รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 5 กรกฎาคม 2556

ข่าวเศรษฐกิจ Friday July 5, 2013 11:00 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 5 กรกฎาคม 2556

Summary:

1. ธนาคารแห่งประเทศไทยเผยธนาคารต่างชาติสนใจทำธุรกิจธนาคารพาณิชย์ในไทย

2. The Wall Street Journal ชี้เศรษฐกิจเอเชียมีแนวโน้มชะลอในไตรมาสที่ 3 ปี 56

3. ธนาคารกลางอินโดนีเซียมีแนวโน้มดำเนินนโยบายการเงินแบบเข้มงวดยิ่งขึ้น

Highlight:

1. ธนาคารแห่งประเทศไทยเผยธนาคารต่างชาติสนใจทำธุรกิจธนาคารพาณิชย์ในไทย
  • ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายกลยุทธ์ สถาบันการเงิน ธปท. กล่าวว่าการเสนอซื้อหุ้นธนาคารกรุงศรีอยุธยา ของ แบงก์ ออฟ โตเกียว-มิตซูบิชิ ยูเอฟเจ ลิมิเต็ด (บีทีเอ็มยู) ต่อจากกลุ่ม จีอี แคปปิตอล บ่งชี้ว่าทุนจากญี่ปุ่นรุกเข้ามาลงทุนในภูมิภาคอาเซียนอย่างเต็มรูปแบบ และอาจมีกลุ่มทุนจากหลายประเทศเข้ามาลงทุน หลังจากที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดให้ธนาคารต่างชาติยื่นขอจัดตั้งธนาคารที่เป็นบริษัทลูกในไทย เนื่องจากไทยเป็นศูนย์กลางการลงทุนในภูมิภาค อีกทั้งในปี 58 จะมีการรวมตัวเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) อย่างไรก็ตาม ธปท. เชื่อว่าการเปิดให้ใบอนุญาติใหม่กับธนาคารพาณิชย์ต่างประเทศ จะไม่กระทบต่อธนาคารพาณิชย์ในประเทศไทย เพราะได้ประเมินแล้วว่า ธนาคารพาณิชย์ไทยมีความสามารถเพียงพอในการแข่งขัน กอปรกับปัจจุบันส่วนแบ่งตลาดของธนาคารพาณิชย์ต่างประเทศในไทยมีเพียงแค่ร้อยละ 10 เท่านั้น
  • สศค. วิเคราะห์ว่า การที่ธปท. เปิดให้ธนาคารต่างชาติยื่นขอจัดตั้งธนาคารที่เป็นบริษัทลูกในไทย จะเพิ่มปริมาณเงินทุนและกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศ นอกจากนี้ การที่ธนาคารต่างชาติให้ความสนใจทำธุรกิจธนาคารพาณิชย์ในไทย สะท้อนให้เห็นความเชื่อมั่นในเสถียรภาพทางเศรษฐกิจของไทยจากต่างชาติ อันเห็นได้จากมูลค่าการลงทุนของนักลงทุนต่างชาติที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยในปี 55 มีมูลค่ากว่า 548,954 ล้านบาท และมีโครงการลงทุนที่เพิ่มขึ้นจากปี 54 กว่า 600 โครงการ ทั้งนี้ เสถียรภาพภายในประเทศของไทยอยู่ในเกณฑ์ดี บ่งชี้จากอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานยังคงอยู่ในระดับต่ำที่ร้อยละ 0.88 อีกทั้งการว่างงานของประชากรวัยแรงงานที่อยู่ในระดับต่ำเช่นกัน เหมาะแก่การต่อยอดทางธุรกิจและเสริมสร้างบรรยากาศที่ดีต่อการลงทุน ประกอบกับรัฐบาลปัจจุบันได้แสดงท่าทีสนับสนุนการลงทุนเพื่อกระตุ้นการขยายตัวทางเศรษฐกิจ สะท้อนจาก การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมของประเทศ
2. The Wall Street Journal ชี้เศรษฐกิจเอเชียมีแนวโน้มชะลอในไตรมาสที่ 3 ปี 56
  • หนังสือพิมพ์ The Wall Street Journal รายงานว่า ตัวเลขดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ของประเทศในเอเชียส่วนใหญ่ในเดือนมิ.ย. 56 ปรับตัวลดลง ส่งสัญญาณว่าเศรษฐกิจเอเชียมีแนวโน้มชะลอลงในไตรมาสที่ 3 ปี 56 โดยดัชนี PMI ของจีน ที่จัดทำโดย HSBC อยู่ที่ระดับ 48.2 จุด ลดลงจากระดับ 49.2 จุดในเดือนก่อนหน้า ดัชนี PMI อินโดนิเซียปรับลดจากระดับ 51.6 จุด มาแตะที่ระดับ 51.0 จุด ต่ำสุดในรอบ 4 เดือน และดัชนี PMI ฮ่องกงปรับลงจากระดับ 49.8 จุด สู่ระดับ 48.7 จุด มีเพียงดัชนี PMI ของอินเดีย ออสเตรเลีย และไต้หวันที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น แต่ PMI ของอินเดียซึ่งเพิ่มขึ้นจากระดับ 50.1 จุด เป็น 50.3 จุด ยังคงต่ำกว่าระดับของช่วงเดียวกันปีก่อน ส่วนดัชนี PMI ออสเตรเลียและไต้หวันที่เพิ่มขึ้น ก็ยังคงอยู่ในระดับต่ำกว่า 50 จุด สะท้อนการหดตัวของการผลิตในภาคอุตสาหกรรม นอกจากนี้ แนวโน้มการลดขนาดการซื้อพันธบัตรของธนาคารกลางสหรัฐฯ ลงในช่วงปลายปี ส่งผลให้เงินทุนไหลออกจากภูมิภาคเอเชียอีกด้วย
  • สศค. วิเคราะห์ว่า ดัชนี PMI ที่ปรับตัวลดลงในภูมิภาคเอเชียนั้นเป็นผลมาจากดัชนีคำสั่งซื้อใหม่สินค้าส่งออกลดลงเป็นสำคัญ บ่งชี้ถึงเศรษฐกิจโลกที่ซบเซา ทั้งนี้ สาเหตุสำคัญของการชะลอตัวของเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชียเกิดจากการชะลอตัวตามเศรษฐกิจของจีนซึ่งเป็นคู่ค้าสำคัญของหลายประเทศ ขณะที่สหรัฐฯ ได้รับผลกระทบจากปัญหาด้านการคลังของตนเอง รวมถึงความกังวลของนักลงทุนต่อผลกระทบจากการถอนมาตรการ QE ประกอบกับภาวะวิกฤตของกลุ่มยูโรโซนที่ยังไม่ฟื้นตัว ทำให้อุปสงค์ของสินค้าส่งออกในภาพรวมปรับตัวลดลงอย่างชัดเจน ทั้งนี้ ในสภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว การใช้จ่ายภาครัฐจะเป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยสนับสนุนและพยุงการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในปีนี้ให้เป็นไปอย่างต่อเนื่อง
3. ธนาคารกลางอินโดนีเซียมีแนวโน้มดำเนินนโยบายการเงินแบบเข้มงวดยิ่งขึ้น
  • เมื่อวันที่ 13 มิ.ย. 56 ธนาคารกลางอินโดนีเซียได้ประกาศเพิ่มอัตราดอกเบี้ยนโยบายจากร้อยละ 5.75 ต่อปี เป็นร้อยละ 6.00 ต่อปี ซึ่งเป็นการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายเป็นครั้งแรกในรอบ 17 เดือน เพื่อลดแรงกดดันด้านเงินเฟ้อที่คาดว่าจะมีแนวโน้มสูงขึ้น และรักษาเสถียรภาพภายในระบบการเงินจากการอ่อนค่าของเงินรูเปียห์อินโดนีเซียซึ่งทำให้เกิดเงินทุนไหลออกเป็นจำนวนมาก ทั้งนี้ ต่อมาในช่วงปลายเดือน มิ.ย. 56 รัฐบาลอินโดนีเซียได้ประกาศลดการอุดหนุนราคาน้ำมัน อย่างไรก็ตาม เงินทุนไหลออกยังคงมีแนวโน้มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง เป็นแรงกดดันให้ธนาคารกลางอินโดนีเซียอาจประกาศนโยบายการเงินแบบเข้มงวดยิ่งขึ้น ในการประชุมของธนาคารกลางในวันที่ 11 ก.ค. 56 ที่จะถึงนี้ เพื่อชะลอเงินทุนไหลออกและบรรเทาแรงกดดันจากเงินเฟ้อ
  • สศค. วิเคราะห์ว่า กรณีของอินโดนีเซียนับเป็นส่วนหนึ่งของปรากฏการณ์เงินทุนไหลออกจากประเทศกำลังพัฒนานั้น ผลจากการประกาศลดขนาดมาตรการ QE ของธนาคารกลางสหรัฐฯ ที่ทำให้เกิดกระแสเงินทุนไหลกลับจากประเทศกำลังพัฒนาสู่ safe haven ส่วนอัตราเงินเฟ้อที่มีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นมาตั้งแต่ต้นปี 56 นั้นเป็นผลจากราคาสินค้าในหมวดอาหารที่ปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่วนหนึ่งจากปัจจัยทางฤดูกาลช่วงก่อนเทศกาลรอมฏอนซึ่งเป็นช่วงที่ชาวมุสลิมซื้อสินค้าในหมวดอาหารเพิ่มขึ้น ส่งผลให้ราคาอาหารสูงขึ้น โดยในปีนี้รอมฏอนจะเริ่มต้นในวันที่ 11 ก.ค. 56 ซึ่งเท่ากับว่าแรงกดดันจากเงินเฟ้อจะเพิ่มขึ้นอีก จึงควรเฝ้าติดตามอัตราเงินเฟ้อของอินโดนีเซีย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเดือน ก.ค. 56 อย่างใกล้ชิด อีกทั้งการลดการอุดหนุนราคาน้ำมันส่งผลให้ราคาน้ำมันภายในประเทศโดยเฉลี่ยสูงขึ้นถึงร้อยละ 33 ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อในเดือน มิ.ย. 56 อยู่ที่ร้อยละ 5.9 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ด้วยเหตุดังกล่าว จึงอาจส่งผลให้ธนาคารกลางอินโดนีเซียอาจปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในอนาคต

ที่มา: Bureau of Macroeconomic Policy,Fiscal Policy Office, Ministry of Finance

Tel: 02-273-9020 Ext. 3257


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ