รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 24 มิถุนายน 2556

ข่าวเศรษฐกิจ Monday June 24, 2013 11:02 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 24 มิถุนายน 2556

Summary:

1. ข้าวถุงเหนื่อยคู่แข่งเพียบส่งออกไม่ได้

2. ธนาคารกรุงเทพคาดผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ ปี 56 อยู่ที่ร้อยละ 4.0

3. นโยบายสร้างความยั่งยืนของจีนกระเทือนเศรษฐกิจโลก

Highlight:

1. ข้าวถุงเหนื่อยคู่แข่งเพียบส่งออกไม่ได้
  • กรรมการผู้จัดการผู้จัดจำหน่ายข้าวแบรนด์หงษ์ทองเปิดเผยว่า ภาวะเงินบาทแข็งค่าตั้งแต่ช่วงต้นปีที่ผ่านมา ได้สร้างผลกระทบต่อภาคการส่งออก โดยเฉพาะข้าวไทย และแม้ว่าภาวะเงินบาทเริ่มอ่อนค่าลง แต่คาดว่าการส่งออกในช่วงครึ่งปีหลังนี้ ไม่มีสัญญาณว่าจะดีขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงครึ่งปีแรกทั้งนี้ ในช่วงที่ผ่านมา ผู้ประกอบการข้าวหันมาผลิตสินค้าป้อนในประเทศมากขึ้น โดยมีแบรนด์ข้าวบรรจุถุงเข้ามาในตลาด 20-30 แบรนด์ โดยวางตำแหน่งเป็นข้าวระดับกลาง ราคาต่ำกว่า 200 บาท และข้าวระดับล่าง ราคาต่ำกว่า 150 บาท ส่งผลให้ตลาดข้าวบรรจุถุงมูลค่า 3 หมื่นล้านบาท แข่งขันรุนแรงมากขึ้น โดยเฉพาะการใช้กลยุทธ์ราคา
  • สศค.วิเคราะห์ว่า จากข้อมูลล่าสุดถึงเดือน เม.ย. 56 มูลค่าการส่งออกข้าวขยายตัวร้อยละ 4.3 โดยมีตลาดส่งออกหลักคือ สหรัฐฯ อิรัก เบนิน และไอวอรี่ โคสต์ อย่างไรก็ดี หากเทียบกับปี 54 ที่ยังไม่มีโครงการรับจำนำข้าว พบว่าในช่วง 4 เดือนแรก มูลค่าการส่งออกข้าวลดลงถึง ร้อยละ 34.4 โดยมีสาเหตุหลักจากราคาข้าวของไทยที่สูงกว่าประเทศอื่น ทำให้ไม่สามารถส่งออกข้าวได้ดี อย่างในอดีต ด้วยเหตุนี้ จึงอาจส่งผลให้ผู้ประกอบการหันมาจำหน่ายข้าวในประเทศแทน ทำให้ราคาข้าวในประเทศยังคงขยายตัวไม่มากนัก จากการแข่งขันด้านราคาของผู้จำหน่ายข้าว โดยหากดูจากข้อมูลอัตราเงินเฟ้อล่าสุดช่วง 5 เดือนแรกของปี พบว่าราคาสินค้าหมวดข้าว แป้งและผลิตภัณฑ์ยังคงมีการขยายตัวในระดับต่ำที่ร้อยละ 0.69
2. ธนาคารกรุงเทพคาดผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ ปี 56 อยู่ที่ร้อยละ 4.0
  • นายโฆสิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ ประธานกรรมการบริหารธนาคารกรุงเทพ เปิดเผยว่า ธนาคารได้ปรับการเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ในปี 56 ลงมาอยู่ที่ร้อยละ 4 จากเดิมที่คาดว่าจะเติบโตร้อยละ 4-5 พร้อมปรับเป้าหมายสินเชื่อในปี 56 จากเดิมร้อยละ 6-7 ลงมาอยู่ที่ร้อยละ 6.0 เนื่องจากเครื่องชี้การบริโภคภายในประเทศได้เข้าสู่ภาวะชะลอตัวตามนโยบายกระตุ้นของรัฐบาล เช่น โครงการรถคันแรก โครงบ้านหลังแรก ที่เริ่มหมดลง
  • สศค. วิเคราะห์ว่า แนวโน้มเศรษฐกิจไทยปี 56 มีสัญญาณชะลอลงในหลายสาขา ส่วนหนึ่งเป็นผล มาจาก 1. แนวโน้มการฟื้นตัวอย่างล่าช้าของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าสำคัญของไทย และ 2. การแผ่วลงของนโยบายรถยนต์ คันแรกของรัฐบาล ที่จะทำให้การบริโภคภาคเอกชน โดยเฉพาะการบริโภคในหมวดสินค้าคงทน ทั้งรถยนต์นั่ง และรถจักรยานยนต์ชะลอตัว อย่างไรก็ดี ปัจจัยบวกที่คาดว่าจะช่วยสนับสนุนเศรษฐกิจไทยในปี 56 ได้แก่ (1) ระดับราคาสินค้าทั่วไปที่ไม่สูงมากนัก สะท้อนจากอัตราเงินเฟ้อที่ยังทรงตัวอยู่ในระดับที่ร้อยละ 2.8 ในช่วง 5 เดือนแรกปี 56 (2) ผลจากการปรับขึ้นเงินข้าราชการและค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำ 300 จะยังคงมีส่วนช่วยประคับประคองให้การบริโภคภาคเอกชนไม่ให้ชะลอตัวมากนัก (3) อัตราดอกเบี้ยที่ทรงตัวในระดับต่ำ และ (4) การผลิตภาคบริการยังคงขยายตัวต่อเนื่อง โดยเฉพาะสาขาโรงแรมและภัตตาคาร สะท้อนจากจำนวนนักท่องเที่ยวที่ยังขยายตัวในระดับสูงที่ร้อยละ 19.2 ในช่วง 5 เดือนแรกปี 56
3. นโยบายสร้างความยั่งยืนของจีนกระเทือนเศรษฐกิจโลก
  • รัฐบาลจีนได้วางแนวทางของนโยบายเศรษฐกิจให้เป็นไปในทางสร้างความยั่งยืนมากกว่าเน้นการเติบโต ดังเช่นในยุคก่อนหน้าที่สามารถโตได้ร้อยละ 9-10 โดยมองว่าอัตราการเติบโตที่เหมาะสมน่าจะอยู่ที่ประมาณร้อยละ 7 เหตุที่ทำให้ทางการจีนเริ่มเข้มงวดเนื่องมาจากการเติบโตในอัตราที่สูงของสินเชื่อและขนาดของ Shadow banking ในจีน โดยสินเชื่อในเดือน พ.ค. 56 เติบโตร้อยละ 22 ใกล้แตะระดับร้อยละ 200 ต่อ GDP ด้านหนี้ภาคเอกชนของจีนก็ขยายตัวในอัตราเร่งกว่าที่หนี้ของสหรัฐฯและยุโรปได้ขยายตัวในช่วงก่อนวิกฤติเศรษฐกิจครั้งล่าสุด และขนาด Shadow banking ของจีนก็ขยายเพิ่มเป็นเท่าตัวภายใน 3 ปี ก่อให้เกิดความกังวลว่าจีนอาจเดินเข้าสู่ความเปราะบางในภาคการเงินซึ่งจะนำไปสู่ความเสี่ยงที่จะเกิดวิกฤติเศรษฐกิจ
  • สศค. วิเคราะห์ว่า จีนเป็นศูนย์กลางสำคัญของเศรษฐกิจในช่วงเวลาที่สหรัฐฯ ยังเพิ่งเริ่มฟื้น ยุโรปยังอยู่ในวิกฤติ ญี่ปุ่นยังคงพยายามหลุดพ้นทศวรรษแห่งความซบเซา และอาเซียนก็ยังมีขนาดทางเศรษฐกิจไม่ใหญ่พอ ด้วยเหตุนี้หากเกิดวิกฤติเศรษฐกิจในจีนจะก่อความเสียหายอย่างใหญ่หลวงการออกมาตรการรักษาความยั่งยืนของการเติบโตทางเศรษฐกิจของจีนจึงเป็นสิ่งที่ดีในระยะยาว ทั้งต่อจีนเองและประเทศต่างๆทั่วโลก อย่างไรก็ดี หากดำเนินมาตรการอย่างเข้มงวดเกินไปในระยะสั้น ในช่วงเวลาที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ กำลังจะลด QE จะทำให้เกิดความผันผวนทั้งในตลาดเงิน และตลาดสินค้าโภคภัณฑ์ อาจรวมถึงภาคเศรษฐกิจจริงของจีนและประเทศคู่ค้าด้วย อนึ่ง จีนถือได้ว่าเป็นคู่ค้าอันดับหนึ่งของไทย มีมูลค่าการค้าใน 4 เดือนแรกของปี 56 อยู่ที่ 6.3 แสนล้านบาทหรือคิดเป็นร้อยละ 13.1 ของมูลค่าการค้ารวม แนวทางการเติบโตของจีนในยุคใหม่เพื่อความยั่งยืนนี้จึงเป็นเรื่องสำคัญที่นักลงทุนและผู้กำหนดนโยบายในไทยควรติดตามอย่างใกล้ชิด

ที่มา: Bureau of Macroeconomic Policy,Fiscal Policy Office, Ministry of Finance

Tel: 02-273-9020 Ext. 3257


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ