เอกสารแนบ: รายงานภาวะเศรษฐกิจการคลังประจำเดือนพฤษภาคม 2556

ข่าวเศรษฐกิจ Friday June 28, 2013 13:45 —กระทรวงการคลัง

เอกสารแนบ

“เครื่องชี้เศรษฐกิจไทยในเดือนพฤษภาคม 2556 บ่งชี้เศรษฐกิจไทยมีสัญญาณชะลอตัวลงต่อเนื่องจากเดือนก่อนหน้า ทั้งในด้านอุปทานโดยเฉพาะภาคอุตสาหกรรม และด้านอุปสงค์ โดยอุปสงค์จากต่างประเทศจากปริมาณการส่งออกปรับตัวลดลงตามภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว ในขณะที่อุปสงค์ภายในประเทศทั้งในด้านการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนมี สัญญาณชะลอตัวลงเช่นกัน อย่างไรก็ดี ภาคการท่องเที่ยวยังคงสนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจ และเสถียรภาพเศรษฐกิจไทยยังคงอยู่ในเกณฑ์ดีต่อเนื่อง”

1. การบริโภคภาคเอกชนในเดือนพฤษภาคม 2556 พบว่า มีสัญญาณชะลอตัวลงจากเดือนก่อนหน้า สะท้อนได้จากยอดจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ในเดือนพฤษภาคม 2556 หดตัวร้อยละ -1.7 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 3.7 ขณะที่ปริมาณการนำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภคในเดือนพฤษภาคม 2556 ขยายตัวร้อยละ 6.4 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ชะลอลงจากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 12.9 สำหรับการบริโภคสินค้าคงทนสะท้อนได้จากปริมาณจำหน่ายรถยนต์นั่งในเดือนพฤษภาคม 2556 หดตัวร้อยละ -5.8 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 22.9 ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการที่ผู้บริโภคส่วนใหญ่ที่จองรถยนต์เพื่อใช้สิทธิรถยนต์คันแรกตั้งแต่ปีที่ผ่านมา ได้ทยอยรับรถเรียบร้อยแล้ว ทั้งนี้ ปริมาณจำหน่ายรถยนต์นั่งกำลังปรับตัวเข้าสู่สภาวะปกติหลังจากการเติบโตอย่างก้าวกระโดดในปีที่แล้ว ขณะที่ปริมาณการจำหน่ายรถจักรยานยนต์ในเดือนพฤษภาคม 2556 หดตัวร้อยละ -11.4 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 7.2 ตามการหดตัวของยอดขายรถจักรยานยนต์ทั้งใน กทม. และในภูมิภาคที่ร้อยละ -4.2 และร้อยละ -13.2 จากเดือนก่อนที่ขยายตัวร้อยละ 10.8 และร้อยละ 6.4 ตามลำดับ ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากรายได้ภาคครัวเรือนที่เริ่มปรับตัวลดลง โดยเฉพาะรายได้เกษตรกรที่หดตัวตามราคาสินค้าเกษตรสำคัญ อาทิ ยางพารา และปาล์มน้ำมันที่ปรับตัวลดลง ทั้งนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจโดยรวมในเดือนพฤษภาคม 2556 อยู่ที่ระดับ 72.8 ลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ระดับ 73.9 ซึ่งเป็นการลดลงครั้งที่ 2 ติดต่อกัน จากความกังวลเรื่องความผันผวนของค่าเงินบาทในช่วงที่ผ่านมาที่อาจส่งผลกระทบต่อรายได้จากการส่งออก รวมทั้งการขยายตัวทางเศรษฐกิจโดยรวมลดลง ราคาพืชผลเกษตรที่ทรงตัวในระดับต่ำ ทำให้รายได้เกษตรกรในภาคชนบทปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง และการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่ยังมีความเปราะบาง

    เครื่องชี้การบริโภคภาคเอกชน          2555                  2556
                                             Q1   เม.ย.   พ.ค.   YTD
ภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ (%yoy)         14.1    6.9    3.7   -1.7    4.5
   %qoq_SA / %mom_SA                   -   -0.1    1.5   -1.3      -
ปริมาณนำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภค (%yoy)     -0.4    5.1   12.9    6.4    6.7
   %qoq_SA / %mom_SA                   -   -4.0    8.5   -0.2      -
ปริมาณจำหน่ายรถยนต์นั่ง (%yoy)          86.6   101.3   22.9   -5.8   53.4
    %qoq_SA / %mom_SA                 -     1.1  -22.0   -6.1      -
ปริมาณการจำหน่ายรถจักรยานยนต์ (%yoy)    5.8     5.4    7.2  -11.4    1.7
   %qoq_SA / %mom_SA                  -    -0.4    7.7   -3.5      -
ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค                 67.6    73.8   73.9   72.8   73.6

2. การลงทุนภาคเอกชนในเดือนพฤษภาคม 2556 พบว่า มีสัญญาณชะลอตัวลงจากเดือนก่อนหน้าทั้งการลงทุนภาคเอกชนในหมวดเครื่องมือเครื่องจักรและหมวดการก่อสร้าง สะท้อนจากปริมาณการนำเข้าสินค้าทุนในเดือนพฤษภาคม 2556 หดตัวร้อยละ -1.8 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 2.3 ขณะที่ปริมาณจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์ในเดือนพฤษภาคม 2556 หดตัวร้อยละ -1.4 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 26.5 ตามการลดลงของรถกระบะขนาด 1 ตัน ที่หดตัวร้อยละ -4.8 จากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 25.5 จากการเร่งส่งมอบรถยนต์ให้กับลูกค้าในช่วงที่ผ่านมาจากโครงการรถยนต์คันแรก สำหรับเครื่องชี้การลงทุนภาคเอกชนในหมวดการก่อสร้างยังคงขยายตัวจากเดือนก่อนหน้า แม้ว่าจะขยายตัวชะลอลง สะท้อนจากยอดจำหน่ายปูนซีเมนต์ในเดือนพฤษภาคม 2556 ขยายตัวร้อยละ 16.8 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ชะลอลงจากเดือนก่อนหน้าขยายตัวร้อยละ 17.7 โดยอุปสงค์ของอสังหาริมทรัพย์ยังคงเติบโตแม้ว่าจะชะลอตัวเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า สำหรับภาษีจากการทำธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์ในเดือนพฤษภาคม 2556 ขยายตัวร้อยละ 14.0 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 40.6 เนื่องจากความต้องการอสังหาริมทรัพย์ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑลชะลอลง สะท้อนจากจำนวนที่อยู่อาศัยที่ได้รับอนุมัติสินเชื่อใหม่จากธนาคารพาณิชย์ชะลอลง ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากธนาคารพาณิชย์เริ่มระมัดระวังการปล่อยสินเชื่อมากขึ้น

    เครื่องชี้การบริโภคภาคเอกชน                  2555                   2556
                                                       Q1    เม.ย.    พ.ค.    YTD
เครื่องชี้การลงทุนในเครื่องจักร
ปริมาณนำเข้าสินค้าทุน (%yoy)                     22.1      6.8     2.3    -1.8     2.3
   %qoq_SA / %mom_SA                           -     10.1    12.3     1.9       -
ปริมาณนำเข้าสินค้าทุนหักเครื่องบิน เรือและรถไฟ (%yoy) 23.2      2.6    -8.5   -11.5    -4.6
   %qoq_SA / %mom_SA                           -     -5.6     8.1    -1.6       -
ปริมาณจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์ (%yoy)             76.2     19.4    26.5    -1.4    16.3
   %qoq_SA / %mom_SA                           -     -2.4     8.3    -6.6       -
เครื่องชี้การลงทุนก่อสร้าง
ภาษีจากการทำธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์ (%yoy)         21.4     32.5    40.6    14.0    31.1
   %qoq_SA / %mom_SA                           -     -5.4     6.8   -10.1       -
ปริมาณจำหน่ายปูนซีเมนต์ (%yoy)                   10.6     15.9    17.7    16.8    16.4
   %qoq_SA / %mom_SA                           -     -0.6     1.2     0.3       -

3. เครื่องชี้ภาวะเศรษฐกิจไทยด้านการคลังในเดือนพฤษภาคม 2556 พบว่า รายได้รัฐบาลจัดเก็บได้สูงขึ้น ขณะที่รายจ่ายรัฐบาลที่สูงกว่ารายได้ ทำให้ขาดดุลงบประมาณตามการจัดทำงบประมาณขาดดุลประจำปีงบประมาณ 2556 โดยผลการจัดเก็บรายได้สุทธิของรัฐบาล (หลังหักจัดสรรให้ อปท.) ในเดือนพฤษภาคม 2556 มีจำนวน 326.8 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.7 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่หดตัวร้อยละ -7.9 สำหรับผลการเบิกจ่ายงบประมาณรวมในเดือนพฤษภาคม 2556 มีจำนวน 135.3 พันล้านบาท ลดลงร้อยละ -6.7 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 14.5 โดยรายจ่ายงบประมาณปีปัจจุบันเบิกจ่ายได้จำนวน 125.7 พันล้านบาท ลดลงร้อยละ -6.9 แบ่งออกเป็น (1) รายจ่ายประจำ 109.0 พันล้านบาท ลดลงร้อยละ -3.7 และ (2) รายจ่ายลงทุน 16.7 พันล้านบาท ลดลงร้อยละ -23.4 สำหรับรายจ่ายเหลื่อมปีเบิกจ่ายได้ 9.6 พันล้านบาท ลดลงร้อยละ 3.1 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน สำหรับดุลเงินงบประมาณในเดือนพฤษภาคม 2556 เกินดุลจำนวน 38.4 พันล้านบาท

    เครื่องชี้ภาคการคลัง                         FY2555                      FY2556                FY2556
                                                     Q1/FY56   Q2/FY56    เม.ย.      พ.ค.       YTD
รายได้สุทธิของรัฐบาล (หลังหักการจัดสรรให้ อปท.)    1,975.6     508.1     469.7   129.2     326.8    1,433.8
 (%y-o-y)                                      4.4      27.5      13.8    -7.9       6.7       14.0
รายจ่ายรัฐบาลรวม                             2,295.3     785.9     585.7   180.4     135.3    1,687.2
(%y-o-y)                                       5.4      60.5     -24.9    14.5      -6.7        7.3
ดุลเงินงบประมาณ                               -314.7    -282.0    -109.0   -56.4      38.4     -409.0

4. การส่งออกในเดือนพฤษภาคม 2556 ปรับตัวลดลงตามภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว หลักจากที่ขยายตัวติดต่อกัน 2 เดือน โดยพบว่า การส่งออกสินค้าในรูปดอลลาร์สหรัฐในเดือนพฤษภาคม 2556 มีมูลค่า 19.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หดตัวร้อยละ -5.2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 2.9 ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาสินค้าส่งออกที่ปรับตัวลดลงในเดือนพฤษภาคม 2556 ได้แก่ สินค้าหมวดอิเล็กทรอนิกส์ เชื้อเพลิง และหมวดสินค้าเกษตร ที่หดตัวร้อยละ -14.5 -30.7 และ -18.6 ตามลำดับ โดยการส่งออกไปยังประเทศคู่ค้าที่สำคัญหดตัวลง โดยเฉพาะ จีน สิงคโปร์ และสหภาพยุโรป ที่หดตัวร้อยละ -16.3 -25.5 และ -12.1 ตามลำดับ สำหรับมูลค่าการนำเข้าสินค้าในรูปดอลลาร์สหรัฐในเดือนพฤษภาคม 2556 พบว่ามูลค่าการนำเข้าสินค้าในรูปดอลลาร์สหรัฐอยู่ที่ 22.1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หดตัวร้อยละ -2.1 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 8.9 ทั้งนี้ มูลค่าการส่งออกสินค้าในรูปดอลลาร์สหรัฐที่ต่ำกว่ามูลค่าการนำเข้าสินค้าในรูปดอลลาร์สหรัฐทำให้ดุลการค้าในเดือนพฤษภาคม 2556 ขาดดุลอยู่ที่ -2.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

           ประเทศคู่ค้าหลัก                               2556
     (สัดส่วนการส่งออกปี 2555)        2555      Q1     เม.ย.   พ.ค.    YTD
ส่งออกไปทั้งโลก (%yoy)                3.1     4.3      2.9   -5.2     1.9
%qoq_SA / %mom_SA                         -0.5     -0.7   -0.4     0.0
1.จีน (11.7%)                       2.5     7.3     -6.6  -16.3    -0.9
2.ญี่ปุ่น (10.2%)                     -1.6     1.5      3.2   -7.6    -0.3
3.สหรัฐฯ (9.9%)                     4.6     2.6      8.3   -6.9     1.4
4.สหภาพยุโรป (8.5%)                -9.2     8.7      0.8  -12.1     2.2
5.ฮ่องกง (5.7%)                     9.6    11.2     12.7    1.1     9.6
6.มาเลเซีย (5.4%)                   0.2    -0.8     -3.5   11.3     1.3
7.สิงคโปร์ (4.7%)                   -5.1    10.6     -5.4  -25.5    -1.4
8. ตะวันออกกลาง (5.0%)              6.6     4.4      7.2  -15.8    -0.1
9.ทวีปออสเตรเลีย (4.9%)             22.1    30.4     23.7   16.7    25.9
PS.อาเซียน-9 (24.7%)                5.0     5.9      3.1   -1.2     3.7

5. เครื่องชี้ภาวะเศรษฐกิจด้านการผลิตในเดือนพฤษภาคม 2556 พบว่า มีสัญญาณแผ่วลงจากเดือนก่อนหน้า สะท้อนจากดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรม (เบื้องต้น) ในเดือนพฤษภาคม 2556 หดตัวร้อยละ -7.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่หดตัวร้อยละ -4.0 และเมื่อขจัดผลทางฤดูกาล (m-o-m SA) พบว่าขยายตัวร้อยละ 0.4 ต่อเดือน ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาหมวดอุตสาหกรรมที่ยังคงหดตัวในเดือนพฤษภาคม 2556 ได้แก่ อุตสาหกรรมฮาร์ดดิสก์ไดร์ฟ เครื่องใช้ไฟฟ้า เป็นสำคัญ เนื่องจากส่วนหนึ่งได้มีการเร่งกำลังการผลิตไปแล้วในช่วงปลายปี 2555 และช่วงต้นปี 2556 อย่างไรก็ดี เมื่อพิจารณาอัตราการใช้กำลังการผลิต (Cap U) ในเดือนพฤษภาคม 2556 อยู่ที่ระดับ 65.8 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ระดับ 60.1 สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมในเดือนพฤษภาคม 2556 อยู่ที่ระดับ 94.3 ปรับตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ระดับ 92.9 ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ทำให้ผู้ประกอบการมองว่าเป็นการกระตุ้นการใช้จ่ายในประเทศ และมีส่วนช่วยลดแรงกดดันของค่าเงินบาท ในขณะที่การผลิตภาคการเกษตรกลับมาขยายตัวเล็กน้อย โดยดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรในเดือนพฤษภาคม 2556 ขยายตัวร้อยละ 0.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่หดตัวร้อยละ -4.4 ตามการเพิ่มขึ้นของผลผลิตในหมวดพืชผลสำคัญ โดยเฉพาะยางพารา มันสำปะหลัง และปาล์มน้ำมัน ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากพื้นที่เพาะปลูกและเก็บเกี่ยวเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคตะวันออก สอดคล้องกับผลผลิตหมวดปศุสัตว์ที่ยังคงขยายตัวต่อเนื่องที่ร้อยละ 2.9 จากเดือนก่อนที่ขยายตัวร้อยละ 2.5 ตามการเพิ่มขึ้นของผลผลิตสุกร และไก่เนื้อเป็นสำคัญ สำหรับเครื่องชี้ภาคบริการที่สะท้อนจากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศพบว่ายังคงขยายตัวดีต่อเนื่อง โดยนักท่องเที่ยวต่างประเทศที่เดินทางเข้าประเทศไทยในเดือนพฤษภาคม 2556 มีจำนวนทั้งสิ้น 1.85 ล้านคน ขยายตัวร้อยละ 19.4 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และเมื่อขจัดผลทางฤดูกาล (m-o-m SA) พบว่าขยายตัวร้อยละ 1.7 ต่อเดือน โดยเป็นการขยายตัวดีจากนักท่องเที่ยว จีน มาเลเซีย และรัสเซีย ซึ่งขยายตัวร้อยละ 93.8 25.6 และ 73.7 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ตามลำดับ

     เครื่องชี้เศรษฐกิจด้านอุปทาน            2555                   2556
                                               Q1     เม.ย.     พ.ค.      YTD
ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (%yoy)               2.5    3.2     -4.0     -7.5      -0.5
    %qoq_SA / %mom_SA                    -   -2.9     -3.4      0.4         -
ดัชนีผลผลิตเกษตรกรรม (%yoy)               5.1    1.8     -4.4      0.5       0.3
   %qoq_SA / %mom_SA                     -   -2.1     -0.1     -0.3         -
นักท่องเที่ยวต่างชาติ (%yoy)                16.2   18.9     19.4     19.4      19.1
   %qoq_SA / %mom_SA                     -    1.7      2.9      1.7         -

6. เสถียรภาพเศรษฐกิจทั้งภายในและภายนอกประเทศอยู่ในเกณฑ์ดี โดยอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือนพฤษภาคม 2556 อยู่ที่ร้อยละ 2.3 ลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ร้อยละ 2.4 จากราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศที่มีการปรับตัวลดลงตามราคาน้ำมันดิบโลก ในขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ร้อยละ 0.9 ลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ร้อยละ 1.2 ส่วนอัตราการว่างงานในเดือนเมษายน 2556 อยู่ที่ร้อยละ 0.9 ของกำลังแรงงานรวม ซึ่งคิดเป็นจำนวนผู้ว่างงานเท่ากับ 3.5 แสนคน สำหรับสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2556 อยู่ที่ร้อยละ 44.2 ต่ำกว่ากรอบความยั่งยืนทางการคลังที่ตั้งไว้ไม่เกินร้อยละ 60.0 สำหรับเสถียรภาพภายนอกประเทศยังอยู่ในระดับมั่นคง และสามารถรองรับความเสี่ยงจากความผันผวนของเศรษฐกิจโลกได้ สะท้อนได้จากทุนสำรองระหว่างประเทศ ณ สิ้นเดือนพฤษภาคม 2556 อยู่ในระดับสูงที่ 175.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งสูงกว่าหนี้ต่างประเทศระยะสั้นประมาณ 2.8 เท่า

     เครื่องชี้เสถียรภาพเศรษฐกิจ            2555                   2556
                                               Q1    มี.ค.    เม.ย.    พ.ค.    YTD
ภายในประเทศ
   เงินเฟ้อทั่วไป (%yoy)                   3.0    3.1    2.7      2.4     2.3     2.8
   เงินเฟ้อพื้นฐาน (%yoy)                  2.1    1.5    1.2      1.2     0.9     1.3
   อัตราการว่างงาน (yoy%)                0.7    0.7    0.7      0.9     n.a.    0.8
   หนี้สาธารณะ/GDP                      44.0   44.2   44.2      n.a.    n.a.   44.2
ภายนอกประเทศ
   ดุลบัญชีเดินสะพัด (พันล้าน $)              2.7    1.3    1.9     -3.4     n.a.   -2.1
   ทุนสำรองทางการ (พันล้าน $)           181.6  177.8  177.8    178.4   175.3   175.3
   ฐานะสุทธิ Forward  (พันล้าน $)         24.1   23.7   23.7     23.6    23.5    23.5

ที่มา: สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ