รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 25 มิถุนายน 2556

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday June 25, 2013 11:54 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 25 มิถุนายน 2556

Summary:

1. ส่งออกอาหารฝ่อติดลบร้อยละ 3.6 ตลาดอาเซียน - ญี่ปุ่นหดตัวหนักสุด

2. กระทรวงพาณิชย์เร่งออกประกาศราคาสุกรแนะนำต่อเนื่องหวังช่วยลดภาระค่าครองชีพประชาชน

3. เฟดดัลลัสเผยกิจกรรมทางธุรกิจขยายตัวขึ้นในเดือน มิ.ย.

Highlight:

1. ส่งออกอาหารฝ่อติดลบร้อยละ 3.6 ตลาดอาเซียน - ญี่ปุ่นหดตัวหนักสุด
  • รองผู้อำนวยการสถาบันอาหารเปิดเผยว่า ภาคการส่งออกอาหารของไทยใน 4 เดือนแรกของปี 56 มีมูลค่า 296,288 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 3.6 นอกจากนี้3องค์กรเศรษฐกิจด้านธุรกิจเกษตรและอาหาร โดยสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และสถาบันอาหาร ประเมินสถานการณ์ภาคการผลิตและส่งออกอุตสาหกรรมอาหารของไทยปี 56 คาดเติบโตแค่ร้อยละ 1.5 ปรับเป้าส่งออกเหลือ 981,000 ล้านบาท
  • สศค.วิเคราะห์ว่า ภาพรวมอุตสาหกรรมอาหาร 4 เดือนแรกของปี 56 การผลิตอาหารหดตัวร้อยละ -3.6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ตามการหดตัวในระดับสูงของผลิตภัณฑ์จากกุ้งแช่แข็งและเนื้อไก่แช่เย็นแช่แข็ง ที่หดตัวร้อยละ -32.6 และร้อยละ -5.7 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ตามลำดับ ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากอุปทานที่ค่อนข้างตึงตัวจากปัญหาโรคระบาดในแหล่งเพาะเลี้ยงกุ้ง ทำให้มีการพักบ่อเพื่อตัดวงจรโรค อย่างไรก็ดี การผลิตอาหารทะเลกระป๋อง (ทูน่า) และการผลิตน้ำดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์ ยังคงขยายตัวดีต่อเนื่องที่ร้อยละ 18.4 และร้อยละ 11.5 ตามลำดับ สำหรับภาคการส่งออกก็ได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจโลกส่งผลให้การส่ออกอาหารลดลง โดยเฉพาะกุ้งสดแช่เย็นแช่แข็งมีมูลค่าการส่งออก 297.99 ล้านเหรียญสหรัฐหรือคิดเป็นการหดตัวร้อยละ -29.37 และไก่แปรรูปมีมูลค่าการส่งออก 643.72 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือหดตัวร้อยละ -2.26 อย่างไรก็ดี คาดว่าในไตรมาส 2/56 การผลิตอาหารและการส่งออกอาหารจะปรับตัวดีขึ้น
2. กระทรวงพาณิชย์เร่งออกประกาศราคาสุกรแนะนำต่อเนื่องหวังช่วยลดภาระค่าครองชีพประชาชน
  • อธิบดีกรมการค้าภายในเปิดเผยว่า ตามที่สำนักงานคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ ได้ออกประกาศราคาสุกรแนะนำมาอย่างต่อเนื่อง และประกาศดังกล่าวสิ้นสุดการบังคับใช้ในวันที่ 22 มิ.ย. 56 กรมการค้าภายในจึงได้กำหนดราคาแนะนำต่อไปอีกเพื่อช่วยลดภาระค่าครองชีพประชาชน ตั้งแต่วันนี้ จนถึงวันที่ 30 มิ.ย. 56 โดยกำหนดให้ ราคาสุกรมีชีวิตหน้าฟาร์ม กรุงเทพมหานคร ภาคกลาง และภาคตะวันตก ไม่ต่ำกว่าราคากิโลกรัมละ 65 บาท ส่วนราคาจำหน่ายปลีกสุกรเนื้อแดงไม่ตัดแต่ง กรุงเทพมหานคร ภาคกลาง และภาคตะวันตก ไม่เกินราคากิโลกรัมละ 123 บาท เป็นต้น
  • สศค. วิเคราะห์ว่า ปัจจุบันราคาเนื้อสัตว์ เป็ดไก่ และสัตว์น้ำ มีสัดส่วนในการคำนวณอัตราเงินเฟ้อประมาณร้อยละ 6.4 ของตระกร้าเงินเฟ้อ ทั้งนี้ ในเดือน พ.ค. 56 ราคาเนื้อสัตว์ เป็ดไก่ และสัตว์น้ำ เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.8 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน หากพิจารณาตั้งแต่ต้นปี 56 ถึงปัจจุบันพบว่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.6 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ดังนั้น การที่กระทรวงพาณิชย์ได้ออกประกาศราคาสุกรแนะนำจะช่วยลดแรงกดดันต่ออัตราเงินเฟ้อได้บางส่วน ซึ่งจะช่วยลดภาระค่าครองชีพของประชาชน นอกจากนี้ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือน พ.ค. 56 เท่ากับร้อยละ 2.3 ทั้งนี้ สศค. คาดว่า ในปี 56 อัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะประมาณร้อยละ 3.0 (ณ มี.ค. 56) อย่างไรก็ตาม ในระยะต่อไป สศค. คาดว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปน่าจะปรับตัวลดลงตามราคาน้ำมันที่ปรับลดลง
3. เฟดดัลลัสเผยกิจกรรมทางธุรกิจขยายตัวขึ้นในเดือน มิ.ย.
  • ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) สาขาดัลลัสเปิดเผยว่า ภาวะทางธุรกิจในภาคการผลิตปรับตัวดีขึ้นอย่างมากในเดือน มิ.ย. โดยดัชนีกิจกรรมทางธุรกิจโดยทั่วไปปรับตัวดีขึ้นแตะ 6.5 จาก -10.5 ในเดือน พ.ค. สำหรับดัชนีย่อยอื่นๆ ล้วนปรับตัวดีขึ้นเช่นกัน โดยดัชนีคำสั่งซื้อใหม่เพิ่มขึ้นแตะ 13.0 ในเดือน มิ.ย. จาก 6.2 ในเดือน พ.ค. ส่วนดัชนีการส่งออกทะยานขึ้นมาอยู่ที่ 15.4 จาก 3.1 ในเดือน พ.ค. ทั้งนี้ กลุ่มผู้ผลิตในดัลลัสมีมุมมองบวกมากขึ้นเกี่ยวกับอนาคตในช่วง 6 เดือนข้างหน้า โดยดัชนีคาดการณ์แนวโน้มทางธุรกิจโดยทั่วไปเพิ่มขึ้นแตะ 14.7 จาก -2.6 ในเดือน พ.ค. และดัชนีแนวโน้มการจ้างงานดีดตัวขึ้นที่ 23.1 ในเดือน มิ.ย. จาก 14.5 ในเดือนก่อนหน้า
  • สศค. วิเคราะห์ว่า ตัวเลขดัชนีดัชนีกิจกรรมทางธุรกิจโดยทั่วไปของสหรัฐฯ ที่กลับมาอยู่ในแดนบวก บ่งชี้การขยายตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ (หากต่ำกว่า 0 จะหมายถึงการหดตัว) ซึ่งเป็นทิศทางเดียวกับภาพรวมของภาคการผลิตภาคอุตสาหกรรมของสหรัฐที่มีการขยายตัวในเดือน มิ.ย. โดยมีแรงหนุนสำคัญจากการฟื้นตัวของกลุ่มผู้ผลิตเครื่องจักรและรถยนต์ ซึ่งการผลิตในภาคผลิตหรือภาคโรงงานคิดเป็นสัดส่วนกว่าร้อยละ 70 ของการผลิตรวมในภาคอุตสาหกรรมสหรัฐ ทั้งนี้การฟื้นตัวของภาคอุตสาหกรรมสหรัฐ สอดคล้องกับอัตราการใช้กำลังการผลิตรวม (CapU) ในสหรัฐ ในเดือน มิ.ย. อยู่ที่ร้อยละ 78.9 (เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 78.7 ในเดือน พ.ค.)

ที่มา: Bureau of Macroeconomic Policy,Fiscal Policy Office, Ministry of Finance

Tel: 02-273-9020 Ext. 3257


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ