รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 6 มิถุนายน 2556

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday June 6, 2013 11:16 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 6 มิถุนายน 2556

Summary:

1. "สัมมากร-เอ็นซีเฮ้าส์ซิ่ง" รับมีสัญญาณคอนโดมิเนียมล้นตลาด

2. แบงค์ห่วงมูตดีส์หั่นเรตติ้ง กระทบต้นทุนเงินกู้

3. นายกฯ ญี่ปุ่นเล็งประกาศแผนเพิ่มรายได้ประชาชน

Highlight:

1. "สัมมากร-เอ็นซีเฮ้าส์ซิ่ง" รับมีสัญญาณคอนโดมิเนียมล้นตลาด
  • กรรมการผู้จัดการ บริษัท สัมมากร จำกัด (มหาชน) กล่าวว่าขณะนี้มีสัญญาณฟองสบู่เกิดขึ้นจริง กับกลุ่มธุรกิจคอนโดมิเนียมบาง ทำเลที่เป็นผู้ประกอบการขนาดเล็ก ซึ่งสถานการณ์ ยังไม่รุนแรงมากจนทำให้เกิดปัญหาใหญ่เหมือนในอดีต โดยสังเกตุจากการจำหน่ายใบจองจำนวนมาก แต่ยอดโอนคอนโดฯปัจจุบันเริ่มมีการชะลอตัวลงบ้าง ซึ่งในฐานะผู้ประกอบการที่มีแผนจะสร้างคอนโดมิเนียมเช่นกัน จึงต้องใช้ความระมัดระวัง และเริ่มติดตามปัญหาดังกล่าวอย่างใกล้ชิด
  • สศค. วิเคราะห์ว่าสถานการณ์ในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ในปัจจุบันยังไม่น่าเป็นห่วงอย่างที่กล่าวมา ทั้งนี้ ในส่วนของภาษีจากการทำธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์ในเดือน เม.ย. 56 ขยายตัวถึงร้อยละ 35.1 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 24.0 และเมื่อขจัดผลทางฤดูกาล (m-o-m SA) พบว่า ขยายตัวร้อยละ 5.4 ต่อเดือน จากแนวโน้มเศรษฐกิจที่ยังคงขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง ประกอบกับการปล่อยสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยจากธนาคารพาณิชย์ในกรุงเทพฯ และปริมณฑล ทั้งที่อยู่อาศัยแนวราบ และที่อยู่อาศัยประเภทอาคารชุดปรับเพิ่มขึ้นทั้งนี้ ในส่วนของดัชนีราคาที่อยู่อาศัยจากฐานข้อมูลสินเชื่อธนาคารพาณิชย์ ประเภทคอนโดมิเนียม ในเดือน เม.ย. 56 ก็ขยายตัวสูงถึงร้อยละ 10.2 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 9.4 จากข้อมูลข้างต้น จะพอว่าในภาคอสังหาริมทรัพย์ยังไม่มีสัญญาณของการชะลอตัวเกิดขึ้น นอกจากนี้ จากข้อมูลล่าสุดของการขอจดทะเบียนอาคารชุดทั้งประเทศ (คอนโดมิเนียม) ตั้งแต่ต้นปีจนถึงเดือน มี.ค. 56 อยู่ที่ 15 ,830 ยูนิต ซึ่งขยายตัวสูงถึงร้อยละ 66.2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
2. แบงค์ห่วงมูตดีส์หั่นเรตติ้ง กระทบต้นทุนเงินกู้
  • รองกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวถึงกรณีที่สถาบันจัดความน่าเชื่อถือระหว่างประเทศ มูดีส์ อินเวสเตอร์ เซอร์วิส อาจจะปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือของไทย จากระดับ Baa1 แนวโน้มมีเสถียรภาพ เนื่องจากปัญหาการขาดทุนจากโครงการรับจำนำข้าว ว่าอาจจะกระทบทำให้ต้นทุนการกู้เงิน การระดมทุนของภาครัฐและเอกชนไทยเพิ่มสูงขึ้น เนื่องจากต่างประเทศมองว่า ไทยจะมีความเสี่ยงด้านเสถียรภาพด้านงบประมาณมากขึ้น ดังนั้นจะคิดอัตราดอกเบี้ยเพิ่มตามไปด้วย ส่วนทิศทางอัตราดอกเบี้ยของธนาคารพาณิชย์ หลังจาก กนง. ปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง 0.25%ในสัปดาห์ที่ผ่านมา แต่ธนาคารพาณิชย์ยังไม่ปรับลดดอกเบี้ยลงตาม เนื่องจากทุกธนาคารกำลังพิจารณาปัจจัยต่างๆ ที่เข้ามากระทบ ทั้งด้านความต้องการสินเชื่อ การลงทุน การระดมเงินฝาก และข่าวที่มูดีส์เตรียมลดเครดิตประเทศไทย ทำให้แบงค์ต้องพิจารณาให้รอบคอบ ก่อนลดอัตราดอกเบี้ยลงตาม
  • สศค. วิเคราะห์ว่า หากข้อมูลดังกล่าวเป็นจริง และทำให้ไทยถูกปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือ จะทำให้ต้นทุนในการลงทุนหรือกู้ยืมเงินสูงขึ้น มีความเสี่ยงเพิ่มขึ้น รวมทั้งความมั่นใจของต่างชาติที่มีต่อเศรษฐกิจไทยในภาพรวมก็อาจจะลดลงด้วย ดังนั้นเป็นหน้าที่ของเราที่จำเป็นต้องให้ข้อมูลเพื่อแก้ไขระดับความน่าเชื่อถือดังกล่าว ส่วนทิศทางอัตราดอกเบี้ยที่ธนาคารพาณิชย์ยังไม่ปรับลด ตามมติของ กนง. ที่มีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยในการประชุมครั้งล่าสุด (วันที่ 29 พ.ค. ) จากร้อยละ 2.75 มาอยู่ที่ร้อยละ 2.50 นั้นคาดว่าธนาคารพาณิชย์ต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ เนื่องจากในปัจจุบันความต้องการสินเชื่อ และการระดมเงินฝาก ยังคงมีอัตราการเพิ่มสูงขึ้น การปรับลดอัตราดอกเบี้ยจะทำให้ต้นทุนเงินกู้สูงขึ้น อาจส่งผลกระทบต่อผลประกอบการของธนาคารพาณิชย์ ซึ่งแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยในระยะต่อไป น่าจะทรงตัวและมีการปรับลดลง หลังจากที่ตัวเลขเศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 1 ปี 56 ชะลอลงมากและต่ำกว่าที่หลายฝ่ายคาดการณ์ไว้ โดยขยายตัวยร้อยละ 5.3 ต่อปี (%yoy) หรือหดตัวร้อยละ -2.2 qoq_sa โดยจะต้องพิจารณาภาวะเศรษฐกิจในไตรมาส 2 และ 3 รวมถึงทิศทางการส่งออกและการบริโภคว่าจะมีเพิ่มขึ้นหรือไม่
3. นายกฯ ญี่ปุ่นเล็งประกาศแผนเพิ่มรายได้ประชาชน
  • นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นเตรียมเปิดเผยนโยบายฟื้นฟูเศรษฐกิจด้วยการเพิ่มรายได้ของประชาชนร้อยละ 3 ต่อปี ซึ่งถือเป็นนโยบายสำคัญในการยุติภาวะเงินฝืดและเศรษฐกิจซบเซาที่ยืดเยื้อหลายทศวรรษของญี่ปุ่น รวมทั้งนโยบายการปรับลดภาษีและลดขั้นตอนทางราชการที่ยุ่งยากในเขตเศรษฐกิจพิเศษ อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์บางรายเห็นว่า การเพิ่มรายได้ตามเป้าหมายที่กำหนดไว้อาจเป็นเรื่องยาก โดยเฉพาะหากในแผนการเติบโตที่นายอาเบะกำลังจะประกาศนั้นประกอบด้วยมาตรการที่เปิดทางให้จ้างคนงานชั่วคราวได้ง่ายขึ้น เพราะคนงานชั่วคราวมีแนวโน้มจะได้ค่าจ้างต่ำ
  • สศค. วิเคราะห์ว่า การดำเนินนโยบายทางการเงินและการคลังเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจของญี่ปุ่น (Abenomics) รัฐบาลญี่ปุ่นทำให้เศรษฐกิจญี่ปุ่นสามารถกลับมาขยายตัวได้อีกครั้ง โดยล่าสุด GDP ในไตรมาสที่ 1 ปี 56 ขยายตัวร้อยละ 0.2 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน และเมื่อปรับผลทางฤดูกาลแล้ว ขยายตัวร้อยละ 0.9 จากผลของการบริโภคภาคเอกชนและการส่งออกเป็นสำคัญ โดยการบริโภคภาคเอกชนสะท้อนจากการใช้จ่ายของผู้บริโภคในเดือน เม.ย. 56 ขยายตัวร้อยละ 1.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ขณะที่ภาคการผลิตสะท้อนจากผลผลิตอุตสาหกรรมในเดือน เม.ย. 56 ขยายตัวร้อยละ 1.7 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า และดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ในเดือน พ.ค. 56 อยู่ที่ระดับ 51.5 ซึ่งแสดงถึงภาคการผลิตมีสัญญาณฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม สิ่งที่เป็นประเด็นทางเศรษฐกิจที่สำคัญของญี่ปุ่นในขณะนี้คือ ยุทธศาสตร์การเติบโตในระยะยาวที่เรียกว่า ศรดอกที่สาม (Third Arrow) ซึ่งมีเป้าหมายในการปฏิรูปเศรษฐกิจในเชิงโครงสร้างของประเทศเพื่อสร้างการเจริญเติบโตในระยะยาวอย่างยั่งยืน และการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษในหลายพื้นที่ทั่วประเทศเพื่อดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ ซึ่งนายกฯ ญี่ปุ่นจะประกาศรายละเอียดของยุทธศาสตร์ก่อนหน้าการประชุมกลุ่มประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่ 8 ประเทศ (G8) ในวันที่ 17-18 มิ.ย. 56 นี้ ทั้งนี้ ยุทธศาสตร์ดังกล่าวถือเป็นปัจจัยสำคัญในการสนับสนุนการลงทุนในประเทศและการเติบโตทางเศรษฐกิจของญี่ปุ่นในอนาคตต่อไป สศค.คาดว่า อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของญี่ปุ่นในปี 56 จะขยายตัวร้อยละ 1.5 (คาดการณ์ ณ เดือน มี.ค. 56)

ที่มา: Bureau of Macroeconomic Policy,Fiscal Policy Office, Ministry of Finance

Tel: 02-273-9020 Ext. 3257


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ