รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 3 กรกฎาคม 2556

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday July 3, 2013 11:59 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 3 กรกฎาคม 2556

Summary:

1. กบง.ลดอัตราเงินส่งเข้ากองทุนน้ำมัน เก็บดีเซลลดลง 0.40 บาท/ลิตร

2. ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เผชิญปัญหาขาดแคลนแรงงานอย่างหนัก

3. อัตราการว่างงาน และ PMI ภาคกาคผลิตของยูโรโซนปรับตัวดีขึ้น

Highlight:

1.กบง.ลดอัตราเงินส่งเข้ากองทุนน้ำมัน เก็บดีเซลลดลง 0.40 บาท/ลิตร
  • คณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) เห็นชอบปรับลดอัตราเงินส่งเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงสำหรับน้ำมัน ดีเซลลง 0.40 บาท/ลิตร จากเดิมน้ำมันดีเซลมีอัตราการจัดเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันฯ 2.10 บาท/ลิตร ปรับเป็น 1.70 บาท/ลิตร ทั้งนี้ เพื่อคงให้ราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลไม่เกิน 30 บาท/ลิตร การปรับอัตราเงินส่งเข้ากองทุนน้ำมันฯ ครั้งนี้จะทำให้กองทุนน้ำมันฯ มีรายรับลดลงจากเดิมมีรายรับประมาณ 142 ล้านบาท/วัน เป็นรายรับประมาณ 118 ล้านบาท/วัน โดยกองทุนน้ำมันฯ มีฐานะเป็นบวกต่อเนื่อง ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2556 กองทุนน้ำมันฯ มีฐานะสุทธิเป็นบวก 3,256 ล้านบาท
  • สศค. วิเคราะห์ว่า โครงสร้างราคาน้ำมันดีเซลในปัจจุบัน ประกอบด้วย (1) ราคาน้ำมันหน้าโรงกลั่นคิดเป็นร้อยละ 82.0 ของราคาจำหน่าย (2) เงินจัดเก็บเข้ากองทุนน้ำมันฯ ลิตรละ 2.1 บาท คิดเป็นร้อยละ 7.0 ของราคาจำหน่าย (3) ภาษีต่างๆ คิดเป็นร้อยละ 6.6 ของราคาจำหน่าย (4) ค่าการตลาดคิดเป็นร้อยละ 3.6 ของราคาจำหน่าย และ (5) เงินจัดเก็บข้อกองทุนอนุรักษ์พลังงานคิดเป็นร้อยละ 0.8 ของราคาจำหน่าย ดังนั้น การที่ กบง. ปรับลดอัตราเงินนำส่งเข้ากองทุนน้ำมันฯ จะช่วยลดผลกระทบต่อค่าครองชีพของประชาชนได้บางส่วน สะท้อนได้จากราคาสินค้าในหมวดไฟฟ้า เชื้อเพลิง น้ำประปาและแสงสว่าง คิดเป็นร้อยละ 4.9 ของตระกร้าเงินเฟ้อ โดยในช่วงเดือน มิ.ย. 56 ราคาสินค้าในหมวดดังกล่าวได้ปรับเพิ่มขึ้นเร้อยละ 4.9 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และในช่วงครั้งแรกของปี 56 ราคาสินค้าในหมวดไฟฟ้า เชื้อเพลิง น้ำประปาและแสงสว่างปรับเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 12.4 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ทั้งนี้ สศค. คาดว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 56 จะเท่ากับร้อยละ 2.5 (ช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 2.0 - 3.0)
2. ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เผชิญปัญหาขาดแคลนแรงงานอย่างหนัก
  • นายกสมาคมอาคารชุดไทย เปิดเผยว่า ขณะนี้ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ต้องเผชิญกับปัญหาขาดแคลนแรงงานอย่างหนัก เนื่องจากไม่สามารถเปิดเสรีแรงงานได้อย่างเบ็ดเสร็จ ขณะที่แรงงานคนไทยหันไปทำงานในภาคเกษตรมากขึ้น จึงส่งผลให้โครงการก่อสร้างมีความล่าช้าออกไปจนไม่สามารถส่งมอบให้ลูกค้าได้ทันตามกำหนด โดยขณะนี้เริ่มเห็นภาพที่ชัดเจนมากขึ้นว่า มีคอนโดมีเนียมหลายโครงการที่มีแนวโน้มส่งมอบให้ลูกค้าไม่ทันตามกำหนดภายในสิ้นปีนี้ จึงยอมคืนเงินดาวน์พร้อมดอกเบี้ยให้กับลูกค้า
  • สศค. วิเคราะห์ว่า แม้ว่าเครื่องชี้ด้านอุปสงค์ของตลาดอสังหาริมทรัพย์จะมีแนวโน้มเติบโตได้แม้ว่าจะชะลอลงบ้างจากมาตรการเพิ่มความระมัดระวังในการปล่อยสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ สะท้อนจากจำนวนที่อยู่อาศัยที่ได้ร้บอนุมัติสินเชื่อปล่อยใหม่จากธนาคารพาณิชย์ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล ในช่วง 5 เดือนแรกของปี 56 ขยายตัวร้อยละ 4.8 แต่เครื่องชี้ด้านอุปทานของตลาดอสังหาริมทรัพย์กลับมีสัญญาณการหดตัว สะท้อนจากที่อยู่อาศัยสร้างเสร็จและจดทะเบียนเพิ่มในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑลในเดือน เม.ย. 56 หดตัวร้อยละ -10.1 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ทำให้ในช่วง 4 เดือนแรกของปี 56 หดตัวถึงร้อยละ -16.6 โดยมีสาเหตุสำคัญจากปัญหาการหาที่ดินที่เหมาะสมในการพัฒนาอาคารชุดที่เริ่มหาได้ยากขึ้นโดยเฉพาะทำเลตามแนวรถไฟฟ้า และปัญหาการขาดแคลนแรงงานโดยเฉพาะแรงงานมีฝีมือ ซึ่งสอดคล้องกับสถานการณ์ตลาดแรงงานภาคการก่อสร้างที่มีความต้องการเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยล่าสุด การจ้างงานแรงงานภาคการก่อสร้างในช่วง 4 เดือนแรกของปี 56 ขยายตัวร้อยละ 7.4 เพิ่มขึ้นต่อเนื่องจากปี 55 ที่ขยายตัวร้อยละ 3.6
3. อัตราการว่างงาน และ PMI ภาคกาคผลิตของยูโรโซนปรับตัวดีขึ้น
  • สำนักงานสถิติแห่งชาติยุโรป (Eurostat) เปิดเผยว่า อัตราการว่างงานของกลุ่ม 17 ประเทศที่ใช้สกุลเงินยูโรในเดือน พ.ค. เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.1 อยู่ที่ระดับร้อยละ 12.1 ซึ่งเป็นระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์จากร้อยละ 12.0 ในเดือนเม.ย. ทั้งนี้ในเดือนพ.ค.ยูโรโซนมีจำนวนผู้ว่างงาน 19.22 ล้านคน เพิ่มขึ้น 67,000 คนจากเดือนก่อนหน้า ในขณะที่ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตของยูโรโซนในเดือน มิ.ย. ปรับขึ้นในระดับ 48.8 ซึ่งนับเป็นระดับสูงสุดในรอบกว่า 1 ปี จากระดับ 48.3 ในเดือน พ.ค. ดัชนีที่ต่ำกว่า 50 บ่งชี้ว่าภาคการผลิตของภูมิภาคที่ใช้สกุลเงินยูโรยังคงหดตัวจากเดือนก่อนหน้า
  • สศค. วิเคราะห์ว่า การออกมาตรการทางการคลังของธนาคารกลางยุโรป (ECB) เพื่อแก้ไขวิกฤติหนี้สาธารณะยุโรปของประเทศสมาชิกที่มีปัญหาหนี้สูง ที่ผ่านมาเมื่อปี 53 นั้น ถึงแม้จะแก้ไขความไม่สมดุลได้บางส่วน แต่จากปัญหาการหดตัวของภาคการผลิตในกลุ่มยูโรโซน ที่ส่งผลให้เกิดอัตราการว่างงานมากขึ้นนั้น สะท้อนว่าปัญหาวิกฤติหนี้สาธารณะดังกล่าวยังไม่คลี่คลาย ภาวะดังกล่าวจะทำให้อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจของประเทศในกลุ่มยูโรโซนและรายได้ประชาชาติลดลง ซึ่งอาจมีผลต่อเสถียรภาพของระบบเงินยูโร ทำให้สถานภาพความมั่นคงของระบบสกุลเงินยูโรอาจกลับมาเป็นประเด็นของตลาดการเงินโลกอีกในอนาคตอันใกล้นี้

ที่มา: Bureau of Macroeconomic Policy,Fiscal Policy Office, Ministry of Finance

Tel: 02-273-9020 Ext. 3257


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ