รายงานภาวะเศรษฐกิจรายสัปดาห์ระหว่างวันที่ 1 - 5 กรกฎาคม 2556

ข่าวเศรษฐกิจ Monday July 8, 2013 10:50 —กระทรวงการคลัง

Executive Summary
Indicators this week
  • อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือนมิ.ย. 56 อยู่ที่ร้อยละ 2.3 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ในขณะที่ดัชนีราคาวัสดุก่อสร้าง หดตัวร้อยละ -0.5
  • ดุลบัญชีเดินสะพัดในเดือน พ.ค. 56 ขาดดุล -1,050.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
  • ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเกี่ยวกับเศรษฐกิจไทยโดยรวม เดือน มิ.ย. 56 อยู่ที่ระดับ 71.8
  • สินเชื่อเดือน พ.ค. 56 ขยายตัวต่อเนื่องจากเดือนก่อนหน้าที่ร้อยละ 12.0 ขณะที่เงินฝากสถาบันการเงินขยายตัวชะลอลงที่ร้อยละ 18.5
  • ปริมาณการจำหน่ายรถจักรยานยนต์ในเดือนมิ.ย. 56 มีหดตัวร้อยละ -10.8 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน
  • ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ ภาคอุตสาหกรรม (ISM Mfg PMI) สหรัฐฯ เดือน มิ.ย. 56 อยู่ที่ระดับ 50.9 จุด
  • ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคบริการจีน จัดทำโดย HSBC เดือน มิ.ย. 56 อยู่ที่ระดับ 49.8
  • ยอดค้าปลีกสหภาพยุโรป เดือน พ.ค. 56 ขยายตัวเล็กน้อยที่ร้อยละ 0.05 จากช่วงเดียวกันปีก่อน
  • การส่งออกเกาหลีใต้ เดือน มิ.ย. 56 หดตัวร้อยละ -0.9 จากช่วงเดียวกันปีก่อน เช่นเดียวกันกับการส่งออกอินโดนีเซีย เดือน พ.ค. 56 หดตัวร้อยละ -4.5
Indicators next week
 Indicators                               Forecast           Previous
 Jun : API (%YoY)                           3.0                  0.5
  • ดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรขยายตัว ตามการขยายตัวของผลผลิตในหมวดพืชผลสำคัญ โดยเฉพาะผลผลิตยางพาราและปาล์มน้ำมันที่คาดว่าจะขยายตัวเช่นกัน ทั้งนี้เป็นไปตามการเพิ่มขึ้นของพื้นที่เพาะปลูกและเก็บเกี่ยว โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคตะวันออก และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เป็นต้น อย่างไรก็ดี คาดว่าผลผลิตข้าวนาปรัง ยังหดตัวต่อเนื่อง จากการจำกัดการผลิต เนื่องจากความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์ภัยแล้ง
Economic Indicators: This Week
  • อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือนมิ.ย. 56 อยู่ที่ร้อยละ 2.3 คงที่จากเดือนก่อนหน้า เนื่องจากสภาพภูมิอากาศที่เอื้ออำนวย และเป็นฤดูกาลเก็บเกี่ยวของผักผลไม้บางชนิดส่งผลให้ปริมาณผลผลิตทางการเกษตรเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ดี ราคาน้ำมันขายปลีกภายในประเทศมีการปรับตัวสูงขึ้น นอกจากนี้ ราคาสินค้าหมวดเนื้อสัตว์เป็ดไก่ และสัตว์น้ำบางชนิดยังเพิ่มขึ้นอีกด้วย เนื่องจากปริมาณผลผลิตของสัตว์น้ำไม่เพียงพอกับความต้องการบริโภค ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ร้อยละ 0.9 ทั้งนี้ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในช่วง 6 เดือนแรกปี 56 อยู่ที่ร้อยละ 2.7 ในขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ร้อยละ 1.2 สะท้อนถึงเห็นถึงเสถียรภาพด้านราคาที่ยังคงเป็นปัจจัยสนับสนุนการบริโภคภาคเอกชนอย่างต่อเนื่อง
  • ดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างในเดือน มิ.ย. 56 หดตัวร้อยละ -0.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และเมื่อเทียบกับเดือนพ.ค. 56 ลดลงร้อยละ -0.4 สำหรับดัชนีในหมวดที่ลดลง ได้แก่ ดัชนีในหมวดเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็ก ลดลงร้อยละ -0.8 (เหล็กเส้นกลมผิวข้ออ้อย-ผิวเรียบ เหล็กตัวเอชเหล็กฉาก เหล็กแผ่นเรียบดำ) เนื่องจากราคาเหล็กในตลาดโลกยังคงลดลงอย่างต่อเนื่อง หมวดซีเมนต์ หดตัวร้อยละ -0.4 (ปูนซีเมนต์ปอร์ตแลนด์ ปูนซีเมนต์ผสม) เนื่องจากเริ่มเข้าสู่ช่วงฤดูฝนทำให้ความต้องการชะลอลง ทำให้ไตรมาสที่ 2 ปี 56 ดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างหดตัวร้อยละ -0.1 ลดลงจากไตรมาสก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 1.6
  • ดุลบัญชีเดินสะพัดในเดือน พ.ค. 56 ขาดดุล -1,050.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ต่อเนื่องจากเดือนก่อนหน้าที่ขาดดุล -3,361.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐโดยดุลการค้าเกินดุลเล็กน้อยเพียง 534.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ตามการชะลอตัวของการส่งออกโดยเฉพาะในหมวดสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร ตลอดจนสินค้าอุตสาหกรรมโดยเฉพาะการส่งออกฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์หดตัวลงมาก ขณะที่ดุลบริการรายได้และเงินโอนขาดดุล -1,585.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐ จากการส่งกลับรายได้ดอกเบี้ยและเงินปันผล ขณะที่รายรับการท่องเที่ยวยังคงอยู่ในระดับสูงตามภาคการท่องเที่ยวที่ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ ในช่วง 5 เดือนแรกของปี 56 ดุลบัญชีเดินสะพัดขาดดุล -3,144.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
  • ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเกี่ยวกับเศรษฐกิจไทยโดยรวม เดือน มิ.ย. 56 อยู่ที่ระดับ 71.8 ลดลงจากเดือนก่อนที่ระดับ 72.8 ซึ่งเป็นการลดลงครั้งที่ 3 ติดต่อกัน เนื่องจากผู้บริโภคมีความกังวลในด้าน 1. ทิศทางการชะลอตัวของเศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งหลังของปี 56 หลังนโยบายภาครัฐเริ่มทะยอยหมดลง โดยเฉพาะนโยบายรถ คันแรก เป็นต้น 2. ราคาพืชผลเกษตรที่ทรงตัวในระดับต่ำ ทำให้รายได้เกษตรกรในภาคชนบท ปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง และ 3. การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่ยังมีความเปราะบาง ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อรายได้จากการส่งออกและการท่องเที่ยวลดลง
  • การจ้างงานเดือน พ.ค. 56 อยู่ที่ 38.8 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า 5.8 แสนคน โดยมีสาเหตุมาจากการจ้างงานปรับตัวเพิ่มขึ้นในภาคเกษตรและภาคอุตสาหกรรม ขณะที่ภาคบริการปรับตัวลดลงเมื่อเทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน ทั้งนี้ อัตราการว่างงานเดือน พ.ค. 56 อยู่ที่ร้อยละ 0.8 ของกำลังแรงงานรวม คิดเป็นผู้ว่างงาน 3.0 แสนคน
  • สินเชื่อเดือน พ.ค. 56 ขยายตัวต่อเนื่องจากเดือนก่อนที่ ร้อยละ 12.0 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ทั้งนี้ หากวิเคราะห์ตามผู้ให้สินเชื่อพบว่า สินเชื่อสถาบันการเงินเฉพาะกิจและสินเชื่อธนาคารพาณิชย์ขยายตัวดีต่อเนื่อง โดยเฉพาะสินเชื่อผู้บริโภค ซึ่งขยายตัวเร่งขึ้นร้อยละ 1.2 จากเดือนก่อนหน้า (ขจัดปัจจัยทางฤดูกาลแล้ว) ผลจากปัจจัยสนับสนุนจากนโยบายรถคันแรก ทั้งนี้ ควรจับตามองปัจจัยเสี่ยงจากสถานการณ์ความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลก ซึ่งอาจส่งผลต่อเศรษฐกิจไทย รวมถึงการขยายตัวของสินเชื่อในอนาคต
  • เงินฝากสถาบันการเงินเดือน พ.ค. 56 ขยายตัวชะลอลงจากเดือนก่อนหน้าที่ร้อยละ 18.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยหากเปรียบเทียบกับเดือนก่อนหน้า (ขจัดปัจจัยทางฤดูกาลแล้ว) ขยายตัวร้อยละ 0.5 ส่วนหนึ่งจากการที่ธนาคารพาณิชย์ และสถาบันการเงินเฉพาะกิจระดมเงินฝาก เพื่อรองรับการขยายตัวของสินเชื่อในอนาคต รวมถึงการแข่งขันระหว่างธนาคารพาณิชย์เพื่อรักษาฐานลูกค้า ทั้งนี้ เศรษฐกิจที่ยังคงมีความเสี่ยงจากการชะลอลงของอุปสงค์จากนอกประเทศ กอปรกับการใช้จ่ายในประเทศที่เริ่มกลับเข้าสู่ระดับปกติมากขึ้น รวมถึงเงินทุนเคลื่อนย้ายที่จะยังคงมีความผันผวนต่อเนื่อง จะส่งผลให้สถาบันการเงินต่างๆ จำเป็นต้องบริหารจัดการสภาพคล่องอย่างระมัดระวังมากขึ้น ซึ่งอาจกระทบต่อภาพรวมของการระดมเงินฝากในระยะต่อไป
  • ปริมาณการจำหน่ายรถจักรยานยนต์ในเดือนมิ.ย. 56 มีจำนวน 200,726 คัน หรือหดตัวร้อยละ -10.8 จากช่วงเดียวกันของปีก่อนต่อเนื่องจากเดือนก่อนที่ขยายตัวร้อยละ -11.4 โดยเป็นการหดตัวของยอดขายรถจักรยานยนต์ทั้งในกทม.และในภูมิภาคที่ร้อยละ -3.0 และร้อยละ -12.7 ตามลำดับ ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากรายได้ภาคครัวเรือนที่เริ่มปรับตัวลดลง โดยเฉพาะรายได้เกษตรกรที่เริ่มหดตัวเกือบทั่วทุกภาค โดยเฉพาะในภาคใต้ และภาคเหนือ ตามราคาสินค้าเกษตรสำคัญ อาทิ ยางพารา และปาล์มน้ำมันที่ปรับตัวลดลง ประกอบกับความกังวลในสถานการณ์ภัยแล้งทำให้เกษตกรลดการเพาะปลูกลง ทั้งนี้ ในช่วง 6 เดือนแรกปี 56 ปริมาณจำหน่ายรถจักรยานยนต์หดตัวร้อยละ -0.7 จากช่วงเดียวกันปีก่อน
Economic Indicators: Next Week
  • ดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรในเดือน มิ.ย. 56 คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 3.0 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน จากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 0.5 ตามการขยายตัวของผลผลิตในหมวดพืชผลสำคัญ โดยเฉพาะผลผลิตยางพาราและปาล์มน้ำมันที่คาดว่าจะขยายตัวเช่นกัน ทั้งนี้เป็นไปตามการเพิ่มขึ้นของพื้นที่เพาะปลูกและเก็บเกี่ยว โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคตะวันออกและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เป็นต้น อย่างไรก็ดี คาดว่าผลผลิตข้าวนาปรัง ยังหดตัวต่อเนื่อง จากการจำกัดการผลิต เนื่องจากความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์ภัยแล้ง

Global Economic Indicators: This Week

US: mixed signal
  • ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ ภาคอุตสาหกรรม (ISM Mfg PMI) เดือน มิ.ย. 56 อยู่ที่ระดับ 50.9 จุด ปรับตัวสูงขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 49.0 ผลจากดัชนีคำสั่งซื้อสินค้าใหม่และดัชนีการผลิตปรับตัวสุงขึ้นมาก ทั้งนี้ ดัชนีฯ ที่อยู่ระดับสูงกว่า 50 บ่งชี้การกลับมาขยายตัวอีกครั้งของภาคอุตสาหกรรม ในขณะที่ดัชนีฯ ภาคบริการ เดือน มิ.ย. 56 ปรับตัวลดลงสู่ระดับต่ำสุดนับตั้งแต่ มี.ค. 53 ที่ระดับ 52.2 จุด ลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ระดับ 53.7 จุด จากดัชนีกิจกรรมทางธุรกิจที่ปรับตัวลดลงมาก อย่างไรก็ตาม ดัชนีฯ ยังคงอยู่เกินระดับ 50 จุด บ่งชี้การขยายตัวต่อเนื่องของภาคบริการสหรัฐฯ ติดต่อกันเป็นเดือนที่ 42
China: worsening economic trend
  • ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคอุตสาหกรรม เดือน มิ.ย. 56 จัดทำโดย NBS อยู่ที่ระดับ 50.1 จุด ลดลง 0.7 จุดจากเดือนก่อนหน้า จากดัชนีทุกหมวดที่ลดลง โดยเฉพาะดัชนีความคาดหวังต่อกิจกรรมการผลิตและธุรกิจในระยะ 3 เดือนหน้า ขณะที่ดัชนีฯ ที่จัดทำโดย HSBC อยู่ที่ระดับ 48.2 จุด ลดลงจาก 49.2 จุดในเดือนก่อนหน้า บ่งชี้การหดตัวของภาคอุตสาหกรรมต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคบริการ จัดทำโดย HSBC เดือน มิ.ย. 56 อยู่ที่ระดับ 49.8 จุด ลดลงจาก 50.9 จุดในเดือนก่อนหน้า บ่งชี้การหดตัวของการผลิตภาคบริการเป็นครั้งแรกในรอบ 10 เดือน สอดรับกับการชะลอลงของภาคอุตสาหกรรม
Eurozone: worsening economic trend
  • ยอดค้าปลีก เดือน พ.ค. 56 ขยายตัวเล็กน้อยที่ร้อยละ 0.05 จากช่วงเดียวกันปีก่อน หรือขยายตัวครั้งแรกในรอบ 4 เดือนที่ร้อยละ 1.1 จากเดือนก่อนหน้า (ขจัดปัจจัยทางฤดูกาล) ผลจากการจับจ่ายในหมวดอาหารและเครื่องดื่มเป็นสำคัญ ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อรวม เดือน มิ.ย. 56 (ตัวเลขปรับปรุง) เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้ามาอยู่ที่ระดับ 48.7 อย่างไรก็ตามดัชนีฯ ยังคงอยู่ต่ำกว่าระดับ 50 ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 22 โดยดัชนีฯ ภาคบริการและภาคอุตสาหกรรมอยู่ที่ระดับ 48.3 และ 48.7 จุด ตามลำดับ สะท้อนภาคการผลิตที่หดตัวต่อเนื่อง อัตราเงินเฟ้อ เดือน มิ.ย. 56 (ตัวเลขเบื้องต้น) เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้ามาอยู่ที่ร้อยละ 1.6 จากช่วงเดียวกันปีก่อน อัตราว่างงาน เดือน พ.ค. 56 เพิ่มขึ้นต่อเนื่องอยู่ที่ร้อยละ 12.2 ของกำลังแรงงานรวม สะท้อนภาคการจ้างงานที่ซบเซา
South Korea: mixed signal
  • มูลค่าการส่งออก เดือน มิ.ย. 56 กลับมาหดตัวร้อยละ -0.9 จากช่วงเดียวกันปีก่อน จากการส่งออกไปยังยูโรโซนที่กลับมาหดตัวอีกครั้ง มูลค่าการนำเข้า เดือน มิ.ย. 56 หดตัวชะลอลงจากเดือนก่อนหน้ามาอยู่ที่ร้อยละ -1.8 จากการนำเข้าสินค้าหมวดเครื่องจักรและอุปกรณ์ขนส่งที่ขยายตัวต่อเนื่องเป็นสำคัญส่งผลให้ ดุลการค้า เกินดุล 5.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ เดือน มิ.ย. 56 อยู่ที่ระดับ 49.4 จุด ลดลงจากระดับ 51.1 จุดในเดือนก่อนหน้า บ่งชี้การชะลอตัวของภาคการผลิตอุตสาหกรรมเป็นครั้งแรกในรอบ 5 เดือน เนื่องจากอุปสงค์ประเทศคู่ค้าโดยเฉพาะจีนและยูโรโซนที่ลดลงเป็นสำคัญ อัตราเงินเฟ้อ เดือน มิ.ย. 56 ทรงตัวในระดับต่ำ 2 เดือนติดต่อกันที่ร้อยละ 1.0 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน โดยราคาในหมวดเครื่องดื่มและยาสูบยังคงลดลงต่อเนื่อง
Indonesia: worsening economic trend
  • มูลค่าส่งออก เดือน พ.ค. 56 หดตัวร้อยละ -4.5 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ผลจากการส่งออกน้ำมันและแก๊สธรรมชาติลดลง ขณะที่มูลค่าการนำเข้า เดือน พ.ค. 56 หดตัวร้อยละ -2.2 ต่อเนื่องจากเดือนก่อนหน้า ทั้งนี้มูลค่าการส่งออกที่หดตัวมากกว่าการนำเข้าส่งผลให้ดุลการค้า เดือน พ.ค. 56 ขาดดุล 0.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคอุตสาหกรรม เดือน มิ.ย. 56 อยู่ที่ระดับ 51.0 จุด ลดลงจากเดือนก่อนที่ระดับ 51.6 จุด จากดัชนีคำสั่งซื้อใหม่สินค้าส่งออกที่ลดลงเป็นครั้งแรกในรอบ 4 เดือน อัตราเงินเฟ้อ เดือน มิ.ย. 56 อยู่ที่ร้อยละ 5.9 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนที่ร้อยละ 5.5 ผลจากนโยบายลดการอุดหนุนราคาน้ำมันของรัฐบาลอินโดนีเซียในช่วงปลายเดือน มิ.ย.56 ส่งผลกระทบต่อราคาน้ำมันขายปลีก
Philippines: mixed signal
  • อัตราเงินเฟ้อ เดือน มิ.ย. 56 อยู่ที่ร้อยละ 2.8 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ปรับตัวสูงขึ้นจากเดือนก่อนที่ร้อยละ 2.6 เนื่องจากการปรับขึ้นอัตราภาษีสรรพสามิตสินค้าประเภทบุหรี่และเครื่องดื่มแอลลกอฮอล์ส่งผลให้ราคาสินค้าทั้งสองกลุ่มเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง
Singapore: improving economic trend
  • ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคอุตสาหกรรม เดือน มิ.ย. 56 อยู่ที่ระดับ 51.7 จุด เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนที่อยู่ที่ 51.1 จุด จากดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรมที่กลับมาขยายตัว
Australia: mixed signal
  • ยอดค้าปลีก เดือน พ.ค. 56 ทรงตัวที่ร้อยละ 2.7 เมื่อเทียบช่วงเดียวกันปีก่อน หรือกลับมาขยายตัวร้อยละ 0.1 จากเดือนก่อนหน้า จากยอดขายสินค้าหมวดอาหารที่ขยายตัวเร่งขึ้นเป็นสำคัญ มูลค่าการส่งออก เดือน พ.ค. 56 กลับมาขยายตัวร้อยละ 1.7 จากช่วงเดียวกันปีก่อน จากการส่งออกไปยังสหรัฐฯ ที่กลับมาขยายตัวในอัตราต่ำในเดือนดังกล่าว และมูลค่าการนำเข้า เดือน พ.ค. 56 หดตัวเร่งขึ้นจากเดือนก่อนหน้ามาอยู่ที่ร้อยละ -4.0 จากการนำเข้าสินค้าหมวดเครื่องจักรและพลังงานที่หดตัวต่อเนื่องส่งผลให้ดุลการค้า เดือน พ.ค. 56 เกินดุล 1.5 พันล้านดอลลาร์ออสเตรเลีย
Hong Kong: worsening economic trend
  • ยอดค้าปลีก เดือน พ.ค. 56 ขยายตัวชะลอลงที่ร้อยละ 12.9 จากช่วงเดียวกันปีก่อน จากสินค้าเกือบทุกหมวดที่ชะลอลง แต่ยอดขายเครื่องนุ่งห่มและรองเท้ายังขยายตัวได้ดี ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคอุตสาหกรรม เดือน มิ.ย. 56 ลดลงสู่ระดับต่ำสุดในรอบ 19 เดือน ที่ระดับ 48.7 จุด จากยอดสั่งซื้อสินค้าใหม่ที่ชะลอตัวลงเป็นสำคัญ
India: mixed signal
  • ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคอุตสาหกรรม เดือน มิ.ย. 56 อยู่ที่ระดับ 50.3 จุด เพิ่มขึ้นเป็นครั้งแรกในรอบ 3 เดือน จากระดับ 50.1 จุดในเดือนก่อนหน้า จากการเพิ่มขึ้นของสินค้าคงคลังเป็นสำคัญ ขณะที่ดัชนีฯ ภาคบริการ ลดลงอยู่ที่ระดับ 51.7 จุดสะท้อนกิจกรรมภาคบริการที่ปรับตัวลดลง แต่ดัชนีดังกล่าวยังคงสูงกว่าระดับ 50 จุด
Taiwan: worsening economic trend
  • ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคอุตสาหกรรม เดือน มิ.ย. 56 อยู่ที่ระดับ 49.5 จุด เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากระดับ 47.1 จุดในเดือนก่อนหน้า โดยอยู่ในระดับต่ำกว่า 50 จุดต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 บ่งชี้ถึงภาคอุตสาหกรรมในไต้หวันที่หดตัวต่อเนื่องในไตรมาส 2 ปี 56
Weekly Financial Indicators
  • ดัชนี SET เคลื่อนไหวในกรอบแคบๆ มูลค่าซื้อขายเบาบาง โดยดัชนีฯ ณ วันที่ 4 ก.ค. 56 ปิดที่ 1,430.88 จุด มูลค่าซื้อขายเฉลี่ยต่อวันระหว่างสัปดาห์อยู่ที่ 46,390 ล้านบาท ด้วยแรงซื้อจากนักลงทุนบัญชีบริษัทหลักทรัพย์และนักลงทุนรายย่อยภายในประเทศ โดยยังไม่มีปัจจัยใหม่ๆ มากระทบตลาดมากนัก ทั้งนี้ ระหว่างวันที่ 2 - 4 ก.ค. 56 นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิ -2,767.8 ล้านบาท ขณะที่ผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลปรับลดลง ในพันธบัตรระยะปานกลาง-ยาว ประมาณ 1-12 bps และปรับขึ้นในตราสารและพันธบัตรระยะสั้น ในทิศทางเดียวกับ US Treasury หลังจากนักลงทุนคลายความกังวลเกี่ยวกับมาตรการ QE ของสหรัฐฯ และยังไม่มีปัจจัยใหม่ๆ มากระทบตลาด โดยระหว่างวันที่ 2 - 4 ก.ค. 56 นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิ -3,321.2 ล้านบาท (ไม่รวมพันธบัตร ธปท.)
  • ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นเล็กน้อย โดย ณ วันที่ 4 ก.ค. 56 ค่าเงินบาทปิดที่ระดับ 31.08 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ โดยแข็งค่าขึ้นร้อยละ 0.19 จากสัปดาห์ก่อนหน้า ซึ่งเป็นไปในทิศทางเดียวกับเงินหยวน อย่างไรก็ตาม ค่าเงินสกุลอื่นๆ ส่วนใหญ่จะอ่อนค่าลงตามค่าเงินดอลลาร์ที่แข็งค่าขึ้น ทำให้ดัชนีค่าเงินบาท (NEER) ในสัปดาห์นี้แข็งค่าขึ้นร้อยละ 0.76 จากสัปดาห์ก่อนหน้า
  • ราคาทองคำค่อนข้างทรงตัว โดยราคาทองคำ ณ วันที่ 4 ก.ค. 56 ปิดที่ 1,249.2 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์ ใกล้เคียงกับต้นสัปดาห์ที่ปิดที่ 1,252.8 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์

ที่มา: Macroeconomic Analysis Group: Fiscal Policy Office

Tel 02-273-9020 Ext 3253 : www.fpo.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ