Macro Morning Focus ประจำวันที่ 14 มิถุนายน 2556
1. ผู้ว่า กนอ. เผย แผนนิคมอุตสาหกรรมใหม่ เงินลงทุนสะพัด 8.9 แสนล้านบาท
2. ธนาคารโลกปรับลดตัวเลขคาดการณ์เศรษฐกิจโลก
3. อัตราการว่างงานออสเตรเลีย เดือนพ.ค. 56 ลดลงอยู่ที่ร้อยละ 5.5 ของกำลังแรงงานรวม
Highlight:
- นายวีรพงศ์ ไชยเพิ่ม ผู้ว่าการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เปิดเผยความคืบหน้าในการพัฒนาพื้นที่อุตสาหกรรมตามนโยบายรัฐบาล เพื่อรองรับความต้องการของนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศที่เข้ามาลงทุนในไทยว่า ขณะนี้ผู้พัฒนานิคมอุตสาหกรรมได้ยื่นข้อเสนอขอจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมใหม่ต่อ กนอ.จำนวน 28 โครงการ ในพื้นที่ 14,000 ไร่ วงเงินในการลงทุนรวม 890,000 ล้านบาท และเกิดการจ้างงาน 530,000 อัตรา โดย กนอ.จะเพื่อพิจารณาความเหมาะสมของพื้นที่จัดตั้งและผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เนื่องจากมีจำนวนวนักลงทุนสนใจเข้ามาลงทุนมากขึ้น ขณะที่พื้นที่นิคมอุตสาหกรรมในประเทศลดลง
- สศค. วิเคราะห์ว่า นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล รวมถึงความคืบหน้าของโครงการบริหารจัดการน้ำ 3.5 แสนล้านบาท ประกอบกับอุปสงค์ในประเทศที่ขยายตัวดีต่อเนื่อง ทำให้ภาคการผลิต โดยเฉพาะอุตสาหกรรมของประเทศ ซึ่งมีสัดส่วนสูงถึงกว่าร้อยละ 40 ของ GDP ฟื้นตัวต่อเนื่อง สะท้อนจากดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรม (MPI) ในไตรมาส 1 ปี 56 ที่ขยายตัวร้อยละ 1.2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน เร่งขึ้นมากจากช่วงที่ภาคอุตสาหกรรมได้รับผลกระทบจากมหาอุทกภัยสูงสุด ในช่วงไตรมาส 4 ปี 54 ที่หดตัวสูงถึงร้อยละ -34.4 อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มชะลอลงต่อเนื่อง อาจส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุน และอาจส่งให้มีการชะลอการลงทุน ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อภาพรวมของเศรษฐกิจไทยได้ในระยะต่อไป
- ธนาคารโลก (World Bank) ปรับลดตัวเลขคาดการณ์อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกในปี 56 จากเดิมที่เคยคาดการณ์ ณ เดือน ม.ค. 56 ที่ร้อยละ 2.4 เป็นร้อยละ 2.2 ทั้งนี้ แม้ว่าเศรษฐกิจของประเทศที่พัฒนาแล้วได้เริ่มฟื้นตัว (ยกเว้นเศรษฐกิจยูโรโซนที่ยังคงหดตัวต่อเนื่อง) แต่เศรษฐกิจประเทศกำลังพัฒนาที่เคยเป็นแรงผลักดันเศรษฐกิจโลกเริ่มขยายตัวในอัตราชะลอลง จึงทำให้ธนาคารโลกปรับลดตัวเลขคาดการณ์ดังกล่าว รวมทั้งได้ประกาศตัวเลขคาดการณ์เศรษฐกิจโลกว่าจะขยายตัวร้อยละ 3 และ 3.3 ในปี 57 และ 58 ตามลำดับ ทั้งนี้ ธนาคารโลกคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจจีนจะขยายตัว ร้อยละ 7.7 จากเดิมที่เคยคาดการณ์ไว้ที่ร้อยละ 8.4 รวมทั้งปรับลดอัตราการขยายตัวของยูโรโซนจากร้อยละ -0.1 เป็นร้อยละ -0.6 อย่างไรก็ตาม ธนาคารโลกได้ปรับเพิ่มตัวเลขคาดการณ์เศรษฐกิจของสหรัฐฯ และและญี่ปุ่นซึ่งคาดการณ์ว่าจะเศรษฐกิจมีแนวโน้มที่ดีขึ้นจากการกระตุ้นทางนโยบายการเงินและการคลัง โดยปรับตัวเลขของสหรัฐฯ จากร้อยละ 1.9 เป็นร้อยละ 2.0 และตัวเลขคาดการณ์เศรษฐกิจญี่ปุ่นจากร้อยละ 0.8 เป็น 1.4
- สศค. วิเคราะห์ว่า การที่ธนาคารโลกปรับตัวเลขคาดการณ์ลงอาจมีสาเหตุจากตัวเลขทางเศรษฐกิจของประเทศกำลังพัฒนาเช่น จีน ซึ่งมีสัดส่วน GDP คิดเป็นร้อยละ 11.8 ของ GDP โลก มีแนวโน้มชะลอลง สะท้อนจากตัวเลข GDP ในไตรมาสที่ 1 ปี 56 ที่ขยายตัวเพียงร้อยละ 7.7 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ชะลอตัวลงจากไตรมาสก่อนที่ร้อยละ 7.9 นอกจากนี้ เศรษฐกิจของยูโรโซนฟื้นตัวล่าช้า สะท้อนจากอัตราการว่างงานเดือนเม.ย. 56 อยู่ที่ร้อยละ 12.2 ของกำลังแรงงานรวม อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจสหรัฐฯ คาดว่าจะขยายตัวต่อเนื่อง ถึงแม้จะได้รับผลกระทบจากการตัดลดงบประมาณรายจ่ายก็ตาม อีกทั้งเศรษฐกิจญี่ปุ่น คาดว่าจะยังคงขยายตัวได้ในอัตราต่ำ ตามอัตราการขยายตัวศักยภาพ (Potential Growth )โดยค่าเงินเยนที่อ่อนค่าลงมากจะเป็นหนึ่งในปัจจัยที่ช่วยเอื้อภาคการส่งออกญี่ปุ่น ทั้งนี้ สศค.คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจโลกในปีนี้จะขยายตัวร้อยละ 3.6 ณ เดือน มี.ค. 56 อย่างไรก็ตาม สถานการณ์เศรษฐกิจโลกล่าสุดที่มีความเสี่ยงของการชะลอตัวอย่างชัดเจน ส่งผลให้ สศค. จะปรับประมาณการเศรษฐกิจโลก ในการประมาณการ เดือน มิ.ย. 56 ที่จะถึงนี้
- สำนักงานสถิติแห่งชาติออสเตรเลียประกาศอัตราว่างงาน เดือนพ.ค. 56 อยู่ที่ร้อยละ 5.5 ของกำลังแรงงานรวม ลดลงจากเดือนก่อนที่ร้อยละ 5.6 ของกำลังแรงงานรวม โดยพบว่าตัวเลขการจ้างงานแบบเต็มเวลา (Full Time) ลดลง 5,300 ตำแหน่ง ในขณะที่การจ้างงานแบบไม่เต็มเวลา (Part Time) เพิ่มขึ้น 6,400 ตำแหน่ง ส่งผลให้อัตราการจ้างงานโดยรวมเพิ่มขึ้น 1,100 ตำแหน่ง
- สศค. วิเคราะห์ว่า ตัวเลขการว่างงานที่ลดลงในเดือนพ.ค. 56 นี้ เป็นผลจากการจ้างงานแบบไม่เต็มเวลาที่สูงขึ้น ส่งสัญญาณถึงอุปสงค์ในประเทศที่ยังคงขยายตัวได้ สอดคล้องกับยอดค้าปลีกที่ขยายตัวต่อเนื่อง โดยล่าสุดในเดือนเม.ย. 56 อยู่ที่ร้อยละ 3.3 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ซึ่งเป็นปัจจัยสนับสนุนต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจออสเตรเลียจากสัดส่วนการพึ่งพาการบริโภคภาคเอกชนถึงร้อยละ 53.0 ของ GDP (สัดส่วนปี 55) อย่างไรก็ตาม เมื่อดูในรายละเอียดพบว่าการจ้างงาน Part Time เพิ่มขึ้น ขณะที่การจ้างงานแบบ Full Time ลดลง ซึ่งส่วนหนึ่งมาจากค่าจ้างที่อยู่ในระดับสูง ประมาณ 16 ดอลลาร์ออสเตรเลียต่อสัปดาห์ บ่งชี้ถึงโครงสร้างตลาดแรงงานออสเตรเลียที่เน้นการจ้างงานแบบไม่เต็มเวลาเพิ่มขึ้น ซึ่งอาจส่งผลให้การขยายตัวของเศรษฐกิจออสเตรเลียเป็นไปอย่างเปราะบาง สะท้อนจาก GDP ไตรมาสแรกปี 56 ขยายตัวชะลอลงอยู่ที่ร้อยละ 2.4 เทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน จากเดิมซึ่งขยายตัวอยู่ที่ร้อยละ 3.0 นับว่าขยายตัวในอัตราต่ำสุดในรอบ 8 ไตรมาส ซึ่งเป็นผลมาจากการลงทุนของภาครัฐที่หดตัวลงเป็นสำคัญ
ที่มา: Bureau of Macroeconomic Policy,Fiscal Policy Office, Ministry of Finance
Tel: 02-273-9020 Ext. 3257