รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 28 มิถุนายน 2556

ข่าวเศรษฐกิจ Friday June 28, 2013 11:56 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 28 มิถุนายน 2556

Summary:

1. "โรจนะ" พร้อมรับมือเศรษฐกิจจีนที่มีแนวโน้มชะลอลง

2. ตลาดหุ้นทั่วโลกดีดตัวขึ้นรับคาดการณ์ Fed คงมาตรการ QE หลัง GDP สหรัฐฯ Q1 ต่ำกว่าคาด

3. เศรษฐกิจเวียดนามไตรมาส 2 ปี 56 ขยายตัวเร่งขึ้น

Highlight:

1. "โรจนะ" พร้อมรับมือเศรษฐกิจจีนที่มีแนวโน้มชะลอลง
  • กรรมการบริษัทสวนอุตสาหกรรมโรจนะ ซึ่งเป็นหนึ่งในบริษัทของไทยที่เข้าไปลงทุนในจีนโดยเฉพาะด้านอสังหาริมทรัพย์ ออกมาให้กล่าวแสดงความมั่นใจว่า การที่เศรษฐกิจจีนชะลอตัว ไม่ส่งผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจอย่างมีนัยสำคัญแต่อย่างใด เนื่องจากล่าสุด โครงการคอนโดมิเนียมจำนวน 2 เฟส มูลค่ากว่า 3 พันล้านบาทที่ได้ดำเนินการไปนั้นมีความคืบหน้ามาก โดยสามารถขายไปได้กว่าร้อยละ 80 ของโครงการทั้งหมด และเริ่มทยอยโอนมีรายได้ประมาณร้อยละ 50 ของรายได้โครงการรวม ทั้งนี้ บริษัทได้เตรียมความพร้อมไว้บางส่วนสำหรับความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นและบริหารเงินเป็นไปอย่างระมัดระวังมากขึ้นเป็นสำคัญ
  • สศค. วิเคราะห์ว่า เศรษฐกิจจีนในช่วงที่ผ่านมามีอัตราการขยายตัวที่สูงเกินกว่าร้อยละ 7.0 อย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้จีนประสบปัญหาที่สำคัญคือ แรงกดดันด้านราคาที่อยู่ในระดับสูง ประกอบกับการเติบโตที่ร้อนแรงของภาคอสังหาริมทรัพย์ในจีน สะท้อนจากราคาบ้านที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นในอัตราที่สูงต่อเนื่องนับตั้งแต่ต้นปี 56 เป็นต้นมา โดยราคาบ้านจีน เดือน พ.ค. 56 ขยายตัวร้อยละ 6.0 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ซึ่งจากที่กล่าวมานั้นมีส่วนผลักดันให้รัฐบาลจีนชุดปัจจุบันมีความพยายามที่จะเน้นการเติบโตทางเศรษฐกิจของจีนให้เป็นไปในลักษณะการปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจเข้าสู่สมดุล ดังนั้น ผลกระทบต่อธุรกิจของไทยที่เข้าไปลงทุนในจีนในระยะสั้นนั้นอาจไม่ส่งผลกระทบมากนัก อย่างไรก็ตาม การลงทุนเพิ่มเติมในอนาคตบริษัทที่เข้าไปลงทุนควรระมัดระวังและพิจารณาอย่างรอบคอบ ผนวกกับปัญหาด้านสภาพคล่องของสถาบันการเงินขนาดเล็กในจีน (Liquidity Crunch) ซึ่งเป็นประเด็นสำคัญที่ตลาดให้ความสำคัญในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมานั้น ยังเป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญต่อการลงทุนอีกด้วย
2. ตลาดหุ้นทั่วโลกดีดตัวขึ้นรับคาดการณ์ Fed คงมาตรการ QE หลัง GDP สหรัฐฯ Q1 ต่ำกว่าคาด
  • ทางการสหรัฐฯ ได้ประกาศปรับปรุงตัวเลข GDP ไตรมาส 1 ปี 56 โดยอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจในไตรมาสที่ 1 ปี 56 ขยายตัวที่เพียงร้อยละ 1.6 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน หรือร้อยละ 0.4 จากไตรมาสก่อนหน้า โดยอยู่ต่ำกว่าตัวเลขเบื้องต้นที่ประกาศก่อนหน้านี้ที่ร้อยละ 1.8 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน หรือร้อยละ 0.6 จากไตรมาสก่อนหน้า อย่างมีนัยสำคัญ เนื่องจากการบริโภคภาคเอกชน การส่งออกและการนำเข้าชะลอตัวลงมากกว่าที่คาดการณ์ไว้ โดยหลังจากการประกาศดังกล่าว ตลาดหลักทรัพย์ทั่วโลกปรับตัวสูงขึ้น
  • สศค. วิเคราะห์ว่า ตัวเลข GDP สหรัฐฯ ที่ต่ำกว่าที่ประมาณการณ์ไว้ก่อนหน้า ส่งผลให้นักลงทุนมองว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ อาจฟื้นตัวช้ากว่าคาด และ Fed อาจต้องเลื่อนการปรับลดมาตรการ QE ออกไปอีก เนื่องจากเงื่อนไขหนึ่งของการปรับลดขนาดมาตรการ QE ในปลายปีนี้คือ อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจปี 56 อยู่ที่ร้อยละ 2.3-2.6 ซึ่งด้วย GDP สหรัฐฯ ในไตรมาส 1 ปี 56 ขยายตัวร้อยละ 1.6 จากช่วงเดียวกันปีก่อน เศรษฐกิจสหรัฐฯ ในอีก 3 ไตรมาสที่เหลือของปีต้องขยายตัวเฉลี่ยไม่น้อยกว่าร้อยละ 2.5 ซึ่งเป็นการขยายตัวระดับสูงเกินกว่าระดับเฉลี่ย 3 ปีที่ผ่านมา จึงทำให้นักลงทุนคลายความกังวล ส่งผลให้ตลาดหลักทรัพย์สำคัญทั่วโลกปรับตัวอยู่ในแดนบวก อาทิ ดัชนี Dow Jones สหรัฐฯ ปิดตลาดปรับตัวสูงขึ้นร้อยละ 1.02 อีกทั้งตลาดหลักทรัพย์ในภูมิภาคส่วนใหญ่ปรับตัวอยู่ในแดนบวกตลอดทั้งวันต่อเนื่องเป็นวันที่สอง โดยเฉพาะดัชนีฮั่งเส็งฮ่องกง ที่ปิดตลาดปรับตัวขึ้นร้อยละ 2.43 รวมทั้งตลาดหลักทรัพย์ไทย ซึ่งในวันที่ 27 มิ.ย. 56 ปิดตลาดเพิ่มขึ้น 31.49 จุด หรือคิดเป็นร้อยละ 2.21 ที่ระดับ 1,455.87 จุด ด้วยมูลค่าซื้อขาย 57,941.13 ล้านบาท ต่อเนื่องจากวันก่อนหน้า
3. เศรษฐกิจเวียดนามไตรมาส 2 ปี 56 ขยายตัวเร่งขึ้น
  • ทางการเวียดนามประกาศตัวเลข GDP ของไตรมาสที่ 2 ปี 56 ขยายตัวเร่งขึ้นที่ร้อยละ 5.0 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ส่วนหนึ่งจากการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพื่อกระตุ้นสินเชื่อภาคธุรกิจ ซึ่งเป็นปัจจัยเอื้อต่อการลงทุนภาคเอกชน และดึงดูดนักลงทุนจากต่างประเทศ โดยล่าสุด กระทรวงการวางแผนและการลงทุน เผยตัวเลขการลงทุนโดยตรงจากต่างชาติครึ่งปีแรกขยายตัวร้อยละ 5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน มีมูลค่ากว่า 5.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ นอกจากนี้ยังมีปัจจัยสนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจ สะท้อนจากผลการลงคะแนนเสียงของสภานิติบัญญัติในการปรับลดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคล เพื่อช่วยภาคธุรกิจ
  • สศค. วิเคราะห์ว่า เศรษฐกิจเวียดนามขยายตัวดีในช่วงที่ผ่านมา ส่วนหนึ่งเป็นผลจากนโยบายภาครัฐ และการลงทุนจากต่างชาติที่เพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตามเวียดนามพึ่งพาการส่งออกถึงร้อยละ 78.4 ของ GDP ทั้งนี้การชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกอาจส่งผลกระทบต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจของเวียดนาม ผ่านช่องทางการส่งออก เนื่องจากภาคการส่งออกของเวียดนามมีลักษณะกระจุกตัวสูง โดยการส่งออกไปยัง 3 ตลาดหลัก (สหรัฐฯ สหภาพยุโรป และจีน) มีสัดส่วนสูงถึงร้อยละ 44.8 ของมูลค่าการส่งออกรวม (สัดส่วนปี 55) อีกทั้งสินค้าส่งออกหลักของเวียดนามเป็นสินค้าขั้นต้นและขั้นกลางเป็นส่วนใหญ่ จึงอาจได้รับผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมจากการที่เศรษฐกิจโลกยังคงมีความเปราะบาง ทั้งนี้ สศค.คาดการณ์ ณ เดือน มิ.ย. 56 ว่าเศรษฐกิจเวียดนามปี 56 จะขยายตัวที่ร้อยละ 5.0 ใกล้เคียงกับตัวเลขคาดการณ์ของ IMF ณ เดือน เม.ย. 56 ที่ร้อยละ 5.2

ที่มา: Bureau of Macroeconomic Policy,Fiscal Policy Office, Ministry of Finance

Tel: 02-273-9020 Ext. 3257


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ