดือน พ.ค. 56 อยู่ที่ระดับสูงสุดในรอบกว่า 5 ปี ที่ระดับ 76.2 จุด สูงขึ้นมากจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ระดับ 69.0 จุด ประกอบกับการจ้างงานที่ปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม การใช้จ่ายภาครัฐหดตัวต่อเนื่อง จากการตัดลดงบประมาณรายจ่ายตามกฎหมายควบคุมงบประมาณ ทั้งนี้ สศค. ประมาณการเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในปี 56 จะขยายตัวร้อยละ 2.2 (ณ มี.ค. 56) และจะมีการปรับประมาณการอีกในเดือน มิ.ย. 56

ที่มา: Bureau of Macroeconomic Policy,Fiscal Policy Office, Ministry of Finance

Tel: 02-273-9020 Ext. 3257


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ