รายงานภาวะเศรษฐกิจรายสัปดาห์ระหว่างวันที่ 17 - 21 มิถุนายน 2556

ข่าวเศรษฐกิจ Monday June 24, 2013 10:58 —กระทรวงการคลัง

Executive Summary
Indicators this week
  • รัฐบาลจัดเก็บรายได้สุทธิ (หลังหักการจัดสรรให้ อปท.)ในเดือน พ.ค. 56 ได้จำนวน 326.8 พันล้านบาท

หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.7 จากช่วงเดียวกันปีก่อน

  • ปริมาณการจำหน่ายรถยนต์นั่ง ในเดือน พ.ค. 56 หดตัวร้อยละ -5.8 จากช่วงเดียวกันปีก่อน

สอดคล้องกับปริมาณจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์หดตัวร้อยละ -1.4

  • นักท่องเที่ยวต่างประเทศที่เดินทางเข้าประเทศไทยในเดือน พ.ค.56 ขยายตัวร้อยละ 19.4 จากช่วงเดียวกันปีก่อน
  • ดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตร ในเดือนพ.ค. 56 ขยายตัวที่ร้อยละ 0.5 จากช่วงเดียวกันปีก่อน

ขณะที่ดัชนีราคาสินค้าเกษตรที่เกษตรกรขายได้ ขยายตัวร้อยละ 1.5

  • อัตราเงินเฟ้อสหรัฐฯ พ.ค. 56 อยู่ที่ร้อยละ 1.4 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน
  • ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ ภาคอุตสาหกรรมจีน จัดทำโดย HSBC เดือน มิ.ย. 56 อยู่ที่ระดับ 48.3 จุด
  • มูลค่าการส่งออกญี่ปุ่น เดือน พ.ค. 56 ขยายตัวเร่งขึ้นที่ร้อยละ 10.1 จากช่วงเดียวกันปีก่อน
  • ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อรวมสหภาพยุโรป เดือน มิ.ย. 56 moเพิ่มขึ้นสูงสุดในรอบ 16 เดือนมาอยู่ที่ระดับ 48.9
  • เมื่อวันที่ 17 มิ.ย. 56 ธนาคารกลางอินเดีย มีมติคงอัตราeดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ 7.25 ต่อปี ญ
Indicators next week
 Indicators                               Forecast           Previous
 May : MPI (%YoY)                           -2.0               -3.8

โดยส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการปัจจัยฐานสูงในช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีการเร่งผลิตเพื่อตอบสนองอุปสงค์ที่ตกค้าง ประกอบกับภาวะเศรษฐกิจโลกที่ยังคงมีความไม่แน่นอนที่อาจส่งผลกระทบต่อภาคการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมได้ อย่างไรก็ดี การผลิตในหมวดอุตสาหกรรมหลักบางส่วนจะยังคงขยายตัวต่อเนื่องเพื่อตอบสนองต่ออุปสงค์ที่เพิ่มขึ้นทั้งจากในและต่างประเทศ เช่น อุตสาหกรรมยานยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้า เป็นต้น ซึ่งคาดว่าจะเป็นปัจจัยสนับสนุนให้ MPI ในเดือนนี้หดตัวไม่มากนัก

Economic Indicators: This Week
  • รัฐบาลจัดเก็บรายได้สุทธิ (หลังหักการจัดสรรให้ อปท.)ในเดือน พ.ค. 56 ได้จำนวน 326.8 พันล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.7 จากช่วงเดียวกันปีก่อน แต่น้อยกว่าประมาณการตามเอกสาร งปม. 21.9 พันล้านบาท หรือร้อยละ -6.3 โดยมีรายการสำคัญดังนี้ (1) ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาจัดเก็บได้ 25.1 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 2.7 พันล้านบาท หรือร้อยละ 12.1 สะท้อนรายได้ภาคครัวเรือนที่เพิ่มขึ้นสืบเนื่องจากนโยบายการเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำและเพิ่มเงินเดือนให้กับข้าราชการ (2) ภาษีเงินได้นิติบุคคลจัดเก็บได้ 114.2 พันล้านบาท ลดลง 7.6 พันล้านบาท หรือร้อยละ -6.2 เนื่องจากอุทกภัยในปี 54 ที่ส่งผลกระทบต่อเนื่องถึงผลประกอบการที่ยื่นชำระภาษีจากกำไรสุทธิประจำปี 55 (ภ.ง.ด. 50) และ (3) ภาษีมูลค่าเพิ่มจัดเก็บได้ 56.2 พันล้านบาท ลดลง 103 ล้านบาท หรือร้อยละ -0.2 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ทั้งนี้ รัฐบาลมีรายได้สุทธิ (หลังหักจัดสรรให้ อปท.) ในช่วง 8 เดือนแรกของปี งปม. 56 (ต.ค.55 - พ.ค.56) จำนวน 1,433.8 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 176.0 พันล้านบาท หรือขยายตัวร้อยละ 14.0 และสูงกว่าประมาณการตามเอกสาร งปม. 84.2 พันล้านบาท หรือร้อยละ 6.2
  • ภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ระดับราคาคงที่ ในเดือน พ.ค. 56 มีมูลค่า 54.0 พันล้านบาท หรือหดตัวร้อยละ -1.7 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จากเดือนก่อนที่ขยายตัวร้อยละ 3.7 (หรือหดตัวร้อยละ -1.3 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาลแล้ว) ตามการหดตัวลงในระดับสูงจากภาษีมูลค่าเพิ่มที่จัดเก็บบนฐานการนำเข้า ที่หดตัวร้อยละ -15.6 ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากมูลค่าการนำเข้าสินค้าเชื้อเพลิงที่ลดลง อย่างไรก็ดี ภาษีมูลค่าเพิ่มที่จัดเก็บบนฐานการบริโภคภายในประเทศยังคงขยายตัวต่อเนื่องที่ร้อยละ 13.2 จากเดือนก่อนที่ขยายตัวร้อยละ 7.0 สะท้อนถึงการบริโภคภาคเอกชนยังคงขยายตัวได้ในเกณฑ์ดี ทั้งนี้ในช่วง 5 เดือนแรกปี 56ภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ระดับราคาคงที่ ขยายตัวร้อยละ 4.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน
  • ภาษีจากการทำธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์รวมในเดือน พ.ค. 56 ขยายตัวร้อยละ 14.0 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ขยายตัวต่อเนื่องแม้ว่าจะชะลอลงจากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 40.6 และเมื่อขจัดผลทางฤดูกาลออกพบว่าหดตัวร้อยละ -10.1 ต่อเดือน เนื่องจากความต้องการอสังหาริมทรัพย์ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑลชะลอลง สะท้อนจากจำนวนที่อยู่อาศัยที่ได้รับอนุมัติสินเชื่อใหม่จากธนาคารพาณิชย์ชะลอลง ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากธนาคารพาณิชย์เริ่มระมัดระวังการปล่อยสินเชื่อมากขึ้น
  • นักท่องเที่ยวต่างประเทศที่เดินทางเข้าประเทศไทยในเดือน พ.ค.56 มีจำนวนทั้งสิ้น 1.85 ล้านคน ขยายตัวร้อยละ 19.4 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และร้อยละ 1.7 เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังหักผลทางฤดูกาล (m-o-m SA) โดยเป็นการขยายตัวดีจากนักท่องเที่ยว จีน มาเลเซีย และรัสเซีย ซึ่งขยายตัวร้อยละ 93.8 25.6 และ 73.7 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ตามลำดับ
  • ปริมาณการจำหน่ายรถยนต์นั่งในเดือน พ.ค. 56 มีจำนวน 52,734 คัน หรือหดตัวร้อยละ -5.8 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จากเดือนก่อนที่ขยายตัวร้อยละ 22.9 และเป็นการลดลงครั้งแรกในรอบ 17 เดือน ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากปัจจัยฐานที่เริ่มกลับเข้าสู่ภาวะปกติ และการแผ่วลงของนโยบายรถยนต์คันแรกของรัฐบาล ที่คาดว่าจะส่งมอบทั้งหมดได้ในช่วงปลายปี 2556 ตามที่สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ( ส.อ.ท.) ประกาศไว้ว่าจะสามารถเร่งทยอยการส่งมอบรถที่ค้างจองให้หมดภายในเดือน ต.ค. 2556 นี้ ทั้งนี้ในช่วง 5 เดือนแรกปี 56 ปริมาณการจำหน่ายรถยนต์นั่ง ขยายตัวในระดับสูงที่ร้อยละ 53.4 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน
  • ปริมาณจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์ในเดือน พ.ค. 56 มีจำนวน 59,114 คัน หรือหดตัวร้อยละ -1.4 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จากเดือนก่อนที่ขยายตัวร้อยละ 26.5 ตามการลดลงของยอดขายรถกระบะขนาด 1 ตัน ที่หดตัวร้อยละ -4.8 จากเดือนก่อนที่ขยายตัวร้อยละ 25.5 เนื่องจากมีการเร่งผลิตและส่งมอบไปมากแล้วในช่วงก่อนหน้า อย่างไรก็ดียอดขายรถบรรทุกยังคงขยายตัวต่อเนื่อง ตามแนวโน้มการขยายตัวของการลงทุนภาคเอกชน ทั้งนี้ในช่วง 5 เดือนแรกปี 56 ปริมาณการจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์ ขยายตัวในเกณฑ์ดีที่ร้อยละ 16.3 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน
  • ดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตร ในเดือนพ.ค. 56 ขยายตัวที่ร้อยละ 0.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่หดตัวร้อยละ -4.4 ตามการเพิ่มขึ้นของผลผลิตในหมวดพืชผลสำคัญ โดยเฉพาะยางพารา มันสำปะหลัง และปาล์มน้ำมัน ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากพื้นที่เพาะปลูกและเก็บเกี่ยวเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคตะวันออก สอดคล้องกับผลผลิตหมวดปศุสัตว์ที่ยังคงขยายตัวต่อเนื่องที่ร้อยละ 2.9 จากเดือนก่อนที่ขยายตัวร้อยละ 2.5 ตามการเพิ่มขึ้นของผลผลิตสุกร และไก่เนื้อเป็นสำคัญ ทั้งนี้ ในช่วง 5 เดือนแรกปี 56 ดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรขยายตัวร้อยละ 0.3 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน
  • ดัชนีราคาสินค้าเกษตรที่เกษตรกรขายได้ ในเดือน พ.ค. 56 ขยายตัวร้อยละ 1.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน จากเดือนก่อนที่ร้อยละ -3.0 และถือได้ว่าเป็นการขยายตัวเป็นบวกเป็นครั้งแรกในรอบ 18 เดือนตามการเพิ่มขึ้นของราคาผลผลิตในหมวดพืชผล โดยเฉพาะมันสำปะหลัง ที่ราคายังคงขยายตัวในระดับสูง เนื่องจากอุปสงค์ที่มีเข้ามาต่อเนื่องจากประเทศจีน อย่างไรก็ดี ราคายางพาราและปาล์มน้ำมัน ราคายังคงหดตัวต่อเนื่อง จากอุปทานในตลาดโลกที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ตามการเพิ่มสต็อคของของประเทศจีนและญี่ปุ่นในช่วงต้นปีที่ผ่านมา ขณะที่อุปสงค์ค่อนข้างทรงตัว ทั้งนี้ ในช่วง 5 เดือนแรกปี 56 ดัชนีราคาสินค้าเกษตรหดตัวที่ร้อยละ -2.7 จากช่วงเดียวกันปีก่อน
Economic Indicators: Next Week
  • ผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) เดือน พ.ค. 56 คาดว่าจะหดตัวที่ร้อยละ -2.0 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ชะลอลงเล็กน้อยจากเดือนก่อน โดยส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการปัจจัยฐานสูงในช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีการเร่งผลิตเพื่อตอบสนองอุปสงค์ที่ตกค้าง ประกอบกับภาวะเศรษฐกิจโลกที่ยังคงมีความไม่แน่นอนที่อาจส่งผลกระทบต่อภาคการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมได้ อย่างไรก็ดี การผลิตในหมวดอุตสาหกรรมหลักบางส่วนจะยังคงขยายตัวต่อเนื่องเพื่อตอบสนองต่ออุปสงค์ที่เพิ่มขึ้นทั้งจากในและต่างประเทศ เช่น อุตสาหกรรมยานยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้า เป็นต้น ซึ่งคาดว่าจะเป็นปัจจัยสนับสนุนให้ MPI ในเดือนนี้หดตัวไม่มากนัก

Global Economic Indicators: This Week

US: improving economic trend
  • อัตราเงินเฟ้อ พ.ค. 56 อยู่ที่ร้อยละ 1.4 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ปรับตัวสูงขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ระดับร้อยละ 1.1 ผลจากดัชนีราคาหมวดที่อยู่อาศัยและหมวดสาธารณสุขที่ปรับตัวสูงขึ้นมาก ยอดขายบ้านมือสอง เดือน พ.ค. 56 อยู่ที่ระดับสูงถึง 5.16 แสนหลัง ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่ ก.ค. 50 หรือคิดเป็นการขยายตัวร้อยละ 15.2 จากช่วงเดียวกันปีก่อน หรือร้อยละ 4.2 จากเดือนก่อนหน้า (ขจัดผลทางฤดูกาลแล้ว) ในขณะเดียวกัน ราคากลางบ้าน เดือน พ.ค. 56 อยู่ที่ระดับสูงเช่นเดียวกันที่ 208,000 ดอลลาร์สหรัฐต่อหลังเป็นเครื่องบ่งชี้ว่าภาคอสังหาริมทรัพย์สหรัฐฯ เริ่มมีการฟื้นตัวที่ชัดเจนขึ้น
China: worsening economic trend
  • ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ ภาคอุตสาหกรรม (ตัวเลขเบื้องต้น) จัดทำโดย HSBC เดือน มิ.ย. 56 อยู่ที่ระดับ 48.3 จุด ลดลงต่ำสุดในรอบในรอบ 9 เดือน บ่งชี้การหดตัวของกิจกรรมการผลิตภาคอุตสาหกรรม เนื่องจากอุปสงค์ทั้งภายในและภายนอกที่ลดลง ประกอบกับแรงกดดันการลดปริมาณสินค้าคงคลัง ราคาบ้านใหม่ เดือน พ.ค. 56 ขยายตัวร้อยละ 6.0 เทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ถือเป็นเป็นราคาที่สูงที่สุดในรอบ 28 เดือน โดยราคาบ้าน 69 เมือง ใน 70 เมืองปรับเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะราคาบ้านในเมืองใหญ่ เช่น กวางโจว เซินเจิ้น ปักกิ่ง และเซี่ยงไฮ้ ที่ขยายตัวถึงร้อยละ 15.3 13.7 11.8 และ 10.1 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ตามลำดับ แม้ว่ารัฐบาลจะออกมาตรการชะลอการขยายตัวของราคาอสังหาริมทรัพย์แล้วก็ตาม ส่งสัญญาณความเสี่ยงต่อเสถียรภาพภาคอสังหาริมทรัพย์
Japan: improving economic trend
  • ผลผลิตภาคอุตสาหกรรม เดือน เม.ย. 56 ขยายตัวต่อเนื่องที่ร้อยละ 1.5 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า (ขจัดปัจจัยทางฤดูกาลแล้ว) สะท้อนกิจกรรมการผลิตในญี่ปุ่นที่ปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่องจากอุปสงค์นอกประเทศโดยเฉพาะอุปสงค์ของประเทศคู่ค้าสำคัญที่เริ่มกลับมาขยายตัวอีกครั้ง มูลค่าการส่งออก เดือน พ.ค. 56 ขยายตัวเร่งขึ้นอยู่ที่ร้อยละ 10.1 จากช่วงเดียวกันปีก่อน จากเดิมขยายตัวร้อยละ 3.8 ในเดือนก่อนหน้า เนื่องจากการส่งออกไปยังจีนและสหรัฐฯ ซึ่งเป็นตลาดส่งออกที่สำคัญของญี่ปุ่นที่ขยายตัวเร่งขึ้นอย่างต่อเนื่อง และมูลค่าการนำเข้า เดือน พ.ค. 56 ขยายตัวร้อยละ 10.0 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการนำเข้าสินค้าวัตถุดิบเพื่อใช้ในอุตสาหกรรมที่ขยายตัว ตามการฟื้นตัวของภาคการส่งออกเป็นสำคัญ ส่งผลให้ดุลการค้าเดือนดังกล่าว ขาดดุลมูลค่า -9.9 แสนล้านเยน
Eurozone: mixed signal
  • อัตราเงินเฟ้อ เดือน พ.ค. 56 (ตัวเลขปรับปรุง) อยู่ในระดับต่ำต่อเนื่องที่ร้อยละ 1.4 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ส่วนหนึ่งจากราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ยังคงลดลง มูลค่าการส่งออก เดือน เม.ย. 56 ขยายตัวสูงสุดในรอบ 6 เดือนที่ร้อยละ 9.1 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ขณะที่มูลค่าการนำเข้า เดือน เม.ย. 56 กลับมาขยายตัวเป็นครั้งแรกในรอบ 3 เดือนที่ร้อยละ 1.2 ส่งผลให้ดุลการค้าเดือน เม.ย. 56 เกินดุล 14.9 พันล้านยูโร ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อรวม เดือน มิ.ย. 56 (ตัวเลขเบื้องต้น) เพิ่มขึ้นสูงสุดในรอบ 16 เดือนมาอยู่ที่ระดับ 48.9 อย่างไรก็ตาม ดัชนีดังกล่าวยังคงอยู่ในระดับต่ำกว่า 50 ติดต่อกันเป็นเดือนที่ 22 สะท้อนภาคการผลิตที่ยังคงหดตัวต่อเนื่อง โดยดัชนีฯ ภาคอุตสาหกรรม อยู่ที่ระดับ 48.7 และดัชนีฯ ภาคบริการ อยู่ที่ระดับ 48.3 ปัจจัยดังกล่าว ส่งผลให้คาดว่าภาพรวมเศรษฐกิจยูโรโซนในระยะต่อไปจะยังคงอยู่ในภาวะซบเซาต่อเนื่อง
Indonesia: mixed signal
  • ยอดค้าปลีก เดือน เม.ย. 56 ขยายตัวร้อยละ 9.7 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน เร่งขึ้นจากเดือนก่อนที่ร้อยละ 9.3 จากยอดขายอุปกรณ์สื่อสารที่ขยายตัวสูงถึงร้อยละ 47.1 ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคของอินโดนีเซีย เดือน พ.ค. 56 อยู่ที่ระดับ 111.7 จุด ลดลงจากเดือนก่อนที่ระดับ 113.7 จุด จากการคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจอินโดนีเซียจะยังคงชะลอตัวต่อเนื่องอีกอย่างน้อยใน 6 เดือนข้างหน้า
Malaysia: mixed signal
  • อัตราเงินเฟ้อ เดือน พ.ค. 56 อยู่ที่ร้อยละ 1.8 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากเดือนก่อนที่อยู่ที่ร้อยละ 1.7 จากราคาอสังหาริมทรัพย์ที่ปรับตัวสูงขึ้น
Singapore: mixed signal
  • ยอดค้าปลีก เดือน เม.ย. 56 หดตัวร้อยละ -0.7 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ผลจากการปรับขึ้นค่าธรรมเนียมการจดทะเบียนรถยนต์ที่มีผลบังคับใช้ตั้งแต่เดือน มี.ค. 56 เป็นต้นมาส่งผลให้ยอดขายรถยนต์หดตัวร้อยละ -4.5 อย่างไรก็ตาม ถ้าหักยอดขายรถยนต์ออก ยอดค้าปลีกโดยรวมยังคงขยายตัวเป็นบวกที่ร้อยละ 0.4 ด้านการค้าต่างประเทศมูลค่าการส่งออก เดือน พ.ค. 56 ขยายตัวร้อยละ 1.6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน เร่งขึ้นจากเดือนก่อนที่ร้อยละ 0.5 เล็กน้อย จากการส่งออกไปยังสหรัฐฯ ที่ขยายตัวร้อยละ 8.1 เป็นสำคัญ แม้ว่าการส่งออกไปยังคู่ค้าสำคัญอย่างจีนและมาเลเซียจะหดตัวก็ตาม ขณะที่มูลค่าการนำเข้า เดือน พ.ค. 56 หดตัวร้อยละ -4.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน จากการนำเข้าสินค้าในหมวดพลังงานที่หดตัวร้อยละ -14.0 เป็นสำคัญ ส่งผลให้ดุลการค้าเกินดุล 4.54 พันล้านดอลลาร์สิงคโปร์ ส่วนอัตราการว่างงาน ไตรมาสที่ 1 ปี 56 อยู่ที่ร้อยละ 1.9 ของกำลังแรงงานรวม ปรับตัวสูงขึ้นจากไตรมาสก่อนที่ร้อยละ 1.8 เล็กน้อย เนื่องจากอัตราว่างงานในกลุ่มแรงงานต่างชาติที่มีถิ่นฐานในสิงคโปร์(Resident) ปรับตัวสูงขึ้นจากร้อยละ 2.7 เป็นร้อยละ 2.9 ของกำลังแรงงานรวม
Hong Kong: mixed signal
  • อัตราว่างงาน เดือน พ.ค. 56 ทรงตัวติดต่อกัน 2 เดือน อยู่ที่ร้อยละ 3.5 ของกำลังแรงงานรวม อย่างไรก็ตาม เมื่อดูในรายละเอียดพบว่า ตัวเลขการจ้างงานรวมในเดือนดังกล่าวปรับเพิ่มขึ้น 17,200 ตำแหน่งบ่งชี้ถึงตลาดแรงงานในฮ่องกงยังคงขยายตัวต่อเนื่อง และอัตราเงินเฟ้อ เดือน พ.ค. 56 ลดลงมาอยู่ที่ร้อยละ 3.9 จากช่วงเดียวกันปีก่อน จากราคาสินค้าหมวดอาหารที่ปรับตัวลดลงเป็นสำคัญ
India: mixed signal
  • เมื่อวันที่ 17 มิ.ย. 56 ธนาคารกลางอินเดีย มีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ 7.25 ต่อปี ภายหลังจากปรับลด 25 bps. ในเดือน พ.ค. 56 ที่ผ่านมา เพื่อกระตุ้นอุปสงค์ภายในประเทศให้ขยายตัวอย่างแข็งแกร่ง ผนวกกับแรงกดดันด้านราคาที่ปรับตัวลดลงเป็นสำคัญ โดยอัตราเงินเฟ้อ เดือน พ.ค. 56 ลดลงจากเดือนก่อนหน้ามาอยู่ที่ร้อยละ 4.7 จากช่วงเดียวกันปีก่อน เมื่อดูในรายละเอียดพบว่าราคาสินค้าหมวดที่ไม่ใช่อาหารและสินค้าอุตสาหกรรมที่ปรับตัวลดลงในเดือนดังกล่าว
Weekly Financial Indicators
  • ดัชนี SET ปรับตัวลดลงต่อเนื่องจนเกือบแตะระดับ 1,400 จุด และมีความผันผวนระหว่างสัปดาห์สูง โดยดัชนีฯ ณ วันที่ 20 มิ.ย. 56 ปิดที่ 1,402.19 จุด ด้วยมูลค่าซื้อขายเฉลี่ยต่อวันที่ 56,050 ล้านบาท ด้วยแรงขายจากนักลงทุนต่างประเทศ หลังจากการประชุม FOMC มีข้อสรุปว่าอาจมีการลดขนาดมาตรการ QE สหรัฐฯ ปลายปี 56 และอาจยุติมาตรการในช่วงกลางปี 57 พร้อมทั้งอาจปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในช่วงต้นปี 58 ทั้งนี้ ระหว่างวันที่ 17 - 20 มิ.ย. 56 นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิ -8,927.6 ล้านบาท ขณะที่ผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลปรับตัวสูงขึ้นมากในพันธบัตรระยะปานกลาง-ยาว ประมาณ 3-17 bps ในทิศทางเดียวกับ US Treasury จากแรงขายของนักลงทุนต่างชาติ หลังจากประธาน Fed ส่งสัญญาณว่าอาจปรับลดและยุติมาตรการ QE ดังกล่าว โดยระหว่างวันที่ 17 - 20 มิ.ย. 56 นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิ -6,025.9 ล้านบาท (ไม่รวมพันธบัตร ธปท.)
  • ค่าเงินบาทอ่อนค่าลง โดย ณ วันที่ 20 มิ.ย. 56 ค่าเงินบาทปิดที่ระดับ 31.07 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ โดยอ่อนค่าลงร้อยละ -1.07 จากสัปดาห์ก่อนหน้า ซึ่งเป็นไปในทิศทางเดียวกับค่าเงินส่วนใหญ่โดยเฉพาะเงินเยน ยูโร ริงกิตมาเลเซีย วอนเกาหลี และสิงคโปร์ดอลลาร์ อย่างไรก็ตาม ค่าเงินบาทอ่อนค่าลงในอัตราที่น้อยกว่าค่าเงินสกุลหลักอื่นๆ ทำให้ดัชนีค่าเงินบาท (NEER) ในสัปดาห์นี้แข็งค่าขึ้นร้อยละ 0.17 จากสัปดาห์ก่อนหน้า
  • ราคาทองคำปรับตัวลดลงมาก โดยราคาทองคำ ณ วันที่ 20 มิ.ย. 56 ปิดที่ 1,277.4 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์ ลดลงมากจากต้นสัปดาห์ที่ปิดที่ 1,384.4 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์

ที่มา: Macroeconomic Analysis Group: Fiscal Policy Office

Tel 02-273-9020 Ext 3253 : www.fpo.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ