รายงานภาวะเศรษฐกิจการคลังประจำเดือนพฤษภาคม 2556

ข่าวเศรษฐกิจ Friday June 28, 2013 13:44 —กระทรวงการคลัง

ฉบับที่ 21/2556

วันที่ 27 มิถุนายน 2556

“เครื่องชี้เศรษฐกิจไทยในเดือนพฤษภาคม 2556 บ่งชี้เศรษฐกิจไทยมีสัญญาณชะลอตัวลงต่อเนื่องจากเดือนก่อนหน้า ทั้งในด้านอุปทานโดยเฉพาะภาคอุตสาหกรรม และด้านอุปสงค์ โดยอุปสงค์จากต่างประเทศจากปริมาณการส่งออกปรับตัวลดลงตามภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว ในขณะที่อุปสงค์ภายในประเทศทั้งในด้านการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนมีสัญญาณชะลอตัวลงเช่นกัน อย่างไรก็ดี ภาคการท่องเที่ยวยังคงสนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจ และเสถียรภาพเศรษฐกิจไทยยังคงอยู่ในเกณฑ์ดีต่อเนื่อง”

นายสมชัย สัจจพงษ์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง เปิดเผยรายงานภาวะเศรษฐกิจการคลังประจำเดือนพฤษภาคม 2556 ว่า เศรษฐกิจไทยมีสัญญาณชะลอตัวลงต่อเนื่องจากเดือนก่อนหน้า สะท้อนจากดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรมในเดือนพฤษภาคม 2556 หดตัวร้อยละ -7.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยหมวดอุตสาหกรรมที่ปรับตัวลดลง ได้แก่ อุตสาหกรรมฮาร์ดดิสก์ไดร์ฟ และเครื่องใช้ไฟฟ้า เนื่องจากส่วนหนึ่งได้มีการเร่งการผลิตไปแล้วในช่วงปลายปี 2555 และช่วงต้นปี 2556 สำหรับภาคการเกษตรขยายตัวเล็กน้อย โดยดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรในเดือนพฤษภาคม 2556 ขยายตัวอยู่ที่ร้อยละ 0.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ในขณะที่ภาคบริการที่สะท้อนจากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศพบว่ายังคงขยายตัวดีต่อเนื่อง โดยมีจำนวนทั้งสิ้น 1.85 ล้านคน ขยายตัวร้อยละ 19.4 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน มาจากนักท่องเที่ยว จีน มาเลเซีย และรัสเซีย เป็นหลัก

นางสาวกุลยา ตันติเตมิท ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเศรษฐกิจมหภาค รักษาราชการแทนผู้อำนวยการสำนักนโยบายเศรษฐกิจมหภาค ชี้แจงข้อมูลเศรษฐกิจไทยเพิ่มเติมว่า “นอกจากเครื่องชี้เศรษฐกิจไทยในด้านอุปทานโดยเฉพาะจากดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรมในเดือนพฤษภาคม 2556 จะมีสัญญาณชะลอตัวลงต่อเนื่องแล้ว เครื่องชี้เศรษฐกิจไทยด้านการใช้จ่ายทั้งภายในประเทศและการส่งออกปรับตัวลดลงเช่นกัน สะท้อนได้จากยอดจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ในเดือนพฤษภาคม 2556 หดตัวร้อยละ -1.7 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยเป็นผลจากภาษีมูลค่าเพิ่มบนฐานการนำเข้าที่หดตัวร้อยละ -15.6 เป็นหลัก จากมูลค่านำเข้าสินค้าเชื้อเพลิงที่ลดลง สำหรับการบริโภคสินค้าคงทนสะท้อนได้จากปริมาณจำหน่ายรถยนต์นั่งหดตัวร้อยละ -5.8 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการที่ผู้บริโภคส่วนใหญ่ที่จองรถยนต์เพื่อใช้สิทธิรถยนต์คันแรกตั้งแต่ปีที่ผ่านมา ได้ทยอยรับรถเรียบร้อยแล้ว เช่นเดียวกับปริมาณการจำหน่ายรถจักรยานยนต์หดตัวร้อยละ -11.4 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยเป็นการหดตัวทั้งจากใน กทม. และในภูมิภาค ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากรายได้เกษตรกรที่เริ่มหดตัวลงตามราคาสินค้าเกษตรสำคัญที่ปรับตัวลดลง สำหรับการลงทุนภาคเอกชนในเดือนพฤษภาคม 2556 พบว่า มีสัญญาณชะลอลงจากเดือนก่อนหน้าเช่นกัน โดยเฉพาะในหมวดเครื่องมือเครื่องจักร วัดจากปริมาณจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์หดตัวร้อยละ -1.4 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการเร่งส่งมอบรถยนต์ให้กับลูกค้าในช่วงที่ผ่านมาจากโครงการรถยนต์คันแรก ในขณะที่หมวดการก่อสร้างยังคงขยายตัวได้ดีแม้มีอัตราที่แผ่วลงจากเดือนก่อนหน้า โดยยอดจำหน่ายปูนซีเมนต์ในเดือนพฤษภาคม 2556 ขยายตัวร้อยละ 16.8 ชะลอลงจากเดือนก่อนหน้าขยายตัวร้อยละ 17.7 เช่นเดียวกับภาษีจากการทำธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์ ขยายตัวร้อยละ 14.0 จากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 40.6 เนื่องจากความต้องการอสังหาริมทรัพย์ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑลชะลอลง สะท้อนจากจำนวนที่อยู่อาศัยที่ได้รับอนุมัติสินเชื่อใหม่จากธนาคารพาณิชย์ชะลอลง ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากธนาคารพาณิชย์เริ่มระมัดระวังการปล่อยสินเชื่อมากขึ้น สำหรับด้านอุปสงค์จากต่างประเทศจากการส่งออกปรับตัวลดลงตามภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอลง โดยมูลค่าการส่งออกหดตัวที่ร้อยละ -5.2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เป็นผลจากสินค้าหมวดน้ำมันและอิเล็กทรอนิกส์เป็นสำคัญ โดยการส่งออกไปยังประเทศคู่ค้าสำคัญหดตัวลง โดยเฉพาะจากจีน สิงคโปร์ และสหภาพยุโรป”

ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กล่าวสรุปว่า “เครื่องชี้เศรษฐกิจไทยในเดือนพฤษภาคม 2556 บ่งชี้ถึงสัญญาณการชะลอตัวต่อเนื่องของเศรษฐกิจไทย ซึ่งประเมินว่าเศรษฐกิจไทยในช่วงไตรมาสที่ 2 ของปี 2556 จะขยายตัวชะลอลงต่อเนื่องจากไตรมาสก่อนหน้า นอกจากนี้ สถานการณ์ความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลกโดยเฉพาะทิศทางการปรับลดมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (Quantitative Easing: QE) ของสหรัฐอเมริกา และเศรษฐกิจจีนที่ชะลอตัวลงอาจจะกระทบต่อเศรษฐกิจไทยในช่วงที่เหลือของปี ซึ่ง สศค.จะได้ติดตามอย่างใกล้ชิดต่อไป”

ที่มา: สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ