รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 21 มิถุนายน 2556

ข่าวเศรษฐกิจ Friday June 21, 2013 11:09 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 21 มิถุนายน 2556

Summary:

1. ไทยได้รับรางวัลจาก FAO ลดคนอดอยากจาก 25 ล้านคนเหลือ 5 ล้านคน

2. ดัชนี HSBC Mfg. PMI ของจีน เดือน มิ.ย. 56 (ตัวเลขเบื้องต้น) อยู่ที่ระดับ ต่ำสุดในรอบ 9 เดือน ที่ 48.3 จุด

3. เงินรูปีอ่อนค่าต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 59.94 รูปีต่อดอลลาร์สหรัฐ

Highlight:

1. ไทยได้รับรางวัลจาก FAO ลดคนอดอยากจาก 25 ล้านคนเหลือ 5 ล้านคน
  • นายยุคล ลิ้มแหลมทอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่าองค์การเกษตรและอาหารแห่งสหประชาชาติ (Food and Agriculture Organization of the United Nations: FAO)ได้มอบรางวัลประเทศที่มีความก้าวหน้าโดดเด่นในการต่อสู่กับภาวะอดอยาก(Recognizing outstanding progress in fighting hunger) ซึ่งเป็นรางวัลที่FAO มอบให้กับประเทศที่สามารถลดจำนวนของประชากรที่ขาดสารอาหารได้มากกว่าครึ่งในปี 55 ซึ่งในกรณีของไทย ประเทศไทยมีจำนวนผู้ขาดสารอาหารเป็นจำนวน 25.24 ล้านคน และสามารถลดจำนวนได้เหลือ 5.10 ล้านคน ภายในปี 55 คิดเป็นสัดส่วนที่ลดลลงจากร้อยละ 43.8 เหลือร้อยละ 7.3 ของประชากรทั่วประเทศ
  • สศค.วิเคราะห์ว่า การที่เศรษฐกิจของไทยจะเติบโตได้อย่างยั่งยืนนั้น สุขภาพที่ดีของประชากรถือเป็นปัจจัยสำคัญ นอกจากนี้ การลดลงของจำนวนผู้ยากจนย่อมสะท้อนถึงความเท่าเทียมทางด้านรายได้ที่สูงขึ้น ซึ่งสอดคล้องกับตัวเลข Gini Index ที่เป็นดัชนีที่แสดงความเหลื่อมล้ำทางรายได้ของแต่ละประเทศ ยิ่งดัชนีมีค่าต่ำใกล้ 0 ยิ่งสะท้อนว่ามีความเท่าเทียมกันทางรายได้ ในทางตรงกันข้าม หากดัชนีมีค่าสูงใกล้ 100 จะชี้ถึงความเหลื่อมล้ำทางรายได้ที่เพิ่มขึ้น ในกรณีของไทย พบว่ามีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง กล่าวคือ Gini Index ปี 54 อยู่ที่ระดับร้อยละ 40 ลดลงจากร้อยละ 42 ในปี 49
  • อย่างไรก็ตาม การลดจำนวนคนยากจนนับเป็นความสำเร็จขั้นแรกในเชิงปริมาณในด้านการพัฒนาทรัพยากรบุคคลของประเทศ ซึ่งในขั้นต่อไปไทยจะต้องเร่งพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ในเชิงคุณภาพ เช่น การพัฒนาฝีมือแรงงาน การเร่งสร้างทุนทางสัมคม เป็นต้น ควบคู่กันไป
2. ดัชนี HSBC Mfg. PMI ของจีน เดือน มิ.ย. 56 (ตัวเลขเบื้องต้น) อยู่ที่ระดับ ต่ำสุดในรอบ 9 เดือน ที่ 48.3 จุด
  • ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคอุตสาหกรรมจีน (HSBC Mfg. PMI) เดือน มิ.ย. 56 (ตัวเลขเบื้องต้น) อยู่ที่ระดับ ต่ำสุดในรอบ 9 เดือน ที่ 48.3 จุด โดยลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ระดับ 49.2 ส่วนหนึ่งเป็นผลจากอุปสงค์ภายนอกที่ยังคงซบเซา กอปรกับอุปสงค์ภายในที่ชะลอตัวลง นอกจากนี้ นโยบายภาครัฐของจีน ที่มุ่งเน้นการปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจเพื่อการเติบโตที่ยั่งยืนนั้น ถึงแม้จะเป็นผลบวกกับภาพรวมเศรษฐกิจจีนในระยะยาว อย่างไรก็ตาม นโยบายดังกล่าวอาจส่งผลกระทบกับเศรษฐกิจจีนในระยะสั้น ทั้งนี้ ล่าสุด HSBC ได้ปรับลดประมาณการณ์อัตราการโตของเศรษฐกิจปี 56 จากร้อยละ 8.2 เป็นร้อยละ 7.4
  • สศค. วิเคราะห์ว่า ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อที่ปรับตัวลดลงดังกล่าว สะท้อนการหดตัวในภาคอุตสาหกรรม ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 โดยเป็นผลจากการชะลอลงของเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะคู่ค้าสำคัญอย่างยูโรโซน ซึ่งยังคงเผชิญกับภาวะเศรษฐกิจซบเซาต่อเนื่อง ขณะที่อุปสงค์ในประเทศของจีนมีแนวโน้มชะลอลง โดยแม้ว่าทางการจีนมีนโยบายที่จะปรับโครงสร้างเศรษฐกิจในระยะยาว เพื่อลดการพึ่งพาอุปสงค์จากนอกประเทศ อย่างไรก็ตาม ในระยะสั้น จีนต้องเผชิญกับความเสี่ยงจากภาวะฟองสบู่ในภาคอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งอาจทำให้มาตรการกระตุ้นอุปสงค์ในประเทศอาจดำเนินการได้ไม่เต็มที่นัก ซึ่งอาจกระทบต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจได้ในระยะต่อไป ส่งผลให้ สศค. อาจปรับลดคาดการณ์เศรษฐกิจจีนปี 56 ลง จากคาดการณ์เดิมในเดือน มี.ค. 56 ที่ร้อยละ 8.2
  • ทั้งนี้ เศรษฐกิจจีนที่ส่งสัญญาณชะลอลงดังกล่าว อาจส่งผลกระทบต่อภาคการส่งออกของไทยในระยะต่อไป เนื่องจากจีนเป็นคู่ค้าสำคัญอันดับที่ 1 ของไทย (สัดส่วนการส่งออกร้อยละ 11.7 ของมูลค่าการส่งออกรวมปี 55)
3. เงินรูปีอ่อนค่าต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 59.94 รูปีต่อดอลลาร์สหรัฐ
  • เงินรูปียังคงอ่อนค่าลงอย่างต่อเนื่องในวันนี้ โดยอ่อนค่าลงแตะระดับต่ำเป็นประวัติการณ์ที่ 59.94 รูปีต่อดอลลาร์สหรัฐ ในการซื้อขายช่วงเช้าวันนี้ โดยก่อนหน้านี้ เงินรูปีร่วงลงหนักเป็นประวัติการณ์เมื่อวันที่ 11 มิ.ย. 56 อยู่ที่ 58.98 รูปีต่อดอลลาร์สหรัฐ ทั้งนี้ เงินรูปีอ่อนค่าลงไปกว่าร้อยละ 6 นับตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค. 56 เนื่องจากยอดขาดดุลบัญชีเดินสะพัด การนำเข้าทองคำและน้ำมันในระดับสูง รวมทั้งกระแสเงินทุนต่างประเทศที่ไหลออกจำนวนมาก ซึ่งปัจจัยเหล่านี้ล้วนชี้ให้เห็นถึงความอ่อนแอของเศรษฐกิจอินเดีย
  • สศค. วิเคราะห์ว่า อินเดียเป็นประเทศที่ขาดดุลบัญชีเดินสะพัดมาโดยตลอด บ่งชี้จากสัดส่วนการส่งออกสุทธิในปี 55 คิดเป็นร้อยละ -10.0 ของGDP โดยสัดส่วนการนำเข้าอยู่ที่ร้อยละ 36.0 สะท้อนการเป็นประเทศผู้นำเข้าสุทธิของอินเดียมาโดยตลอด การอ่อนค่าลงต่อเนื่องของค่าเงินรูปีเป็นอุปสรรคโดยตรงต่อการนำเข้าสินค้าโดยเฉพาะสินค้าในหมวดทองคำและพลังงานซึ่งเป็นสินค้านำเข้าหลักของอินเดีย ถึงแม้ว่าราคาทางคำในตลาดโลกจะลดลงอย่างต่อเนื่องก็ตาม ทั้งนี้ เมื่อมองในแง่การส่งออกระหว่างไทยและอินเดีย ไทยอาจได้รับผลกระทบผ่านทางการแข่งขันทางด้านราคาที่ลดลง อย่างไรก็ตาม เนื่องจากสัดส่วนการค้าของไทยไปยังอินเดียไม่สูงมากนัก โดยคิดเป็นร้อยละ 4.9 ของมูลค่าการส่งออกรวม ทำให้การอ่อนค่าของเงินรูปีไม่ส่งผลโดยตรงต่อเศรษฐกิจไทยโดยรวมแต่อาจส่งผลต่อการส่งออกของไทยไปยังอินเดียในบางหมวดสินค้า อาทิ สินค้าจำพวกเครื่องปรับอากาศ อะลูมิเนียมเจือ เครื่องประดับเพชรพลอย และโพลิคาร์บอเนต ซึ่งเป็นสินค้าส่งออกสำคัญของไทยไปยังอินเดีย

ที่มา: Bureau of Macroeconomic Policy,Fiscal Policy Office, Ministry of Finance

Tel: 02-273-9020 Ext. 3257


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ