รายงานภาวะเศรษฐกิจรายสัปดาห์ระหว่างวันที่ 24 - 28 มิถุนายน 2556

ข่าวเศรษฐกิจ Friday June 28, 2013 11:54 —กระทรวงการคลัง

Executive Summary
Indicators this week
  • ผลการเบิกจ่ายงบประมาณในเดือนพ.ค. 56 สามารถเบิกจ่ายได้ทั้งสิ้น 135.3 พันล้านบาท ลดลงร้อยละ -6.7

เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

  • ฐานะการคลังของรัฐบาลตามระบบกระแสเงินสดในเดือน พ.ค. 56 เกินดุลจำนวน 38.4 พันล้านบาท
  • ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) ในเดือน พ.ค. 56 หดตัวต่อเนื่องร้อยละ -7.8 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
  • การส่งออกในเดือน พ.ค. 56 หดตัวที่ร้อยละ -5.2 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ในขณะที่การนำเข้าหดตัวที่ร้อยละ -2.1
  • GDP สหรัฐฯ ไตรมาส 1 ปี 56 ขยายตัวร้อยละ 1.6 จากช่วงเดียวกันปีก่อน หรือร้อยละ 0.4 จากไตรมาสก่อนหน้า
  • GDP เวียดนาม ไตรมาสที่ 2 ปี ขยายตัวร้อยละ 5.0 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน
  • ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคสหรัฐฯ เดือน มิ.ย. 56 อยู่ที่ระดับสูงสุดในรอบกว่า 5 ปีที่ระดับ 81.4 จุด
  • ยอดค้าปลีกญี่ปุ่น เดือน พ.ค. 56 กลับมาขยายตัวในอัตราต่ำที่ร้อยละ 0.8 จากช่วงเดียวกันปีก่อน
  • ดัชนีความเชื่อมั่นภาคธุรกิจเยอรมนี (Ifo) เดือน มิ.ย. 56 เพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 มาอยู่ที่ระดับ 105.9
  • ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมเกาหลีใต้ เดือน พ.ค. 56 กลับมาหดตัวร้อยละ -1.4 จากช่วงเดียวกันปีก่อน
Indicators next week
 Indicators                               Forecast           Previous
 Jun : Headline Inflation (%YoY)            2.3                 2.3

โดยมีสินค้าจำพวกเนื้อสัตว์ ไข่ไก่ และสินค้าเชื้อเพลิงที่มีการปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้า อย่างไรก็ดี สินค้าประเภทผักและผลไม้มีราคาลดลง เนื่องจากสภาพอากาสเหมาะสมต่อการเพาะปลูก ทั้งนี้ คาดว่าอัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนร้อยละ 0.23 (mom)

Indicators next week
 Indicators                               Forecast           Previous
 Jun : Motorcycle Sale (%YoY)               -7.5               -11.4

ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากรายได้ภาคครัวเรือนที่เริ่มปรับตัวลดลง โดยเฉพาะรายได้เกษตรกรที่เริ่มหดตัวเกือบทั่วทุกภาค โดยเฉพาะในภาคใต้ และภาคเหนือ ตามราคาสินค้าเกษตรสำคัญ อาทิ ยางพารา และปาล์มน้ำมันที่ปรับตัวลดลง ประกอบกับความกังวลในสถานการณ์ภัยแล้งทำให้เกษตกรลดการเพาะปลูกลง ส่งผลให้รายได้เกษตรกรลดลง ทำให้คาดว่ายอดขายรถจักรยานยนต์ในภาคใต้ลดลงเช่นกัน

Economic Indicators: This Week
  • ผลการเบิกจ่ายงบประมาณในเดือนพ.ค. 56 สามารถเบิกจ่ายได้ทั้งสิ้น 135.3 พันล้านบาท ลดลงร้อยละ -6.7 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยในเดือนพ.ค. 56 มีการเบิกจ่ายงบประมาณประจำปีปัจจุบัน 125.7 พันล้านบาท ลดลงร้อยละ -6.9 แบ่งออกเป็น (1) รายจ่ายประจำ 109.0 พันล้านบาท ลดลงร้อยละ -3.7 (2) รายจ่ายลงทุน 16.7 พันล้านบาท ลดลงร้อยละ -23.4 ทั้งนี้ การเบิกจ่ายงบประมาณที่สำคัญ ได้แก่ รายจ่ายกระทรวงสาธารณสุข 8.1 พันล้านบาท เงินอุดหนุนกระทรวงศึกษาธิการ 4.7 พันล้านบาท รายจ่ายชำระหนี้ของสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ 4.6 พันล้านบาท และเงินอุดหนุนของกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น 3.5 พันล้านบาท เป็นสำคัญ สำหรับการเบิกจ่ายงบประมาณจากปีก่อนเบิกจ่ายได้ 9.6 พันล้านบาท ลดลงร้อยละ -3.1 ทั้งนี้ การเบิกจ่ายในช่วง 8 เดือนแรกของปีงบประมาณ 56 สามารถเบิกจ่ายได้ทั้งสิ้น 1,687.2 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 7.3 โดยรายจ่ายงบประมาณประจำปีปัจจุบันเบิกจ่ายได้ 1,508.7 พันล้านบาท คิดเป็นอัตราการเบิกจ่ายร้อยละ 62.9 ของวงเงินงบประมาณปี 56
  • ฐานะการคลังของรัฐบาลตามระบบกระแสเงินสดในเดือน พ.ค. 56พบว่า ดุลงบประมาณเกินดุลจำนวน 38.4 พันล้านบาท และเมื่อรวมกับดุลเงินนอกงบประมาณที่เกินดุลจำนวน 2.2 พันล้านบาท จึงส่งผลให้ดุลเงินสดก่อนกู้เกินดุลจำนวน 40.5 พันล้านบาท ทั้งนี้ ฐานะการคลังในช่วง 8 เดือนแรกของปีงบประมาณ 56 งบประมาณขาดดุลจำนวน -409.0 พันล้านบาท และเมื่อรวมกับดุลเงินนอกงบประมาณที่ขาดดุลจำนวน -122.6 พันล้านบาท จากการไถ่ถอนตั๋วเงินคลังจำนวน 102.1 พันล้านบาท และการเบิกจ่ายเงินกู้ภายใต้แผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็งฯ จำนวน 5.6 พันล้านบาท ส่งผลให้รัฐบาลขาดดุลเงินสดก่อนกู้จำนวน -531.6 พันล้านบาท และเงินคงคลัง ณ สิ้นเดือน พ.ค. 56 อยู่ที่ 226.0 พันล้านบาท
  • ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) ในเดือน พ.ค. 56 หดตัวต่อเนื่องร้อยละ -7.8 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน โดยมีปัจจัยลบจากอุตสาหกรรม Hard Disk Drive (HDD) น้ำมันปิโตรเลียม อาหารทะเลกระป๋องและแช่แข็ง และเสื้อผ้าสำเร็จรูปเป็นสำคัญ อย่างไรก็ดี บางอุตสาหกรรมยังคงขยายตัวได้ต่อเนื่อง ได้แก่ รถยนต์ที่ผลิตเพื่อตอบสนองอุปสงค์ที่ยังตกค้าง เครื่องประดับเพชรพลอย ผลิตภัณฑ์เนื้อไก่เป็นต้น ทั้งนี้ หากพิจารณาแบบ (%mom) พบว่าขยายตัวเล็กน้อยที่ร้อยละ 0.3
  • การส่งออกในเดือน พ.ค. 56 มีมูลค่าอยู่ที่ 19,830.1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือหดตัวที่ร้อยละ -5.2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน จากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 2.9 และเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังหักผลทางฤดูกาลออกแล้ว พบว่าหดตัวเช่นเดียวกันที่ร้อยละ -0.2 ปัจจัยสำคัญเนื่องมาจากการหดตัวของสินค้าอุตสาหกรรมที่ร้อยละ -0.2 ลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 6.0 ตามการหดตัวในระดับสูงของสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ที่ร้อยละ -14.5 ประกอบกับสินค้าเกษตรกรรม และเชื้อเพลิงที่หดตัวเช่นเดียวกันที่ร้อยละ -18.6 และ -30.7 ตามลำดับ ในขณะที่สินค้ายานยนต์ขยายตัวชะลอลงที่ร้อยละ 3.9 ส่งสัญญาณแผ่วลงหลังจากนโยบายรถยนต์คันแรกได้หมดลง ทั้งนี้ ราคาสินค้าส่งออกหดตัวที่ร้อยละ -0.4 และปริมาณการส่งออกหดตัวที่ร้อยละ -4.9
  • การนำเข้าในเดือน พ.ค. 56 มีมูลค่าที่ 22,134.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หดตัวที่ร้อยละ -2.1 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 8.9 จากการหดตัวและชะลอตัวลงในทุกหมวดสินค้า โดยเฉพาะหมวดสินค้าวัตถุดิบและสินค้าทุนที่หดตัวร้อยละ -7.1 และ -1.9 ตามลำดับ ในขณะที่สินค้าอุปโภคบริโภคและสินค้าเชื้อเพลิง ขยายตัวชะลอลงที่ร้อยละ 7.5 และ 4.1 ตามลำดับ ทั้งนี้ราคาสินค้านำเข้าหดตัวที่ร้อยละ -3.4 และปริมาณการนำเข้าขยายตัวที่ร้อยละ 1.3 และจากการที่มูลค่าการนำเข้าสูงกว่ามูลค่าการส่งออก ทำให้ดุลการค้าในเดือน พ.ค. 56 ขาดดุล -2.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ
Economic Indicators: Next Week
  • อัตราเงินเฟ้อทั่วไป ในเดือนมิ.ย. 56 คาดว่าจะอยู่ที่ร้อยละ 2.3 อยู่ในระดับเดียวกับเดือนก่อนหน้า โดยมีสินค้าจำพวกเนื้อสัตว์ ไข่ไก่ และสินค้าเชื้อเพลิงที่มีการปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้า อย่างไรก็ดี สินค้าประเภทผักและผลไม้มีราคาลดลง เนื่องจากสภาพอากาสเหมาะสมต่อการเพาะปลูก ทั้งนี้ คาดว่าอัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนร้อยละ 0.23 (mom)
  • ปริมาณการจำหน่ายรถจักรยานยนต์ในเดือน มิ.ย.56 คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ -7.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ต่อเนื่องจากเดือนก่อนที่หดตัวร้อยละ -11.4 ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากรายได้ภาคครัวเรือนที่เริ่มปรับตัวลดลง โดยเฉพาะรายได้เกษตรกรที่เริ่มหดตัวเกือบทั่วทุกภาค โดยเฉพาะในภาคใต้ และภาคเหนือ ตามราคาสินค้าเกษตรสำคัญ อาทิ ยางพารา และปาล์มน้ำมันที่ปรับตัวลดลง ประกอบกับความกังวลในสถานการณ์ภัยแล้งทำให้เกษตกรลดการเพาะปลูกลง ส่งผลให้รายได้เกษตรกรลดลง ทำให้คาดว่ายอดขายรถจักรยานยนต์ในภาคใต้ลดลงเช่นกัน

Global Economic Indicators: This Week

US: mixed signal
  • GDP ไตรมาส 1 ปี 56 (ตัวเลขสมบูรณ์) ขยายตัวร้อยละ 1.6 จากช่วงเดียวกันปีก่อน หรือร้อยละ 0.4 จากไตรมาสก่อนหน้า (ขจัดผลทางฤดูกาลแล้ว) ซึ่งต่ำกว่าตัวเลขเบื้องต้นที่ประกาศก่อนหน้านี้ โดยการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนขยายตัวร้อยละ 1.9 และ 4.0 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ตามลำดับ ใกล้เคียงกับไตรมาสก่อนหน้า ในขณะที่การใช้จ่ายภาครัฐหดตัวต่อเนื่อง ยอดสร้างบ้านใหม่ เดือน พ.ค. 56 ขยายตัวร้อยละ 6.8 จากเดือนก่อนหน้า ในขณะที่ใบอนุญาตก่อสร้าง เดือน พ.ค. 56 หดตัวเล็กน้อยที่ร้อยละ -3.1 ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค เดือน มิ.ย. 56 อยู่ที่ระดับสูงสุดในรอบกว่า 5 ปีที่ระดับ 81.4 จุด สูงขึ้นมากจากเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 74.3 จุด (ตัวเลขปรับปรุง) ผลจากทั้งดัชนีภาวะเศรษฐกิจปัจจุบันและดัชนีคาดการณ์เศรษฐกิจที่ปรับตัวดีขึ้น จากภาวะเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวโดยเฉพาะจากภาคการจ้างงาน
Japan: improving economic trend
  • ยอดค้าปลีก เดือน พ.ค. 56 กลับมาขยายตัวในอัตราต่ำที่ร้อยละ 0.8 จากช่วงเดียวกันปีก่อน สะท้อนการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคที่เพิ่มขึ้นในเดือนดังกล่าว ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อ เดือน พ.ค. 56 เพิ่มขึ้นอยู่ที่ร้อยละ -0.3 จากช่วงเดียวกันปีก่อน สูงกว่าเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ร้อยละ -0.7 นับเป็นสัญญาณที่ดีต่อเศรษฐกิจญี่ปุ่น ทั้งนี้ ตัวเลขดังกล่าวยังคงหดตัวต่อเนื่อง 1 ปีติดต่อกัน และดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคอุตสาหกรรม เดือน มิ.ย. 56 ปรับตัวเพิ่มขึ้นสู่ระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือน ก.พ. 54 ที่ระดับ 52.3 จุด จากภาคการค้าระหว่างประเทศที่ขยายตัวเร่งขึ้นต่อเนื่อง สอดคล้องกับผลผลิตภาคอุตสาหกรรม เดือน พ.ค. 56 (ตัวเลขเบื้องต้น) ที่ขยายตัวร้อยละ 2.0 จากเดือนก่อนหน้า โดยขยายตัวต่อเนื่องเป็นเวลา 4 เดือนติดต่อกัน ส่วนอัตราว่างงาน เดือน พ.ค. 56 ทรงตัว 3 เดือนติดต่อกัน อยู่ที่ร้อยละ 4.1 ของกำลังแรงงานรวม
South Korea: worsening economic trend
  • ผลผลิตภาคอุตสาหกรรม เดือน พ.ค. 56 กลับมาหดตัวร้อยละ -1.4 จากช่วงเดียวกันปีก่อน จากร้อยละ 1.6 ในเดือนก่อนหน้าเมื่อดูในรายละเอียด พบว่า ผลผลิตสินค้าเพื่อการอุปโภคบริโภคและสินค้าทุนที่หดตัวเร่งขึ้นในเดือนดังกล่าวเป็นสำคัญ
Taiwan: mixed signal
  • อัตราการว่างงาน เดือน พ.ค. 56 ทรงตัวจากเดือนก่อนหน้า อยู่ที่ร้อยละ 4.2 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ทั้งนี้เมื่อดูในรายละเอียด พบว่า กำลังแรงงานรวมลดลงเล็กน้อย ขณะที่ระดับการจ้างงานเพิ่มเพียง 5,000 กว่าตำแหน่ง และผลผลิตภาคอุตสาหกรรม เดือน พ.ค. 56 หดตัวชะลอลงอยู่ที่ร้อยละ -0.1 จากช่วงเดียวกันปีก่อน จากภาคการส่งออกที่ปรับตัวดีขึ้นแต่ยังคงขยายตัวได้ในอัตราต่ำ
Eurozone: improving economic trend
  • ดัชนีความเชื่อมั่นภาคธุรกิจเยอรมนี (Ifo) เดือน มิ.ย. 56 เพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 มาอยู่ที่ระดับ 105.9 สะท้อนทิศทางการขยายตัวของการลงทุนภาคเอกชนเยอรมนี ท่ามกลางเศรษฐกิจของประเทศสมาชิกยูโรโซนอื่นๆ ที่ยังคงมีแนวโน้มซบเซา
Philippines: worsening economic trend
  • มูลค่าการนำเข้า เดือน เม.ย. 56 กลับมาขยายตัวอีกครั้งในรอบ 4 เดือน ที่ร้อยละ 7.7 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ทั้งนี้ เป็นผลจากการสั่งซื้อเครื่องบินซึ่งส่งผลให้การนำเข้าในหมวดยานพาหนะขยายตัวสูงถึงร้อยละ 149 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน โดยสรุป การนำเข้าที่กลับมาขยายตัวอีกครั้งสวนทางกับการส่งออกที่หดตัวส่งผลให้ดุลการค้า เดือน เม.ย. 56 ขาดดุลมูลค่า -1.1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ
Singapore: mixed signal
  • ดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรม เดือน พ.ค. 56 ขยายตัวร้อยละ 2.1 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ชะลอลงจากเดือนก่อนที่ร้อยละ 5.0 ทั้งนี้ เป็นผลจากการผลิตในภาคอุตสาหกรรมการต่อเรือหดตัวร้อยละ -11.9 ส่วนอัตราเงินเฟ้อ เดือน พ.ค. 56 อยู่ที่ร้อยละ 1.6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ปรับตัวสูงขึ้นจากเดือนก่อนที่ร้อยละ 1.5 เล็กน้อย ทั้งนี้ เป็นผลจากค่าใช้จ่ายในหมวดขนส่งที่หดตัวร้อยละ -2.8 เป็นสำคัญ
Vietnam: mixed signal
  • GDP ไตรมาสที่ 2 ปี ตัวเลขเบื้องต้น) ขยายตัวร้อยละ 5.0 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน เร่งขึ้นจากไตรมาสก่อนที่ร้อยละ 4.9 เล็กน้อย ทั้งนี้ เป็นผลจากการขยายตัวในภาคอุตสาหกรรมและภาคบริการที่ร้อยละ 5.2 และ 5.9 อย่างไรก็ตาม ยอดค้าปลีก เดือน มิ.ย. 56 ขยายตัวร้อยละ 12.3 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ชะลอลงจากเดือนก่อนที่ร้อยละ 14.0 จากอุปสงค์ภายในประเทศยังคงชะลอตัวต่อเนื่องมาตั้งแต่ต้นปี ในส่วนการค้าระหว่างประเทศ มูลค่าการส่งออก เดือน มิ.ย. 56 ขยายตัวร้อยละ 15.3 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ชะลอลงจากเดือนก่อนที่ร้อยละ 20.4 ทั้งนี้ เป็นผลจากการส่งออกสินค้าเกษตร เช่น กาแฟ และข้าวที่หดตัวร้อยละ -30.8 และ -14.0 เป็นต้น ขณะที่ มูลค่าการนำเข้าเดือน มิ.ย. 56 ขยายตัวร้อยละ 21.7 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน เร่งขึ้นจากเดือนก่อนที่ขยายตัวร้อยละ 19.6 ผลจากการนำเข้าสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ที่ขยายตัวร้อยละ 40.2 เป็นสำคัญ ทั้งนี้ มูลค่าการนำเข้าที่ขยายตัวมากกว่าการส่งออกส่งผลให้ดุลการค้าในเดือน มิ.ย. 56 ขาดดุลมูลค่า 0.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ส่วนอัตราเงินเฟ้อ เดือน มิ.ย. 56 ปรับตัวสูงขึ้นเป็นครั้งแรกในรอบ 8 เดือนที่ร้อยละ 6.7 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ทั้งนี้ เป็นผลจากค่าใช้จ่ายในหมวดอสังหาริมทรัพย์และขนส่งที่ขยายตัวร้อยละ 5.1 และ3.5 เป็นสำคัญ
Hong Kong: mixed signal
  • มูลค่าการส่งออก เดือน พ.ค. 56 กลับมาหดตัวร้อยละ -1.0 จากช่วงเดียวกันปีก่อน จากการส่งออกไปยังสหภาพยุโรป สหรัฐฯ และญี่ปุ่น ซึ่งเป็นตลาดส่งออกที่สำคัญหดตัวเร่งขึ้นในเดือนดังกล่าวถึงร้อยละ -7.0 -7.9 และ-12.1 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ตามลำดับ ขณะที่ตลาดส่งออกสำคัญอันดับ 1 อันได้แก่จีนยังคงขยายตัวได้แต่อยู่ในอัตราที่ต่ำเพียงร้อยละ 0.7 จากเดิมขยายตัวถึงร้อยละ 15.7 ในเดือนที่ผ่านมา และเมื่อดูรายละเอียดพบว่า มาจากสินค้าหมวดอาหารและสินค้าวัตถุดิบเพื่อใช้ในอุตสาหกรรมที่หดตัวเป็นสำคัญ มูลค่าการนำเข้า เดือนพ.ค. 56 ขยายตัวชะลอลงมาอยู่ที่ร้อยละ 1.7 จากช่วงเดียวกันปีก่อน จากสินค้าในหมวดเครื่องจักรและอุปกรณ์ขนส่งที่ขยายตัวชะลอลงอยู่ที่ร้อยละ 4.0 ทั้งนี้ มูลค่าการนำเข้าที่มากกว่ามูลค่าการส่งออก ส่งผลให้ดุลการค้าในเดือน พ.ค. 56 ขาดดุลมูลค่า -4.4 พันล้านดอลลาร์ฮ่องกง
Weekly Financial Indicators
  • ดัชนี SET ปรับตัวลดลงมากในช่วงต้นสัปดาห์ ต่ำกว่าระดับ 1,400 จุด ก่อนปรับตัวสูงขึ้นในช่วงปลายสัปดาห์ โดยดัชนีฯ ณ วันที่ 27 มิ.ย. 56 ปิดที่ 1,446.45 จุด มูลค่าซื้อขายเฉลี่ยต่อวันระหว่างสัปดาห์อยู่ที่ 59,114 ล้านบาท ด้วยแรงซื้อจากนักลงทุนสถาบันในประเทศ บัญชีบริษัทหลักทรัพย์ และนักลงทุนรายย่อยภายในประเทศ หลังจากการประกาศตัวเลข GDP สหรัฐฯ ไตรมาส 1 ปี 56 (ตัวเลขสมบูรณ์) ซึ่งออกมาน้อยกว่าตัวเลขเบื้องต้น ทำให้นักลงทุนคาดว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ จะยังไม่มีการยุติมาตรการ QE ในเร็วๆนี้ ส่งผลให้ตลาดหลักทรัพย์ปรับตัวสูงขึ้นทั่วโลก ทั้งนี้ ระหว่างวันที่ 24 - 27 มิ.ย. 56 นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิ -15,779.5 ล้านบาท ขณะที่ผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลปรับลดลง ในพันธบัตรระยะปานกลาง-ยาว ประมาณ 1-11 bps ในทิศทางเดียวกับ US Treasury หลังจากมีความเป็นไปได้ว่า Fed จะยังคงมาตรการ QE ดังกล่าว ทำให้นักลงทุนเริ่มผ่อนคลายความกังวลเกี่ยวกับมาตรการ QE ของสหรัฐฯ และวิกฤติด้านสภาพคล่องของจีน โดยระหว่างวันที่ 24 - 27 มิ.ย. 56 นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิ -7,856.4 ล้านบาท (ไม่รวมพันธบัตร ธปท.)
  • ค่าเงินบาทอ่อนค่าลงเล็กน้อย โดย ณ วันที่ 27 มิ.ย. 56 ค่าเงินบาทปิดที่ระดับ 31.14 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ โดยอ่อนค่าลงร้อยละ -0.23 จากสัปดาห์ก่อนหน้า ซึ่งเป็นไปในทิศทางเดียวกับค่าเงินส่วนใหญ่โดยเฉพาะเงินเยน ยูโร วอนเกาหลี และหยวน อย่างไรก็ตาม ค่าเงินบาทอ่อนค่าลงในอัตราที่น้อยกว่าค่าเงินสกุลหลักอื่นๆ ทำให้ดัชนีค่าเงินบาท (NEER) ในสัปดาห์นี้แข็งค่าขึ้นร้อยละ 0.08 จากสัปดาห์ก่อนหน้า
  • ราคาทองคำปรับตัวลดลงมาก โดยราคาทองคำ ณ วันที่ 27 มิ.ย. 56 ปิดที่ 1,199.8 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์ ลดลงมากจากต้นสัปดาห์ที่ปิดที่ 1,281.3 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์

ที่มา: Macroeconomic Analysis Group: Fiscal Policy Office

Tel 02-273-9020 Ext 3253 : www.fpo.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ