รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 20 มิถุนายน 2556

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday June 20, 2013 11:34 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 20 มิถุนายน 2556

Summary:

1. IMFเตือนไทยระวังเงินเฟ้อ-หนี้ครัวเรือนสูง

2. ความสามารถในการแข่งขันของไทยดีขึ้นอยู่ในอันดับที่ 27

3. ญี่ปุ่นขาดดุลการค้าเป็นเดือนที่ 11

Highlight:

1. IMFเตือนไทยระวังเงินเฟ้อ-หนี้ครัวเรือนสูง
  • คณะผู้แทนกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ประเมินเศรษฐกิจไทยปี 56 ว่ามีความสามารถในการปรับตัวจากวิกฤตภายนอกได้ดี ไม่ว่าจะเป็นผลจากวิกฤตการเงินโลก และมหาอุทกภัยในปี 54 เป็นผลมาจากพื้นฐานทางเศรษฐกิจที่แข็งแกร่ง โดยคาดว่าทั้งปี 56 และ 57 เศรษฐกิจไทยจะขยายตัวได้ที่ร้อยละ 4.75 และ 5.25 ตามลำดับ โดยมีแรงขับเคลื่อนสำคัญจากอุปสงค์ภาคเอกชนที่ขยายตัวในเกณฑ์ดีและการเร่งใช้จ่ายของภาครัฐ อย่างไรก็ตาม IMF มีความกังวลจากการขยายบทบาทของสถาบันการเงินเฉพาะกิจ (SFIs) และระดับหนี้ภาคครัวเรือนที่เพิ่มขึ้น จากนโยบายการกระตุ้นการบริโภคในประเทศในระยะสั้น และย้ำว่าเป็นเรื่องที่ทางการไทยยังต้องติดตามต่อไป
  • สศค.วิเคราะห์ว่า ข้อมูลล่าสุดในไตรมาสที่ 1 ปี 2556 ยอดสินเชื่อรวมขยายตัวร้อยละ 15.8 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน แบ่งเป็น สินเชื่ออุปโภคบริโภคขยายตัวร้อยละ 20.0 โดยเฉพาะสินเชื่อเพื่อการซื้อหรือเช่าซื้อรถยนต์และรถจักรยานยนต์ที่ขยายตัวร้อยละ 33.7 และสินเชื่ออุปโภคบริโภคกรณีไม่รวมสินเชื่อเพื่อการซื้อหรือเช่าซื้อรถยนต์และรถจักรยานยนต์พบว่า ขยายตัวที่ร้อยละ 15.1 ขณะที่สินเชื่อในหมวดอสังหาริมทรัพย์ไม่ได้ขยายตัวมากนัก โดยหนี้ครัวเรือนที่ขยายตัวส่วนหนึ่งมาจากภาวะเศรษฐกิจไทยที่ขยายตัวดี และนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลจากวิกฤตอุทกภัยในปี 54 โดยเฉพาะนโยบายรถคันแรกและ การสนับสนุนการเข้าถึงแหล่งเงินทุน (Access to Finance) ทั้งนี้ สศค. ประเมินว่า อัตราการขยายตัวของหนี้ครัวเรือนจะกลับสู่ภาวะปกติหลังจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจสิ้นสุดลง นอกจากนี้ หนี้ครัวเรือนของไทยต่อรายได้ครัวเรือนในปี 55 อยู่ที่ร้อยละ 81.9 ซึ่งถือว่าอยู่ในระดับปานกลางเทียบกับต่างประเทศ เช่น ประเทศโปรตุเกสและไอร์แลนด์ อยู่ในระดับร้อยละ 101.7 กับร้อยละ 119.5 ตามลำดับ
2. ความสามารถในการแข่งขันของไทยดีขึ้นอยู่ในอันดับที่ 27
  • โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า สมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทยได้รายงานสรุปและวิเคราะห์ผลการจัดอันดับความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยในปี 2556 ซึ่งทำการจัดอันดับโดยสถาบัน International Institute for Management Development (IMD) ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ โดยได้จัดอันดับประเทศต่าง ๆ รวม 60 ประเทศทั่วโลก ซึ่งปีนี้ประเทศสหรัฐอเมริกาได้รับการจัดอันดับอยู่ในอันดับสูงที่สุด รองลงมาได้แก่ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ และฮ่องกง ตามลำดับ ส่วนประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 27 จากทั้งหมด 60 ประเทศ ซึ่งถือว่าอยู่ในอันดับที่ดีขึ้น 3 อันดับ (ปี 2555 อยู่ในอันดับที่ 30)
  • สศค . วิเคราะห์ว่า การที่อันดับขีดความสามารถในการแข่งขันของไทยที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น นั้น ซึ่งเป็นไปตามแนวทางการจัดทำยุทธศาสตร์ประเทศของรัฐบาลที่จะนำไปสู่การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ที่ให้ความสำคัญกับ 4 ยุทธศาสตร์หลักด้วยกัน คือ 1) ยุทธศาสตร์สร้างความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (Growth & Competitiveness) 2) ยุทธศาสตร์สร้างโอกาสบนความเสมอภาคและเท่าเทียมกันทางสังคม (Inclusive Growth) 3) ยุทธศาสตร์การเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (Green Growth) และ4) ยุทธศาสตร์ปรับสมดุลและพัฒนาระบบการบริหารจัดการภาครัฐ ซึ่งยุทธศาสตร์ทั้ง 4 ด้านมีเป้าหมายการพัฒนาประเทศที่จะทำให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวอย่างต่อเนื่อง และส่งเสริมให้ประชาชนมีรายได้ต่อหัวเพิ่มขึ้น เพื่อให้คนไทยสามารถหลุดพ้นกับดักประเทศรายได้ปานกลาง (Middle Income Trap) โดยให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดี มีความเสมอภาคและเป็นธรรม โดยการสร้างรายได้จากการพัฒนา เพื่อให้เกิดความสมดุล และการพัฒนาอย่างยั่งยืน ซึ่งเป็นการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ทั้งนี้ อันดับขีดความสามารถในการแข่งขันของไทยเมื่อเทียบกับกลุ่มอาเซียนจำนวน 5 ประเทศ พบว่า ไทยอยู่ในอันดับที่ 3 ซึ่งสูงกว่า ฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซีย แต่อยู่ในอันดับรองจาก สิงค์โปร์และมาเลเซีย
3. ญี่ปุ่นขาดดุลการค้าเป็นเดือนที่ 11
  • กระทรวงการคลังญี่ปุ่น เผยยอดการค้าในเดือน พ.ค. นี้ ว่า ขาดดุลอยู่ที่ระดับ 990 พันล้านเยน ทำลายสถิติขาดดุลการค้าติดต่อกันเป็นเดือนที่ 11 เนื่องจากค่าเงินเยนอ่อนค่า ส่งผลให้ราคาสินค้านำเข้าปรับตัวสูงขึ้น สำหรับการส่งออกของญี่ปุ่น ซึ่งเป็นแรงขับเคลื่อนหลักของการเติบโตทางเศรษฐกิจของญี่ปุ่นขยายตัวสูงขึ้น แต่ก็ไม่สามารถชดเชยผลกระทบที่เกิดจากการนำเข้าในอัตราที่สูงขึ้นได้ ทำให้ขาดดุลทางการค้า
  • สศค. วิเคราะห์ว่า ตัวเลขล่าสุดของมูลค่าส่งออกและนำเข้าแสดงให้เห็นถึงปัญหาการขาดดุลทางการค้าของประเทศญี่ปุ่น โดยมูลค่าส่งออกขยายตัวสูงขึ้นที่ร้อยละ 10.1 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ปรับตัวสูงขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวอยู่ที่ร้อยละ 3.8 หรือคิดเป็นมูลค่า 5.77 ล้านล้านเยน ทำสถิติเพิ่มขึ้นติดต่อกันเป็นเดือนที่ 3 โดยมูลค่าส่งออกไปจีนและอเมริกาขยายตัวสูงถึงร้อยละ 8.3 และ 16.3 ส่วนมูลค่านำเข้าขยายตัวที่ร้อยละ 10.0 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ปรับตัวสูงขึ้นเพียงเล็กน้อยจากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวอยู่ที่ร้อยละ 9.5 หรือคิดเป็นมูลค่า 6.76 พันล้านเยน โดยตั้งแต่ต้นปีจนถึงปัจจุบันญี่ปุ่นขาดดุลการค้าอยู่ที่ 4.7 ล้านล้านเยน อีกทั้ง ปัญหาค่าเงินเยนที่อ่อนตัวมาจากการใช้มาตรการผ่อนคลายนโยบายทางการเงินของญี่ปุ่นในเดือน เม.ย. ที่ผ่านมา ส่งผลให้มูลค่านำเข้าน้ำมันและก๊าซธรรมชาติเพิ่มสูงขึ้นด้วย

ที่มา: Bureau of Macroeconomic Policy,Fiscal Policy Office, Ministry of Finance

Tel: 02-273-9020 Ext. 3257


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ