รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 12 มิถุนายน 2556

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday June 12, 2013 11:11 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 12 มิถุนายน 2556

Summary:

1. ธปท.เปิดเผยตลาดการเงินเชื่อมั่นกรอบงบประมาณปี 57 และแนะให้หาจัดเก็บรายได้เพิ่มขึ้น

2. กระทรวงพาณิชย์ยังไม่พิจารณาปรับขึ้นราคาน้ำปลา-นมสด

3. BOJ คงมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ

Highlight:

1. ธปท.เปิดเผยตลาดการเงินเชื่อมั่นกรอบงบประมาณปี 57 และแนะให้หาจัดเก็บรายได้เพิ่มขึ้น
  • ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวชี้แจงต่อคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2557 ว่า การตั้งกรอบรายจ่ายไว้ที่ 2.5 ล้านล้านบาท โดยมีรายรับ 2.3 ล้านล้านบาท ขาดดุล 2.5 แสนล้านบาทนั้น มองว่าตลาดการเงินยังเชื่อมั่นในกรอบงบประมาณปี 2557 ทั้งนี้ ธปท.เห็นว่าการจัดเก็บรายได้ตามกรอบงบประมาณเป็นไปได้ และขอแนะนำเพิ่มเติมว่าควรหาแนวทางจัดเก็บรายได้เพิ่มขึ้นในระดับใกล้เคียงกับประเทศพัฒนาแล้วที่จัดเก็บได้ร้อยละ 30 และควรพิจารณางบลงทุนเพิ่มขึ้น เพราะส่วนใหญ่ที่เพิ่มเป็นงบรายจ่ายประจำ ซึ่งมีสัดส่วนถึงร้อยละ 79.9 ของกรอบงบประมาณ ซึ่งเพิ่มขึ้นกว่าปีที่แล้วร้อยละ 6.2 แต่งบเพื่อมการลงทุนมีสัดส่วนเพียงร้อยละ 17.5 ของงบประมาณ ลดลงกว่าปีที่แล้วร้อยละ 2.1
  • สศค . วิเคราะห์ว่า โครงสร้างรายจ่ายงบประมาณรายจ่ายประจำปี 57 ประกอบด้วย(1) รายจ่ายประจำ จำนวน 2.0 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 79.9 ของกรอบงบประมาณ เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.1 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยงบเงินอุดหนุนได้ปรับเพิ่มขึ้นสูงสุดร้อยละ 8.0 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน รองลงมาได้แก่งบบุคลากรที่ปรับเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.0 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ตามนโยบายการเพิ่มเงินเดือนให้กับบุคลากรของรัฐ(2) รายจ่ายลงทุน 0.4 ล้านล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 17.5 ของกรอบงบประมาณ เนื่องจากรัฐบาลได้นำงบประมาณที่จะลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานแยกออกมาจัดทำเป็นร่างพระราชบัญญัติให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพิ่มการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของประเทศ พ.ศ .... ประมาณ 2 ล้านล้านบาท และ (3) รายจ่ายเพื่อชดใช้เงินคงคลังและรายจ่ายเพื่อชำระต้นเงินกู้จำนวน 66.2 หมื่นล้านบาท ทั้งนี้ รัฐบาลคาดว่าจะจัดเก็บรายได้ประมาณ 2.3 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 8.3 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน คิดเป็นร้อยละ 17.1 ของ GDP เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 16.7 จากปีก่อนหน้า
2.กระทรวงพาณิชย์ยังไม่พิจารณาปรับขึ้นราคาน้ำปลา-นมสด
  • รองอธิบดีกรมการค้าภายใน เปิดเผยว่า ขณะนี้มีผู้ผลิตสินค้ากลุ่มน้ำปลาและผลิตภัณฑ์นมสดพร้อมดื่ม 2-3 ราย ยื่นขอปรับขึ้นราคาสินค้า อีกทั้งในขณะนี้สินค้าที่ยื่นขอปรับราคาส่วนใหญ่ไม่ได้เป็นสินค้าที่จำหน่ายตามร้านค้าหรือห้างสรรพสินค้า แต่เป็นสินค้าเฉพาะกลุ่มที่จำหน่ายในโรงแรม รีสอร์ท และร้านเครื่องดื่ม โดยผู้ผลิตอ้างว่าจะไม่กระทบต่อราคาขายปลีกทั่วไป อีกทั้งต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้นและไม่ได้มีการปรับขึ้นราคามานานแล้วจึงไม่น่าจะส่งกระทบต่อราคาขายปลีกทั่วไป อย่างไรก็ตาม กรมการค้าภายในจะรับพิจารณาและตรวจสอบโครงสร้างราคาและต้นทุนก่อนว่าสมเหตุผลหรือไม่
  • สศค. วิเคราะห์ว่า การยื่นขอปรับขึ้นราคาสินค้าของผู้ผลิตเนื่องจากต้นทุนการผลิตของผู้ผลิตในปี 56 ปรับตัวสูงขึ้นจากปีก่อน สะท้อนจากดัชนีราคาผู้ผลิตของประเทศ (PPI)ในเดือน พ.ค. 56 ขยายตัวร้อยละ 1.2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ทำให้ในช่วง 5 เดือนแรกของปี 56 ขยายตัวร้อยละ 1.8 โดยดัชนีราคาผู้ผลิตในหมวดผลผลิตเกษตรกรรมในเดือน พ.ค. 56 ขยายตัวร้อยละ 3.1 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ทำให้ในช่วง 5 เดือนแรกของปี 56 ขยายตัวร้อยละ 2.4 ทั้งนี้ ดัชนีราคาผู้ผลิตของประเทศที่ปรับตัวสูงขึ้นสอดคล้องกับอัตราเงินเฟ้อของไทยที่ปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่องตั้งแต่ช่วงต้นปี 56 โดยล่าสุด อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือน พ.ค. 56 ขยายตัวร้อยละ 2.3 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าขยายตัวร้อยละ 0.2 ทำให้ในช่วง 5 เดือนแรกของปี 56 ขยายตัวร้อยละ 2.8 โดยเฉพาะหมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ซึ่งมีสัดส่วนน้ำหนักร้อยละ 33.5 ในตระกร้าเงินเฟ้อ ขยายตัวร้อยละ 4.0 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน อย่างไรก็ตาม มาตรการในการดูแลค่าครองชีพของประชาชน และการควบคุมต้นทุนด้านราคาสินค้าและพลังงานตามการบริหารนโยบายเศรษฐกิจของภาครัฐส่งผลให้แรงกดดันต่อเงินเฟ้อไม่ได้ปรับตัวสูงขึ้นมากนัก ทั้งนี้ สศค. คาดว่า อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 56 จะขยายตัวร้อยละ 3.0 โดยมีช่วงคาดการณ์ร้อยละ 2.5-3.5 (คาดการณ์ ณ เดือน มี.ค. 56)
3. BOJ คงมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ
  • ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ไม่มีมาตรการลดความผันผวนของอัตราดอกเบี้ยในตลาดพันธบัตรตามที่หลายฝ่ายคาดการณ์ไว้ พร้อมกับคงเงินมาตรการซื้อหลักทรัพย์เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจไว้ที่ 60-70 ล้านล้านเยน หรือ708 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ต่อปี ทั้งนี้ การไม่ออกมาตรการใดๆ แสดงให้เห็นว่า บีโอเจไม่ต้องการเพิ่มความตระหนกในตลาดตราสารหนี้และตลาดอัตราแลกเปลี่ยน ทั้งนี้อัตราดอกเบี้ยพันธบัตรรัฐบาลญี่ปุ่นลดความผันผวนลงโดยเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบร้อยละ 0.964 - 0.795 จากที่เคยอยู่ที่ร้อยละ 1 ก่อนหน้านั้น
  • สศค. วิเคราะห์ว่า การต่ออายุมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของธ.กลางจะช่วยเพิ่มปริมาณเงินที่หมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจและผลักดันให้ระดับราคาสินค้าของญี่ปุ่นสูงขึ้น เพื่อแก้ไขภาวะเงินฝืดที่กัดกร่อนมานาน ทั้งนี้ มาตรการผ่อนคลายทางการเงิน (QE 2 ) ดังกล่าวได้เริ่มตั้งแต่ที่เดือน เม.ย. ที่ผ่านมา ได้แก่ 1 ) การให้ความสำคัญกับฐานเงิน (money base ) แทนอัตราเงินเฟ้อ (inflation rate ) ซึ่งครอบคลุมถึงเงินที่หมุนเวียนอยู่ในมือของประชาชนและธนาคารพาณิชย์ที่ฝากไว้ที่ธนาคารกลาง และ 2 ) การเพิ่มปริมาณเงินให้ได้ปีละ 60-70 ล้านเยน เพื่อให้ฐานเงินสูงขึ้นจาก 135 ล้านล้านเยน เป็น 270 ล้านล้านเยน ภายในมี.ค. 58 ทั้งนี้ สศค. คาดว่า เศรษฐกิจญี่ปุ่นในปี 56 จะขยายตัวร้อยละ 1.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (คาดการณ์ ณ เดือน มี.ค. 56)

ที่มา: Bureau of Macroeconomic Policy,Fiscal Policy Office, Ministry of Finance

Tel: 02-273-9020 Ext. 3257


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ