ฐานะการคลังภาคสาธารณะ (รัฐบาล องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และรัฐวิสาหกิจ)

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday June 20, 2013 09:21 —กระทรวงการคลัง

ฐานะการคลังภาคสาธารณะ (รัฐบาล องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และรัฐวิสาหกิจ) ตามระบบสถิติเพื่อการศึกษาวิเคราะห์นโยบายการคลัง : สศค. หรือ GFS ไตรมาสที่ 2 (มกราคม — มีนาคม 2556) และช่วงครึ่งแรกของปีงบประมาณ 2556

นายสมชัย สัจจพงษ์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลังแถลงฐานะการคลังของภาคสาธารณะตามระบบ สศค. หรือ GFS ไตรมาสที่ 2 เกินดุล 4.4 หมื่นล้านบาท ในขณะที่ช่วงครึ่งแรกของปีงบประมาณ 2556 ดุลการคลังของภาคสาธารณะขาดดุล 2.29 แสนล้านบาท โดยมีรายละเอียดดังนี้

1. ฐานะการคลังของภาคสาธารณะไตรมาสที่ 2 ของปีงบประมาณ 2556 เกินดุล 44,185 ล้านบาท

สูงกว่าช่วงเดียวกันของปีที่แล้วจำนวน 186,702 ล้านบาท หรือร้อยละ 131

1.1 ฐานะการคลังรัฐบาล รัฐบาลมีรายได้จำนวน 590,762 ล้านบาท สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้ว 40,392 ล้านบาท หรือร้อยละ 7.3 ประกอบด้วยรายได้รัฐบาล 484,226 ล้านบาท สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้ว 45,378 ล้านบาท ซึ่งมีสาเหตุหลักจากการจัดเก็บรายได้ภาษีมูลค่าเพิ่ม และภาษีสรรพสามิตรถยนต์เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีที่แล้วจำนวน 14,807 และ 13,235 ล้านบาท ตามลำดับ อย่างไรก็ดี รายได้ของกองทุนนอกงบประมาณมีจำนวน 106,536 ล้านบาท ต่ำกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้ว 4,985 ล้านบาท ส่วนหนึ่งเกิดจากกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองมีรายได้จากเงินช่วยเหลือที่ได้รับจากรัฐบาลต่ำกว่าปีที่แล้ว ด้านรายจ่ายมีจำนวน 672,444 ล้านบาท ต่ำกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้ว 193,798 ล้านบาท ประกอบด้วยรายจ่ายรัฐบาล 599,275 ล้านบาท ต่ำกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้ว 204,941 ล้านบาท เนื่องจาก พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีฯ 2555 ล่าช้าจึงทำให้มีการเบิกจ่ายมากในไตรมาสที่ 2 ของปีงบประมาณ 2555 ในขณะที่ พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีฯ 2556 มีผลบังคับใช้ตั้งแต่ต้นปีจึงทำให้การเบิกจ่ายค่อนข้างสม่ำเสมอในไตรมาส 1 - 2 ปี 2556 โดยในไตรมาสที่ 2 นี้มีรายจ่ายจากเงินกู้เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน (DPL) จำนวน 3,190 ล้านบาท รายจ่ายเพื่อวางระบบการบริหารจัดการน้ำจำนวน 2,476 ล้านบาท และรายจ่ายตามแผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็งจำนวน 1,723 ล้านบาท สำหรับกองทุนนอกงบประมาณมีรายจ่าย 65,780 ล้านบาท สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้ว 9,574 ล้านบาท เป็นผลจากกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองมีรายจ่ายเพิ่มขึ้น จากรายได้และรายจ่ายดังกล่าว ส่งผลให้ดุลการคลังของรัฐบาลขาดดุล 81,682 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันปีที่แล้ว 315,873 ล้านบาท

1.2 ฐานะการคลังองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) อปท. จำนวน 7,853 แห่ง มีรายได้ 136,944 ล้านบาท ต่ำกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้ว 43,798 ล้านบาท หรือร้อยละ 24.2 เนื่องจากช่วงเดียวกันปีที่แล้วได้รับเงินอุดหนุนค่อนข้างมากในไตรมาสที่ 2 จากการที่ พ.ร.บ. งบประมาณรายจ่ายประจำปีฯ 2555 ล่าช้า ประกอบกับในไตรมาสนี้ อปท.ไม่ได้รับจัดสรรภาษีมูลค่าเพิ่มตาม พ.ร.บ. กำหนดแผนฯ ในขณะที่ช่วงเดียวกันปีที่แล้วได้รับการจัดสรรภาษีดังกล่าว 13,000.6 ล้านบาท ในด้านรายจ่ายคาดว่า อปท. มีรายจ่ายจำนวน 104,497 ล้านบาท สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้ว 18,236 ล้านบาท หรือร้อยละ 21.1 ส่งผลให้ดุลการคลัง อปท. เกินดุล 32,447 ล้านบาท ขณะที่ช่วงเดียวกันปีที่แล้วเกินดุล 94,481 ล้านบาท

1.3 ฐานะการคลังของรัฐวิสาหกิจ รัฐวิสาหกิจที่ไม่ใช่สถาบันการเงินมีรายได้จำนวน 1,161,326 ล้านบาท สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้ว 61,691 ล้านบาท หรือร้อยละ 5.6 และมีรายจ่ายรวม 1,067,906 ล้านบาท สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้ว 47,146 ล้านบาท หรือร้อยละ 4.6 ส่งผลให้ดุลการคลังของรัฐวิสาหกิจตามระบบ สศค. เกินดุลทั้งสิ้น 93,420 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีที่แล้วร้อยละ 18.4

2. ฐานะการคลังของภาคสาธารณะในช่วงครึ่งแรกของปีงบประมาณ 2556 ขาดดุลรวม 229,915 ล้านบาท ขาดดุลต่ำกว่าช่วงเดียวกันของปีที่แล้วจำนวน 80,164 ล้านบาท หรือร้อยละ 25.9

2.1 ฐานะการคลังรัฐบาล ในช่วงครึ่งแรกของปีงบประมาณ 2556 มีรายได้ 1,290,323 ล้านบาท โดยประกอบด้วยรายได้รัฐบาล 1,005,634 ล้านบาท สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้ว 155,818 ล้านบาท หรือร้อยละ 18.3 เป็นผลจากการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม และภาษีสรรพสามิตรถยนต์ที่เพิ่มขึ้นมากเป็นสำคัญ นอกจากนี้กองทุนนอกงบประมาณมีรายได้รวม 284,690 ล้านบาท สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้ว 67,233 ล้านบาท หรือร้อยละ 30.9 มีสาเหตุสำคัญจากกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง และกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงมีรายได้เพิ่มขึ้น 22,577 และ 20,506 ล้านบาท ตามลำดับ สำหรับรายจ่ายมีจำนวนทั้งสิ้น 1,633,874 ล้านบาท ประกอบด้วยรายจ่ายรัฐบาล 1,380,635 ล้านบาท สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้ว 72,713 ล้านบาท และรายจ่ายกองทุนนอกงบประมาณ 238,410 ล้านบาท ทั้งนี้ มีรายจ่ายเงินกู้เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน (DPL) รายจ่ายเพื่อวางระบบการบริหารจัดการน้ำ และรายจ่ายตามแผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็งจำนวน 6,704 5,259 และ 2,866 ล้านบาท ตามลำดับ จากรายได้และรายจ่ายดังกล่าวส่งผลให้ดุลการคลังของรัฐบาลขาดดุล 343,550 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันปีที่แล้ว 112,359 ล้านบาท

2.2 ฐานะการคลังขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น อปท. จำนวน 7,853 แห่ง มีรายได้รวม 279,088 ล้านบาท สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้ว 7,268 ล้านบาท หรือร้อยละ 2.7 เนื่องจากมีรายได้ที่จัดเก็บเองและรายได้จากเงินอุดหนุนเพิ่มขึ้น 4,634 และ 4,372 ล้านบาท ตามลำดับ ด้านรายจ่ายของ อปท. มีจำนวนทั้งสิ้น 209,681 ล้านบาท สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้ว 20,495 ล้านบาท หรือร้อยละ 10.8 ส่งผลให้ดุลการคลังของ อปท. เกินดุล 69,407 ล้านบาท ขณะที่ช่วงเดียวกันปีที่แล้วเกินดุล 82,634 ล้านบาท

2.3 ฐานะการคลังของรัฐวิสาหกิจ รัฐวิสาหกิจที่ไม่ใช่สถาบันการเงินมีรายได้จำนวน 2,352,906

ล้านบาท สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้ว 300,107 ล้านบาท หรือร้อยละ 14.6 และมีรายจ่ายจำนวน 2,308,678 ล้านบาท สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้ว 319,075 ล้านบาท หรือร้อยละ 16 ส่งผลให้ดุลการคลังของรัฐวิสาหกิจตามระบบ สศค. เกินดุลทั้งสิ้น 44,228 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีที่แล้วร้อยละ 30

--ข่าวกระทรวงการคลัง กลุ่มการประชาสัมพันธ์ สนง.ปลัดกระทรวงการคลัง ฉบับที่ 63/2556 19 มิถุนายน 2556--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ