รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 2 กรกฎาคม 2556

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday July 2, 2013 12:01 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 2 กรกฎาคม 2556

Summary:

1. พาณิชย์เผยเงินเฟ้อทั่วไปเดือน มิ.ย. 56 อยู่ที่ร้อยละ 2.25

2. กขช. มีมติให้ใช้ราคารับจำนำข้าวนาปรังที่ตันละ 15,000 บาทจนถึงสิ้นสุดโครงการปี 56

3. ผลสำรวจทังกังญี่ปุ่นไตรมาส 2 ปี 56 ปรับตัวสูงขึ้น

Highlight:

1. พาณิชย์เผยเงินเฟ้อทั่วไปเดือน มิ.ย. 56 อยู่ที่ร้อยละ 2.25
  • ปลัดกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผย ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป(CPI) เดือน มิ.ย.56 อยู่ที่ 105.31 เพิ่มขึ้นร้อยละ2.25 จากช่วงเดียวกันปีก่อน และเพิ่มขึ้นร้อยละ0.15 จากเดือน พ.56 ส่งผลให้ CPI ในช่วง6 เดือนแรกของปี 56 อยู่ที่ร้อยละ2.70 จากช่วงเดียวกันของปีก่อนส่วนดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐาน(Core CPI) เดือน มิ.ย.56 อยู่ที่ 103.07 เพิ่มขึ้นร้อยละ0.88 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และเพิ่มขึ้นร้อยละ0.09 จากเดือน พ.ค.56 ส่งผลให้ในช่วง6 เดือนแรกของปี 56 Core CPIอยู่ที่ร้อยละ1.23จากมช่วงเดียวกันปีก่อน
  • สศค. วิเคราะห์ว่า อัตราเงินเฟ้อเดือน มิ.ย. 56 อยู่ที่ร้อยละ 2.25 สะท้อนให้เห็นถึงแรงกดดันเงินเฟ้อที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง จากราคาอาหารสดที่ปรับตัวลดลง ประกอบกับการค่าเงินบาทที่เริ่มอ่อนค่าลงสอดคล้องกับอัตราการขยายตัวเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า(%mom)พบว่าดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปลดลงเช่นเดียวกันที่ร้อยละ 0.15 จากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 0.24 จากดัชนีราคาหมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแฮลกอฮอล์ที่ปรับตัวลดลงร้อยละ -0.77 จากราคาผักและผลไม้เป็นสำคัญ เนื่องจากสภาพอากาศเอื้ออำนวยต่อการเพาะปลูก ส่งผลให้ปริมาณผลผลิตเข้าสู่ตลาดมากขึ้นส่งผลด้านราคาให้ปรับตัวลดลง ทั้งนี้ สศค.คาดว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 56 จะอยู่ที่ร้อยละ 2.5 (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 2.0 ถึง 3.0 คาดการณ์ ณ มิ.ย.56)
2. กขช. มีมติให้ใช้ราคารับจำนำข้าวนาปรังที่ตันละ 15,000 บาทจนถึงสิ้นสุดโครงการปี 56
  • คณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ (กขช.) มีมติให้กลับไปใช้ราคารับจำนำข้าวนาปรังที่ตันละ 15,000 บาทจนถึงสิ้นสุดโครงการรอบนี้ในวันที่ 15 ก.ย.56 แต่จะรับจำนำในวงเงินไม่เกิน 500,000 บาท/ครัวเรือน ตามมติ กขช.เมื่อวันที่ 18 มิ.ย.ที่ผ่านมา ส่วนปี 57 จะทบทวนราคาอีกครั้ง เพื่อให้สอดคล้องกับราคาข้าวตลาดโลก
  • สศค. วิเคราะห์ว่า การกลับมาใช้ราคารับจำนำข้าวนาปรังที่ตันละ 15,000 บาทจนถึงสิ้นสุดโครงการในเดือน ก.ย.56 นั้น จะช่วยส่งผลในด้านจิตวิทยาที่ดีให้กับเกษตรกร รวมถึงจะช่วยสนับสนุนราคาสินค้าเกษตรที่เกษตรกรขายได้ไม่หดตัวลงมากนัก โดยในช่วง 5 เดือนแรกปี 56 ดัชนีราคาสินค้าเกษตรหดตัวชะลอลงที่ร้อยละ -2.7 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน จากปีก่อนที่หดตัวร้อยละ -9.6 ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการขยายตัวของข้าวเปลือกที่ร้อยละ 2.7 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน อย่างไรก็ดี แนวโน้มราคาข้าวในตลาดโลกปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง ตามอุปทานในตลาดโลกที่เพิ่มขึ้นมากจากผู้ค้ารายใหญ่อย่างเวียดนามและอินเดีย รวมถึงคู่แข่งรายใหญ่อย่างพม่า เนื่องจากสภาพภูมิอากาศที่เอื้ออำนวยในการผลิตและเพาะปลูก ซึ่งจะกดดันให้ราคาข้าวในตลาดโลกอ่อนตัวลง และส่งผลกระทบต่อราคาส่งออกข้าวไทยในอนาคต
3. ผลสำรวจทังกังญี่ปุ่นไตรมาส 2 ปี 56 ปรับตัวสูงขึ้น
  • ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) เผยผลสำรวจทังกัง (Tankan survey)ซึ่งเป็นการสำรวจความเชื่อมั่นของธุรกิจขนาดใหญ่ โดยในไตรมาส 2 ปี 56 ตัวเลขดังกล่าวของภาคอุตสาหกรรมพลิกกลับมาเป็นบวกครั้งแรกในรอบเกือบ 2 ปี ที่ +4 จุดปรับสูงขึ้นถึง 12 จุดจากไตรมาสก่อนหน้าที่อยู่ที่ระดับ -8 จุดสะท้อนความเชื่อมั่นของผู้ผลิตญี่ปุ่น นอกจากนี้ ความเชื่อมั่นภาคบริการก็ปรับตัวดีขึ้นเช่นกัน โดยดัชนีของบริษัทขนาดใหญ่นอกภาคการผลิต เพิ่มขึ้น 6 จุดเป็น +12 จุด นอกจากนั้น ผู้ประกอบการรายใหญ่ยังคาดว่าสภาพธุรกิจจะดีขึ้นอีกในช่วง 3 เดือนข้างหน้า
  • สศค. วิเคราะห์ว่า ปัจจัยหลักที่ส่งเสริมให้ความเชื่อมั่นของธุรกิจขนาดใหญ่ที่ดีขึ้นนั้น เป็นผลมาจากเงินเยนที่อ่อนค่าโดยต่อเนื่องโดย ณ ก.ค.56 ค่าเงินเยนอยู่ที่ 98.91 เยนต่อดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าลงถึงกว่าร้อยละ -14.1 จากต้นปี ซึ่งค่าเงินเยนที่อ่อนค่าเป็นหนึ่งในปัจจัยที่ช่วยสนับสนุนการส่งออกและการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโดยรวม จะเห็นได้จากตัวเลขมูลค่าการส่งออกญี่ปุ่น เดือน พ.ค. 56 ขยายตัวดีที่ร้อยละ 10.1 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เร่งขึ้นมากจากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวเพียงร้อยละ 3.8 ทั้งนี้ แนวโน้มเศรษฐกิจญี่ปุ่นที่สดใสมากขึ้น อาจช่วยให้ BOJ ชะลอการผ่อนคลายทางการเงินและลดภาระทางการคลังภาครัฐ ทั้งนี้ สศค. คาดการณ์ ณ เดือน มิ.ย. 56 ว่าเศรษฐกิจญี่ปุ่นในปี 56 นี้จะขยายตัวร้อยละ 1.5

ที่มา: Bureau of Macroeconomic Policy,Fiscal Policy Office, Ministry of Finance

Tel: 02-273-9020 Ext. 3257


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ