รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 12 กรกฎาคม 2556

ข่าวเศรษฐกิจ Friday July 12, 2013 14:09 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 12 กรกฎาคม 2556

Summary:

1. การส่งออกอาหารกระป๋องมีแนวโน้มฟื้นตัวในตลาดยุโรป

2. ส่งออกจีนหดตัวลงครั้งแรกในรอบ 17 เดือน

3. อัตราการว่างงานออสเตรเลีย เดือน มิ.ย. 56 เพิ่มขึ้นที่ร้อยละ 5.7 ของกำลังแรงงานรวม

Highlight:

1. การส่งออกอาหารกระป๋องมีแนวโน้มฟื้นตัวในตลาดยุโรป
  • สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เผยว่าอุตสาหกรรมอาหารกระป๋องจากไทยเริ่มฟื้นตัวในตลาดยุโรป หลังจากชะลอตัวเพราะวิกฤตเศรษฐกิจในภูมิภาคดังกล่าว ขณะที่ตลาดหลัก อาทิ ญี่ปุ่น เกาหลี ไต้หวัน ยังมียอดสั่งซื้อคงที่ โดย ส.อ.ท. คาดปลายปีสถานการณ์จะปรับตัวดีขึ้น แต่ยังคงชะลอตัว เพราะผลผลิตทางการเกษตรจะออกสู่ตลาดมากขึ้นในช่วงเดือน มิ.ย. - ก.ค. ทั้งนี้ ส.อ.ท. ได้ปรับลดเป้าหมายขยายตัวของการส่งออกอาหารปีนี้ลงเหลือร้อยละ 1.5 หรือคิดเป็นมูลค่าส่งออกรวม 9.8 แสนมล้านบาท จากเดิมที่คาดว่าจะขยายตัวได้ร้อยละ 6.0 ที่มูลค่า 1.03 ล้านล้านบาท เนื่องจากขาดแคลนวัตถุดิบ ปัญหาสภาพอากาศ และค่าเงินบาทที่แข็งค่าในช่วงที่ผ่านมา อีกทั้งเศรษฐกิจของตลาดส่งออกหลัก อาทิ อาเซียน ญี่ปุ่น ยุโรป และสหรัฐฯ ชะลอตัวต่อเนื่อง
  • สศค. วิเคราะห์ว่า เนื่องจากโครงสร้างเศรษฐกิจไทยพึ่งพาการส่งออกสินค้าและบริการอยู่ในระดับสูง โดยคิดเป็นร้อยละ 73.0 ของ GDP รวมถึงมีระดับการเปิดประเทศอยู่ที่ร้อยละ 132.6 ของ GDP เศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวในช่วงนี้ย่อมส่งผลกระทบโดยตรงต่อเศรษฐกิจไทยผ่านช่องทางการค้าในเกือบทุกหมวดสินค้า อย่างไรก็ตาม จากการที่ปัญหาการขาดแคลนวัตถุดิบ ปัญหาสภาพอากาศ และค่าเงินบาทที่แข็งค่าได้ผ่อนคลายลง จึงมีความเป็นไปได้ที่สถานการณ์การณ์ส่งออกอาหารกระป๋องจะฟื้นตัวได้
2. ส่งออกจีนหดตัวลงครั้งแรกในรอบ 17 เดือน
  • กรมศุลกากรจีน เปิดเผยตัวเลขมูลค่าการส่งออก เดือน มิ.ย. 56 หดตัวลงร้อยละ -3.3 จากช่วงเดียวกันปีก่อน เป็นการหดตัวครั้งแรกในรอบ 17 เดือน และชะลอตัวลงร้อยละ -4.6 จากเดือนก่อน ในขณะที่มูลค่าการนำเข้า เดือน มิ.ย. 56 หดตัวลงร้อยละ -0.9 จากช่วงเดียวกันปีก่อน หดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 และชะลอตัวลงร้อยละ -9.3 จากเดือนก่อน อย่างไรก็ตาม มูลค่าการนำเข้าที่น้อยกว่าการส่งออก ทำให้ดุลการค้าจีนเดือน มิ.ย. 56 เกินดุล 27 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ
  • สศค. วิเคราะห์ว่า การส่งออกของจีนที่หดตัวลงอย่างรุนแรงนี้ เป็นผลจากอุปสงค์ภายนอกที่ซบเซาต่อเนื่อง ทำให้การส่งออกไปยังคู่ค้าหลักหดตัวลง ทั้งสหรัฐฯ (คู่ค้าลำดับที่ 1 หดตัวร้อยละ -5.4) ฮ่องกง (คู่ค้าลำดับที่ 2 หดตัวร้อยละ -7.0) และยูโรโซน (คู่ค้าลำดับที่ 3 หดตัวร้อยละ -31.3) ประกอบกับมาตรการปราบปรามการใช้เอกสารปลอมในการส่งออกสินค้า เพื่ออุดช่องโหว่การไหลเข้าของเงินทุนเก็งกำไรระยะสั้นที่แฝงเข้ามาในรูปของสัญญาการค้าเริ่มส่งผล ทำให้ตัวเลขการส่งออกลดต่ำลงแต่สอดคล้องกับความเป็นจริงมากขึ้น ดังจะเห็นได้จากตัวเลขการส่งออกสำหรับไตรมาสที่ 2 ปี 56 ขยายตัวเพียงร้อยละ 3.7 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ในขณะที่ในไตรมาสที่ 1 ปี 56 ขยายตัวถึงร้อยละ 18.3 สำหรับการส่งออกที่หดตัวลงสอดคล้องกับการนำเข้าวัตถุดิบ เช่น นิกเกิล แร่เหล็ก น้ำมันดิบ และยาง ที่ชะลอตัวลงเช่นเดียวกัน ทั้งนี้ แนวโน้มการค้าระหว่างประเทศของจีนที่ซบเซาต่อเนื่องและทิศทางการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ไม่สดใส อาจส่งผลในทางลบต่อประเทศที่พึ่งพาการส่งออกมายังจีนสูง เช่น ฮ่องกง ไต้หวัน เกาหลีใต้ และไทยได้ในอนาคต
3. อัตราการว่างงานออสเตรเลีย เดือน มิ.ย. 56 เพิ่มขึ้นที่ร้อยละ 5.7 ของกำลังแรงงานรวม
  • อัตราการว่างงานออสเตรเลีย เดือน มิ.ย. 56 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้ามาอยู่ที่ร้อยละ 5.7 ของกำลังแรงงานรวม ซึ่งสูงสุดนับตั้งแต่วิกฤตเศรษฐกิจและการเงินโลกในเดือน ก.ย. 52 ส่วนหนึ่งเป็นผลจากเศรษฐกิจทั้งภายในและภายนอกที่ชะลอตัวลง ทำให้แรงงานหางานทำได้ยากขึ้น สะท้อนจากการจ้างงานเต็มเวลาที่ลดลงถึง 4,400 ตำแหน่ง ในขณะที่การจ้างงานแบบไม่เต็มเวลาเพิ่มขึ้น 14,800 ตำแหน่ง นอกจากนี้ อัตราการมีส่วนร่วมในกำลังแรงงานเดือน มิ.ย. 56 ได้ปรับเพิ่มขึ้นเล็กน้อยมาอยู่ที่ร้อยละ 65.3 จากร้อยละ 65.2 ในเดือนก่อนหน้า ซึ่งเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ทำใหอัตราการว่างงานในช่วงดังกล่าวเพิ่มขึ้น
  • สศค. วิเคราะห์ว่า ปัญหาการว่างงานนับเป็นความท้าทายของรัฐบาลออสเตรเลียภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรีคนใหม่ (Kevin Rudd) เนื่องจากหากยังปล่อยให้อัตราการว่างงานเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจในประเทศเป็นวงกว้าง โดยหากแรงงานออสเตรเลียมีการโยกย้ายไปทำงานแบบไม่เต็มเวลามากขึ้นต่อเนื่อง อาจส่งผลกระทบต่อโครงสร้างแรงงานในอนาคต และอาจส่งผลลบต่อคุณภาพแรงงานในระยะยาว นอกจากนี้ ปัจจัยดังกล่าวจะส่งผลให้ต่ออุปสงค์ในประเทศชะลอลง ท่ามกลางอุปสงค์จากนอกประเทศที่ยังคงชะลอลงต่อเนื่อง ถึงแม้ว่าล่าสุดเครื่องชี้เศรษฐกิจบ่งชี้ว่าการบริโภคภาคเอกชนยังคงขยายตัวได้ต่อเนื่องก็ตาม โดยในเดือน พ.ค. 56 ยอดค้าปลีกขยายตัวร้อยละ 2.7 จากช่วงเดียวกันปีก่อน อย่างไรก็ตาม ตลาดแรงงานที่ยังคงไม่ฟื้นตัวอาจเป็นปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญของเศรษฐกิจออสเตรเลียได้ ทั้งนี้ สศค. คาดว่าเศรษฐกิจออสเตรเลียในปี 56 จะขยายตัวร้อยละ 3.0 (ช่วงคาดการณ์ร้อยละ 2.5-3.5 คาดการณ์ ณ สิ้นเดือน มิ.ย. 56)

ที่มา: Bureau of Macroeconomic Policy,Fiscal Policy Office, Ministry of Finance

Tel: 02-273-9020 Ext. 3257


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ