รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 11 มิถุนายน 2556

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday June 11, 2013 13:22 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 11 มิถุนายน 2556

Summary:

1. ธปท.เตรียมปรับลดคาดการณ์จีดีพีปีนี้ลงในเดือน ก.ค.นี้ จากเดิมที่คาดว่าจะโตร้อยละ 5.1

2. ครม. อนุมัติงบฯ 72,270 ล้านบาท พัฒนาภาคเหนือตอนล่าง 2

3. ญี่ปุ่นเผยยอดขายเกินดุลบัญชีเดินสะพัด 7.5 แสนล้านเยนในเดือน เม.ย.

Highlight:

1. ธปท.เตรียมปรับลดคาดการณ์จีดีพีปีนี้ลงในเดือน ก.ค.นี้ จากเดิมที่คาดว่าจะโตร้อยละ 5.1
  • ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ในเดือน ก.ค.นี้ ธปท. เตรียมจะปรับลดคาดการณ์การขยายตัวทางเศรษฐกิจ(จีดีพี)ในปี 56 จากเดิมที่คาดว่า จะขยายตัวร้อยละ 5.1 เนื่องจากเศรษฐกิจของสาธารณรัฐประชาชนจีนชะลอตัว ซึ่งอาจจะกระทบต่อการส่งออก โดยจะประกาศอย่างเป็นทางการในรายงานแนวโน้มนโยบายการเงินในวันที่ 19 ก.ค. 56 อนึ่งเมื่อ เม.ย.ที่ผ่านมา ธปท.ได้ปรับเพิ่มคาดการณ์ (จีดีพี) ของไทยในปี 56 เป็นเติบโตร้อยละ 5.1 จากเดิมคาดโตร้อยละ 4.9 หลังเศรษฐกิจในไตรมาส 4/55 มเติบโตดีกว่าที่คาด แต่เมื่อไตรมาสแรกปีนี้ จีดีพีเติบโตต่ำกว่าคาดโดยขยายตัวเพียงร้อยละ 5.3
  • สศค . วิเคราะห์ว่า เศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 2/56 มีสัญญาณการชะลอตัวลงโดยเฉพาะด้านการผลิตทั้งในภาคอุตสาหกรรมและภาคการเกษตร โดยสะท้อนจากดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรมในเดือน เม.ย. 56 หดตัวร้อยละ -3.8 เนื่องจากการชะลอตัวลงของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าสำคัญอย่างประเทศจีน และกลุ่มสหภาพยุโรป ประกอบกับดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรหดตัวต่อเนื่องจากเดือนก่อนหน้ามาอยู่ที่ร้อยละ -4.4 เนื่องจากเผชิญปัญหาภัยแล้งที่ส่งผลต่อการเพาะปลูก นอกจากนั้นเศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 1/56 ยังขยายตัวได้ต่ำกว่าที่คาด ทำให้สศค.เตรียมปรับตัวเลขประมาณการเศรษฐกิจไทยในปี 56 ลงอีกครั้งในช่วงสิ้นเดือน มิ.ย.56 เพื่อให้สามารถสะท้อนภาพของเศรษฐกิจไทยได้ชัดเจนขึ้น
2. ครม. อนุมัติงบฯ 72,270 ล้านบาท พัฒนาภาคเหนือตอนล่าง 2
  • รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลการประชุมคณะรัฐมนตรีวันนี้ (10 มิ.ย.) ที่ประชุมให้ความเห็นชอบแผนยุทธศาสตร์การพัฒนากลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนล่าง 2 รวม 199 แผนงาน ในวงเงินงบประมาณ 72,270 ล้านบาท ภายใต้แนวทางการพัฒนา 4 ด้าน ประกอบด้วย การพัฒนากระบวนการผลิตสินค้าเกษตรสำคัญ การเพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตรและพัฒนาผลิตภัณฑ์แปรรูปจากสินค้าเกษตร การพัฒนาระบบขนส่งและกระจายสินค้า และศูนย์กลางการท่องเที่ยวเชิงนิเวศน์และการท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม
  • สศค.วิเคราะห์ว่า เศรษฐกิจภาคเหนือมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่อง โดยเศรษฐกิจภาคเหนือมีสัดส่วนประมาณร้อยละ 10 ของ GDP ทั้งประเทศ โดยมีสาขาเศรษฐกิจที่สำคัญ ได้แก่ 1) สาขาเกษตรกรรม มีสัดส่วนร้อยละ 30.4 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภาคเหนือ 2) สาขาอุตสาหกรรม มีสัดส่วนร้อยละ 16.8 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภาคเหนือ 3) สาขาค้าปลีก - ค้าส่ง มีสัดส่วนร้อยละ 8.0 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภาคเหนือ 4) สาขาบริหารภาครัฐ มีสัดส่วนร้อยละ 6.0 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภาคเหนือ และ 5) สาขาก่อสร้างและอสังหาริมทรัพย์ มีสัดส่วนร้อยละ 6.0 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภาคเหนือ เป็นต้น ทั้งนี้ การพัฒนาโครงการดังกล่าวจะเป็นการช่วยส่งเสริมให้เศรษฐกิจภาคเหนือมีแนวโน้มที่จะขยายตัวเพิ่มขึ้น
3. ญี่ปุ่นเผยยอดขายเกินดุลบัญชีเดินสะพัด 7.5 แสนล้านเยนในเดือน เม.ย.
  • กระทรวงการคลังญี่ปุ่นเปิดเผยว่า ในเดือน เม.ย. ญี่ปุ่นมียอดเกินดุลบัญชีเดินสะพัด อยู่ที่ 7.5 แสนล้านเยน ซึ่งเป็นการเกินบัญชีเดินสะพัดติดต่อกันเป็นเดือนที่ 3 นอกจากนี้ สำนักข่าวเกียวโดรายงานว่า บัญชีรายได้ ซึ่งเป็นมาตรวัดเม็ดเงินที่ญี่ปุ่นได้รับจากการลงทุนต่างประเทศนั้น มียอดเกินดุลที่ทำสถิติรายเดือนสูงสุด 2.12 ล้านล้านเยนในเดือน เม.ย. เพิ่มขึ้นร้อยละ 51.8 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว โดยมีสาเหตุส่วนหนึ่งมาจากการอ่อนค่าของเงินเยน ซึ่งทำให้รายได้จากการลงทุนในต่างประเทศคิดเป็นตัวเงินเพิ่มขึ้น
  • สศค. วิเคราะห์ว่า เมื่อธนาคารกลางญี่ปุ่นประกาศใช้มาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณและคุณภาพ (QQE ) ด้วยการอัดฉีดเงินจำนวน2.7 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ เข้าสู่ระบบในระยะเวลา2ปี (โดยมีวัตถุประสงค์ที่สำคัญเพื่อยุติปัญหาที่ประเทศจมอยู่ในภาวะเงินฝืดเฉลี่ยร้อยละ0.2 ต่อปีมาหลายทศวรรษ) ส่งผลให้หลังการประกาศมาตรการดังกล่าว เงินเยนก็อ่อนค่าลงอย่างรวดเร็วจนทะลุระดับ100 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งถือว่าอ่อนค่าที่สุดในรอบ4ปี ซึ่งหากนับตั้งแต่ต้นปี56 ก็อ่อนค่าลงมาแล้วกว่าร้อยละ18 และเป็นปัจจัยสำคัญที่เมื่อภาวะเงินเยนอ่อนค่าลงก็ส่งผลให้ต้นทุนด้านการนำเข้าให้สูงขึ้นและทำให้บัญชีเดินสะพัดเกินดุลต่อเนื่องกันมาหลายเดือน

ที่มา: Bureau of Macroeconomic Policy,Fiscal Policy Office, Ministry of Finance

Tel: 02-273-9020 Ext. 3257


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ