รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 18 มิถุนายน 2556

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday June 18, 2013 14:31 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 18 มิถุนายน 2556

Summary:

1. ก.เกษตรคาดผลผลิต 56/57 ข้าวนาปีเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.95 จากผลพวงโครงการรับจำนำข้าว

2. ธปท. ยอมรับเงินบาทผันผวนมากขึ้น ตามการไหลเข้า-ออกของเงินทุนที่เร็วขึ้น

3. ยูโรโซนเกินดุลการค้าลดลงในเดือนเม.ย. หลังส่งออกหดตัว

Highlight:

1. ก.เกษตรคาดผลผลิต 56/57 ข้าวนาปีเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.95 จากผลพวงโครงการรับจำนำข้าว
  • ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการพัฒนาคุณภาพข้อมูลด้านการเกษตรว่า ได้รับทราบรายงานผลการพยากรณ์ปริมาณการผลิตสินค้าเกษตร ปี 56/57 ของสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร โดยคาดว่าข้าวนาปีปี 56/57 จะมีผลผลิตประมาณ 28.44 ล้านตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.95 พืชไร่คาดว่ามีผลผลิตประมาณ 4.88 ล้านตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.06 มันสัมปะหลัง คาดว่ามีผลผลิต ประมาณ 28.22 ล้านตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.7 และอ้อยโรงงานคาดว่ามีผลผลิตประมาณ 106.94 ล้านตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.87 เป็นต้น
  • สศค. วิเคราะห์ว่า แนวโน้มข้าวนาปีในปีเพาะปลูก 56/57 คาดว่าผลผลิตจะเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับปีที่แล้ว ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากสภาพดินฟ้าอากาศที่เอื้ออำนวยต่อการเพาะปลูกและสถานการณ์ภัยแล้งที่เริ่มคลี่คลายลง ประกอบกับแรงจูงใจด้านราคาข้าวที่ยังคงทรงตัวในระดับสูง จากโครงการรับจำนำข้าวเปลือกของรัฐบาล อย่างไรก็ดี หากผลผลิตภาคเกษตรเพิ่มขึ้น จะส่งผลดีต่อ GDP ภาคเกษตรให้เพิ่มขึ้น และส่งผลให้รายได้รายได้เกษตรกรเพิ่มขึ้น ซึ่งจะเป็นปัจจัยหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในส่วนภูมิภาคต่อไปทั้งนี้ ในช่วง 4 เดือนแรกปี 56 ดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรขยายตัวเล็กน้อยที่ร้อยละ 0.3 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ตามการขยายตัวของปริมาณผลผลิตสินค้าเกษตร อาทิ ยางพารา มันสำปะหลัง และอ้อยโรงงานป็นสำคัญ ขณะที่ดัชนีราคาสินค้าเกษตร หดตัวร้อยละ -3.9 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน
2.ธปท. ยอมรับเงินบาทผันผวนมากขึ้น ตามการไหลเข้า-ออกของเงินทุนที่เร็วขึ้น
  • ผู้ช่วยผู้ว่าการสายตลาดการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า แนวโน้มการเคลื่อนไหวการลงทุนของต่างชาติจากนี้ จะมีความผันผวนและเคลื่อนไหวเข้าออกอย่างรวดเร็วมากขึ้น ซึ่งแม้ว่า ธปท. จะพยายามดูแลไม่ให้การไหลเข้าออกหรือผลของการไหลเข้าออกกระทบต่อตลาดการเงินและอัตราแลกเปลี่ยนมากนัก แต่นักลงทุนและผู้ที่เกี่ยวข้องจำเป็นจะต้องติดตามข่าวสารที่เกี่ยวข้อง ซึ่งตลาดการเงินขณะนี้ค่อนข้างอ่อนไหวกับปัจจัยที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว รวมถึงการติดตามถ้อยแถลงของทางการสหรัฐฯ ต่อกรณีการยกเลิกหรือชะลอการดำเนินนโยบายผ่อนคลายทางการเงิน
  • สศค . วิเคราะห์ว่าสถานการณ์ค่าเงินบาทในเดือน มิ.ย. 56 แม้จะมีความผันผวนแต่แนวโน้มทิศทางโดยรวมยังคงมีทิศทางอ่อนค่าลงต่อเนื่องตามเงินทุนเคลื่อนย้ายที่ไหลออกจากประเทศไทย โดยเฉพาะจากตลาดหลักทรัพย์ที่นักลงทุนต่างชาติมียอดขายสุทธิในเดือน มิ.ย. 56 มากกว่า 3.2 หมื่นล้านบาท ทำให้ค่าเงินบาทอ่อนค่าลงมาอยู่ที่ระดับ 30.65 บาท/ดอลล่าร์สหรัฐ ซึ่งถ้าเทียบกับระดับที่แข็งค่าที่สุดในเดือน เม.ย. ที่ 28.7 บาท/ดอลล่าร์สหรัฐ จะคิดเป็นการอ่อนค่าลงมากถึงร้อยละ 6.8 ภายในระยะเวลา 2 เดือน อย่างไรก็ดีในสัปดาห์นี้ตลาดการเงินกำลังจับตาการประชุมของเฟดในวันที่ 19 มิ.ย. 56 ในการตัดสินใจการดำเนินมาตรการผ่อนขยายเชิงปริมาณ (Quantitative Easing : QE)จึงทำให้ตลาดการเงินค่อนข้างผันผวนทั้ง ค่าเงินสหรัฐฯ ค่าเงินเยน และอัตราผลตอบแทนพันธบัตรอายุ 10 ปีของสหรัฐฯ
3. ยูโรโซนเกินดุลการค้าลดลงในเดือน เม.ย. หลังส่งออกหดตัว
  • สำนักงานสถิติแห่งชาติของสหภาพยุโรป (ยูโรสแตท) เปิดเผยในวันนี้ว่า ยูโรโซนมียอดเกินดุลการค้า 1.49 หมื่นล้านยูโร (1.99 หมื่นล้านดอลลาร์) ในเดือน เม.ย. ซึ่งยอดเกินดุลดังกล่าวลดลงเกือบร้อยละ 30 เมื่อเทียบกับที่เกินดุลการค้า 2.29 หมื่นล้านยูโรในเดือน มี.ค. นอกจากนี้ ยูโรสแตทระบุว่าในเดือนเม.ย. การส่งออกลดลงร้อยละ 0.8 แต่การนำเข้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.5 จากเดือน มี.ค.
  • สศค. วิเคราะห์ว่า สัญญาณการลดลงของดุลการค้าดังกล่าว สะท้อนการชะลอตัวของอุปสงค์สินค้าของบรรดาประเทศคู่ค้าของกลุ่มยูโรโซน ดังนั้นการส่งออกที่แข็งแกร่งของยูโรโซนอาจจะไม่สามารถเกิดขึ้นได้อย่างต่อเนื่อง จึงเป็นปัจจัยที่ทำให้ธนาคารกลางยูโรป (ECB)หันมากระตุ้นเศรษฐกิจด้านการบริโภคและการลงทุน ผ่านมาตรการทางเงิน โดยปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงสู่ระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ที่ร้อยละ 0.5

ที่มา: Bureau of Macroeconomic Policy,Fiscal Policy Office, Ministry of Finance

Tel: 02-273-9020 Ext. 3257


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ