รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 11 กรกฎาคม 2556

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday July 11, 2013 10:55 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 11 กรกฎาคม 2556

Summary:

1. กนง. คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายร้อยละ 2.50

2. หอการค้าไทยห่วง 3 ปัจจัยเสี่ยงเศรษฐกิจไทยครึ่งปีหลัง ปี 56

3. ตัวเลขจ้างงานเกาหลีใต้ในเดือน มิ.ย. สูงสุดในรอบ 8 เดือน

Highlight:

1. กนง. คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายร้อยละ 2.50
  • คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ในการประชุมวันที่ 10 ก.ค.56 มีมติให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ร้อยละ 2.50 โดยมองอัตราดอกเบี้ยยังเหมาะสม แต่พร้อมปรับเปลี่ยนสอดคล้องตามภาวะเศรษฐกิจ ขณะที่ประเมินว่า แนวโน้มเศรษฐกิจไทยจะชะลอลงในทิศทางเดียวกับสำนักอื่นๆ โดยคาดว่าอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวไม่ถึงร้อยละ 5 จากเดิมที่คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 5.1 ต่อปี
  • สศค. วิเคราะห์ว่า การคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายในครั้งนี้เป็นไปตามที่หลายฝ่ายคาดการณ์ไว้ เนื่องจากแนวโน้มเศรษฐกิจโลกที่ชะลอลงรวมถึงการชะลอลงของเศรษฐกิจจีนที่จะส่งผลกระทบต่อภาคการส่งออก ในขณะที่ทิศทางเศรษฐกิจไทยมีสัญญาณการชะลอตัวลงทั้งจากอุปสงค์ในประเทศที่ชะลอลงในช่วงที่ผ่านมา เนื่องจากมีการเร่งตัวมากในช่วงที่ผ่านมาจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ ทั้งนี้ การคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายจะเป็นส่วนช่วยสนับสนุนการบริโภคและการลงทุนภายในประเทศให้กลับมาขยายตัวในระดับปกติได้ในระยะต่อไป เนื่องจากปัจจัยพื้นฐานในประเทศ เช่น การจ้างงานในปัจจุบันเดือน พ.ค. 56 ยังอยู่ในระดับร้อยละ 0.8 ขณะที่อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือน มิ.ย. 56 อยู่ที่ร้อยละ 2.3 และอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ร้อยละ 0.9 ซึ่งยังอยู่ในกรอบนโยบายการเงินของธปท. ที่อยู่ที่ร้อยละ 0.5 - 3.0 ทั้งนี้ สศค. คาดการณ์อัตราเงินเฟ้อและอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจในปี 56 จะขยายตัวร้อยละ 2.5 ต่อปี (ช่วงคาดการณ์ร้อยละ 2.0 - 3.0) และขยายตัวร้อยละ 4.5 ต่อปี (โดยมีช่วงคาดการณ์ร้อยละ 4.0 - 5.0)
2. หอการค้าไทยห่วง 3 ปัจจัยเสี่ยงเศรษฐกิจไทยครึ่งปีหลัง ปี 56
  • ประธานกรรมการหอการค้าไทย เปิดเผยว่า หอการค้าไทยประเมินภาวะเศรษฐกิจของไทยในช่วงครึ่งหลังปี 56 ว่า มีปัจจัยเสี่ยง 3 เรื่อง คือ 1) เศรษฐกิจโลกที่ยังชะลอตัวและส่งผลกระทบต่อการส่งออกของไทย 2) ราคาน้ำมันในตลาดโลกที่มีแนวโน้มสูงขึ้น โดยปัจจุบันอยู่ที่บาร์เรลละ 103 ดอลลาร์ สูงขึ้นมาจากก่อนหน้าที่มีราคาบาร์เรลละ 95 ดอลลาร์ และ 3) สถานการณ์การเมืองที่ภาคเอกชนต้องการให้นิ่งมากกว่านี้ เพื่อเอื้อให้เกิดการค้าการลงทุนมากขึ้น ส่งผลดีต่อเนื่องถึงการจ้างงาน โดยคาดว่าเศรษฐกิจไทยในปีนี้จะขยายตัวอยู่ในช่วงร้อยละ 4 - 5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
  • สศค. วิเคราะห์ว่า เครื่องชี้เศรษฐกิจไทยล่าสุดในเดือนพ.ค.56 บ่งชี้เศรษฐกิจไทยในช่วงไตรมาสที่ 2 ของปี 56 มีสัญญาณชะลอตัวลงต่อเนื่องจากไตรมาสที่ 1 สะท้อนได้จากการผลิตจากภาคอุตสาหกรรมที่หดตัวร้อยละ -7.5 ต่อปี และภาคอุปสงค์ต่างประเทศจากปริมาณการส่งออกปรับตัวลดลงตามภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวโดยหดตัวร้อยละ -5.2 ต่อปี สำหรับการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนมีสัญญาณชะลอตัวลงเช่นกัน ในขณะที่ภาคการท่องเที่ยวยังคงสนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจโดยข้อมูลล่าสุดในไตรมาสที่ 2 ขยายตัวต่อเนื่องอยู่ที่ร้อยละ 19.4 ต่อปี อย่างไรก็ดี สถานการณ์ความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลกโดยเฉพาะทิศทางการปรับลดมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (Quantitative Easing: QE) ของสหรัฐอเมริกา และเศรษฐกิจจีนที่ชะลอตัวลงอาจจะกระทบต่อเศรษฐกิจไทยในช่วงที่เหลือของปี ทั้งนี้ สศค. คาดการณ์ ณ เดือน มิ.ย. 56 ว่า เศรษฐกิจไทยในปี 56 จะขยายตัวร้อยละ 4.5 ต่อปี (โดยมีช่วงคาดการณ์ร้อยละ 4.0 - 5.0)
3. ตัวเลขจ้างงานเกาหลีใต้ในเดือน มิ.ย. สูงสุดในรอบ 8 เดือน
  • สำนักงานสถิติแห่งชาติเกาหลีใต้ เปิดเผยว่า การจ้างงานของเกาหลีใต้ในเดือน มิ.ย. ขยายตัวขึ้นอยู่ที่ระดับสูงสุดในรอบ 8 เดือน โดยมีจำนวนผู้มีงานทำเพิ่มขึ้น 3 แสน 6 หมื่นราย หรือคิดเป็น 25 ล้าน 4 แสนรายในเดือน มิ.ย. ที่ผ่านมา และ เพิ่มขึ้น 6 หมื่น 9 พันตำแหน่งจากเดือน พ.ค. 56
  • สศค. วิเคราะห์ว่า การจ้างงานที่เพิ่มขึ้น ในเดือน มิ.ย. เป็นผลมาจากอุตสาหกรรมบริการที่ขยายตัวอย่างแข็งแกร่ง ส่งผลให้มีการจ้างงานในภาคบริการ 2 แสน 6 หมื่นตำแหน่ง และ เพิ่มขึ้น 1 แสน 8 หมื่นตำแหน่งจากเดือน พ.ค. ส่วนการจ้างงานในภาคก่อสร้างเพิ่มขึ้น 3 พันตำแหน่งในเดือน มิ.ย. ซึ่งเป็นการปรับตัวเพิ่มขึ้นครั้งแรกในรอบ 9 เดือน ทั้งนี้ อัตราการว่างงานของประเทศเกาหลีใต้ในเดือน มิ.ย. อยู่ที่ร้อยละ 3.2 ของกำลังแรงงานทั้งหมด ซึ่งแสดงให้เห็นถึงประสิทธิภาพของตลาดแรงงานในทวีปเอเชียจากการว่างงานที่ระดับต่ำ โดย อัตราการว่างงานในเดือน พ.ค. ของประเทศไทยอยู่ที่ร้อยละ 0.8 ของกำลังแรงงานทั้งหมด

ที่มา: Bureau of Macroeconomic Policy,Fiscal Policy Office, Ministry of Finance

Tel: 02-273-9020 Ext. 3257


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ