รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 10 กรกฎาคม 2556

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday July 10, 2013 11:29 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 10 กรกฎาคม 2556

Summary:

1. กระทรวงพาณิชย์สั่งเจ้าหน้าที่ติดตามราคาอาหารช่วงเทศกาลรอมฎอน

2. กระทรวงคมนาคมผลักดันระบบราง เตรียมประมูล 2 โครงการ งบประมาณ 1.1 แสนล้านบาท

3. ธนาคารกลางฝรั่งเศสปรับเพิ่มคาดการณ์เศรษฐกิจในไตรมาสที่ 2 ปี 56 ของฝรั่งเศสขยายตัวร้อยละ 0.2

Highlight:

1. กระทรวงพาณิชย์สั่งเจ้าหน้าที่ติดตามราคาอาหารช่วงเทศกาลรอมฎอน
  • อธิบดีกรมการค้าภายในได้มอบหมายให้เจ้าหน้าที่ไปตรวจสอบและสำรวจการจำหน่ายสินค้าในตลาดต่างๆ โดยเฉพาะตลาดสินค้าที่มีกลุ่มพี่น้องชาวไทยมุสลิมเข้ามาจับจ่ายใช้สอยกันมากว่ามีการติดป้ายราคาสินค้าและจำหน่ายในราคาสูงเกินความเป็นจริงหรือไม่ เนื่องจากขณะนี้เริ่มเข้าสู่ช่วงเทศกาลถือศีลอด หรือเดือนรอมฎอน ทำให้การซื้อขายสินค้าเป็นไปอย่างคึกคัก จึงไม่อยากให้พ่อค้าและแม่ค้าฉวยโอกาสในการจำหน่ายสินค้าที่แพงเกินจริง
  • สศค. วิเคราะห์ว่า อาหารและเครื่องดื่มเป็นปัจจัยที่สำคัญในการดำรงชีวิตของมนุษย์ สะท้อนได้จากสินค้าในหมวดอาหารและเครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์มีสัดส่วนน้ำหนักร้อยละ 33.5 ของตระกร้าเงินเฟ้อ โดยในเดือน มิ.ย. 56 ดัชนีราคาของสินค้าในหมวดอาหารและเครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.5 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน นอกจากนี้ หากพิจารณาเฉพาะสินค้าที่ชาวมุสลิมรับประทาน เช่น ดัขนีราคาสินค้าในหมวดเป็ดและไก่ปรับเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.5 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน หรือดัชนีราคาสินค้าในหมวดผักและผลไม้ปรับเพิ่มขึ้นร้อยละ 9.6 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาในช่วงครึ่งแรกของปี 56 พบว่า ดัชนีราคาของสินค้าในหมวดอาหารและเครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.9 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งรายการสินค้าในหมวดดังกล่าวมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น ดังนั้น การที่กระทรวงพาณิชย์ได้มีการตืดตามราคาอาหารช่วงเทศกาลรอมฎอนน่าจะช่วยลดการจำหน่ายอาหารในราคาสูงเกินกว่าควาเป็นจริง ทั้งนี้ สศค. คาดการณ์อัตราเงินเฟ้อในปี 56 จะขยายตัวร้อยละ 2.5 ต่อปี (ช่วงคาดการณ์ร้อยละ 2.0 - 3.0)
2. กระทรวงคมนาคมผลักดันระบบราง เตรียมประมูล 2 โครงการ งบประมาณ 1.1 แสนล้านบาท
  • รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า กระทรวงคมนาคมได้เตรียมความพร้อมในการดำเนินโครงการระบบรางต่างๆ เช่น การศึกษาความเหมาะสม การออกแบบโครงการ และการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม แม้ว่า พ.ร.บ. กู้เงิน 2 ล้านล้านบาทจะยังไม่ผ่านการพิจารณาจากรัฐสภา โดยมีโครงการรถไฟฟ้าที่อยู่ระหว่างก่อสร้าง 4 โครงการ ได้แก่ 1) สายสีม่วง ช่วงบางใหญ่-บางซื่อ 2) สายสีน้ำเงินส่วนต่อขยาย ช่วงบางซื่อ - ท่าพระและหัวลำโพง - บางแค 3) สายสีเขียวเข้ม ช่วงแบริ่ง - สมุทรปราการ และ4) สายสีแดงเข้ม ช่วงบางซื่อ-รังสิต ขณะที่มีโครงการรถไฟฟ้าที่เตรียมประกวดราคาในปีนี้ 2 โครงการ คือ 1) สายสีเขียวอ่อน ช่วงหมอชิต -สะพานใหม่ - คูคต และ 2) สายสีชมพู ช่วงแคราย-ปากเกร็ด- มีนบุรี วงเงินรวมประมาณ 1.1 แสนล้านบาท และยังมีโครงการที่จะประกวดราคาในระยะต่อไป ได้แก่ 1) สายสีส้ม ช่วงศูนย์วัฒนธรรม -มีนบุรี และ 2) สายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว - สำโรง
  • สศค. วิเคราะห์ว่า การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งถือเป็นปัจจัยที่สำคัญต่อการสร้างความสามารถในการแข่งขัน เพิ่มศักยภาพการขยายตัวทางเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ โดยในปัจจุบันระบบขนส่งมวลชนระบบรางในกรุงเทพมหานครและปริมณฑลมีทั้งสิ้น 3 สาย ระยะทาง 80 กิโลเมตร และแผนในอนาคตจะมีทั้งสิ้น 10 สาย รวมระยะทาง 468.8 กิโลเมตร ซึ่งการพัฒนาระบบขนส่งมวลชนระบบรางจะทำให้เกิดผลประโยชน์ทางตรงและทางอ้อมต่อเศรษฐกิจไทย โดยทางตรงจะทำให้เกิดการประหยัดต้นทุนการใช้รถยนต์ (Vehicle operating cost) ในขณะที่ผลประโยชน์ทางอ้อม จะมีผลในระยะยาวในการช่วยกำหนดผังเมืองรวมของ กทม. ทำให้ช่วยบรรเทาปัญหาการขยายตัวของเมืองอย่างไร้ทิศทาง (Urban Sprawl) ทั้งนี้ สศค.วิเคาะห์ว่า หากภาครัฐมีการลงทุนเพิ่มขึ้น 100,000 ล้านบาท จะทำให้ GDP ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยลt 0.35
3. ธนาคารกลางฝรั่งเศสปรับเพิ่มคาดการณ์เศรษฐกิจในไตรมาสที่ 2 ปี 56 ของฝรั่งเศสขยายตัวร้อยละ 0.2
  • ธนาคารกลางฝรั่งเศสได้ปรับคาดการณ์ตัวเลขเศรษฐกิจในไตรมาสที่ 2 ปี 56 จากขยายตัวร้อยละ 0.1 เป็นร้อยละ 0.2 ซึ่งเป็นผลมาจากภาคอุตสาหกรรมส่วนใหญ่ได้กลับมาขยายตัวในเดือน มิ.ย. 56 ที่ผ่านมา โดยเฉพาะภาคอุปกรณ์ขนส่งที่ไม่ใช่ยานยนต์ อุตสาหกรรมเวชภัณฑ์ยา และการส่งสินค้า รวมทั้งยังได้รับแรงสนับสนุนจากยอดสั่งซื้อจากต่างประเทศที่เพิ่มขึ้น นอกจากนี้ การสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจในภาคอุตสาหกรรมและภาคบริการของฝรั่งเศสพบว่า ปรับเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 96 และระดับ 90 ตามลำดับ แต่ก็ยังถือว่าอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยในระยะยาวที่ 100 จุด
  • สศค. วิเคราะห์ว่า เศรษฐกิจของฝรั่งเศสอยู่ในภาวะหดตัวต่อเนื่องมาตั้งแต่ไตรมาสที่ 4 ปี 55 โดยล่าสุด GDP ในไตรมาสที่ 1 ปี 56 หดตัวร้อยละ -0.2 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ไม่เปลี่ยนแปลงจากไตรมาสก่อนหน้าที่หดตัวร้อยละ -0.2 โดยเป็นผลมาจากการลงทุน การส่งออกและการบริโภคในประเทศที่หดตัวเป็นสำคัญ สำหรับเครื่องชี้เศรษฐกิจล่าสุดของฝรั่งเศสพบว่า การบริโภคในประเทศยังคงมีทิศทางที่ไม่ดี สะท้อนจากความเชื่อมั่นผู้บริโภคต่อภาวะเศรษฐกิจในเดือน มิ.ย. 56 ซึ่งอยู่ในระดับต่ำสุดนับตั้งแต่มีการสำรวจข้อมูลโดยอยู่ที่ระดับ 78.0 และอัตราการว่างงานในไตรมาสที่ 1 ปี 56 อยู่ที่ร้อยละ 10.8 ของกำลังแรงงาน นอกจากนี้ สถานการณ์การส่งออกล่าสุดก็ยังมีทิศทางที่หดตัวลงจากเดือนก่อนหน้าจากการส่งออกไปประเทศกลุ่มสหภาพยุโรปซึ่งถือเป็นประเทศคู่ค้ารายใหญ่ของฝรั่งเศส อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาสถานการณ์ของภาคการผลิตล่าสุดในเดือน มิ.ย. 56 พบว่าเริ่มมีสัญญาณที่ดีขึ้นจากเดือนก่อนหน้า โดยล่าสุด ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคอุตสาหกรรมและภาคบริการอยู่ที่ระดับ 48.4 และ 47.2 ตามลำดับ ทั้งนี้ เศรษฐกิจของฝรั่งเศสซึ่งมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 2 ของประเทศกลุ่มยูโรโซนยังคงอยู่ในภาวะหดตัวก็ย่อมจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศกลุ่มยูโรโซน โดย สศค. คาดว่า อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของยูโรโซนในปี 56 จะหดตัวร้อยละ -0.5 (คาดการณ์ ณ เดือน มิ.ย. 56)

ที่มา: Bureau of Macroeconomic Policy,Fiscal Policy Office, Ministry of Finance

Tel: 02-273-9020 Ext. 3257


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ