รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 8 กรกฎาคม 2556

ข่าวเศรษฐกิจ Monday July 8, 2013 10:56 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 8 กรกฎาคม 2556

Summary:

1. พาณิชย์ทวงคืนแชมป์ส่งออกข้าวนึ่งจากอินเดีย คาดปีนี้ส่งออกไม่ต่ำกว่า 1.5 ล้านตัน

2. ธนาคารโลก เตรียมปรับลดคาดการณ์เศรษฐกิจไทยในปี 56

3. มูลค่าการลงทุนทางตรง(FDI) ปี 2555 ในประเทศกำลังพัฒนาแซงหน้าประเทศพัฒนาแล้วเป็นครั้งแรก

Highlight:

1. พาณิชย์ทวงคืนแชมป์ส่งออกข้าวนึ่งจากอินเดีย คาดปีนี้ส่งออกไม่ต่ำกว่า 1.5 ล้านตัน
  • รมช.พาณิชย์เปิดเผยว่ารัฐบาลโดยคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ (กขช.) จะทวงคืนตลาดข้าวนึ่งที่ไทยเคยเป็นผู้ส่งออกรายใหญ่แต่เนื่องจากในปีที่ผ่านมาประเทศไทยเน้นแต่การสีแปรสภาพเป็นข้าวขาวจึงไม่มีข้าวนึ่งขาย ส่งผลให้อินเดียแย่งตลาดการส่งออกข้าวนึ่งไปถึง 2.3 ล้านตัน ทั้งนี้ ข้าวนึ่งมีราคาสูงกว่าข้าวขาวประมาณ 50-70 ดอลลาร์/ตัน และสินค้าข้าวนึ่งเป็นการเพิ่มมูลค่าเพราะมีเมล็ดเต็มมากกว่าและเป็นที่ต้องการของตลาดมุสลิม ดังนั้นหากรัฐบาลสนับสนุนและส่งเสริมให้โรงสีข้าวทั่วประเทศหันมาสีแปรข้าวเพื่อทำข้าวนึ่งสำหรับการส่งออกและรัฐบาลเตรียมผ่อนปรนนำข้าวในสต็อกทั้งข้าวเปลือกและข้าวสารออกมาประมูลจะทำให้โรงสีหันมาสีแปรสภาพเป็นข้าวนึ่งมเพิ่มมากขึ้น ซึ่งในปีนี้ไทยจะพยายามเร่งทำตลาดข้าวนึ่งโดยคาดว่าจะส่งออกได้ไม่ต่ำกว่า 1.5 ล้านตัน
  • สศค. วิเคราะห์ว่า ข้าวนึ่งนับเป็นสินค้าสำคัญของการส่งออกข้าวของไทยโดยมีสัดส่วนร้อยละ 27.48 จากการส่งออกข้าวทั้งหมดในปี 54 (ก่อนโครงการรับจำนำข้าว) รองจากการส่งออกข้าวขาวที่มีสัดส่วนร้อยละ 34.14 โดยมีตลาดสำคัญ คือ ประเทศในกลุ่มแอฟริกาและตะวันออกกลาง ได้แก่ ไนจิเรีย แอฟริกาใต้เยเมน เบนิน สาธารณรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และซาอุดิอารเบีย อย่างไรก็ดีในปี 55 การส่งออกข้าวนึ่งหดตัวถึงร้อยละ -32.62 เนื่องจากมีโครงการรับจำนำข้าวเปลือกของรัฐบาลทำให้ไม่มีวัตถุดิบที่สามารถนำไปทำข้าวนึ่งได้และจากข้อมูลล่าสุดในช่วง 5 เดือนแรกของปี 56 การส่งออกข้าวนึ่งมีมูลค่าอยู่ที่ 303.15 ล้านเหรียญสหรัฐคิดเป็นการหดตัวถึงร้อยละ -46.05 จากช่วงเดียวกันของปีก่อนโดยส่งออกข้าวนึ่งไปแล้วจำนวน 5.8 แสนตันตามตลาดสำคัญ คือ เบนิน แอฟริกาใต้ เยเมน และไนจิเรีย
2. ธนาคารโลก เตรียมปรับลดคาดการณ์เศรษฐกิจไทยในปี 56
  • นางสาวกิริฎา เภาพิจิตร นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสธนาคารโลกประจำประเทศไทย กล่าวว่าในเดือนส.ค. 56 นี้ธนาคารโลกเตรียมปรับประมาณการเศรษฐกิจไทยใหม่จากเดิมที่มองว่าอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจ (GDP) ปีนี้จะเติบโตที่ร้อยละ 5.0 และส่งออกเติบโตร้อยละ 7.0 เหตุผลการปรับประมาณการเนื่องจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกยังไม่ชัดเจน ซึ่งจะกระทบต่อการเติบโตของภาคการส่งออกไทยประกอบกับกำลังซื้อภายในประเทศเริ่มแผ่วลง
  • สศค. วิเคราะห์ว่าเศรษฐกิจไทยในปี 56 คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 4.5 (ช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 4.0 - 5.0) ชะลอลงจากร้อยละ 6.5 ในปี 55 ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการใช้จ่ายภาคครัวเรือนที่ชะลอตัว เนื่องจากประชาชนยังมีฐานการบริโภคสูงในช่วงก่อนหน้านี้โดยเฉพาะสินค้าคงทนที่ได้รับอานิสงส์จากนโยบายรถยนต์คันแรก ขณะที่การส่งออกคาดว่าจะขยายตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป ตามการฟื้นตัวอย่างช้าๆของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าสำคัญของไทย โดยคาดว่าการส่งออกไทยในปี 56 จะอยู่ที่ร้อยละ 5.5 (ช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 4.5-6.5) อย่างไรก็ดี ปัจจัยสำคัญที่จะสนับสนุนให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวได้อย่างต่อเนื่องในปี 56 ได้แก่ การสอดประสานกันระหว่างนโยบายการคลังและนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายในการกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศตลอดจนนโยบายกระตุ้นภาคการท่องเที่ยว
3. มูลค่าการลงทุนทางตรง(FDI) ปี 2555 ในประเทศกำลังพัฒนาแซงหน้าประเทศพัฒนาแล้วเป็นครั้งแรก
  • UNCTAD เปิดเผยรายงานการลงทุนโลกปี 2556 (World Investment Report 2013) พบว่าการไหลเข้าของมูลค่าการลงทุนทางตรงจากต่างประเทศ (Foreign Direct Investmentinflow: FDI inflow) ในประเทศกำลังพัฒนาได้มีมูลค่าสูงกว่าประเทศพัฒนาแล้วเป็นครั้งแรกโดย FDI inflow ในประเทศกำลังพัฒนาในปี 2555 มีมูลค่ารวมทั้งสิ้น 703 พันล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งแม้จะมียอดรวมลดลงจากปีก่อน 32 พันล้านเหรียญสหรัฐ แต่มูลค่าดังกล่าวก็เพียงพอที่จะทำให้สัดส่วนต่อ FDI inflow รวมทั้งโลกเพิ่มสูงขึ้นมาอยู่ที่ร้อยละ 52 จากร้อยละ 44.5 ในปี 2554โดยภูมิภาคหลักที่ดึงดูด FDI ได้แก่ เอเชียตะวันออก และกลุ่มประเทศอาเซียน ขณะที่กลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว เช่น สหรัฐฯ สหราชอาณาจักร ฝรั่งเศส ดึงดูด FDI inflow ในปี 2555 ได้รวมกันทั้งสิ้น 561พันล้านเหรียญสหรัฐลดลงจากปีก่อนถึง 259 ล้านเหรียญสหรัฐ นั่นหมายถึงสัดส่วน FDI รวมที่ลดลงมาอยู่ที่ร้อยละ 41.5 ในปี 2555 จากร้อยละ 49.7 ในปีก่อน
  • สศค. วิเคราะห์ว่า การเปลี่ยนทิศของ FDI inflow เป็นผลจากการจัดสรรการลงทุนใหม่ (re-allocation) ของเงินทุนทั่วโลกมายังประเทศกำลังพัฒนาซึ่งมีแนวโน้มการขยายตัวโดยเฉลี่ยดีกว่า และทรัพยากรการผลิตถูกกว่าประเทศพัฒนาแล้วในระยะปานกลางถึงระยะยาว ประกอบกับกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วยังมีปัญหาเศรษฐกิจที่ต้องใช้เวลานานในการฟื้นคืนศักยภาพ โดยอาเซียนรวมถึงประเทศไทยจะเป็นผู้ได้รับประโยชน์จากแนวโน้มดังกล่าว ทั้งนี้ ข้อมูลล่าสุดจากธนาคารแห่งประเทศไทย พบว่า FDI inflow ของไทยในปี 2554 มีมูลค่าอยู่ที่ประมาณ 8 พันล้านเหรียญสหรัฐ และ UNCTAD คาดว่าในปี 2555 จะอยู่ที่ราว 9 พันล้านเหรียญสหรัฐ นั่นทำให้มูลค่า FDI inward stock ในปี 2555 อยู่ที่ 159 พันล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งมากเป็นอันดับ 3 ในอาเซียนและไทยยังมีศักยภาพในการรองรับการลงทุนได้อีกมาก อย่างไรก็ดี นอกจากการส่งเสริมการลงทุนแล้ว ภาครัฐควรทบทวนนโยบาย กฎระเบียบ และโครงสร้างทั้งทางกายภาพและสถาบันเพื่อให้ทั้งนักลงทุนและประชาชนทุกกลุ่มในประเทศได้รับประโยชน์อย่างทั่วถึง

ที่มา: Bureau of Macroeconomic Policy,Fiscal Policy Office, Ministry of Finance

Tel: 02-273-9020 Ext. 3257


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ